เมื่อรัฐคิดยกเลิก LPG กับคำถาม "อันตรายจริงหรือไม่" (GM CAR)
เรื่อง : Mr. Market
ต้องยอมรับว่า LPG กลายเป็นส่วนหนึ่งของท้องถนนในประเทศไทยมาอย่างยาวนาน หากดูจากสถิติล่าสุดที่อธิบดีกรมการขนส่งทางบกออกมาเปิดเผย จะพบว่ายอดจดทะเบียนรถยนต์ LPG ถึงวันที่ 31 มกราคม 2556 มีจำนวนทั้งสิ้น 1,014,089 คัน โดยเฉพาะในปี 2555 ปีเดียว มีรถที่ขอจดทะเบียน LPG สูงถึง 133,088 คัน
โดยขั้นตอนหลังการติดตั้งเรียบร้อยแล้ว เจ้าของรถจะต้องนำรถไปตรวจสอบจากกรมการขนส่งทางบก จากผู้ติดตั้งที่ได้รับความเห็นชอบจากกรมการขนส่งทางบก รวมทั้งได้ผ่านการตรวจและทดสอบความปลอดภัยจากผู้ตรวจและทดสอบที่ได้รับความเห็นชอบจากกรมการขนส่งทางบกตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด
ฟังดูแล้วก็ไม่ได้ง่ายมากนักในเรื่องของขั้นตอนการปฏิบัติ แม้จะดูน่ากลัวไปบ้างยามที่เห็นข่าวไฟไหม้รถหรือรถระเบิดจากการใช้งานก๊าซธรรมชาติออกมา แต่ก็ไม่คิดว่าจะเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้รัฐบาลจะมีแนวคิดในเรื่องการยกเลิกการใช้งาน LPG ไปได้
แม้จะไม่กล้าฟันธงอย่างเต็มปากว่าเป็นการอ้างเหตุผลแบบเลื่อนลอยในเรื่องของการขอยกเลิกการจดทะเบียนรถยนต์ที่ติดตั้งก๊าซ LPG ที่ยกในเรื่องของความปลอดภัยขึ้นมาเป็นข้ออ้าง แต่ที่แน่ ๆ แล้ว เช็กจากกระแสของชาวบ้านส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่ไม่มีใครเชื่อข้ออ้างที่นำมากล่าวอ้างสักเท่าใดนัก
เพราะหากมองในเรื่องของความปลอดภัยแล้ว น้ำมันเองก็ไม่ได้ปลอดภัยกว่า LPG สักเท่าไหร่ ในเรื่องของสถานะของเชื้อเพลิงและการจุดติดไฟ แน่นอนว่าแม้แต่ NGV ที่ไม่มีปัญหาเรื่องนี้ แต่หากมองถึงอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นได้จากการระเบิดแล้ว ก็ต้องถือว่ามีความรุนแรงไม่แพ้กัน
คำถามคือแล้วอะไรคือเหตุผลที่แท้จริงกันแน่ของการที่รัฐบาลจะออกมาแสดงอาการไม่เห็นด้วยกับการใช้พลังงานธรรมชาติที่แสนสะอาด และ “เคย” ได้รับการสนับสนุนให้รถแท็กซี่ ซึ่งเป็นรถยนต์สาธารณะติดตั้งใช้กันทั่วเมืองมาอย่างยาวนาน
ย้อนหลังไปในวันที่กระแสข่าวนี้ปูดขึ้นมา นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ให้สัมภาษณ์ว่า รัฐบาลมีแผนจะลดปริมาณการใช้ LPG ในรถยนต์ โดยได้หารือกับกระทรวงคมนาคมและกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อศึกษาการยกเลิกการจดทะเบียนรถยนต์ LPG ในอนาคต เพราะจะเห็นได้จากจำนวนอุบัติเหตุรถชนแล้วเกิดการระเบิดเกิดขึ้นบ่อยครั้ง รวมทั้งเพื่อป้องกันปัญหาการลักลอบนำก๊าซ LPG ไปใช้ผิดประเภทและลักลอบส่งออก
