x close

ทำความรู้จักดอกลำโพงรถยนต์ประเภทต่าง ๆ อยากได้รถเสียงเทพต้องไม่พลาด

          ทำความรู้จักดอกลำโพงรถยนต์ประเภทต่าง ๆ ก่อนไปติดตั้งจริง ลำโพงรถยนต์อันนี้เรียกว่าอะไร ลำโพงรุ่นนั้นเป็นแบบไหน ตามมาดูกัน
          วันนี้เอาใจคนรักการแต่งเครื่องเสียงรถยนต์ อุปกรณ์ที่สำคัญช่วยขับเสียงอย่างดอกลำโพงติดรถยนต์ ทำให้เข้าใจมากขึ้นอีกนิด เวลาติดตั้งจะได้ไม่เลือกผิด และจะได้น้ำเสียงที่ตรงใจเราอีกด้วย โดยประเภทของลำโพง แบ่งออกดังนี้

ลำโพงรถยนต์

          1. Tweeter (ทวีตเตอร์) ลำโพงเสียงแหลม ส่วนมากจะมีขนาดเล็กกว่าลำโพงประเภทอื่น ๆ ¾ นิ้ว – 2 นิ้ว ตอบสนองเสียงในย่านความถี่สูง ประมาณ 1,600-20,000 เฮิรตซ์ ซึ่งถือเป็นความถี่สูงสุดที่จะได้ยินสำหรับมนุษย์ โดยคำว่า ทวีตเตอร์ มาจากเสียงของนกทวีตเตอร์ที่มีความถี่สูงนั่นเอง อีกทั้งลำโพงประเภทนี้ยังมีแยกออกมาอีกหลายชนิด แต่ที่ใช้กันทุกวันนี้ส่วนมากจะมีแค่ 2 รุ่นเท่านั้น

ลำโพงรถยนต์

          1.1 Cone Tweeter (โคนทวีตเตอร์) ทวีตเตอร์แบบกรวย มีลักษณะเหมือนลำโพงเสียงกลาง รูปร่างหน้าตาก็คล้าย ๆ กัน แต่แตกต่างกันที่ขนาด Cone Tweeter มีขนาด และแม่เหล็กเล็กกว่า วัสดุที่ใช้ผลิตส่วนมากจะเป็น เซรามิก, กระดาษ, ผ้าไหม ฯลฯ

ลำโพงรถยนต์

          1.2 Dome Tweeter (โดมทวีตเตอร์) ทวีตเตอร์แบบโดม จะมีลักษณะแบบโค้งครึ่งวงกลม เช่น โค้งแบบกระทะ หรือโค้งคว่ำแบบภูเขา วัสดุที่ใช้ผลิตก็จะมี กระดาษ, โลหะบาง, ผ้า ฯลฯ และด้วยความนิยมของรุ่นนี้ ทำให้มีการพัฒนารูปแบบออกมาใหม่ เช่น ทวีตเตอร์แบบจาน, Ring Radiator (แบบมีเดือยยื่นออกมากลางดอกลำโพง) ฯลฯ เพื่อเพิ่มมุมการกระจายเสียงให้ดียิ่งขึ้น

ลำโพงรถยนต์

          2. Mid Range (มิดเรนจ์) เป็นลำโพงที่ตอบสนองความถี่ย่านเสียงกลางสูง ประมาณ 300-5,000 เฮิรตซ์ วัสดุที่ใช้ผลิตมีหลายชนิด เช่น กระดาษเคลือบน้ำยา, โลหะผสม, โพลิเมอร์, พลาสติก ฯลฯ และจะมีจะมีลักษณะคล้ายลำโพงวูฟเฟอร์ แต่ขนาดจะเล็กกว่า โดยมีขนาดประมาณ 3-4 นิ้ว เพราะถ้ามีขนาดใหญ่เกินไป จะติดตั้งลงบนเสา A-Pillar ไม่ได้ นอกจากนี้ยังแยกชนิดออกมาได้อีก 2 รุ่น คือ

ลำโพงรถยนต์

          2.1 Cone Mid Range (โคนมิดเรนจ์) มิดเรนจ์แบบกรวย จะมีลักษณะเหมือนที่กล่าวมาแล้วข้างต้น แต่จะมีเพิ่มเติมตรงตู้ ที่ต้องทำให้ได้ตามปริมาตรที่กำหนด ซึ่งทางผู้ผลิตจะมีบอกมาให้ อีกทั้งมันยังมีเรื่องของการออกแบบต่าง ๆ เพื่อเพิ่มมุมกระจายเสียงเข้ามาด้วยเช่นกัน

ลำโพงรถยนต์

          2.2.1 Phase Plug Mid Range (เฟสปลั๊กมิดเรนจ์) สังเกตง่าย ๆ จะมีวัสดุทรงแหลมยื่นออกมาตรงกลางหน้าดอกลำโพง ซึ่งมันจะช่วยเพิ่มการกระจายเสียงให้ดียิ่งขึ้น วัสดุที่ผลิตมีทั้งโลหะ พลาสติก หรือวัสดุอื่น ๆ ฯลฯ

