
เจาะ 8 รถเด่น ที่ยังคงสภาพสวยเหมือนใหม่ หาชมได้ยากในไทยว่ามีความเป็นมาและสำคัญอย่างไรในอดีต จากขบวนพาเหรดงานหัวหิน วินเทจ คาร์ ครั้งที่ 15 ที่จัดโดยสมาคมรถโบราณแห่งประเทศไทย ภายใต้แนวคิด "สายลมแห่งยุค 60" (A Breeze from the \'60s) ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีจนถือเป็นต้นตำรับของการจัดขบวน รถโบราณและรถคลาสสิกในประเทศไทยเพื่อการกุศลบนเส้นทางกรุงเทพฯ สู่หัวหิน จังหวัดประจวบคิรีขันธ์ โดยแต่ละคันที่นำมาร่วมงานนั้นบอกเลยว่าเด็ดมาก หากใครที่หลงใหลในความงามของรถเหล่านี้ยิ่งไม่ควรพลาด
เป็นรถในพิกัดประกวด "รถโบราณ" (ปี 1919-1930) ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ฟอร์ดได้เริ่มออกแบบและใช้เทคนิคการสร้าง การผลิตแบบใหม่ จึงตั้งชื่อรถรุ่นนี้ว่า "โมเดล เอ" ซึ่งเป็นการรีบูตระบบเรียกขานของตนใหม่ รถ Ford model A คันนี้ เดิมเป็นรถจากออสเตรเลีย จึงมีเครื่องยนต์ 4 สูบเรียง พวงมาลัยขวาตามสเปคอังกฤษ และได้รับการบูรณะในประเทศออสเตรเลีย ปัจจุบันเป็นรถในมือผู้เชี่ยวชาญของมาเลเซีย แล่นมาร่วมงานพาเหรดรถโบราณหัวหินแสดงถึงความสมบูรณ์ของกลไกและเครื่องยนต์ ตัวรถประกอบด้วยสองส่วนคือ Rolling Chassis ส่วนหน้าทำสีน้ำตาลด้านแบบดั้งเดิมตามยุคให้สีแบบอีนาเมล และส่วนท้ายของรถเป็นกระบะต่อด้วยไม้ อันเป็นที่มาของชื่อ "Woody" เป็นรถใช้งานในลักษณะ Country
2. ฟอร์ด ธันเดอร์เบิร์ด ปี 1955 (1955 Ford Thunderbird)
เป็นเสมือนดาราจากภาพยนตร์หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หลายเรื่อง และเป็นรถสปอร์ตแบบอเมริกันที่แตกต่าง ตัวรถมีขนาดใหญ่โต ประดับด้วยอุปกรณ์อำนวยความสะดวกสบาย มีความหรูหราล้นเต็มคัน ใช้เครื่องยนต์ วี 8 สูบ ที่หนัก ให้สมรรถนะรุนแรงแต่ไม่ว่องไว ปรูดปราด ดังรถสปอร์ตคันเล็กแบบยุโรป รายละเอียดของรถแฝงความก้าวหน้าทางอากาศยานตามยุค "Jet Age" ที่อเมริกันกำลังก้าวข้ามความเร็วเสียง ดังนั้น กระจังหน้า หงอนกันชน แนวครีบหลังและดวงไฟท้ายจึงเป็นลักษณะของท่อรับอากาศและปลายท่อไอพ่น ตัวถังเป็นสีเขียวเปปเปอร์มินต์ สีหวานที่เพิ่งเกิดใหม่ในยุคฟิฟท์ตี้ และเป็นภาพประทับในความทรงจำดังในภาพยนตร์เรื่อง "Grease"
3. เมอร์เซเดส-เบนซ์ 220เอส (บี) หรือ เบนซ์หางปลา ปี 1960 (1960 Mercedes Benz 220S(b) Fintail)
