
ณ เวลานี้ประเทศไทยกำลังตื่นตัวจากรถพลังงานทางเลือก เนื่องจากภาครัฐเริ่มผ่อนปรนด้านภาษีสำหรับรถยนต์ที่มีการปล่อยค่าไอเสียน้อย และเทรนด์รถยนต์ที่กำลังสดใสที่สุดสำหรับไทยก็คงเป็นรถยนต์พลังงานไฮบริด (เครื่องยนต์+มอเตอร์ไฟฟ้า) และรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด (เครื่องยนต์+มอเตอร์ไฟฟ้า+การชาร์จไฟจากภายนอก)

ซึ่งรถยนต์ Toyota Prius 2017 (โตโยต้า พรีอุส 2017) นั้นคาบเกี่ยวทั้ง 2 เรื่องอย่างแยกกันไม่ได้ แต่นั่นเพราะอะไร ? เชิญรับชมกันได้เลย
- Toyota Prius 2017 (โตโยต้า พรีอุส 2017) รักษ์โลกตั้งแต่ผู้ผลิต -
Toyota Prius 2017 (โตโยต้า พรีอุส 2017) ถูกผลิตขึ้นที่ Tsutsumi Plant โรงงานหลักเพื่อประกอบรถยนต์พรีอุส ที่มีครบทุกส่วนตั้งแต่ การประกอบเครื่องยนต์, การขึ้นรูปตัวถัง, งานพลาสติก, การทำสี และสุดท้ายไลน์ประกอบรถยนต์
หัวหน้าวิศวกรที่ให้ข้อมูลโรงงานแก่สื่อมวลชน ได้ให้คำนิยามเกี่ยวที่น่าสนใจไว้ว่า "เราผลิตรถที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยโรงงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยคนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม" แสดงถึงทัศนคติที่ดีต่อทรัพยากรโลกอย่างแท้จริง
ตัวโรงงานก็มีการปรับภูมิทัศน์ให้ใช้พลังงานจากธรรมชาติมากขึ้น ปรับเพดานใช้วัสดุสะท้อนผ่านช่องให้ความสว่างในตัวอาคาร ติดตั้งส่วนของแผงโซลาร์เซลล์เป็นไฟฟ้าแก่โรงงาน ปลูกหญ้าที่ดาดฟ้าให้เป็นพื้นที่สีเขียว หรือแม้กระทั่งใช้สารฆ่าเชื้อโรคแบบในสุขภัณฑ์มาฉาบที่ผนังลดแบคทีเรียและทำให้สิ่งสกปรกติดยาก !?!
ปลูกฝังให้พนักงานรักษาสิ่งแวดล้อม ทำกิจกรรมร่วมกันเก็บขยะ ปลูกป่า ซึ่งจะได้รับเข็มกลัดบอกระดับขั้นทำความดี ที่สามารถใช้แลกของประหยัดทรัพยากรธรรมชาติอย่างถุงผ้า หรือขวดน้ำแบบพกพา
นอกจากมีความรักษ์โลกอย่างสูงแล้ว Tsutsumi Plant มีประสิทธิภาพในการทำงานไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ซึ่งทางโตโยต้าก็ได้พาชมการขึ้นไลน์ประกอบ พร้อมข้อมูลขีดความสามารถการผลิตรถ ที่แบ่งการทำงานเป็น 2 กะ มีด้วยกัน 2 ไลน์ โดยไลน์ที่ 1 ใช้เวลาประมาณ 57 วินาที จะมีรถออกจากไลน์ 1 คัน รวมแล้วต่อวันจะมีรถที่พร้อมวิ่งออกมา 957 คัน ส่วนไลน์ที่ 2 ใช้เวลา 90 วินาที มีรถออกจากไลน์ประกอบ 1 คัน รวมแล้วมีรถ 601 คันออกจากไลน์ต่อวัน โดยโรงงานแห่งนี้มีพนักงานประจำอยู่ 6,200 ราย

- Toyota Prius 2017 (โตโยต้า พรีอุส 2017) ส่งต่อความรักษ์โลกด้วยการประหยัดพลังงาน -
แนวคิดที่จะประหยัดทรัพยากร รวมถึงการก่อมลพิษ เป็นที่มาให้ใช้รถพลังงานทางเลือก และระบบไฮบริดก็เป็นหนึ่งในนั้น (มีพลังงานทางเลือกอื่น ๆ อีกเช่น ไฟฟ้าล้วน EV, รถพลังไฮโดรเจน) แน่นอนว่าพลังงานแต่ละแบบก็มีข้อจำกัดแตกต่างกัน ซึ่งระบบไฮบริดเป็นทางเลือกที่ดี เพราะข้อจำกัดน้อยมาก
กระบวนการของระบบไฮบริด คือใช้พลังงานให้คุ้มค่าที่สุดจากเครื่องยนต์สันดาปที่มีการสูญเปล่าเยอะ เก็บพลังงานจากการเบรก รวมถึงใช้มอเตอร์ไฟฟ้า ข้อดีคือแรงบิดสูง ทำงานในช่วงความเร็วต่ำ โดยมีแบตเตอรี่ทำหน้าที่เก็บพลังงานไฟฟ้า และจากโจทย์ที่กล่าวมาจึงคลอดออกเป็น โตโยต้า พรีอุส (Toyota Prius) ที่เริ่มต้นโปรเจคท์เมื่อปี ค.ศ. 1993 ตั้งเป้าให้เป็นรถยนต์แห่งศตวรรษที่ 21 พัฒนาออกมาล่าสุดเป็นเจเนอเรชั่นที่ 4 โดยมีไทม์ไลน์ดังนี้
Toyota Prius เจเนอเรชั่น 1 ถูกจำหน่ายในปี ค.ศ. 1997
Toyota Prius เจเนอเรชั่น 2 ถูกจำหน่ายในปี ค.ศ. 2003
Toyota Prius เจเนอเรชั่น 3 ถูกจำหน่ายในปี ค.ศ. 2009
Toyota Prius เจเนอเรชั่น 4 ถูกจำหน่ายในปี ค.ศ. 2015 (รุ่น PHV ค.ศ. 2016)

ซึ่งในแต่ละเจเนอเรชั่นก็มีพัฒนาการชัดเจนด้านความประหยัด และการปล่อยค่าไอเสีย ที่สำคัญระบบไฮบริดของโตโยต้าที่พัฒนาขึ้นมีความแตกต่างจากไฮบริดแบบอื่น ๆ ที่มีแบตเตอรี่ขนาดใหญ่และสมองกลคอยควบคุมทำให้สามารถดึงประสิทธิภาพของไฮบริดได้มากกว่า

หากมองเผิน ๆ ไม่ว่ามองด้านไหนระบบไฮบริดก็เป็นตัวช่วยหนึ่งที่รักษาสิ่งแวดล้อมได้ดีในการปล่อยค่าไอเสีย และประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิง แต่หากมองไปที่สายการผลิต ระบบมอเตอร์ไฟฟ้า แบตเตอรี่และอุปกรณ์เกี่ยวข้องกับระบบไฮบริด ย่อมเพิ่มการปล่อยค่าไอเสียในการผลิตมากกว่าเดิม เสมือนเราเว้นการปล่อยไอเสียจากท้องถนน ให้ไปกระจุกตัวในโรงงานแทน
ข้อสงสัยในข้างต้นวิศวกรจากโตโยต้าเองยืนยันว่าหากใช้รถถึง Life Cycle ที่ประมาณ 5 ปี หรือ 100,000 กม. จะช่วยลดค่าไอเสียแม้รวมการปล่อยไอเสียในสายการผลิตได้มากกว่าแน่นอน แถมยังมีเรื่องประหยัดพลังงานเชื้อเพลิง เพียงแต่ไม่มีตัวเลขที่ออกมาแน่ชัดว่าไอเสียน้อยกว่าสักเท่าไหร่...