โดยนโยบายของรัฐบาลนั้นไม่สนับสนุนให้ใช้ LPG ในรถยนต์เพราะเป็นก๊าซหนัก จุดติดง่าย ยิ่งติดตั้งไร้มาตรฐานยิ่งเกิดปัญหา แต่ที่ผ่านมา LPG มีราคาถูกจึงทำให้รถยนต์หันไปติดตั้งทดแทนน้ำมันเป็นจำนวนมาก
“รถติด LPG น่ากลัว ผมเห็นในถนน ผมก็กลัวไม่ขับรถเข้าไปใกล้ เพราะจะเห็นได้ว่าเมื่อเกิดอุบัติเหตุจะเดือดร้อนแก่ตัวเองและผู้อื่น ซึ่งการคุมเข้มความปลอดภัยรถยนต์ขึ้นกับกระทรวงคมนาคม-กระทรวงอุตสาหกรรม โดยจะต้องคุมตั้งแต่การจดทะเบียนรถยนต์”
ฟังแบบนี้แล้ว ดูเหมือนว่า LPG กลายเป็นพลังงานที่ไม่มีดีอะไรเลย นอกจากราคาจำหน่ายที่ถูก เนื่องจากการที่รัฐบาลเองให้การสนับสนุน และมีการใช้เงินบางส่วนในการทำให้ราคาจำหน่ายถูกลงกว่าราคาน้ำมันเป็นอย่างมาก
ทำให้เกิดขบวนการขุดคุ้ยที่มาที่ไปของการยกเลิกการใช้งาน LPG ที่มีกระแสออกมามากมาย ทั้งในเรื่องของความต้องการในการขึ้นราคา LPG เพื่อให้สอดคล้องกับราคาตลาดโลกหรือเรื่องของความต้องการในการผลักดันตลาดรถยนต์ให้ไปสู่ธุรกิจ NGV
ในกลุ่มของผู้คัดค้านนั้น อัดกลับรัฐมนตรีอย่างรุนแรง ด้วยการมองตรงกันข้ามว่ารัฐบาลแก้ปัญหาไม่ตรงจุด และไม่เห็นด้วยกับแนวคิดการงดจดทะเบียนรถยนต์ LPG ดังกล่าว เพราะความต้องการติดตั้ง LPG ได้รับความนิยมกว่า NGV อย่างมากในปัจจุบัน
ด้วยเหตุผลที่เป็นข้อดีหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นขนาดของถังที่เล็กและมีน้ำหนักเบากว่าสามารถไปได้ระยะทางไกลกว่าต่อการเดิมแต่ละครั้ง ไม่ก่อให้เกิดมลพิษเหมือนน้ำมัน ทำให้ได้รับความนิยมจากเจ้าของรถมากกว่า 1 ล้านคัน
อย่างไรก็ตาม แม้จะยอมรับว่า NGV ก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ แต่ความน่าสนใจดังกล่าวเมื่อบวกลบคูณหารกับความไม่พร้อมของระบบที่วางเอาไว้ ทำให้ขาดแคลนสถานีบริการ รวมถึงการขาดแคลนก๊าซในบางที่ ก็เป็นปัญหาที่ต้องแก้ให้ได้ก่อนสนับสนุนเต็มรูปแบบ
มีตัวเลขที่น่าสนใจไม่น้อยที่ฝ่ายคัดค้านรัฐบาลช่วยกันพลิกหาข้อมูลมา ในปัจจุบันมีจำนวนรถยนต์ที่ได้รับการจดทะเบียน LPG มากกว่า 1 ล้านคัน รถแท็กซี่ที่ใช้ LPG มากกว่า 20,000 คัน สถานีบริการ LPG กว่า 1,100 แห่ง และยังมีศูนย์บริการติดตั้งทีได้มาตรฐานกว่า 600 แห่ง และที่ไม่ได้รับการรับรองอีกนับไม่ถ้วนแน่นอนว่าจะต้องได้รับผลกระทบ