เป็นรถเมอร์เซเดส-เบนซ์ในพิกัดขนาดใหญ่ บรรพบุรุษของ เมอร์เซเดส-เบนซ์ เอสคลาส ในปัจจุบัน เจ้าของสูตร "ไฟตั้ง-ไมล์ตั้ง-หางปลา" ออกแบบตามสไตล์ Fin (ครีบหาง) ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในตลาดอเมริกัน ประดับคิ้วโครเมียมเต็มลำ ไฟหน้าและไฟท้ายสว่างไสวแตกต่างจากรถร่วมยุค มาตรวัดเป็นเส้นกราฟวิ่งแนวดิ่ง มีมาตรประกอบ 4 ฟังก์ชั่น ผนวกระบบไฟเตือนแบบหน้าปัดเครื่องบิน ใช้เครื่องยนต์ 6 สูบ มีระบบกันสะเทือนหลังแบบ Swing Axle กึ่งอิสระ เมอร์เซเดส-เบนซ์ 220เอส (บี) นับว่าเป็นการเปิดโลกรถยุโรปส่วนบุคคลสมรรถนะสูงที่ไม่ต้องใหญ่โตเทอะทะดังรถอเมริกัน คนไทยรู้จักในนาม "เบนซ์หางปลา" ที่รุ่นสูงสุดติดตั้งระบบจ่ายเชื้อเพลิงแบบหัวฉีดและมีฐานล้อยาว (รุ่น 300 SE Long) เป็นครั้งแรกของรถเมอร์เซเดส-เบนซ์ สำหรับตัวถังซีดาน
4. อัลฟา โรมิโอ จูเลีย เอสเอส ปี 1965 (1965 Alfa Romeo Giulia SS)
SS หรือ Sprint Special เพชรเม็ดงามของอัลฟา ชุด 101 (Type 101) ตัวถังออกแบบโดย Bertone สร้างด้วยมือทีละคัน ทรวดทรงของรถแหลมเป็นกระสวยประสานความกลมกลึงโค้งมนอย่างซับซ้อนในสไตล์การออกแบบ "Supersonic" ที่กำลังเขย่าโลกช่วงปลายยุคฟิฟท์ตี้ มีการใช้กระจกโค้งรอบด้านแบบอากาศยาน เครื่องยนต์ขนาดความจุ 1,570 ซี.ซี. ทวินโอเวอร์เฮดแคมชาฟต์ ป้อนเชื้อเพลิงด้วยคาร์บูเรเตอร์นอนคู่ Webber 40DCOE ที่หลุดออกมาจากสนามแข่ง ให้กำลังสูงสุด 112 แรงม้า ตีนปลายแตะ 200 กม./ชม. เป็นความงามหยดย้อยที่หาดูได้ยากมาก จากจำนวนผลิตแค่ 1,400 คัน และมีเพียง 2-3 คันเท่านั้นในเอเชีย ซึ่งรถคันนี้เจ้าของหวงพอ ๆ กับลูกสาวเลยทีเดียว
5. เมอร์เซเดส-เบนซ์ 280 เอสแอล ปี 1968 หรือ "เบนซ์ พาโกด้า" (1968 Mercedes Benz 280SL W113 Pagoda)
รถสปอร์ตขนาดเล็กแต่เครื่องใหญ่ของเมอร์เซเดส-เบนซ์ ผู้สืบทอดตำนาน Sport Leich (รถสปอร์ตเล็ก น้ำหนักเบา) ต่อจาก เมอร์เซเดส-เบนซ์ 190เอสแอล ด้วยสไตลิ่งที่เรียบหรู มีหลังคาแข็งถอดได้ทรงเจดีย์จีนอันเป็นที่มาของชื่อ "พาโกด้า" ออกแบบโดย ปอล บราค (Paul Bracq) ดีไซน์เนอร์ผู้สร้าง “ยูโรสไตล์” ให้กับรถเมอร์เซเดส-เบนซ์ ในช่วงยุคซิกซ์ตี้ เมอร์เซเดส-เบนซ์ ดับบลิว 113 (W113) มีรูปทรงแบนและสั้นบนล้อที่โต ใช้ไฟตั้งขนาดใหญ่ใสสว่าง เป็นเสน่ห์ดึงดูดสายตาอย่างรุนแรง กระจังหน้าเป็นดวงตราดาวสามแฉกขนาดใหญ่เช่นกันตามธรรมเนียมของรถเบนซ์สายแข่ง และรถคันนี้ยังติดตั้ง เกียร์ธรรมดา 5 สปีด ของ ZF ซึ่งเป็นออปชั่นที่หาได้ยาก เหมาะกับเจ้าของผู้เป็นนักแข่งรถโกคาร์ทที่โด่งดังที่สุดของประเทศไทย
