หุ่นยนต์ T-HR3 นั้นจะเคลื่อนไหวได้อย่างเป็นธรรมชาติผ่านแท่นควบคุมที่เรียกว่า Master Maneuvering System โดยมนุษย์ต้องเข้าไปนั่งอยู่ในนั้น สวมอุปกรณ์ควบคุมการเคลื่อนไหวที่มือ แขนและเท้า อันประกอบด้วยข้อต่อ Super Sensitive Torque Module 16 จุด และ Motion Sensor 4 จุด ที่เท้า ซึ่งจะถูกซิงโครไนซ์กับข้อต่อ Torque Servo Module ของหุ่น T-HR3 ทั้งหมดรวม 29 จุด โดยผู้ควบคุมจะเห็นภาพจากมุมมองของ T-HR3 ผ่าน head-mounted display
ข้อต่อ Torque Servo Module ของหุ่น T-HR3 นั้นจะมีความยืดหยุ่นเพื่อควบคุมแรงกดสัมผัสที่มีต่อสภาพพื้นผิวหรือวัตถุ โดยจะช่วยในการทรงตัวรวมถึงรักษาสมดุลเมื่อเกิดการกระแทก และ Real Remote Maneuvering จะทำให้สามารถควบคุมหุ่น T-HR3 จากระยะไกลได้ แต่ฟังก์ชั่นนี้ยังเป็นวิทยาการหุ่นยนต์ในอนาคตที่ต้องได้รับการวิจัยและพัฒนาต่อไป สำหรับการปฏิบัติภารกิจรูปแบบต่าง ๆ แทนมนุษย์ในพื้นที่เสี่ยงหรือต้องการความปลอดภัยแบบผิดพลาดไม่ได้
สำหรับการนำหุ่นยนต์มาประยุกต์ใช้งานในโลกแห่งความเป็นจริงสำหรับ Toyota ได้เริ่มต้นมาตั้งแต่ยุค 80 ซึ่งถูกพัฒนาใช้ในอุตสาหกรรม เช่น ไลน์ประกอบรถยนต์ (หุ่นยนต์ประเภทฐานอยู่กับที่ หรือ หุ่นยนต์แขนกล) ต่อมา Toyota ได้เริ่มพัฒนาหุ่นยนต์ที่สามารถเคลื่อนที่ได้อย่าง หุ่นยนต์ผู้ช่วย (Partner Robot) ในปี 2000 และหลังจากนั้นวิทยาการหุ่นยนต์ของ Toyota ได้ถูกต่อยอดไปในหลาย ๆ รูปแบบ เช่น หุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ (Humanoid) ที่เล่นดนตรีได้เหมือนมนุษย์ ในปี 2005, หุ่นยนต์พยาบาลอย่าง Robina ปี 2007, หุ่นยนต์ช่วยเหลือผู้ป่วย (Care Assist Robot) และหุ่นยนต์ช่วยเดิน (Walk Assist Robot) ในปี 2011 เป็นต้น
ใครที่เคยดูภาพยนตร์เรื่อง Real Steel ศึกหุ่นเหล็กกำปั้นถล่มปฐพี หรืออีกหลาย ๆ เรื่อง คงพอจะนึกภาพออกและนั่นอาจเป็นมากกว่าภาพยนตร์ แต่คือโลกความเป็นจริงในอนาคตเลยทีเดียว
ภาพและคลิปจาก Toyota