ไม่ค่อยมีใครพูดถึงเรื่องของกฎหมายการจราจรกันนักทั้ง ๆ ที่เราก็ใช้รถใช้ถนนและต้องเกี่ยวข้องกับกฎหมายและผู้รักษากฎหมายในด้านการจราจรอยู่ทุกวัน เลยอยากนำเสนอเรื่องราวที่เกี่ยวกับกฎหมายประเภทนี้ให้ผู้ใช้รถได้รู้ไว้บ้าง "เพื่อเป็นแนวทางและนำไปใช้ในชีวิตประจำได้อย่างถูกต้อง"
โดยเรื่องแรกที่จะนำพูดนั่นคือ เรื่องของ "ทางเดินรถ" ซึ่งทางเดินรถสามารถแบ่งออกเป็นแบบใดได้บ้าง และทางเดินรถแบบไหนที่สามารถขับรถเข้าไปได้ อันนี้ต้องทำความเข้าใจให้ตรงกันเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาโดนจับปรับดำเนินคดีหรือเกิดอันตรายจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์
เมื่อสิ่งสำคัญต่อการใช้รถคือ ถนน เพราะรถทุกคันจำเป็นต้องวิ่งอยู่บนถนน ทว่าถนนไม่ได้สร้างมาเพื่อใครคนใดคนหนึ่งเท่านั้น การที่ทุกคนออกมาใช้ถนนร่วมกันจึงเป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่ได้ และการขัดแย้ง แก่งแย่ง เอาเปรียบก็เกิดขึ้น และเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาจึงต้องมีข้อบังคับให้ทุกคนอยู่ในกรอบและทิศทางเดียวกันเพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้ถนน ซึ่งตามกฎหมายถนนที่ใช้กันเรียกว่า "ทางเดินรถ" ที่หมายความถึง พื้นที่ที่ทำไว้สำหรับการเดินรถ ไม่ว่าในระดับพื้นดิน ใต้หรือเหนือพื้นดิน แต่ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจให้ตรงกันด้วยว่า "ทางเดินรถนั้นต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับคำว่า เลน (Lane)"
การขับรถบนถนนทุกวันนี้ หลายคนมีข้อสงสัยว่าแท้จริงแล้วจะต้องขับอย่างไรจึงจะถูกต้อง สิ่งแรกที่ทุกคนต้องจำคือผู้ใช้ทางต้องวิ่งในส่วนที่กำหนดและจะต้องระมัดระวังไม่ให้รถที่ขับไปชนหรือเฉี่ยวชนคนเดินเท้า ไม่ว่าจะอยู่ในส่วนใดของทาง ที่สำคัญต้องให้สัญญาณเตือนแกคนเดินเท้าด้วย
รถทุกคันจะต้องขับรถทางด้านซ้ายและต้องไม่ล้ำเส้นกึ่งกลางที่แบ่งไว้ (ด้านซ้ายในที่นี้ไม่ใช่เลนซ้ายตามที่เข้าใจ แต่เพราะบ้านเราถูกกำหนดให้รถวิ่งด้านซ้าย ต่างจากต่างประเทศที่วิ่งด้านขวา จึงเรียกว่าด้านซ้าย) แต่มีข้อยกเว้นหากด้านซ้ายของเลนวิ่งมีสิ่งกีดขวาง ถูกปิดกั้นการจราจร หรือถูกกำหนดให้เป็น ทางเดินรถทางเดียว (One Way) รวมถึงทางเดินรถที่กว้างไม่ถึง 6 เมตร แต่ในกรณีที่ไม่ได้กำหนดให้เป็นทางเดินรถทางเดียวแล้วมีสิ่งกีดขวาง ผู้ขับขี่ต้อง "ลดความเร็วหรือหยุดรถ เพื่อให้รถที่สวนมาผ่านไปได้ก่อน"