เป็นลมหายใจสุดท้ายของรถอเมริกันฟูลไซซ์ หลังการถูกถล่มโดยวิกฤตการณ์พลังงาน ลินคอล์น คอนติเนนทัล เป็นรถระดับผู้นำจากเครือฟอร์ด ที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ใช้คู่เคียงมากับคาดิลแลคของเครือ GM ฟุ่มเฟือยด้วยการออกแบบขนาดเท่าบ้าน เป็นรถที่ใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าทั้งคันในยุคที่รถทั่วไปยังควบคุมอุปกรณ์ต่าง ๆ ด้วยมือ แม้แต่ไฟหน้ายังใช้ระบบฝาปิด-เปิดพลิกด้วยไฟฟ้า เสาซีเจาะช่องกระจกโอเปร่าเพื่อความอัครฐาน ติดตั้งเครื่องยนต์ วี8 ทรงพลัง แล่นสุขุม นุ่มนวล ภายในกว้างขวางเหมาะกับการใช้เดินทางข้ามประเทศราวกับเรือเดินสมุทรติดล้อ

7. เฟอร์รารี่ 308 คิววี จีทีเอส ปี 1982 (1982 Ferrari 308 QV GTS)
รหัสของเฟอร์รารี่ 308 คิววี จีทีเอส นั้นมาจาก ความจุกระบอกสูบขนาด 30 เดซิลิตร (หรือ 3,000 ซี.ซี.) 8 สูบ สี่ (Quattro) วาล์วต่อสูบ (Valvole) ตัวถังเปิดประทุน Gran Turismo Spyder (GTS) ออกแบบโดย ลีโอนาโด ฟีโอราวานตี (Leonardo Fioravanti) แห่งสำนักออกแบบพินินฟารินา (Pininfarina) เป็นรถเฟอร์รารี่เล็กวางเครื่องกลางลำชุดแรกสุดที่เปิดตลาดรถสปอร์ตม้าผยองจากมาราเนลโลออกสู่ความนิยมในวงกว้าง ด้วยหุ่นทรงสวยงามเซ็กซี่ มีคุณลักษณะการขับขี่ ว่องไวและปราดเปรียว จึงเป็นที่นิยมอย่างล้นหลามในหมู่ยัปปี้ ยุค 80 ฉากแข่งกับ Porsche Targa บน Sunset Strip อันสุดแสนจะคูลในภาพยนตร์เรื่อง Againts All Odds นั้นยังเป็นที่ตราตรึงในความทรงจำของบรรดาหนุ่ม ๆ ยุค 80 ทั่วโลกควบคู่ไปกับเพลง “Take a look at me now” ประจำภาพยนตร์เรื่องนี้


8. จากัวร์ เอ็กซ์เจ 220 ปี 1994 (1994 Jaguar XJ220)
ไฮเปอร์คาร์ของจากัวร์แห่งโคเวนทรี รถสปอร์ตอังกฤษรุ่นนี้เคยคว้าตำแหน่งรถยนต์ "เร็วที่สุดในโลก" สืบตามธรรมเนียมของตระกูลด้วยตัวเลขความเร็วสูงสุด 220 ไมล์/ชม. เป็นชื่อรุ่น ทั้งนี้โปรเจคท์ จากัวร์ เอ็กซ์เจ220 เริ่มพัฒนาโดยทีมงานจากัวร์เพียง 12 คน ในช่วงว่างคืนวันเสาร์ และต่อด้วยทีม TWR เต็มทีม เพื่อให้เป็นรถแข่งกรุ๊ป C อันเป็นขั้นสุดยอดของการแข่งขันรถสปอร์ตโปรโตไทป์ในเวลานั้น
อย่างไรก็ตามนอกจากรถทั้ง 8 คันนี้ ยังมีรถคันอื่นอีกจำนวนมากอยู่ในสภาพสมบูรณ์ สวยงาม พร้อมกับการแต่งกายตามยุคสมัยของผู้ร่วมงานเพื่อบอกเล่าเรื่องราวของวันวานที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวาและมีเสน่ห์ต่างจากงานอื่น ๆ โดยรถโบราณและคลาสสิกจะมารวมตัวกันในทุกปี ซึ่งปัจจุบันเรียกได้ว่างานหัวหิน วินเทจ คาร์ พาเหรด เป็นหนึ่งงานสำคัญสำหรับคนรักรถโบราณและรถคลาสสิกที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยตอนนี้