วางเครื่องยนต์ใหม่? กับทุกเรื่องที่คุณต้องรู้

วางเครื่องยนต์ใหม่

ENGINE เปลี่ยนหัวใจ (GM CAR)

          ทำความรู้จักกับลักษณะของเครื่องยนต์แบบต่าง ๆ ที่เคยพบเห็นและได้ยินมานั้น หมายความว่าอย่างไรกับข้างลักษณะเฉพาะและชื่อเรียกอย่างเป็นทางการรวมถึงเครื่องยนต์บางตัว ก็มีคุณสมบัติที่แปลกแยกออกไปเผยเคล็ดลับการเลือกเครื่องยนต์ให้เหมาะกับรถลักษณะของเครื่องยนต์

Inline Engine

          Inline Engine

          เป็นเครื่องแบบแถวเรียง หมายความว่า ลูกสูบวางเรียงเป็นแนวเดียวกัน จะเป็น 4 สูบ 6 สูบ หรือมากกว่านั้นก็มี นิยมมากเพราะออกแบบง่าย ทั้งตัวเครื่องยนต์และตัวรถ เป็นเครื่องที่ใช้วางในรถส่วนใหญ่ที่เราเห็นบนท้องถนน

Boxer Engine

          Boxer Engine

          เป็นเครื่องยนต์แบบสูบนอน ลักษณะการวางเสื้อสูบเหมือนเครื่องบล็อกวี แต่กระบอกสูบจะอยู่ตรงกันข้ามในแนวระนาบหรือวางตรงข้ามแบบ 180 องศา ต้นตำรับก็จะเป็นเครื่องยนต์ของโฟล์คสวาเกน ปอร์เช่ ส่วนค่ายญี่ปุ่นก็จะเป็นเครื่องยนต์ค่ายซูบารุ เครื่องแบบนี้มีชื่อเรียกด้วยกันหลายชื่อ ไม่ว่าจะเป็น Flat Engine, Horizontally Opposed Engine และ Pancake Engine

V-Engine

          V-Engine

          เป็นเครื่องยนต์ที่มีเสื้อสูบ 2 แถววางขนานกัน แต่ใช้เพลาข้อเหวี่ยงร่วมกัน มีตั้งแต่เครื่อง 4 สูบ 6 สูบ 8 สูบ 10 สูบ 12 สูบ หรือมากกว่านั้น ข้อดีของเครื่องแบบนี้คือมีแรงบิดดี เครื่องยนต์ทำงานได้ราบเรียบ ความยาวตัวเครื่องไม่มากนักเมื่อมีจำนวนสูบมาก ๆ จะมีค่ายโฟล์คสวาเกนที่ใช้เครื่องยนต์แบบ 12 สูบ ลักษณะเหมือนเครื่องสูบวี แต่ลูกสูบในแต่ละแถววางเยื้องกัน เหมือนเป็นฝั่งละ 2 แถว

          ค่ายโฟล์คสวาเกนใช้ชื่อเรียกเครื่องของตัวเองว่า W12 เพราะการวางตำแหน่งลูกสูบนั้นเหมือนตัวอักษร W เมื่อเทียบกับเครื่อง วี 12 แล้วเครื่องดับเบิลยู 12 จะสั้นกว่ามากทีเดียว

          เลือกเครื่องอย่างไร

          เป็นประเด็นที่น่าสนใจมากโดยเฉพาะกับเจ้าของรถที่ไม่เคยเปลี่ยนเครื่องยนต์ข้ามสัญชาติมาก่อน เจ้าของรถกลุ่มนี้จะไม่ทราบเลยว่าในอนาคตนั้นมันจะมีปัญหาอะไรตามมากวนใจอีกบ้าง การเลือกเครื่องยนต์ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อน เปรียบเหมือนกับหัวใจของคนเราที่ทำหน้าที่สูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกาย การผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจใหม่ให้กับคนนั้นมีข้อแม้มากมายเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นภายหลัง เพราะนั่นอาจหมายถึงชีวิต

          การเลือกเครื่องยนต์ก็เช่นเดียวกันถ้าไม่เลือกให้เหมาะสม อาจทำให้เกิดปัญหามากมายตามมาไม่หยุดหย่อน โดยเฉพาะคนที่ไม่มีประสบการณ์ในการเปลี่ยนเครื่องยนต์มาก่อน จะไม่รู้เลยว่าปัญหาความร้อนขึ้นสูง แอร์ไม่เย็น บังคับรถยาก เพราะเครื่องหนัก อยู่ ๆ ดับ อยู่ ๆ สตาร์ทไม่ติด เร่งแล้วสะดุด เดี๋ยวนั่นรั่ว เดี๋ยวนี่ซึม ฯลฯ สุดท้ายคุณจะเริ่มรู้สึกเบื่อหน่ายกับมัน เพราะความแรงสะใจแต่ต้องเข้าอู่บ่อย ๆ นั่นมันไม่ใช่เรื่องน่าอภิรมย์เท่าไหร่นัก

          ที่พูดอย่างนี้เพราะเคยเปลี่ยนมาแล้ว 4 เครื่อง 4 แบบ ภายในเวลาไม่ถึง 4 ปี กล้าพูดได้ว่าการเปลี่ยนเครื่องยนต์ใหม่เป็นเรื่องใหญ่ ต้องตัดสินใจให้รอบคอบและต้องรู้จักความพอดี จริงอยู่ว่าการวางเครื่องนั้นสามารถดัดแปลงเครื่องอะไรวางลงไปก็ได้ แต่การตัดเฉือนตัวถังนั้นมันไม่ใช่เรื่องที่ดีเลย ล้วนแต่ก่อปัญหาตามมามากมาย

          การเลือกเครื่องที่ใหญ่กว่าตัวรถ ถ้าต้องมีการตัดเฉือน จะทำให้ตัวถังล้าบิดเบี้ยวเสียทรง ร้ายหน่อยก็คือทำให้บริเวณที่รับน้ำหนักหรือแรงบิดมาก ๆ ฉีดขาด ร้ายแรงมากก็อาจทำให้ช่วงล่างฉีดหลุดออกจากตัวถัง ถ้าเป็นตอนวิ่งละก็ อาจทำให้เกิดหายนะได้ง่าย ๆ

          ประการแรกในการเลือกเครื่องยนต์ให้ฉลาดคือ ต้องศึกษาดูว่ารถที่คุณใช้นั้น ปกติแล้วมันวางเครื่องยนต์ได้กี่แบบ ส่วนมากจะเป็นปัญหาของรถขับเคลื่อนล้อหลัง เพราะมีเครื่องยนต์ให้เลือกเล่นเยอะและการดัดแปลงทำได้ง่าย

          เราจึงเห็นรถเล็ก ๆ อย่างบีเอ็มดับเบิลยู E20 วางเครื่อง 2JZ-GTE อยู่บ่อย ๆ ซึ่งมันก็วางได้ แต่พื้นฐานของตัวรถนั้นไม่ได้รองรับเครื่องยนต์ที่ใหญ่และหนักขนาดนี้ ผลที่ตามมาคือแรงทางตรงอย่างเดียว เลี้ยวไม่ค่อยเข้าเพราะหน้ารถหนักมาก มีปัญหาทั้งเรื่องของความร้อน เครื่องยนต์ และแอร์ไม่เย็น เพราะในห้องเครื่องไม่เหลือพื้นที่สำหรับการระบายความร้อน

          ส่วนอินเตอร์คูลเลอร์ลูกใหญ่ ๆ ที่ติดเข้าไปนั้นก็บังลมเย็นที่จะมาช่วยระบายความร้อนเวลาอัดมาก ๆ ความร้อนของเครื่องยนต์จึงขึ้นสูง เวลาผ่านไปสักปีเศษ ๆ รถที่มีการตัดเฉือนตัวถังมาก ๆ หรือสภาพเหล็กไม่สู้ดีจะเห็นว่ารถเริ่มทรุดอันเนื่องมาจากตัวถังบิดตัว ไม่ใช่การทรุดตัวของช่วงล่าง สุดท้ายประสิทธิภาพการทรงตัวและการบังคับควบคุมเสียไปหมด

