รถยนต์ไฟฟ้า อนาคตที่ห่างเพียงเอื้อมมือ ไทยเองก็ควรเตรียมตัวให้พร้อม

หากพูดถึง รถยนต์ไฟฟ้า ย้อนกลับไปสัก 5 ปีก่อน ค่ายรถยนต์ได้ปล่อยรถต้นแบบที่มีพลังงานทางเลือกหลายแบบ เช่น รถยนต์ไฮโดรเจน, รถยนต์ไฮบริด และรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด ทั้งหมดก็คือเสริมกำลังด้วยมอเตอร์และใช้พลังไฟฟ้า

วันนี้ทุกอย่างเปลี่ยนไป เพราะแบตเตอรี่รถยนต์พัฒนาขึ้นระดับก้าวกระโดด ประจุมากขึ้น ขนาดเล็กลง แถมยังมีเทคโนโลยี Fast Charge วันนี้เราจึงนำข้อมูลเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้า ในหลากหลายมุมมาให้รับชมเพื่อคนไทยได้เตรียมพร้อมกับอนาคตอันใกล้นี้

EV (electric vehicle) หรือยานยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่

รถยนต์ไฟฟ้า เป็นยานพาหนะขับเคลื่อนโดยมอเตอร์ไฟฟ้าแทนการใช้เครื่องยนต์ที่มีการเผาไหม้แบบสันดาป และพลังงานไฟฟ้าโดยเก็บประจุไว้ในแบตเตอรี่ สามารถชาร์จซ้ำและแปลงพลังงานจากแบตเตอรี่มาขับเคลื่อน

ข้อดีของการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ EV

  • ปล่อยค่าไอเสียเป็น 0
    ที่เรามักจะเห็นติดตรา Zero Emission รถสามารถขับเคลื่อนได้ด้วยพลังจากมอเตอร์ไฟฟ้าล้วน ๆ พลังงานก็ได้มาจากแบตเตอรี่ เท่ากับว่าช่วยลดมลพิษในเขตเมืองได้อย่างมาก

  • ลดความซับซ้อนด้านวิศวกรรม
    ทำให้ซ่อมง่ายและมีปัญหาจุกจิกน้อยลง อย่างแรกเครื่องยนต์แทนที่ด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าซึ่งเสียยากมาก ไม่มีระบบเกียร์ ไม่มีระบบหล่อเย็นเครื่องยนต์ อัตราเร่งเพิ่มตามกระแสไฟที่จ่ายให้มอเตอร์ ที่รับคำสั่งจากแป้นคันเร่งและประมวลด้วย ECU 
  • มอเตอร์ไฟฟ้ามีกำลังมหาศาล
    อัตราเร่งเร็วและออกตัวแรงจนต้องควบคุมด้วยสมองกลให้เบาลง แรงบิดของมอเตอร์ไฟฟ้าจะไม่ต้องรอรอบเหมือนเครื่องยนต์ปรกติ เพราะฉะนั้นจึงไม่แปลกที่คุณจะได้เห็นรถยนต์ไฟฟ้าสามารถเร่ง 0-100 กม./ชม. ผ่านตัวเลขหลักเดียวกันทั้งนั้น 

  • ค่าเชื้อเพลิงต่อ กม. มีราคาถูก
    ตัวอย่างรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นหนึ่ง มีแบตเตอรี่ 30kWh ค่าไฟ 4.5 บาท/หน่วย ใช้เวลาชาร์จ 8 ชั่วโมง  (30/8)*4.5 จะเสียค่าไฟชาร์จ 16.875 บาทต่อชั่วโมง หากชาร์จเต็มต้องจ่ายเงิน 135 บาท หารเฉลี่ยกับระยะทางวิ่งจริงสัก 250 กม. ตกค่าใช้จ่าย กม. ละ 0.54 บาท 
  • แหล่งที่มาของพลังไฟฟ้าไม่มีวันหมด
    หากยังเป็นเครื่องยนต์สันดาปก็หมายถึงต้องพึ่งการขุดเจาะน้ำมันเพียงอย่างเดียว หากเป็นพลังงานไฟฟ้าจะมีแหล่งกำเนิดที่สะอาดและไม่มีวันหมด เช่น แสงอาทิตย์, ลม, น้ำจากเขื่อน หรือการรีไซเคิลขยะเป็นไฟฟ้า

มหาอำนาจของโลกชี้แล้ว ต้องยานยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ EV (Electric vehicle)

ประเทศมหาอำนาจ ต่างออกนโยบายเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้าเชิง "บังคับ" และ "สนับสนุน" เรานำนโยบายบางส่วนเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้าในแต่ละประเทศมาให้ชม