ส่วนในกรณีที่ทางเดินรถแคบมาก ๆ แต่ต้องขับรถสวนกันผู้ขับขี่คันอื่น แต่ละฝ่ายต้องลดความเร็วของรถเพื่อให้รถสวนกันได้โดยปลอดภัย แต่หากไม่สามารถขับสวนกันได้ผู้ขับขี่รถคันที่ใหญ่กว่า ต้องหยุดรถและชิดขอบทางด้านซ้าย ให้ผู้ขับขี่รถคันที่เล็กกว่าผ่านไปก่อน ทุกอย่างที่กล่าวมานี้ผู้ขับขี่สามารถเดินรถล้ำไปทางด้านขวาหรือล้ำเส้นแบ่งออกไปได้โดยไม่มีความผิด แต่ต้องขับด้วยความระวัง
ซึ่งลักษณะการใช้ทางแบบนี้จะเป็นการวิ่งแบบสวนกันซ้ายขวา หรือวิ่งได้ฝั่งละเลนเดียวนั่นเอง ปัญหาแบบนี้มักเกิดในตรอกซอกซอยที่หากไปเจอกับผู้ขับขี่ที่ดึงดันเอาแต่ใจตัวหรือเห็นแก่ตัว ไม่รู้จักการกะจังหวะหรือไม่มีความอะลุ้มอล่วย ก็จะเกิดเหตุเฉี่ยวชนหรือลุแก่โทสะกลายเป็นเรื่องราวใหญ่โตได้
ส่วนเรื่องการใช้ทางที่แบ่งเป็นเลนโดยวิ่งไปในทิศทางเดียวกันคือ ทางเดินรถที่มีตั้งแต่ 2 เลนขึ้นไป และกำหนดให้เลนซ้ายสุดมีไว้สำหรับรถประจำทาง "ผู้ขับขี่ต้องขับรถในเลนที่ใกล้กับช่องเดินรถประจำมากที่สุดโดยเฉพาะ รถบรรทุก รถบรรทุกคนโดยสาร รถจักรยานยนต์ รวมถึงรถที่ใช้ความเร็วช้ากว่ารถคันอื่น" พูดง่าย ๆ คือเลนที่สองจากซ้ายนั่นเอง
หลายคนเข้าใจว่าจะต้องวิ่งเลนซ้ายสุดอันนี้เข้าใจผิด "เพราะเลนดังกล่าวมีไว้สำหรับรถประจำทางเท่านั้น" และหากว่าเลนที่สองไม่สามารถวิ่งได้ ผู้ขับก็สามารถเปลี่ยนไปวิ่งในเลนที่สามได้แต่ต้องอยู่ในข้อกำหนดที่ว่า เลนที่สองนั้นมีสิ่งกีดขวางหรือถูกปิดการจราจร และทางเดินรถนั้นเจ้าพนักงานจราจรกำหนดให้เป็นทางเดินรถทางเดียวไม่มีรถวิ่งสวนทางกลับมา
อีกกรณีที่สามารถใช้เลนที่สามได้ก็ต่อเมื่อต้องการจะแซงขึ้นหน้าคันอื่น จากนั้นก็ให้กลับเข้ามาในเลนเดิม และจะต้องเข้าเลนให้ถูกต้องเมื่อเข้าบริเวณใกล้ทางร่วม ทางแยก
ที่สำคัญผู้ขับขี่ต้องรับรถให้ห่างหรือเว้นระยะจากรถคันหน้าพอสมควร เพื่อที่จะหยุดรถได้ทันเมื่อจำเป็น ไม่ควรขับชิดคันหน้ามากเกินไป และต้องไม่คร่อมหรือทับเส้นแนวแบ่งเลน เว้นแต่เมื่อต้องการเปลี่ยนเลน เลี้ยวรถ หรือกลับรถ หากผู้ขับขี่ต้องการจะเลี้ยวรถ ต้องให้รถคันอื่นผ่านหรือแซงขึ้นหน้าไปก่อนจึงจะเปลี่ยนเลนได้ จะต้องลดความเร็ว และต้องให้สัญญาณเป็นระยะทางไม่น้อยกว่า 30 เมตร ก่อนถึงทางเลี้ยว
ทว่าหลายคนยังใช้สัญญาณแบบผิดอยู่ในความเป็นจริงแล้วการให้สัญญาณในระยะทางที่มากกว่า 30 เมตรนั้นก็สามารถทำได้ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเร็วที่ใช้ในขณะนั้น การให้สัญญาณแบบกระชั้นชิดนับว่าเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุหรือเปลี่ยนเลนแล้วค่อยให้สัญญาณแบบนี้ไม่มีผล แถมยังเป็นตัวก่อให้เกิดปัญหาการจราจรมากขึ้นไปอีก อันนี้สามารถพบเห็นได้ง่าย ตามบริเวณเชิงสะพานและใกล้ทางแยกหลายคนที่ยังใช้สัญญาณไม่ถูก อันนี้ก็ไม่รู้จะพูดอย่างไร แต่ก็ดีกว่าพวกที่ไม่ใช้เลย หรือไม่จริง?