วางเครื่องยนต์ใหม่

          ต้องเลือกบนพื้นฐานความพอดี

          เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก ๆ อย่างแรกต้องรู้ก่อนว่ารถของตัวเองนั้นใช้เครื่องยนต์แบบใดลักษณะการวางเครื่องยนต์เป็นอย่างไร และขับเคลื่อนล้อไหน ยกตัวอย่างง่าย ๆ (เป็นรถขับหลังดีกว่าจะเห็นชัด) แม้ว่าเครื่องตระกูล JZ จะเป็นเครื่องที่แรง ราคาไม่แพง มีให้เลือกเล่นหลายขนาดความแรง แต่มันไม่ได้เหมาะสมกับรถทุกคัน

          ยกตัวอย่าง นิสสัน เซฟิโร่ A31 เป็นรถขนาดกลางที่สามารถเอเครื่องตระกูล JZ มาวางได้สบาย ๆ เพราะพื้นฐานของเครื่องยนต์มันรองรับ ส่วนรถอีกรุ่น คือ บีเอ็มดับเบิลยู E30 เป็นรถเล็กห้องเครื่องก็เล็ก แม้จะวางเครื่อง 6 สูบเรียงได้ มันก็ไม่เหมาะ

          สมมติว่า 1JZ-GTE ทั้งสองคัน เครื่องสมบูรณ์เหมือนกัน แน่นอนว่า E30 ต้องวิ่งกระฉูดกว่า แต่พอถึงทางโค้งเมื่อไหร่กลับต้องย่องเป็นแมวป่วย มันก็ไม่สมเหตุสมผลเพราะรถมันไม่ได้มีวิ่งทางตรงอย่างเดียว สู้วางเครื่องที่แรงน้อยลงมาแต่สามารถใช้สมรรถนะได้เต็มที่และช่วงล่างก็รับไหว อย่างนี้จะช่วยให้ไม่เกิดปัญหาตามมามากเท่าการวางเครื่อง 6 สูบ

          สรุปง่าย ๆ ว่าถ้าบอดี้ของรถคุณมีวางเฉพาะเครื่อง 4 สูบ ก็ควรเลือกเครื่อง 4 สูบ แม้บางรุ่นจะมีวางเครื่อง 6 สูบด้วย เช่น บีเอ็มดับเบิลยู E36 ก็ไม่ได้หมายความว่าเครื่องตระกูล JZ ก็จะวางได้ ต้องวัดขนาดความยาวให้เท่ากันเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการตัดต่อตัวถัง หรือเวลาเบรกแรง ๆ แล้วเครื่องขยับไปกระแทกหม้อน้ำ

          นอกจากนี้ต้องเลือกเครื่องที่มีอ่างน้ำมันเครื่องไปทางเดียวกัน เช่น อ่างย้อยหน้าก็ต้องเลือกเครื่องย้อยหน้า เพราะการกลับอ่างน้ำมันเครื่องหรือการตัดต่อย้ายท่อทางหรือฝักบัวนั้น ล้วนก็ปัญหาในระยะยาวทั้งสิ้น สำหรับรถขับหลังสิ่งที่ต้องระวังคือ ความยาวเครื่องต้องใกล้เคียงของเดิม น้ำหนักเครื่อง ต้องไม่มากกว่าเดิมนัก และอ่างน้ำมันเครื่องต้องอยู่ในทิศทางเดียวกัน

วางเครื่องยนต์ใหม่

          กลุ่มรถขับหน้าต้องระวังในการเลือกเครื่องยนต์

          มีเจ้าของรถจำนวนมากโดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น ที่นิยมวางเครื่องข้ามสายพันธุ์ในรถขับเคลื่อนล้อหน้า อันที่จริงมันก็สามารถวางได้ แต่ขึ้นอยู่กับว่ารถของคุณเป็นรถที่ไม่สามารถหาเครื่องที่ตรงบอดี้ได้

          กรณีอย่างนี้การวางเครื่องข้ามสายพันธุ์จึงเป็นทางเลือกที่เหมาะสม แต่ถ้าเป็นรถที่มีเครื่องตรงรุ่นหรือมีเครื่องค่ายเดียวกัน แบบนี้ไม่ควรที่จะวางเครื่องข้ามสายพันธุ์ให้มีปัญหาตามมา

          เคยเจอมาไม่น้อยที่เจ้าของรถอย่างชีวิตรุ่นเตารีดหันไปวางเครื่อง 3S-GTE ของค่ายโตโยต้า เพียงเพราะว่าฮอนด้าไม่มีเครื่องเทอร์โบให้เล่น หรือหันไปวาง SR20 DET ก็มี

          การวางเครื่องในรถขับหน้าถือว่าเป็นเรื่องใหญ่มาก ๆ เพราะห้องเครื่องค่อนข้างจำกัด และจะมีปัญหาเรื่องของความแข็งแรงตามมาสังเกตได้จากแท่นเครื่อง แท่นเกียร์ ที่ต้องมีถึง 4-5 ตัว เพราะน้ำหนักเครื่อง เกียร์ แรงบิดของเครื่องยนต์ มันอยู่ที่ด้านหน้าหมด

          การวางเครื่องที่ไม่ได้เซ็นเตอร์ โดยเฉพาะเครื่องแรง ๆ เวลาออกตัวแรง ๆ คอนโซลหน้าสั่นสะท้านเลยก็มี ปัญหาที่พบบ่อย ๆ คือการวางเครื่องเทอร์โบในห้องเครื่องเล็ก ๆ จะพบว่าตัวเทอร์โบนั้นจะติดกับพัดลมเครื่องมาก ๆ อายุของพัดลมจะสั้นเร็ว ความร้อนของหม้อน้ำก็ค่อนข้างสูง

          ส่วนปัญหาที่เจอจนเป็นเรื่องปกติเลยคือเพลาขับขาด เพราะการตัดต่อเพลาขับหน้านั้นเป็นเรื่องที่วุ่นวายพอสมควร ถ้าไม่เชื่อมบนแท่นกลึง โอกาสที่เพลาจะสั่นก็มีมาก ยิ่งเป็นเครื่องที่มีแรงบิดมาก ๆ ตรงรอยเชื่อมจะมีโอกาสขาดง่ายมาก

          ยังไม่นับรวมถึงการย้ายหรือสร้างแท่นเครื่องแท่นเกียร์ใหม่ เพราะตัวถังของรถเก๋งจะเป็นโมโนค็อก การไปตั้งแท่นเครื่องแท่นเกียร์ใหม่ในจุดที่ไม่ได้ออกแบบมาให้รับแรง และน้ำหนัก เรื่องตัวถังฉีกหรือวางเครื่องไปไม่นานแล้วเครื่องทรุด จึงเป็นเรื่องที่พบเห็นได้บ่อย

          เมื่อใช้รถขับหน้าและต้องการเครื่องยนต์ที่แรงมากขึ้น สิ่งแรกที่ต้องทำคือ “ทำใจ” เพราะรถขับหน้ามีตัวเลือกน้อยกว่ารถขับหลังมากการเลือกเครื่องแต่ในรถขับหน้ามีเรื่องให้เจ้าของรถต้องคิดมากกว่าไล่เป็นข้อ ๆ ได้ดังนี้

          1. ควรเลือกเครื่องที่มาจากบอดี้เดียวกัน หรือใหม่กว่า 1 รุ่น เนื่องจากพื้นฐานจะไม่แตกต่างกันมาก บางครั้งแท่นเครื่องไม่พอดีกันก็สามารถสับเปลี่ยนใช้ขายืดเครื่องเก่ากับเครื่องใหม่ได้ก็มี ถ้าช่างเป็นคนละเอียดหน่อย ก็จะทำให้งานออกมามีการดัดแปลงน้อย