  • อังกฤษ เผยนโยบายสั่งห้ามการผลิตรถยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซลและเบนซิน นับตั้งแต่ปี 2040 พร้อมให้เงินสนับสนุนจำนวน 255 ล้านปอนด์ แก้ปัญหามลพิษจากรถยนต์น้ำมัน และวางงบประมาณ 3,000 ล้านปอนด์ ปรับปรุงคุณภาพอากาศจากยานยนต์
  • สหรัฐอเมริกา เป็นประเทศแรก ๆ ที่มองเห็นความสำคัญของรถยนต์ไฟฟ้า สนับสนุนอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ไฟฟ้า  ตั้งงบประมาณ 25,000 ล้านเหรียญสหรัฐ อุดหนุนและให้กู้แก่อุตสาหกรรมการผลิตและพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ตั้งแต่ปี 2007 เรื่อยมา สำหรับประชาชนได้รับเงินอุดหนุน  2,500-7,500 เหรียญสหรัฐ
  • จีน เป็นประเทศที่ผลักดันวงการรถยนต์ไฟฟ้าจริงจังที่สุดก็ว่าได้ ปัญหาเนื่องจากมลพิษในเขตเมือง ใช้วิธีบังคับรถยนต์เก่าและปล่อยค่าไอเสียสูงห้ามวิ่งในเขตเมือง ให้เงินสนับสนุนสำหรับผู้ที่เลือกรถยนต์ไฟฟ้ามากถึง 60,000 หยวนหรือราว ๆ 300,000 บาท และในปี 2017 ที่ผ่านมา รัฐได้จ่ายเงินสนับสนุนให้ผู้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้าไปถึง 770,000 คัน

  • ฝรั่งเศส กำหนดห้ามขายรถยนต์ทุกชนิดที่ใช้น้ำมันดีเซลหรือเบนซินภายในปี 2040 ซึ่งปัจจุบันในประเทศมีจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าเพียง 5% เท่านั้น 
  • อินเดีย วางโรดแม็ปไว้ว่าในปี 2030 จะผลิตแต่รถยนต์ไฟฟ้า ผลักดันเรื่องรถยนต์ไฟฟ้าเร็วกว่าที่อื่นเพราะอินเดียมีอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรั้งอันดับ 3 ของโลกที่ 6.24% เป็นรองเพียงจีนและสหรัฐอเมริกาเท่านั้น  ค้นพบว่าต้นตอของปัญหามลพิษทางอากาศส่วนใหญ่มาจากยานพาหนะ 
  • สหภาพยุโรป ออกมาตรการเข้มข้นในการควบคุมมลพิษจากรถยนต์ ปัจจุบันใช้มาตรฐาน Euro 6 ที่เครื่องยนต์ดีเซลปล่อยไอเสียได้ไม่เกิน 80 มิลลิกรัม/กม. และเครื่องยนต์เบนซิน 60 มิลลิกรัม/กม. ทำให้ผู้ผลิตรถยนต์หลายค่ายออกมาพูดไปในทิศทางเดียวกันว่า เครื่องยนต์สันดาปลงทุนพัฒนาให้คายไอเสียผ่านเกณฑ์ที่โหดกว่านี้ไม่คุ้ม หันไปซบไฮบริดและปลั๊กอินไฮบริดคือทางออกที่ดีที่สุด

นอกจากนี้หลายประเทศยังคงมีนโยบายสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้าทั้งการลดภาษีนำเข้าอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงแบตเตอรี่ที่เป็นหัวใจหลักของรถยนต์ไฟฟ้า

แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน ทางเลือกหลักของรถยนต์ไฟฟ้า EV

จุดเด่นของแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน

  •  มีน้ำหนักเบา เพราะผลิตจากโลหะลิเธียมซึ่งเป็นโลหะที่มีน้ำหนักเบา
  •  เป็นเซลล์แบบแห้ง ไม่มีส่วนที่เป็นของเหลวที่จะทำความเสียหายแก่วงจร
  •  แบตเตอรี่มีขนาดเล็ก แต่สามารถเก็บประจุไฟฟ้าได้มากกว่าในปริมาตรที่เท่ากัน
  •  อายุการใช้งานของแบตเตอรี่ยาวนาน

อุปสรรคสำคัญตอนนี้คงเป็นปัญหาเรื่องราคาแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนที่เหมาะสมและนำมาใช้กับรถยนต์เพื่อการพาณิชย์คือ 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อ kWh จากรายงานของ bloomberg ล่าสุดปี 2018 ราคาแบตเตอรี่อยู่ที่ 209 ดอลลาร์สหรัฐต่อ kWh แนวโน้มราคาของแบตเตอรี่กำลังลดลงอย่างมาก คาดการณ์ไว้ว่าปี 2025 ราคาแบตเตอรี่จะถูกลงต่ำกว่า 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อ kWh ส่งผลให้รถยนต์ไฟฟ้าค่าใช้จ่ายถูก รวมไปถึงการซ่อมหรือเปลี่ยนแบตเตอรี่ เมื่อเสื่อมสภาพ

