
ทุกวันนี้ เวลาขับรถแล้วเจอไฟแดงเราเข้าเกียร์ D หรือ N (เกียร์ว่าง) กัน เรื่องนี้มีการถกเถียงกันอยู่มากต่างฝ่ายก็มีเหตุผล บ้างก็ว่าค้างไว้ D มันสะดวก บ้างก็ว่าสับเกียร์ N บ่อยความดันในห้องเกียร์จะสูงแล้วพาลให้เกียร์เสื่อมไว
ด้วยเหตุนี้กระปุกคาร์จึงได้สัมภาษณ์สอบถามกูรูอย่างคุณนอ นรพร พรหมบุตร ผู้ช่วยผู้จัดการบริการด้านเทคนิค ของโตโยต้า ที่ได้ให้ความกระจ่างในเรื่องนี้ได้ดีทีเดียว
ในกรณีของรถยนต์ เครื่องยนต์สันดาปล้วน
เริ่มแรกถามว่าควรเข้าเกียร์ D หรือ N นั้นอยากให้ดูตามสถานการณ์ของจราจรเป็นเกณฑ์ ถ้ารถติดเกิน 1 นาทีเป็นต้นไปควรอย่างยิ่งที่จะเข้าเกียร์ N
เพราะหากการเข้าเกียร์ D แล้วเหยียบเบรกทิ้งไว้ ระบบส่งกำลังของเกียร์ (Torque Converters) ก็จะทำงานอยู่ในรอบเดินเบา แล้วเราเหยียบเบรกห้ามไว้ ส่วนเรื่องการสึกหรอนั้นไม่มีข้อมูลที่ยืนยัน แต่หากคิดตามหลักการแล้วอาจจะมีบ้างแต่น้อยมาก ๆ แต่ที่มีปัญหาแน่นอนและเด่นชัดคือรถคุณจะกินน้ำมันเชื้อเพลิงมากกว่าเดิม และไม่ได้ผ่อนคลายกล้ามเนื้อขาเลย
แต่ทั้งนี้หากรถติดเพียงเล็กน้อยก็ไม่จำเป็นต้อง N เสมอไป เพราะคุณจะมาสับเกียร์ทุกครั้งที่เจอไฟแดง จะทำให้กลไกชุดลิงก์การเปลี่ยนตำแหน่งเกียร์ รวมถึงพวกชิ้นส่วนที่มีการเคลื่อนที่บริเวณคันเกียร์ มีการใช้งานมากกว่าปกติ และทำให้แรงดันน้ำมันเกียร์เปลี่ยนแปลงบ่อย

สำหรับกรณีรถไฮบริดนั้นมีความแตกต่างออกไป คือถ้าใส่เกียร์ N ไว้ กระบวนการชาร์จไฟจากมอเตอร์เข้าแบตเตอรี่จะไม่ทำงาน (เป็นข้อมูลเฉพาะรถยนต์ของโตโยต้า) เพราะฉะนั้นก็ควรใส่เกียร์ D ไว้เมื่อต้องการชาร์จไฟแบตเตอรี่ หรือถ้าอยากพักเท้าในการเหยียบเบรกจริง ๆ ให้โยกคันเกียร์ไปที่ P เลยจะดีกว่าเพราะระบบชาร์จไฟจะทำงาน
ทั้งนี้ช่วงการจอดรถติดไฟแดงให้ปลอดภัย เมื่อเข้าเกียร์ N ก็ควรใช้เบรกมือร่วมด้วย หรือหากคุณเข้าเกียร์ P แล้วโดนชนอาจจะทำให้รถเกียร์เสียทั้งชุด แต่ตามกฎหมายแล้วคุณสามารถฟ้องร้องคู่กรณีที่ชนท้ายให้จ่ายค่าเสียหายได้ทั้งหมด รวมถึงพ้นข้อหาประมาทหากรถไหลไปชนคันหน้าอีกต่อ เพราะสามารถยื่นหลักฐานให้แก่ศาลได้ว่าคุณไม่ได้ประมาทเข้าเกียร์จอดและห้ามรถเต็มที่จนเกียร์พัง
ส่วนการถนอมเกียร์ให้ใช้งานได้อย่างยืนยาวก็ควรทำการตรวจเช็กหรือเปลี่ยนตามคู่มือการใช้รถของท่านเอง นอกจากนี้วิธีการขับเป็นอีกส่วนสำคัญ อย่างการลากรอบสูงบ่อย ๆ ก็ส่งปัญหาตามมาภายหลังได้
เชื่อว่าข้อมูลทั้งหมดช่วยไขข้อสงสัยให้กระจ่าง ใครที่ขับผิด ๆ ลองมาปรับนิสัยการขับดูเพราะอาจช่วยคุณประหยัดค่าน้ำมันในกระเป๋าลงไปได้พอสมควรทีเดียว