ด้วยเหตุผลหลายอย่างทำให้เราต้องดิ้นรนหา "รถยนต์" ไม่ว่าจะเป็นเพราะข้ออ้างมากมาย ความอยากได้ หรือด้วยเหตุจำเป็นต่อธุรกิจและการดำเนินชีวิต จะเพราะอะไรก็ตามที เมื่อมีความต้องการแล้วก็ต้องหาทาง "สนอง" และเมื่อได้มาแล้วก็หวังว่ารถคันนั้นมันจะทำให้เกิดความชื่นมื่นสมใจ ใช้งานดี แต่ไม่ได้หมายความว่ารถทุกคันจะเป็นอย่างที่ใจนึก นี่คือที่มาของเรื่องกรณีออกรถใหม่ป้ายแดงแจ๋ ดันมีของแถมเป็น "ปัญหาสารพัด" พานให้หงุดหงิดสุดทนจนต้องเกิด "การร้องเรียน"
ย้อนเวลากลับไปช่วงปิดท้ายปีที่ผ่านมามีข้อมูลที่เปิดเผยของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ว่า ปัญหาการร้องเรียน "มากที่สุด" นับย้อนไปได้ 2 ปีปรากฏว่า "ปัญหาด้านรถยนต์" โดดขึ้นมาครองแชมป์ติดต่อกันแซงเรื่องอื่น ๆ โดยเฉพาะเรื่องที่มีคนเคยร้องเรียนมากที่สุดอย่างเรื่องที่อยู่อาศัย ทำให้เห็นได้ชัดว่าเรื่องนี้แม้จะมีคนออกมาโวยวายมากเท่าไหร่ หากมีการแก้ไขไม่ตรงจุดมันก็ยังคงเกิดเรื่องตามมาไม่หยุดหย่อนเสียที
แต่อย่าเพิ่งด่วนสรุปว่าทั้งหมดนั้นมันเกิดจากตัวรถ ค่ายผู้ผลิต หรือตัวแทนจำหน่ายมีหลายกรณีเช่นกันที่เกิดปัญหาจาก "ความรู้สึกของผู้ใช้" ซึ่งไม่ว่าจะเป็นกรณีไหนต่างก็ต้องทำการพิสูจน์ให้ชัดเจนด้วยกันทั้งนั้น
การร้องเรียนเกี่ยวกับรถยนต์เท่าที่มีข้อมูลออกมาและทาง สคบ. ได้จัดแบ่งเรื่องราวออกเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ พอจะแบ่งได้เป็นเรื่องของปัญหารถยนต์ป้ายแดง, ปัญหารถยนต์มือสอง, ปัญหาการเช่าซื้อ และปัญหาการซ่อมแซม ซึ่งทั้งหมดนี้ประมาณ ร้อยละ 80-90 เกิดจากความ "ไม่พึงพอใจอย่างยิ่ง" จากความรู้สึกของผู้ใช้รถ ปัญหาจุกจิกรำคาญใจ มีทั้งแบบร้องเรียนเข้ามารายเดียว และแบบที่ผู้ใช้รถเจอปัญหาเดียวกันหรือคล้ายกันรวมกลุ่มเข้ามาร้องเรียน เป็นข่าวครึกโครมอยู่เรื่อย ๆ
และอย่างที่สองจะเกิดขึ้น "หลังจาก" การเจรจาระหว่างบริษัทรถยนต์กับผู้ซื้อ "ไม่สามารถตกลงกันได้" ก็จะประสานไปยังผู้เชี่ยวชาญด้านยานยนต์ซึ่งมี "สถาบันยานยนต์" อันเป็นคณะกรรมการด้านยานยนต์ของ สคบ. อยู่แล้วให้เข้ามาดำเนินการตรวจสอบปัญหาที่เกิดขึ้นว่าตรงตามข้อร้องเรียนหรือไม่ สภาพจริงของรถยนต์เป็นแบบนี้หรือไม่ หรือว่าปัญหาเกิดจากกระบวนการผลิต
ถ้าหากพิสูจน์ได้ว่าเป็นปัญหามาจากการใช้รถ อันนี้ผู้ซื้อก็รับผิดชอบเองไป แต่ถ้าเกิดจากความผิดพลาดในการผลิต ทางบริษัทรถยนต์ก็จะต้องดำเนินการแก้ไขตามขั้นตอน ไล่เรียงมาเลยตั้งแต่ซ่อมแซม เปลี่ยนอุปกรณ์ที่ชำรุด แก้กันจนกว่าจะหาย ถ้าไม่ไหวจริง ๆ อาจถึงขั้นตอนต่อไป (ซึ่งคงกินเวลานานมากจนเบื่อกันไปข้างหนึ่งนั่นแหละ) โดย "อาจจะ" มีการตกลงเปลี่ยนรถคันใหม่ หรือรับซื้อรถที่มีปัญหาคืนแล้วแต่จะตกลงกัน แต่ขอบอกว่า "ยาก"
ส่วนใหญ่จะไกล่เกลี่ยอ้อมแอ้มถ้อยทีถ้อยอาศัยกันไป ผู้บริโภคจะพอใจอย่างไรหรือไม่ก็ไม่ทราบ แต่คนส่วนมากขี้เกียจดำเนินการในขั้นศาลซึ่งกินเวลายาวนานและเสียเงิน เสียเวลาไม่รู้เท่าไหร่...กรรมจริง ๆ
มองกันในภาพรวม ประเทศไทยเราไม่มีหน่วยงานที่มีอำนาจ "โดยตรง" ในการตรวจสอบหรือเรียกคืนรถยนต์ที่ถูกต้องเรียนหรือตรวจพบว่ามีปัญหาเหมือนอย่างในนานาประเทศที่การกำกับดูแลมาตรฐานสินค้าเพื่อไม่ให้ผู้ประกอบการเอาเปรียบผู้บริโภค หรือต้องได้รับโทษหากผลิต/ประกอบ หรือจำหน่ายโดยไม่มีความรับผิดชอบในระดับที่เรียกว่า "มีจริยธรรม" มีผู้ดูแลก็จริงแต่ไม่มีอำนาจอะไร และกฎหมายที่จะปกป้องผู้บริโภคยังไม่แข็งขันเข้มขัน ทำให้ผู้บริโภคบ้านเรามีแต่เสียเปรียบ
ประชาสัมพันธ์กันอยู่โครม ๆ ว่าประเทศไทยเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกรถยนต์รายใหญ่ติด 1 ใน 10 อันดับโลกแล้ว น่าจะมีหน่วยงานจัดตั้งขึ้นมากำกับดูแลเรื่องอย่างนี้ อย่างจริงจังและจริงใจกับผู้บริโภคบ้าง... ไม่รู้ว่าถึงชาติหน้าจะมีกับเขาหรือเปล่า...ฮึ !!
รถใหม่ รถมือสอง มอเตอร์ไซค์ ฤกษ์ออกรถ วิธีการดูแลรักษารถยนต์ มากมาย
คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อน ๆ ได้ที่นี่
ขอขอบคุณข้อมูลจากคลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อน ๆ ได้ที่นี่
หนังสือนักเลงรถ
ปีที่ 31 ฉบับที่ 371 กุมภาพันธ์ 2557