อีกหนึ่งทางเลือกใหม่ด้านประจุแบตเตอรี่ มีแนวโน้มสดใสมากด้วยแบตเตอรี่ โซลิดสเตต (Solid electrolyte battery) กำลังพัฒนาอยู่ (อีกสักพักใหญ่) สามารถพารถวิ่งได้ไกลกว่า 800 กม./ชม. ต่อหนึ่งประจุแบตเตอรี่ 

ประเทศไทย กับการเตรียมพร้อมรับมือยานยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ EV

กระทรวงการคลังได้ออกราชกิจจานุเบกษา ลดอัตราภาษีสรรพสามิต ฉบับที่ 138 วันที่ 20 มิถุนายน 2560 สนับสนุนให้ผู้ผลิตหันมาใช้ขุมพลังไฮบริด รวมไปถึง 

  • รถยนต์นั่งแบบไฮบริด ขนาดความจุกระบอกสูบไม่เกิน 3,000 ซี.ซี. ลดอัตราภาษีสรรพสามิตลงเหลือ 5-10% จากเดิม 10-20%
  • รถยนต์ไฟฟ้าล้วน (EV) ปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตลงจากเดิมจาก 10% เหลือเพียง 2%

ครม. ได้อนุมัติมาตรการสนับสนุนการผลิตรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (Battery Electric Vehicles : BEV) ในประเทศไทย ได้รับสิทธิประโยชน์ภาษีเงินได้และสิทธิประโยชน์ด้านภาษีอื่น ๆ 

ด้าน BOI พร้อมส่งเสริมการลงทุน นำเข้ารถยนต์สำเร็จรูป (CBU) โดยได้รับการลดหย่อน หรือยกเว้นอากรขาเข้าในรุ่นรถยนต์ที่จะผลิต เพื่อนำมาทดลองตลาดในปริมาณที่กำหนด  ได้รับสิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนหรือยกเว้นอากรขาเข้าชิ้นส่วนสำคัญ

ฝั่งกรมการขนส่งทางบกได้ปลดล็อกการจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้า แต่เดิมรถยนต์ไฟฟ้าจดทะเบียนได้คือ 15kw  ตอนนี้รถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก 4kw และความเร็วสูงสุดไม่ต่ำกว่า 45 กม./ชม. สามารถจดทะเบียนเป็นรถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กได้

โครงสร้างพื้นฐาน หัวชาร์จและสถานีชาร์จในไทย ความพร้อมที่เตรียมรองรับ

ปัจจุบัน ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ NECTEC ได้กำหนดมาตรฐานของรถยนต์ไฟฟ้าออกมาเรียบร้อย เคลียร์ปัญหาประเด็นสถานีชาร์จไฟและชนิดหัวชาร์จ IEC 62196 ปัจจุบันนี้ก็คือ มอก.2749 ซึ่งประกาศไปแล้วว่าประเทศไทยจะใช้เต้าเสียบ-เต้ารับในการชาร์จประจุไฟฟ้าให้กับยานยนต์เป็นไฟฟ้าแบบไหน

- การชาร์จ AC Charging หรือกระแสสลับ - ใช้หัวชาร์จและเต้ารับแบบ Type 2
- การชาร์จ DC Charging หรือกระแสตรง - ใช้หัวชาร์จและเต้ารับแบบ FF

 ปัจจุบันยังไม่มีรถยนต์ไฟฟ้าจำหน่ายในวงกว้าง แต่เนื่องจากการสนับสนุนจากภาครัฐส่งผลให้เอกชนเริ่มมีการลงทุนสถานีชาร์จไฟรถยนต์ไว้ ซึ่งในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ไม่มีปัญหาแน่นอนในเวลานี้ อนาคตวางแผนไว้ถึง 1,000 สถานีทั่วประเทศ ซึ่งจุดชาร์จร่วมกับปั๊มน้ำมัน ซึ่งมีระบบ DC ชาร์จเร็วหรือควิกชาร์จ ภายใน 7 นาที วิ่งได้ระยะทาง 100 กม.

แล้วถ้ามีรถยนต์ไฟฟ้าจำหน่ายจริง ๆ ในตอนนี้ เหมาะกับการเดินทางในเมือง ใช้ไปทำงานเพราะสามารถชาร์จไฟบ้านได้โดยตรงในเวลากลางคืน

บทสรุปที่ควรเตรียมพร้อม

รถยนต์ไฟฟ้ามีข้อดีมาก ทุกอย่างเริ่มชัดมากและไปในทิศทางเดียวกันทั้งโลก จากข้อมูลทั้งหมด อีกไม่นานเราก็คงจะได้สัมผัสกับรถยนต์ไฟฟ้า EV ในประเทศไทยอย่างแน่นอน แล้วถามตัวเองดูว่าพร้อมก้าวไปพร้อมโลกหรือยัง

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รถยนต์ไฟฟ้า อนาคตที่ห่างเพียงเอื้อมมือ ไทยเองก็ควรเตรียมตัวให้พร้อม อัปเดตล่าสุด 9 มกราคม 2566 เวลา 15:22:14 17,011 อ่าน
TOP
x close