ความรู้เกี่ยวกับยางรถยนต์ ประวัติความเป็นมา ข้อมูลเรื่องยางรถยนต์ในปัจจุบัน

          หากพูดถึงรถยนต์แล้ว หลายท่านคงนึกถึง รูปลักษณ์การดีไซน์ สมรรถนะของเครื่องยนต์ หรือออปชั่นอำนวยความสะดวกของรถยนต์ แต่มีสิ่งนึงที่หลาย ๆ คนอาจจะไม่ค่อยให้ความสนใจคือ ยางรถยนต์
ยางรถยนต์

          ยางรถยนต์เป็นส่วนประกอบที่หนึ่งสำคัญมากสำหรับรถยนต์ เพราะว่าเจ้ายางรถยนต์นี้แหล่ะที่จะช่วยเพิ่มสมรรถนะในการวิ่งของรถยนต์ รวมถึงความปลอดภัยของผู้ขับขี่เองก็ขึ้นอยู่กับยางรถยนต์ วันนี้กระปุกคาร์ขอนำเสนอเรื่องความรู้พื้นฐานของ ยางรถยนต์ จาก บริดจสโตน มาฝากกันครับ

          ยางรถยนต์ คือ อุปกรณ์หลักส่วนควบของรถยนต์ ทำหน้าที่รองรับน้ำหนักรถยนต์และใช้ในการขับเคลื่อนให้รถยนต์ไปได้อย่างนิ่มนวลและปลอดภัย ถ้าไม่มีล้อและยาง รถยนต์ก็ไม่สามารถใช้งานได้ตามปกติ ยางรถยนต์ประดิษฐ์ขึ้นในปี พ.ศ. 2382 โดย ชาร์ลส์ กู๊ดเยียร์ ชาวอเมริกัน เขาค้นพบว่าเนื้อยางเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถที่จะทนทานต่อสภาพดินฟ้าอากาศได้ เขาจึงได้นำยางดิบผสมกับกำมะถันและตะกั่วแล้วลนด้วยไฟ ในปัจจุบัน ยางรถยนต์ ทำมาจากยางธรรมชาติผสมกับยางสังเคราะห์ ผงคาร์บอน น้ำมัน สารเคมี และอื่น ๆ เสริมความแข็งแรงด้วยชั้นของผ้าใบที่ทำมาจากเส้นด้ายไนลอน หรือโพลีเอสเตอร์ และเส้นลวดเหล็ก
 
โครงสร้างพื้นฐานของยางรถยนต์สามารถจำแนกส่วนประกอบออกได้เป็น 6 ส่วน ดังนี้ 



หน้ายาง (Tread)
 
          คือส่วนประกอบที่อยู่นอกสุดของยาง และเป็นส่วนเดียวที่สัมผัสผิวถนน ทำหน้าที่ป้องกันของมีคม ที่จะทำอันตรายต่อโครงยาง ที่หน้ายางจะประกอบไปด้วยดอกยางและร่องยาง เพื่อทำหน้าที่ในการยึดเกาะถนน มีแรงกรุยเวลาวิ่ง เบรคหยุดได้มั่นใจ ในปัจจุบัน ดอกยางมีอยู่หลายชนิด ซึ่งแต่ละชนิดจะมีประสิทธิภาพที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้น ผู้ใช้จึงควรเลือกชนิดของดอกยาง ให้เหมาะสมกับสภาพการใช้งาน

ไหล่ยาง (Shoulder)
 
          เป็นส่วนที่เชื่อมต่อระหว่างหน้ายางกับแก้มยาง มีความหนาพอ ๆ กับหน้ายาง ปกติไหล่ยาง จะถูกออกแบบเป็นร่องให้เหมาะสม เพื่อช่วยระบายความร้อนภายในยางให้ออกมาได้ง่าย
 
แก้มยาง (Sidewall)
 
          เป็นส่วนด้านข้างสุดของยาง ที่ไม่ได้สัมผัสพื้นผิวถนนขณะที่รถวิ่งอยู่และเป็นส่วนที่ยืดหยุ่นมากที่สุดของยางในขณะใช้งาน
 
โครงยาง (Carcass)
 
          เป็นส่วนประกอบหลักของยาง ซึ่งมีบทบาทสำคัญที่คงรูปร่าง และจะรักษาความดันลมภายในยาง เพื่อให้ยางสามารถรับน้ำหนักบรรทุกได้ รวมทั้งต้องทนทานต่อแรงกระแทก หรือสั่นสะเทือนจากถนนที่มีต่อยางได้ดี
 
ผ้าใบเสริมหน้ายาง หรือเข็มขัดรัดหน้ายาง (Breaker or Belt)
 
          เป็นชั้นที่อยู่ระหว่างหน้ายาง (Tread) กับโครงยาง (Carcass) ในกรณียางธรรมดา (Bias Tire) เราเรียกว่า "ผ้าใบเสริมหน้ายาง (Breaker)" และในกรณียางเรเดียล (RadialTire) จะเรียกว่า "เข็มขัดรัดหน้ายาง (Belt)" ซึ่งทำหน้าที่เพิ่มความแข็งแรง ให้กับหน้ายาง ให้ยางสามารถรับแรงกระแทกได้ดี และป้องกันไม่ให้โครงยางชำรุดเสียหายจากสิ่งอันตรายต่าง ๆ จากพื้นถนน

ขอบยาง (Bead) 
 
          ประกอบด้วยกลุ่มของเส้นลวดเหล็กกล้า (High Carbon Steel) ที่ช่วยยึดส่วนปลายทั้ง 2 ข้างของโครงยางเอาไว้ เพื่อให้บริเวณขอบยาง (Bead) มีความแข็งแรง สามารถยึดแน่นสนิทกับกระทะล้อได้ดีเมื่อนำไปใช้งาน
 
          สำหรับยางรถยนต์ที่ไม่ใช้ยางใน (Tubeless Tire) ขอบยางเป็นส่วนที่สำคัญอย่างยิ่ง ที่จะต้องทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้ลมยางรั่วซึมออกมา
 
          นอกจากนี้ ยังมียางรถยนต์ยังมีส่วนประกอบย่อยอื่น ๆ เช่น ผ้าใบหุ้มขดลวดและยางแข็ง ๆ ที่มีลักษณะคล้ายสามเหลี่ยม (Bead Filer) ทำหน้าที่เชื่อมต่อ ระหว่างส่วนที่แข็ง คือบริเวณขอบยาง ไปสู่ส่วนที่อ่อนและยืดหยุ่น คือบริเวณแก้มยาง และยังมีผ้าใบหุ้มขอบลวดที่อยู่ด้านนอกสุดของขอบยาง เพื่อป้องกันการเกิดอันตรายกับโครงยาง จากการถอดประกอบเข้ากับกระทะล้อในแต่ละครั้ง
 
          บอกได้เลยว่า ยางรถยนต์ ที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ได้รับการพัฒนามาอย่างยาวนาน ในแต่ล่ะทุกส่วนของยางล้วนทำหน้าที่เพื่อให้เส้นยางทำหน้าที่ของมันได้เต็มประสิทธิภาพ รู้แบบนี้เมื่อถึงเวลาเลือกยางก็คงต้องพิถีพิถันกันหน่อยล่ะครับ






เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ความรู้เกี่ยวกับยางรถยนต์ ประวัติความเป็นมา ข้อมูลเรื่องยางรถยนต์ในปัจจุบัน อัปเดตล่าสุด 9 มกราคม 2566 เวลา 10:45:48 60,246 อ่าน
TOP
x close