สรุปแล้วว่ารถทุกคันถูกกำหนดมาว่าจะต้องขับอยู่ในเลนที่สองไม่ใช่เลนซ้ายสุดสำหรับทางที่มีหลายเลน มีเงื่อนไขว่าเลนซ้ายสุดนั้นเป็นทางของรถประจำทางนะ แต่สามารถเปลี่ยนจากเลนสองไปเป็นสามได้เมื่อมีสิ่งกีดขว้างด้านหน้า หรือต้องการแซงขึ้นคันหน้าเท่านั้น นอนเหนือจากนี้ต้องวิ่งเลนซ้ายสุด เท่านั้นไม่ว่าจะเป็นทางแบบไหนก็ตาม ทำความเข้าใจไว้จะได้ไม่ต้องมีปัญหาถกเถียงกับพี่เจ้าหน้าที่เขา
อ้อ...เกือบลืม ในขณะขับรถผู้ขับต้องนำใบอนุญาตขับขี่ (ที่ไม่หมดอายุ) ติดตัวไปด้วยนะครับ ถ้าไม่มีใบขับขี่ก็ไม่ต้องขับออกมาบนถนนสาธารณะ และใบอนุญาตขับขี่ที่ท่านพกไปนั้นจะต้องถูกต้องตามชนิดและประเภทของรถ พร้อมสำเนาคู่มือจดทะเบียนรถติดตัวไปด้วย แต่อย่าเก็บสำเนาคู่มือจดทะเบียนไว้ในลิ้นชักรถล่ะ เพราะหากรถถูกขโมยไปพวกมิจฉาชีพก็สามารถเอาไปแอบอ้างได้เมื่อถูกตรวจคัน เพราะอันที่จริงสำเนาคู่มือทะเบียนรถมีไว้ใช้แสดงต่อเจ้าหน้าที่เพื่อป้องกันการโจรกรรมรถ เพราะหากเจ้าของรถเก็บไว้กับตัวแล้วเมื่อคนร้ายขโมยรถมาก็จะไม่มีสำเนาคู่มือจดทะเบียนรถแสดงต่อเจ้าหน้าที่ ตำรวจสามารถยึดรถไว้เพื่อให้เจ้าของรถตัวจริงนำหลักฐานมาขอรับรถได้นั่นเอง อย่าลืมนะว่าสำเนาถ่ายไว้แล้วเก็บไว้กับตัวส่วนเอกสารตัวจริงก็เก็บไว้ที่บ้านเท่านั้นครับ
เรื่องกฎหมายการจราจรนี้ไม่ได้นำมาเพื่อเป็นเครื่องมือในการต่อรองกับใคร แต่เพื่อให้ทุกคนได้ใช้ทางร่วมกันอย่างมีความสุขเท่านั้น เรื่องดี ๆ แบบนี้ไม่ต้องไปบอกให้คนอื่นทำตามหรอก แค่ตัวเองทำได้ก็มากพอแล้ว
รถใหม่ รถมือสอง มอเตอร์ไซค์ ฤกษ์ออกรถ วิธีการดูแลรักษารถยนต์ มากมาย
คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อน ๆ ได้ที่นี่
คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อน ๆ ได้ที่นี่
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
หนังสือยานยนต์
ปีที่ 46 เล่มที่ 572 มกราคม 2557