


Mercedes-Benz 300SL ถือเป็นต้นกำเนิดของประตูปีกนกนางนวล (Gull Wing) ซึ่งแรกเริ่มนั้นนำมาใช้ในรถแข่งกรังด์ปรีซ์อย่าง Mercedes-Benz w194 ซึ่งยุคก่อนรถที่ใช้แข่งขันต้องไม่มีประตูเพื่อให้นักแข่งสามารถที่จะกระโดดข้ามลงไปยังเบาะนั่งและกดปุ่มสตาร์ทเพื่อออกตัวไปอย่างรวดเร็ว แต่การมีหลังคานั้นนับว่าเป็นข้อได้เปรียบสำหรับการแข่งขันที่ต้องวิ่งกันต่อเนื่องยาวนานอย่าง เลอมังส์ 24 ชม.
นักขับจะอ่อนล้าน้อยกว่าเมื่อไม่ต้องปะทะกับกระแสลมตลอดเวลา Mercedes-Benz จึงได้เริ่มติดตั้งบานปีกนก (หลังคาเปิดได้แค่ถึงขอบกระจกล่าง) ในช่วงแรกสำหรับ W194 หลังจากนั้นจึงปรับเรื่อยมาจนมีใช้ใน Mercedes-Benz 300SL ซึ่งมีโครงสร้างแบบท่อสเปซเฟรมล้ำสมัย
นอกจากนี้ Mercedes-Benz 300SL ยังเป็นรถยนต์โปรดักชั่นคาร์คันแรกของโลกที่ใช้ระบบหัวฉีด ด้วยการยกชุดหัวฉีดของเครื่องบินรบเยอรมันชื่อก้องโลกในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 เมสเซอร์ชมิตต์ บีเอฟ 109อี ไฟท์เตอร์ มาใช้กับเครื่องยนต์แถวเรียง 6 สูบ ทำให้มีกำลังถึง 215 แรงม้า และวิ่งได้เร็วถึง 260 กม./ชม. จนครองสถิติรถโปรดักชั่นคาร์เร็วที่สุดในโลก ณ เวลานั้นพ่วงไปอีกหนึ่งตำแหน่ง


De Tomaso Mangusta เป็นรถสปอร์ตชื่อดังของอิตาลี ชื่อ Mangusta มาจากคำว่า Mongoose ในภาษาอิตาเลียนซึ่งแปลว่าพังพอน ซึ่งเป็นสัตว์ที่เป็นอริและสามารถฆ่างูเห่าได้ ด้วยสาเหตุที่ลือกันว่า อเลจานโดร เดอ โทมาโซ กับ แคร์โรลล์ เชลบี้ นั้นเป็นเพื่อนกันและได้คุยกันว่าจะให้ เดอ โทมาโซ สร้างรถแข่งรุ่นใหม่ขึ้นมาแทน เชลบี้ คอบร้า (Shelby Cobra) โดยปราศจากการทำสัญญาข้อตกลงใด ๆ
แต่อย่างว่า ธุรกิจก็คือธุรกิจ ท้ายที่สุดเชลบี้ได้ร่วมกับฟอร์ด (Ford) เพื่อสร้าง Ford GT 40 ออกมาในปี 1964 ทำให้ เดอ โทมาโซ เลือกตั้งชื่อรถของตนเองว่า Mangusta หรือพังพอนเพื่อเอาคืนเชลบี้
De Tomaso Mangusta นั้นได้รับการออกแบบจากนักออกแบบที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นปรมาจารย์ด้านการออกแบบอย่างที่ชาวอิตาเลียนจะเรียกว่ามาเอสโตร (Maestro) อย่าง จิออเก็ตโต จูจาโร (Giorgetto Giugiaro) ให้ดูเรียบง่ายแต่โดดเด่นด้วยประตูปีกนกนางนวลในส่วนที่เก็บของและห้องเครื่องยนต์ที่วางกลางลำด้านท้ายรถแบบ V8 ของฟอร์ด โดยในตลาดยุโรปจะได้ขนาดความจุ 4.7 ลิตร 306 แรงม้า
ส่วนในตลาดอเมริกาจะได้เครื่องยนต์ที่มีความจุใหญ่ขึ้นเป็น 5.0 ลิตร แต่มีกำลังน้อยกว่า ที่ 221 แรงม้า จับคู่กับเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ และมีระบบกันสะเทือนแบบอิสระพร้อมทั้งดิสก์เบรก 4 ล้อ มาให้เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน


Melkus RS 1000 เป็นรถสปอร์ตน้ำหนักเบาของยุโรป ผลิตในช่วงปี 1969 ถึง 1979 ที่โรงงานเดรสเดิน ในเยอรมนี ซึ่งยังใช้แชสซีส์ Ladder Frame (เหมือนรถกระบะ) พร้อมโรลบาร์ส่วนตัวถังนั้นใช้วัสดุล้ำสมัยด้วยไฟเบอร์กลาส Melkus RS 1000 เป็นรถอีกหนึ่งรุ่นที่ได้ใช้ประตูห้องโดยสารแบบปีกนก
วางเครื่องยนต์กลางลำ แบบ 3 สูบ 2 จังหวะ ขนาดความจุแค่ 992 ซี.ซี. แต่ด้วยน้ำหนักที่เบาจึงสามารถทำความเร็วได้ถึง 175 กม./ชม. โดยในรุ่นที่ใช้สำหรับแข่งขันนั้นจะได้ชุดคาบูเรเตอร์แบบสปอร์ต ให้กำลัง 118 แรงม้า และสามารถทำความเร็วสูงสุด 210 กม./ชม. ซึ่งต่อมาได้เพิ่มความจุกระบอกสูบเป็น 1,200 ซี.ซี. โดย Melkus RS 1000 ผลิตขึ้นมาทั้งหมด 101 คัน


Bricklin SV-1 เป็นรถสปอร์ตจากผู้ผลิตรายย่อยจากฝั่งอเมริกาที่ก่อตั้งโดยมหาเศรษฐีอย่าง มัลคอล์ม บริคลิน ( Malcolm Bricklin) ได้ว่าจ้างให้ เฮิร์บ กราสซ์ เป็นผู้ออกแบบ Bricklin SV-1 ซึ่งเลือกใช้ประตูแบบปีกนกนางนวลที่สามารถเปิด-ปิดได้ด้วยการกดปุ่มมาเป็นอุปกรณ์มาตรฐานจากโรงงานโดยไม่ต้องติดตั้งเพิ่ม ภายใต้แนวคิดของการเป็นรถสปอร์ตที่ราคาไม่แพงและปลอดภัย (SV-1 ย่อมาจาก Safety Vehicle one) ด้วยการติดตั้งโรลเคจและการออกแบบให้มีกันชนที่ยุบตัวรับแรงกระแทกได้ที่ความเร็ว 8 กม./ชม.
รวมถึงคานด้านข้าง ตัวถังทำจากวัสดุอย่างไฟเบอร์กลาสและฝากระโปรงอะคริลิก รวมถึงยังเลือกใช้สีตัวถังที่สามารถเห็นได้ชัดเจนเพื่อความปลอดภัยอย่าง สีขาว, สีแดง, สีเขียว, สีส้ม และสีน้ำตาลอ่อน ซันแทน
นอกจากนี้ภายในห้องโดยสารของ Bricklin SV-1 ยังไม่ติดตั้งที่จุดและที่เขี่ยบุหรี่มาให้เพราะตัวของ มัลคอล์ม บริคลิน นั้นไม่สูบบุหรี่และเขายังคิดว่าการสูบบุหรี่ขณะขับรถนั้นเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุอีกด้วย ทางด้านเครื่องยนต์นั้น Bricklin SV-1 เลือกใช้ของ AMC แบบ V8 ในปีแรก ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นเครื่องยนต์ Ford 351 Windsor แบบ V8 ที่ใช้ใน Ford Mustang


Delorean DMC-12 เป็นรถสปอร์ตอเมริกันอีกหนึ่งคันที่ใช้ประตูเปิดแบบปีกนกที่เป็นผลงานการดีไซน์ของ จิออเก็ตโต จูจาโร แต่ความโด่งดังนั้นกลับเกิดจากการที่ถูกนำมาเข้าฉากในภาพยนตร์ที่โด่งดังไปทั่วโลกอย่าง Back to the Future หรือเจาะเวลาหาอดีต
ซึ่งผลิตโดย DeLorean Motor Company ของ จอห์น เดอโลรีน เพื่อจำหน่ายในสหรัฐอเมริกาในช่วงปี 1981-1983 ซึ่งภายหลัง จอห์น เดอโลรีน ถูกจับเพราะค้ายาและอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ DeLorean Motor Company และ Delorean DMC-12 ต้องหมดอนาคตลงอย่างรวดเร็ว
อย่างไรก็ตาม Delorean DMC-12 มาพร้อมกับนวัตกรรมสุดทันสมัยด้วยแชสซีส์และโครงสร้างตัวถังไฟเบอร์กลาส ส่วนตัวถังภายนอกนั้นใช้วัสดุอย่างสเตนเลสปัดเงาแทนการพ่นสีแบบรถทั่วไป รวมไปถึงเครื่องยนต์ที่ในตอนแรกจะใช้แบบ แวนเคิล โรตารี่ วางกลางลำ แต่สุดท้ายเปลี่ยนมาเป็นเครื่องยนต์ PRV (Peugeot-Renault-Volvo) แบบ V6 ขนาดความจุ 2.8 ลิตร