นอกจากนี้ LPG ที่ใช้ในภาครถยนต์และภาคขนส่งนั้น ถือเป็นปริมาณที่น้อยที่สุด เมื่อเทียบกับภาคครัวเรือน ภาคอุตสาหกรรม รวมไปถึงภาคที่ขยายตัวเยอะที่สุดคือภาคปิโตรเคมี โดยภาคครัวเรือนกว่า 22 ล้านครัวเรือน และบริษัทที่ดำเนินธุรกิจปิโตรเคมี ซึ่งหลัก ๆ เป็นบริษัทลูกของบริษัทเราต่างก็รู้ดีว่าใครคือเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นรายใหญ่ทั้งสิ้น
คำถามก็คือ ถ้ายกเลิกไม่ให้รถยนต์ใช้ LPG แล้ว รถยนต์เหล่านี้จะทำอย่างไร จะอ้างเรื่องอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นน้อยมากเมื่อเทียบกับปริมาณรถ มาให้รถยนต์เป็นแพะรับบาป คำถามคือประเทศไทยมีการผลิต LPG ได้เอง มีการส่งออก LPG และก็เป็นทางเลือกสำหรับผู้บริโภค แต่ดูเหมือนว่ารัฐบาลจะไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้
เรื่องนี้เดือดร้อนไปถึงผู้ประกอบการหลายรายที่มียอดการติดตั้ง LPG ในรถยนต์ที่ลดลงทันที โดยมีรายงานกันตามหน้าสื่อต่าง ๆ ว่า ผู้ประกอบการบางรายออกมาโวยรัฐบาลว่าทำให้ธุรกิจชะลอตัว 70-80 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงที่กระแสข่าวโด่งดังจากเดิมที่มีการติดตั้งกันอยู่เดือนละประมาณ 15,000 คันมาโดยตลอด
นอกจากนี้ยังได้เสนอให้รัฐบาลปรับแผนการเสียใหม่ หากต้องการเน้นในเรื่องความปลอดภัยที่แท้จริง จะต้องมุ่งไปแก้ไขที่ต้นเหตุ คือการตรวจสอบอุปกรณ์ที่ใช้ในการติดตั้ง LPG ทั้งระบบ ไม่ใช่ตรวจสอบแค่ถังเหมือนที่ผ่านมา นอกจากนี้จะต้องเข้าไปควบคุมคุณภาพการติดตั้งของสถานประกอบการอย่างเคร่งครัด
มีร้านที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่มีใบอนุญาตมากกว่า 700 แห่งในปัจจุบัน ซึ่งมีราคาถูกกว่าร้านที่ได้รับใบรับรองตั้งแต่ 5,000 บาทขึ้นไปทำให้ผู้ใช้รถบางรายยอมเสี่ยง หากรัฐบาลเห็นว่าเรื่องความปลอดภัยสำคัญ ก็สามารถแก้ไขเรื่องนี้ได้ โดยไม่ต้องประกาศให้ผู้ใช้รถทุกคนหยุดใช้รถไปเลย
เอาเข้าจริง ๆ แล้วในความเห็นส่วนตัวก็ยังมองว่ารัฐบาลเองพลาดที่ยกเรื่องของความปลอดภัยมาแอบอ้าง เพื่อลดการใช้งานของ LPG ในภาครถยนต์และการขนส่งลง ทั้งที่เรื่องของความปลอดภัยนั้นยังเป็นปัญหาที่เรียกได้ว่ายังไม่ตกสะเก็ด
การที่อยู่ดี ๆ ยกข่าวที่เกิดขึ้นมาทั้งที่ยังไม่มีการตรวจสอบมาก่อให้เกิดความกลัว เพื่อหวังอะไรมากกว่านั้นหรือไม่ เป็นเรื่องที่ดูตื้นเขินเกินไป โดยเฉพาะเมื่อออกมาจากปากของข้าราชการระดับสูงขนาดนี้ ย่อมก่อให้เกิดความสงสัยตามมาเป็นอันมาก