- Toyota Prius 2017 (โตโยต้า พรีอุส 2017) ก้าวใหม่สู่ความปลอดภัย -
ในทริปนี้ผู้เขียนมีโอกาสได้ทดสอบระบบ Toyota Safety Sense ซึ่งเป็นเทคโนโลยีความปลอดภัยที่ติดตั้งลงใน Toyota Prius 2017 เป็นรุ่นแรก กับฟีเจอร์ Pre-Collision System ที่ป้องกันการชน ซึ่งเรามีคลิปการทดสอบมาจากมุมมองในห้องโดยสารและภายนอกมาให้ชม
หลักการทำงาน ที่บริเวณหน้ารถจะมีกล้องและเรดาร์จำนวน 2 ตัว ทำหน้าที่เก็บข้อมูลส่งต่อให้สมองกลประมวลผลเรื่องความปลอดภัย เริ่มแรกจะส่งสัญญาณเตือนเมื่ออยู่ในระยะไม่ปลอดภัย สมองกลจะสั่งให้ระบบเบรกเตรียมพร้อม เพิ่มแรงดันน้ำมันเบรก เตรียมกระจายแรงเบรก และหากผู้ขับขี่ยังไม่ตอบสนองต่อเสียงเตือน รถก็จะทำการเบรกให้ทันที


อย่างที่เห็นในการทดสอบ เมื่อรถเบรกอัตโนมัติรับรองว่ามีหน้าทิ่มเพราะระยะใกล้มาก โดยระบบจะทำงานก็ต่อเมื่อความเร็วไม่เกิน 50 กม./ชม. แต่จากในคลิปเพื่อความปลอดภัยแบบ 100% ทางโตโยต้าจึงขอกำหนดให้ความเร็ว 25 กม./ชม. ซึ่งก็ผ่านไปด้วยดี ไม่มีครั้งไหนที่ระบบพลาดชนด้านหน้าเลยสักครั้ง

นอกจากนี้ยังขอเพิ่มเติมเรื่อง Toyota Safety Sense ที่ยังมีความปลอดภัยอื่น ๆ อีก เช่น การปรับไฟสูงรถอัตโนมัติ (Auto High Beam) และการรักษาเลนอัตโนมัติ (Lane Departure) ที่เกี่ยวข้องกับระบบความปลอดภัย ทางโตโยต้าให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปี 2020 ตั้งเป้าให้รถทุกคันของโตโยต้าจะมีระบบ Safety Sense

ด้วยโมดูลนี้ จะมีการพัฒนาขีดความสามารถของกล้อง เรดาร์และสมองกล สามารถต่อยอดเป็นรถยนต์ขับอัตโนมัติได้ในอนาคต..
- Toyota Prius 2017 (โตโยต้า พรีอุส 2017) พร้อมรับมืออันตรายที่เกิดขึ้นได้เสมอบนท้องถนน -
อีกเรื่องหนึ่งในความว้าวของทริปนี้ ผู้เขียนได้ชมการทดสอบการชนจริง ๆ กับรถ Toyota Prius 2017 เป็นการยืนยันถึงความปลอดภัยของเซฟตี้รถต่อบุคคลในรถ รวมถึงแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ที่วางอยู่ใต้เบาะที่นั่งแถวสองว่าไม่มีการตู้มซ้ำแน่เมื่อเกิดอุบัติเหตุ รวมไปถึงกระแสไฟฟ้าจะรั่วไหลออกมาให้เกิดอันตรายเพิ่มเติม
มาตรฐาน NCAP
หลายคนคุ้นเคยกับมาตรฐาน NCAP ที่ใช้ความเร็วของรถ 64 กม./ชม. พุ่งชนสิ่งกีดขวางในมุมตรง จากนั้นก็วัดค่าแรงกระแทกที่หุ่นดัมมี่เพื่อประเมินอัตราบาดเจ็บ

แต่การทดสอบชนครั้งนี้แตกต่าง ใช้รถเลื่อนที่เผยเห็นโครงเหล็กทั้งดุ้นมีกันชนเป็นบล็อกอะลูมิเนียมแบบรังผึ้ง น้ำหนักรวมของรถประมาณ 2.5 ตันพุ่งเข้าชน Toyota Prius 2017 (โตโยต้า พรีอุส 2017) ในมุม 15 องศา มีจุดกระทบประมาณ 35 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่หน้ารถ ภายในรถมีหุ่นดัมมี่ 2 ตัว เก็บตัวเลขแรงกระแทกไปวิเคราะห์

