
ใบสั่งกล้องจราจร ไม่จ่ายได้หรือไม่
ตามกฎหมายที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2562 มาตรา 141 ระบุว่า เมื่อผู้ขับขี่ เจ้าของรถ หรือผู้ครอบครองรถ ได้รับใบสั่งตามมาตรา 140 แล้ว ให้ชำระค่าปรับภายในเวลาที่กำหนดไว้ในใบสั่ง
กรณีที่ได้รับใบสั่งแล้วไม่ได้ดำเนินการจ่ายค่าปรับตามจำนวนและกำหนดเวลาให้เรียบร้อย ก็จะมีความผิดต้องโดนลงโทษปรับอีก 500 บาท และโดนหักคะแนนความประพฤติ ซึ่งหากเป็นการกระทำผิดซ้ำ ๆ ก็อาจจะโดนหักคะแนนจนถึงขั้นถูกพักใช้ใบขับขี่

ใบสั่งกล้องจราจร ถ้าไม่จ่าย ต่อภาษีได้หรือไม่
ประเด็นที่เคยมีการพูดถึงกันมาหลาย ๆ ครั้งก็คือ หากไม่จ่ายค่าปรับจากใบสั่งกล้องจราจร หรือใบสั่งทางไปรษณีย์ จะ ต่อภาษีรถยนต์ หรือ ต่อทะเบียนรถ ได้หรือไม่ ซึ่งข้อชี้แจงล่าสุดจากกรมการขนส่งทางบก ก็คือ ผู้ที่ยังไม่ได้จ่ายค่าปรับให้เรียบร้อยก็ยังสามารถดำเนินการเสียภาษีรถยนต์ประจำปีได้ตามปกติ
อย่างไรก็ตาม กรณีนี้จะมีการแจ้งว่ามีใบสั่งค้างชำระ และกรมการขนส่งทางบกก็จะออกหลักฐานชั่วคราวมีอายุ 30 วัน ส่วนเครื่องหมายการเสียภาษีหรือป้ายวงกลมตัวจริงนั้น จะได้รับก็ต่อเมื่อดำเนินการจ่ายค่าปรับเรียบร้อยแล้ว ซึ่งหากขับรถโดยไม่แสดงเครื่องหมายการเสียภาษี หรือขับรถโดยไม่แสดงป้ายวงกลมให้ถูกต้อง ก็จะมีโทษปรับ 2,000 บาท
ใบสั่งกล้องจราจร จ่ายค่าปรับที่ไหน
- จ่ายค่าปรับ ณ สถานีตำรวจหรือหน่วยงานที่ออกใบสั่ง หรือสถานีตำรวจทุกแห่งท้องที่ไหนก็ได้
- จ่ายค่าปรับโดยการส่งธนาณัติหรือการส่งตั๋วแลกเงินของธนาคาร ตามจำนวนที่ระบุไว้ในใบสั่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน สั่งจ่ายแก่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พร้อมด้วยสำเนาใบสั่ง ไปยังสถานที่และตามระยะเวลาที่ระบุไว้ในใบสั่ง
- จ่ายค่าปรับโดยวิธีการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ บัตรเครดิต หรือวิธีการอื่น ผ่านธนาคารหรือหน่วยบริการชำระเงิน เครื่องรับจ่ายเงินอัตโนมัติ (ATM), internet banking หรือหน่วยรับบริการชำระเงินที่มีเครื่องหมาย PTM

ภาพจาก ratchakitcha.soc.go.th และ shutterstock / John And Penny
การตรวจสอบข้อมูลใบสั่งออนไลน์
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้จัดทำช่องทางสำหรับให้ประชาชนผู้ใช้รถตรวจสอบข้อมูลใบสั่งจราจรออนไลน์ เพื่อความสะดวกและความถูกต้องในการดำเนินการเสียค่าปรับจราจร โดยสามารถดูข้อมูลได้ที่ https://ptm.police.go.th/eTicket
ตามที่กล่าวไปแล้วว่าการใช้รถใช้ถนนโดยปฏิบัติตามกฎหมายจราจรนั้นถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง และเช่นเดียวกัน การดำเนินการจ่ายค่าปรับให้เรียบร้อยเมื่อได้กระทำความผิด ย่อมถือเป็นหน้าที่ที่ทุกคนพึงกระทำ เพื่อดำรงไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์ของตัวบทกฎหมาย และเพื่อรักษาวินัยของทุกคน