Autozam AZ-1 เป็นรถสปอร์ตจากญี่ปุ่นคันเดียวในที่นี้ที่มีบานประตูแบบปีกนกมาให้แถมยังมีขนาดตัวถังที่เล็กจิ๋วที่สุด ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่ม K-Car หรือไคจิโดฉะ (Kei Jidosha) ของญี่ปุ่น ที่สำคัญเคยถูกนำเข้ามาจำหน่ายในบ้านเราโดยผู้นำเข้าอิสระในช่วงยุค 90 อีกด้วย
Autozam AZ-1 เป็นรถที่ออกแบบและผลิตโดย Suzuki และจำหน่ายผ่านช่องทางของ Mazda ภายใต้แบรนด์ Autozam เปิดตัวครั้งแรกในปี 1992 ถึงแม้จะเป็นรถยนต์ขนาดเล็กแต่ก็วางเครื่องยนต์ขนาด 657 ซี.ซี. ไว้กลางลำแบบซูเปอร์คาร์ราคาแพง ให้กำลัง 64 แรงม้า และแรงบิด 85 นิวตันเมตร ในขณะที่ตัวรถของ Autozam AZ-1 มีน้ำหนักเบาเพียง 720 กิโลกรัมเท่านั้น


Isdera Commendatore 112i รถซูเปอร์คาร์ของเยอรมนีที่ถือกำเนิดขึ้นในปี 1993 และติดตั้งประตูแบบปีกนก ซึ่งใช้เครื่องยนต์ของ Mercedes-Benz แบบ V12 สูบ ขนาด 6.0 ลิตรไว้กลางลำ ให้กำลังสูงสุด 402 แรงม้า และแรงบิด 580 นิวตันเมตร ส่งกำลังผ่านเกียร์ 6 จังหวะ ขับเคลื่อน 2 ล้อหลัง สามารถทำความเร็วจาก 0-100 ได้ภายใน 4.7 วินาที
และเพื่อรักษาเสถียรภาพขณะแล่นด้วยความเร็วสูง Isdera Commendatore 112i ได้ติดตั้งระบบ velocity-sensitive electronic chassis ที่จะลดความสูงตัวถังลงโดยอัตโนมัติให้แนบติดพื้นถนนลงอีก 3 นิ้ว


Bristol คือผู้ผลิตรถระดับหรูแบบแฮนด์เมดของอังกฤษ ซึ่งแต่เดิมเคยเป็นผู้ผลิตเครื่องบินในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่มีคนงานมากกว่า 50,000 คน และหลังจากสงครามสิ้นสุดลง Bristol จึงได้เริ่มก่อตั้งแผนกรถยนต์ขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งของ Bristol Aeroplane ซึ่งต่อมาได้กลายเป็น Bristol Cars Limited
ในช่วงปี 2004 Bristol Cars ได้มีการผลิต Bristol Fighter รถสปอร์ตที่มีประตูเปิดกางออกได้แบบปีกนกนางนวล ซึ่งออกแบบโดย แม็กซ์ บ็อกซ์สตรอม (Max Boxstrom) ผู้ก่อตั้ง Brabham Formula One และคร่ำหวอดอยู่ในวงการรถสูตร 1 มาก่อน
ทำให้ Bristol Fighter มีค่าสัมประสิทธิ์ต่ำเพียง 0.28 และวางเครื่องยนต์ V10 สูบ ขนาดความจุ 8.0 ลิตร ที่ยกมาจากรถสปอร์ตอย่าง ดอดจ์ ไวเปอร์ (Dodge Viper) และรถกระบะดอดจ์ แรม เอสอาร์ที-10 (Dodge Ram SRT-10) มาทำการปรับแต่งจนมีพละกำลังสูงถึง 532 แรงม้า และแรงบิด 698 นิวตันเมตร ซึ่งในส่วนของเครื่องยนต์นั้นแต่เดิม Bristol ก็เลือกใช้ของไครสเลอร์มาตั้งแต่ปี 1961 แล้ว