เพราะอย่าลืมว่าเรื่องของความพยายามในการยกเลิกการใช้ LPG นั้น มีมาอย่างยาวนานผ่านมาหลายรุ่น ด้วยเหตุผลที่แตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของราคา การอุดหนุนหรือความพยายามในการโยกให้รถยนต์หันไปใช้ NGV ที่เต็มไปด้วยปัญหาอยู่ในปัจจุบัน และก็ยังแก้กันไม่ตกเสียด้วย ยิ่งถ้าเข้าไปดูสถิติต่าง ๆ มากมายนั้น ดูเหมือนว่า LPG ในรถยนต์จะเป็นสิ่งที่รัฐบาลไม่ค่อยปลื้ม แตกต่างจากที่ใช้ในครัวเรือนที่เก็บเงินได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยกว่า หรือแม้แต่ในอุตสาหกรรม และรวมไปถึงปิโตรเคมี ซึ่งเป็นผู้บริโภครายใหญ่และมีความต้องการเพิ่มมากขึ้นทุกปี
สิ่งที่รัฐบาลควรจะต้องเร่งมือคิดและเดินหน้ากันอย่างว่องไว ก็คือตกลงแล้วปลายทางของพลังงานไทยจะมีทิศทางอย่างไรกันแน่ เพราะที่ผ่านมาผู้ประกอบการหลายรายบ่นเบา ๆ แบบที่รับบาลไม่ได้ยินว่าเริ่มมึนงงและสงสัยว่าสุดท้าย แล้วรัฐบาลจะเดินไปทิศทางไหนกันแน่
เพราะในขณะที่รัฐบาลออกมาประโคมว่าจะเดินหน้าผลักคัน NGV อย่างเต็มรูปแบบจนกระทั่งต้องโดนมาตรการบังคับในเรื่องการขึ้นราคากลาย ๆ ทำให้มีการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในเรื่องของคิวเข้าเติมแก๊สยาวเหยียด และทำการเพิ่มสถานีบริการ
แม้กระทั่งในส่วนของรถบริการสาธารณะที่น่าจะผ่านฉลุย เพราะเป็นโครงการที่รัฐบาลชงรัฐบาลดูงาน และน่าจะตัดสินใจได้เลย แค่คณะรัฐมนตรีไปดูงานแวบเดียว ยังกลับไม่ถึงเมืองไทย ก็กลายเป็นว่าอาจจะเปลี่ยนไป E85 เผลออีกแวบบอกกลัวกระทบรถยนต์เล็ก ขอขยับเป็น E95 ว่ากันไปถึงเชื้อเพลิงที่ยังไม่ได้ทำการผลิตในประเทศไทยไปแล้ว
อย่างนี้อย่าว่าแต่ค่ายรถหรือประชาชนผู้ใช้รถแบบเรา ๆ จะงงกันเลย ผมว่าแม้แต่รัฐมนตรีเองก็อาจจะยังงงกันเองด้วยซ้ำ ว่าแผนงานไปถึงไหนกันแล้ว แล้วสรุปจะให้ไปคุยกับเอกชนยังไงกันดี ว่าจะให้เดินหน้าไปในทิศทางไหน
ที่เขียนบ่น ๆ ให้ฟังกันมาถึงตอนนี้ แค่จะบอกว่าอย่าไปแปลกใจถ้าหาก LPG จะกลายเป็นพลังงานสุดแสนอันตรายที่เดินทางไปไหนก็เป็นที่น่ารังเกียจ พร้อมระเบิดได้ตลอดเวลาจนต้องขับรถหลบหลีกไปบนท้องถนน เพราะเอาเข้าจริง ๆ เส้นทางของพลังงานที่เรียกว่า LPG นั้น มีที่มาที่ไปมากกว่าที่เห็นมากมายนัก
ขายให้อุตสาหกรรมอื่นก็ได้เงินมากกว่า จะปรับราคาให้ชนตลาดโลกก็ทำได้สบายใจแบบเต็มไปด้วยข้ออ้างมากมาย ภาคครัวเรือนที่เดือดร้อนก็อุดหนุนกันไป หาเงินช่วยเหลือกันไปก่อน ส่งออกก็ราคางาม แล้วจะมัวมาเสียผลประโยชน์เหล่านี้ให้พวกรถยนต์ทั่วไป รถแท็กซี่ใช้กันทำไม
พูดแบบนี้น่าจะเข้าใจง่ายกว่าบอกว่าก๊าซมันอันตรายนะครับ...ท่าน !
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
หนังสือ GM CAR
Vol.18 No.237 เมษายน 2556
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก commons.wikimedia.org