เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก autoblog.com
หลายครั้งเรามักตื่นเต้นเมื่อมีรถใหม่ป้ายแดงเป็นของตัวเอง แต่เคยสงสัยไหมว่าต่างประเทศเขามีค่าใช้จ่ายในการครอบครองรถยนต์สักคันอย่างไร ซึ่งข้อมูลที่จะนำเสนอด้านล่างจะช่วยคลายข้อสงสัยให้เราได้เลยละครับ
โดยจากการเปิดเผยของเว็บไซต์ออโต้บล็อก ในหัวข้อ “ข้อมูลเกี่ยวกับมูลค่าของการมียานยนต์จากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก”ซึ่งแบ่งหลายหัวข้อด้วยกัน ตั้งแต่ราคาเฉลี่ยของรถ ราคาน้ำมัน ค่าซ่อมบำรุง ภาษี รวมไปถึงค่าที่จอดรถ ซึ่งประเทศไหนมีค่าใช้จ่ายด้านใดสูง ด้านไหนต่ำ กระปุกคาร์ก็ได้เรียบเรียงให้ชมกันแล้วครับ
ราคารถยนต์
คิดเป็นราคาเฉลี่ยของรถยนต์ใหม่ในประเทศ ซึ่งสิงคโปร์เป็นประเทศที่มีราคารถยนต์ใหม่เฉลี่ยแพงที่สุดในโลกถึง 105,253 เหรียญสหรัฐหรือประมาณ 3,100,000 บาท ซึ่งสหรัฐฯ ที่เป็นประเทศใหญ่มีค่าเฉลี่ยในการจ่ายเพื่อครอบครองรถใหม่ที่ไม่สูงนักแค่ 30,500 เหรียญสหรัฐหรือประมาณ 920,000 บาท ส่วนฮ่องกงนั้นมีราคาต่ำกว่าเพียง 27,694 เหรียญสหรัฐหรือประมาณ 800,000 บาท
ราคาน้ำมัน
ขณะเดียวกันการครอบครองรถไม่ได้สิ้นสุดแค่การมีรถยนต์ น้ำมันเองก็เป็นค่าใช้จ่ายที่ต้องคำนึงถึงด้วยซึ่งประเทศที่ต้องจ่ายค่าน้ำมันแพงที่สุดต่อคันต่อปีคือ ตุรกี ที่ 5,000 เหรียญสหรัฐหรือประมาณ 150,000 บาท ส่วนประเทศในทวีปเอเชียรวมถึงไทยอยู่ที่ประมาณ 3,000 เหรียญสหรัฐหรือประมาณ 90,000 บาทต่อปี
ค่าประกันภัย
การซื้อประกันภัยเองก็เป็นส่วนต้องคำนึงถึงในการซื้อรถเช่นกัน ที่โดยฮ่องกงมาเป็นอันดับหนึ่งที่ 3,000 เหรียญสหรัฐหรือ 90,000 บาทต่อคันต่อปี ส่วนอันดับสองคือประเทศบราซิลโดยมีราคาประมาณ 2,700 เหรียญสหรัฐหรือ 81,000 บาทโดยประมาณ
ภาษีรายปี
ฮ่องกงยังคงเป็นประเทศที่มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุดในเรื่องดังกล่าวถึง 9,000 เหรียญสหรัฐหรือ 270,000 บาทต่อคันต่อปี รองลงมาคือเกาหลีใต้ซึ่งราคาต่ำกว่ามากเพียง 2,200 เหรียญสหรัฐหรือ 66,000 บาทต่อคันต่อปี แต่ที่น่าสนใจคือประเทศที่เก็บภาษีแพงที่สุดกลับเป็นประเทศตุรกีซึ่งเป็นด้วยราคา 10,000 เหรียญสหรัฐหรือประมาณ 300,000 บาทต่อคันต่อปีโดยเป็นเกณฑ์ที่ใช้กับบรรดารถหรูที่นำเข้าทั้งหลาย
ค่าที่จอดรถ
ในหลายประเทศที่มีพื้นที่จำกัด จึงมีมาตรการบังคับใช้เรื่องที่จอดรถขึ้นเพื่อให้ใช้พื้นที่ได้เกิดประโยชน์ที่สุด โดยค่าใช้จ่ายในการจอดรถจะแบ่งเป็นแบบรายชั่วโมงและรายปี ซึ่งออสเตรเลียมีค่าที่จอดรถรายชั่วโมงสูงถึง 28 เหรียญสหรัฐหรือประมาณ 844 บาท ส่วนฮ่องกงครองแชมป์ค่าที่จอดรายปีสูงที่สุดกว่า 9,000 เหรียญสหรัฐหรือประมาณ 270,000 บาทต่อปี ซึ่งสาเหตุมาจากเป็นประเทศที่พื้นที่น้อยและไม่สนับสนุนการใช้รถยนต์ส่วนตัว
นอกจากนี้ อังกฤษและสิงคโปร์ยังมีการเก็บค่าขับรถเข้าเขตจราจรหราแน่นสูงมาก เพื่อหวังลดความแออัดในการจราจรและลดมลพิษที่เกิดขึ้นในเมือง
สำหรับข้อมูลทั้งหมด คงทำให้พอเห็นภาพว่าชาวต่างประเทศจะซื้อรถสักคันต้องรับผิดชอบอะไรบ้าง โดยแตกต่างกันไปตามความเหมาะสมและนโยบายของประเทศเหล่านั้น ซึ่งประเทศไทยนับว่าโชคดีที่ไม่ต้องจ่ายค่าเข้าพื้นที่รถติดแบบสิงคโปร์ หรือต้องหาเช่าที่จอดรายปีแบบฮ่องกง เปิดโอกาสให้คนไทยได้มีรถกันอย่างเต็มที่ ดังนั้น เมื่อมีรถใช้แล้วก็อย่าลืมเคารพกฏจราจร มีน้ำใจให้เพื่อนร่วมทาง เพื่อความปลอดภัยและความสบายใจบนท้องถนนนะครับ