แทบไม่ต้องอธิบายให้เสียเวลาว่า Mercedes-Benz SLS คือผู้สืบทอดความสำเร็จโดยตรงต่อจาก Mercedes-Benz 300SL ที่โด่งดังจนเป็นตำนาน เพราะฉะนั้น Mercedes-Benz SLS จึงมีสิทธิ์อันชอบธรรมที่จะใช้ประตูแบบปีกนกนางนวลได้อย่างภาคภูมิ
ซึ่ง SLS ได้รับการพัฒนาร่วมกับ AMG บริษัทในเครือของ Mercedes-Benz และประกอบด้วยมือทั้งคันซึ่งรวมถึงเครื่องยนต์ V8 ขนาดความจุ 6.3 ลิตร ที่วางกลางลำด้านหน้า โดยมีเกียร์อัตโนมัติแบบคลัตช์คู่ 7 จังหวะให้เลือกเป็นออปชั่น


Gumpert Apollo ซูเปอร์คาร์จากเยอรมนี ได้เริ่มทำการผลิตในฐานะรถที่สามารถวิ่งบนถนนสาธารณะได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายเมื่อปี 2012 พร้อมกับการติดตั้งประตูแบบปีกนก ซึ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการครั้งแรกที่งานเจนีวา มอเตอร์โชว์ ปี 2013 แต่สำหรับการเป็นรถแข่งแล้ว Gumpert Apollo ได้เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2005 ลงสนามครั้งแรกในรายการ Divinol Cup โดย รูเบน เมส์ (Ruben Meas) นักขับชาวเบลเยียม เข้าเส้นชัยเป็นอันดับ 3 ที่สนามแข่งฮอคเคินไฮม์ริง ประเทศเยอรมนี
โดยอีก 3 ปีต่อมา ได้ส่ง Gumpert Apollo ไฮบริด เข้าร่วมการแข่งขัน 24 ชม. นูร์เบอร์กริง ด้วยเครื่องยนต์ V8 ขนาดความจุ 3.3 ลิตร ทวินเทอร์โบ ให้กำลัง 512 แรงม้า ประสานกับมอเตอร์ไฟฟ้า 2 ตัว ที่ให้กำลัง 134 แรงม้า และสามารถชาร์จไฟกลับเข้าแบตเตอรี่ได้ด้วยการเบรก
สำหรับรุ่นที่สามารถวิ่งบนถนนสาธารณะได้อย่างถูกกฎหมายนั้นใช้เครื่องยนต์ V8 ขนาด 4.2 ลิตร เทอร์โบ วางกลางลำ ขับเคลื่อนล้อหลัง ที่มีโครงสร้างด้วยท่อโลหะผสมอย่างโครโมลี (Chromoly) ครอบด้วยตัวถังที่ทำจากไฟเบอร์กลาสหรือสั่งพิเศษสำหรับคาร์บอนไฟเบอร์ โดย Gumpert ได้เคลมว่า Gumpert Apollo จะสามารถทำความเร็วได้เกิน 300 กม./ชม.


แม้ว่าประตูปีกนกนางนวลจะไม่ใช่ของใหม่อีกต่อไปแต่ก็ยังคงสร้างความน่าตื่นตะลึงได้เสมอ เมื่ออยู่บนตัวถังของรถ SUV พลังไฟฟ้าอย่าง Tesla Model X ในรุ่นที่ผลิตจำหน่ายจริงเฉพาะบานประตูคู่หลังเพื่อความล้ำ
โดยทั่วไปแล้วบานประตูลักษณะนี้มักจะปรากฏในรถซูเปอร์คาร์หรือรถสปอร์ตมากกว่า และไม่รู้ว่านี่เป็นหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ Tesla Model X มีราคาสุดแรงด้วยหรือไม่
อย่างไรก็ตามTesla Model X มีทั้งหมด 3 รุ่น คือ P90D, 90D และ 70D ที่สามารถวิ่งได้ไกลสูงสุดถึง 350-400 กิโลเมตรต่อการชาร์จไฟ 1 ครั้ง โดยจะเริ่มส่งมอบกันต้นปี 2016
ไม่ต้องสงสัยเลยว่าแม้เวลาจะผ่านไปกี่ยุคสมัยประตูปีกนกนางนวลหรือ "Gull wing" ก็ยังคงโดดเด่นน่าประทับใจเสมอ
ภาพจาก carophile