เมื่อถึงเวลาทุกอย่างพร้อม มีการนับเคานต์ดาวน์ เสียงออดดังระงม เราได้ยืนเสียงเจ้ารถเหล็กวิ่งมาแต่ไกล เพียงเสี้ยววินาทีเท่านั้น เสียงตู้มดังสนั่น ทุกอย่างกลับมาสงบ มีเสียงซอกแซกจากเหล่าสื่อมวลชน ขณะที่ชนเสร็จก็มีกลุ่มควันเล็กน้อย รวมถึงเศษซากชิ้นส่วนหลุดกระจายเต็มพื้นที่


สภาพรถดูยับเยิน ตัวรถหมุนกระเด็นไปไกลจากจุดชนประมาณ 3-4 เมตร ตัวรถหมุนกลับด้านประมาณ 45 องศา เหล่าวิศวกรเข้ามาตรวจเช็กการรั่วไหลของไฟฟ้า เก็บเศษซากบนพื้น จากนั้นก็ได้เชิญให้สื่อเข้าชมอย่างใกล้ชิด

จากนั้นทางวิศวกรที่ควบคุมก็เดินมาเปิดประตูฝั่งที่ถูกชนให้ดู แน่นอนครับ ประตูอ้าได้ราว 25 องศา เพียงพอแล้วต่อการนำร่างผู้บาดเจ็บออกจากจุดเกิดเหตุ ส่วนประตูอื่นไม่ต้องพูดถึง เปิดได้สบาย ๆ


อย่างที่สองที่ผู้เขียนสังเกต คือการรั่วไหลของของเหลวด้านล่างรถ ยังมีการรั่วซึม แต่ปริมาณน้อยมาก ๆ และไม่สามารถบอกได้ว่ามาจากหม้อน้ำหรือระบบจ่ายเชื้อเพลิง ซึ่งทางโตโยต้าแจ้งไว้ว่าของเหลวทั้งหมดมีการเปลี่ยนเพื่อความปลอดภัย

ที่ผลการทดสอบออกมาดีขนาดนี้ ต้องยอมรับกับโครงสร้างนิรภัย GOA บนพื้นฐานการพัฒนาวิศวกรรม TNGA (Toyota New Global Architecture) ที่เสริมความปลอดภัยตัว ถังทนทานต่อการบิดตัวสูงกว่าเดิมถึง 30-65% และแน่นอนว่า Toyota Prius 2017 (โตโยต้า พรีอุส 2017) ก็แสดงให้เราประจักษ์แก่สายตาแล้ว..

ความจริงแล้วยังมีข้อมูลด้านแบตเตอรี่ Toyota Prius 2017 (โตโยต้า พรีอุส 2017) ที่ในเจเนอเรชั่น 4 นี้มีให้เลือก 2 แบบคือ นิกเกิล-เมทัลไฮดราย กับ ลิเธียมไอออน ทำให้เป็นเรื่องน่าสนใจอย่างยิ่ง ผู้เขียนก็ได้ไปเยี่ยมเยือนถึงโรงงานผลิตและขอแตกประเด็นออกไปต่างหาก

ย้อนกลับมาเกี่ยวกับพวกเราชาวไทย มีโอกาสได้สัมผัส โตโยต้า พรีอุส อยู่ช่วงหนึ่งแต่ดูเหมือนยอดขายจะรวยระริน แถมต่อมามีประเด็นเรื่องการเก็บภาษี ทำให้โตโยต้า ประเทศไทย ประกาศเลิกจำหน่ายไป
โดยส่วนตัวของผู้เขียนที่ได้คลุกคลีกับ Toyota Prius 2017 (โตโยต้า พรีอุส 2017) ต้องบอกเลยว่าน่าใช้มากจริง ๆ สำหรับ เจเนอเรชั่นนี้ ก็ได้แต่หวังเล็ก ๆ ว่าคนไทยจะมีโอกาสได้เลือกใช้รถดี ๆ แบบนี้อีกสักครั้งหนึ่ง...

ขอขอบคุณโตโยต้า ประเทศไทย ที่ให้โอกาสทีมงานกระปุกคาร์ได้เข้าร่วมการเดินทางในครั้งนี้ด้วยครับ







