นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า ทางด่วนเป็นเส้นทาง ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุสูง โดยเฉพาะหากผู้ขับขี่ขาดความระมัดระวัง และขับรถด้วยความเร็วสูง จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุในลักษณะรุนแรง
- ก่อนเดินทาง วางแผนและศึกษาสภาพเส้นทางโดยเฉพาะจุดขึ้น – ลงทางด่วน เพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากความไม่ชำนาญเส้นทาง
- จดจำหมายเลขโทรศัพท์ฉุกเฉิน สำหรับใช้ติดต่อขอความช่วยเหลือเมื่อเกิดอุบัติเหตุ หรือรถเสียบนทางด่วน ขณะเดินทาง
- เพิ่มความระมัดระวังในการขับรถเป็นพิเศษ โดยเฉพาะทางขึ้น-ลงทางด่วน ทางเบี่ยง ทางแยกรูปตัว Y เพราะเป็นจุดเสี่ยงที่มักเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง
- ไม่เปลี่ยนช่องทางหรือแซงในระยะกระชั้นชิด พร้อมให้สัญญาณไฟล่วงหน้าในระยะไม่ต่ำกว่า 60 เมตร เพื่อส่งสัญญาณเตือนให้ผู้ขับรถคันอื่นเพิ่มความระมัดระวัง
- ไม่ขับรถช้าในช่องทางขวา เพราะเป็นช่องทางสำหรับรถที่ใช้ความเร็วสูง ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้
- ไม่ขับแซง ในช่องทางซ้ายหรือไหล่ทาง เพราะจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ
- หากจำเป็นให้นำรถจอดบริเวณจุดพักรถที่กำหนด กรณีรถเสียหรือขัดข้อง นำรถจอดริมขอบทางด้านซ้าย พร้อมเปิด สัญญาณไฟฉุกเฉิน และนำป้ายสามเหลี่ยม วัสดุสะท้อนแสง หรือวัสดุอื่น ๆ มาวางให้ห่างจากจุดที่จอดรถในระยะไม่ต่ำกว่า 50 เมตร เพื่อส่งสัญญาณเตือนให้ผู้ขับรถคันอื่นเพิ่มความระมัดระวัง จะได้เปลี่ยนช่องทางเดินรถได้ทัน โทรศัพท์แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ศูนย์ควบคุมทางด่วน 02-664-6400 หรือศูนย์บริการผู้ใช้ทางด่วนพิเศษ 1543 เพื่อประสานนำรถลงจากทางด่วน จะได้ไม่จอดรถกีดขวางเส้นทาง
กรณีพบเห็นรถประสบอุบัติเหตุ ขับรถผ่านจุดเกิดเหตุด้วยความระมัดระวัง โดยปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ หรือป้ายเตือนอย่างเคร่งครัด หากจำเป็นต้องหยุดรถ ให้เปิดไฟกะพริบ เพื่อเตือนให้ผู้ขับรถคันอื่นทราบว่ามีเหตุฉุกเฉินบนเส้นทาง จะได้เพิ่มความระมัดระวัง
ทั้งนี้ การขับรถบนทางด่วนมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ในลักษณะรุนแรง เนื่องจากเป็นเส้นทางตรงในระยะยาวที่มีระดับความสูงกว่าถนนทั่วไป อีกทั้งผู้ขับขี่สามารถใช้ความเร็วสูง เมื่อประสบอุบัติเหตุ จึงมีความเสี่ยงที่รถจะตกลงมายังพื้นถนนด้านล่าง ก่อให้เกิดอันตรายเพิ่มมากขึ้น
ขอขอบคุณข้อมูลจาก กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.)