          2. เครื่อง เกียร์ และอ่างน้ำมันเครื่องต้องหันไปด้านเดียวกับของเดิม เพราะการนำเครื่องที่หันไปคนละด้านมาวางนั้นการดัดแปลงไม่ใช่เรื่องง่าย เช่น การดัดแปลงหรือตัดต่อคานรับเครื่อง หรือการสร้างจุดยืดใหม่ที่ไม่ใช่จุดเดิมนั้น เป็นเรื่องที่เสี่ยงต่อความแข็งแรงโดยรวม

          3. วัดความกว้างและยาวของเครื่องและเกียร์โดยรวม โดยเฉพาะความยาวต้องไม่ยาวเกินกว่าเครื่องและเกียร์เดิมมากนัก จะได้ไม่ต้องมีการตัดหรือทุบผนังห้องเครื่อง

          4. เพลาขับปัญหาใหญ่ของเครื่องขับหน้า เพราะการตัดต่อเพลานั้นเป็นเองที่ต้องทำใจ โดยเฉพาะเครื่องแรง ๆ อาการเพลาขาดเป็นเรื่องปกติ ปัจจุบันมีหลายแห่งที่รับตัดเพลาใหม่ตามความยาวที่ต้องการ แบบนี้จะลดปัญหาเรื่องเพลาขาดได้มาก

          ถ้าเป็นช่างที่มีความละเอียดหน่อยจะใช้การแยกหัวเพลากับตัวเพลาขับออกมาแล้วไปเทียบกับของบอดี้อื่นในค่ายเดียวกัน มันต้องมีสักรุ่นที่ความยาวเท่าที่เราต้องการ เพราะค่ายญี่ปุ่นนั้นอะไหล่ชิ้นหนึ่งจะสามารถใช้ได้กับรถหลาย ๆ รุ่น แบนี้จะตัดปัญหาเรื่องเพลาขับได้ระดับหนึ่ง

วางเครื่องยนต์ใหม่

          เครื่องยนต์แรงอย่างเดียวไม่ใช่ยาวิเศษ

          ที่เลือกมาเฉพาะเครื่องยนต์ไม่กี่ตัวนี้ เพราะว่าคนส่วนมากคิดว่ามันคือยาวิเศษ เครื่องพัง ฉันก็เลือกเครื่องพวกนี้มาลงเพราะรู้จักอยู่แค่ไม่กี่ตัวเท่านั้น โดยไม่ได้ดูพื้นฐานของตัวรถเลยว่าเหมาะสมกับเครื่องยนต์ตัวไหน แน่นอนว่าการดัดแปลงทำให้มันลงไปนอนแอ้งแม้งอยู่ในห้องเครื่องคุณได้ แต่ประสิทธิภาพและความสมบูรณ์ของเครื่องยนต์เป็นเรื่องที่ต้องมานั่งลุ้น

          คุณอาจจะคิดว่าอยากได้เครื่องยนต์ 220 แรงม้าอยู่ในฝากระโปรง แต่ถ้าแรงม้าขนาดนั้น ต้องทำให้คุณเสียเงิน 60,000 บาท สำหรับการวางเครื่องข้ามสายพันธุ์ ไม่นับการปรับปรุงช่วงล่าง และเบรกอีกเกือบครึ่งหนึ่งของค่าวางเครื่องเพื่อให้ม้าได้แสดงพลังอย่างเต็มที่กับเลือกเครื่องยนต์ที่ตรงบอดี้เรียกว่าเป็นการวางเครื่องแบบถอดใส่รูนอตต่าง ๆ ตรงเดิม อาจจะมีแค่ 150-160 แรงม้ากับเงิน 40,000 บาท ช่วงล่าง ก็ปรับปรุงไม่มาก แต่ขับสนุกและไม่ต้องกังวลในระยะยาว ว่าไอ้นั่นจะหลุด ไอ้นี่จะหลวมขณะที่วิ่งบนท้องถนน กรณีหลังเป็นทางเลือกที่คุ้มค่ากว่า

วางเครื่องยนต์ใหม่

          ความสมดุล คือ ความคุ้มค่าและปลอดภัย

          ยกตัวอย่างโตโยต้าหน้าแหลมหนึ่งคัน ราคาอยู่ที่ประมาณ 70,000 บาท แต่อยากแรง มีโปรเจ็กต์จะวาง 2JZ-GTE แล้วโมดิฟายเป็นเทอร์โบเดี่ยว แต่คุณไม่รู้เลยว่าพื้นฐานตัวถังนั้นมันรองรับแรงม้าได้ไม่เยอะขนาดนั้น แม้จะว่าได้ก็เถอะ มันก็จะกลายเป็นรถแดร็กเรซซิ่งทันที เพราะวิ่งทางโค้งไม่เป็น

          การจะทำให้ม้าลงพื้นได้ครบต้องแปลงช่วงล่างวุ่นวาย เพราะด้านหลังแบบคานแข็ง คอยล์สปริงไม่ได้ช่วยอะไรมากนัก ถ้าอยากให้ทรงตัวดี ๆ ก็ต้องทำช่วงล่วงอีกมากมาย เบรกก็ต้องยกใหม่หมด ไม่อย่างนั้นเสาไฟฟ้าหรือท้ายรถคันหน้าจะกลายเป็นที่เบรกฉุกเฉิน

          ถ้าอยากขับรถเครื่อง 2JZ-GTE จริง ๆ ขายหน้าแหลมซะไปซื้อนิสสัน เซฟิโร่ A31 มาจะดีกว่าเอาเงินที่จะทำเครื่องผสมกับเงินที่ขายคันเก่าก็พอซื้อได้ ซื้อนิสสัน เซฟิโร่ A31 มาก่อนแล้วค่อยเก็บตังค์เพิ่มนำไปวาง 2JZ-GRE ทีหลัง แบบนี้คุณจะได้รถแรงที่ขับได้บนถนนอย่างปลอดภัยทั้งตัวถัง ช่วงล่าง ระบบเบรกมันมีพื้นฐานที่ดี ปรับปรุงไม่มากก็สามารถรองรับความแรงที่ทะลุ 300 แรงม้าได้สบาย ๆ ซึ่งมีผลต่อชีวิตและทรัพย์สินของคุณมากกว่า

          Did You Know?

          Front Engine : เครื่องยนต์วางหน้า

          Middle Engine : เครื่องยนต์วางกลาง

          Rear Engine : เครื่องยนต์วางหลัง

          FWD (Front Wheel Drive) : รถขับเคลื่อนล้อหน้า

          RWD (Rear Wheel Drive) : รถขับเคลื่อนล้อหลัง

          4WD (Four Wheel Drive) : รถขับเคลื่อน 4 ล้อ

          F/F : เครื่องยนต์วางหน้า ขับเคลื่อนล้อหน้า

          F/R : เครื่องยนต์วางหน้า ขับเคลื่อนล้อหลัง

          R/R : เครื่องยนต์วางหลัง ขับเคลื่อนล้อหลัง

          M/R : เครื่องยนต์วางกลาง ขับเคลื่อนล้อหลัง

           F24WD : เครื่องยนต์วางหน้า ขับเคลื่อน 4 ล้อ

          R/4WD : เครื่องยนต์วางหลัง ขับเคลื่อน 4 ล้อ

 


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
หนังสือ GM CAR
Vol.18 No.241 สิงหาคม 2556


ขอขอบคุณภาพประกอบจาก thekneeslider , subaru , iareconsortium , automotive , autoblog เเละ newcarwallpaper





เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วางเครื่องยนต์ใหม่? กับทุกเรื่องที่คุณต้องรู้ อัปเดตล่าสุด 14 มิถุนายน 2564 เวลา 14:07:38 77,149 อ่าน
TOP
x close