ลำโพงรถยนต์

          2.2.2 Dust Cap Mid Range (ดัสต์แคปมิดเรนจ์) ทำออกมาเพื่อเพิ่มแรงกดอากาศบนกรวยลำโพง ทำให้ย่านต่ำมีพลังเพิ่มมากขึ้น และยังช่วยป้องกันพวกฝุ่นละอองต่าง ๆ ตกลงไป ซึ่งมันมีผลต่อเนื้อเสียงที่ขับออกมา มีลักษณะแบบโดมคว่ำลง, แบบเว้าก็จะมีลักษณะเหมือนโดม แต่เป็นหงายขึ้น ฯลฯ

ลำโพงรถยนต์

          2.2 Dome Mid Range (โดมมิดเรนจ์) สังเกตง่าย ๆ มันจะเป็นโดมนูนขึ้นมาคล้ายทวีตเตอร์ แต่มีขนาดใหญ่กว่า สามารถตอบสนองความถี่ได้ประมาณ 800–10,000 เฮิรตซ์ สามารถขึ้นไปย่านสูงได้ดี ส่วนย่านต่ำอาจจะลงได้ไม่ค่อยดีนัก การติดตั้งทำได้ง่าย ไม่ยุ่งยาก ติดตั้งได้ทันที โดยไม่ต้องมีปริมาตรตู้

ลำโพงรถยนต์

          3. Woofer (วูฟเฟอร์) / Mid Base (มิดเบส) เรียกได้ทั้ง 2 แบบ มีขนาด 4-8 นิ้ว ตอบสนองความถี่ในย่านกลางต่ำจนถึงเสียงกลาง ประมาณ 50-8,000 เฮิรตซ์ และมีการทำงานในช่วงความถี่ที่กว้าง จึงจำเป็นต้องพิถีพิถันในการเลือกใช้วัสดุสำหรับการผลิต ว่าต้องการให้เนื้อเสียงที่ออกมามีลักษณะแบบไหน โดดเด่นไปทางใด ซึ่งแยกจำแนกออกมาได้ถึง 6 รุ่น ดังนี้

ลำโพงรถยนต์

          3.1 Paper Cone (เปเปอร์โคน) วูฟเฟอร์กรวยกระดาษ ทำจากวัสดุประเภทกระดาษเคลือบน้ำยา มีน้ำหนักเบา คงรูปได้ดี สลายคลื่นสั่นค้างได้ดี ความเพี้ยนต่ำ มีใช้กันมาตั้งแต่ยุคแรกจนถึงปัจจุบัน ใช้ผลิตตั้งแต่ลำโพงเดิม OEM ที่ติดมากับรถ ไปจนถึงลำโพง After Market ที่แข่งขันกันในตลาดตอนนี้ ซึ่งมีราคาไม่กี่บาท จนไปถึงหลายหมื่นบาท

ลำโพงรถยนต์

          3.2 Aluminium alloy Cone (อะลูมิเนียมอัลลอยโคน) วูฟเฟอร์กรวยอะลูมิเนียม โดยตัวกรวยมีความแข็งแรงสูง ทนต่อทุกสภาวะอากาศ และอุณหภูมิ ระบายความร้อนจากวอยซ์คอยล์ได้ดี เพราะทำจากวัสดุโลหะอะลูมิเนียม ซึ่งจะมีน้ำหนักค่อนข้างมาก มีบุคลิกเสียงที่ให้น้ำหนักของเสียงทุ้มได้ดี กระชับ ทรงพลัง เก็บตัวดี ไม่สั่นไม่ครางมากนัก

ลำโพงรถยนต์

          3.3 Magnesium Cone (แม็กนีเซียมโคน) วูฟเฟอร์กรวยแม็กนีเซียม ลักษณะตัวดอกลำโพงจะคล้ายพลาสติก แต่มีความแข็งแรง คงรูปได้ดี ไม่มีการบิดตัว และทนทานมากกว่า แต่ค่อนข้างจะเปลืองไฟ เพราะกินวัตต์สูง ซึ่งก็แลกกับบุคลิกเสียงที่ได้มาที่มีทั้งหนักแน่น กระชับ เก็บตัวดี

ลำโพงรถยนต์

          3.4 Kevlar Cone (เคฟลาร์โคน) วูฟเฟอร์กรวยเคฟลาร์ ใช้วัสดุที่ผลิตมาสานกัน และเคลือบน้ำยา มีน้ำหนักค่อนข้างเบากว่าทุกรุ่น แต่ก็แข็งแรงทนทาน สามารถสลายคลื่นสั่นค้างได้ดี เพราะผิวหน้าของกรวยไม่เรียบราบ สำหรับบุคลิกเสียงที่ได้ คือ ขับง่าย รายละเอียดชัดเจน เสียงโปร่งฟังสบาย มีความฉับพลันของเสียงที่สูง มีไดนามิกของเสียงดี กินวัตต์น้อย

ลำโพงรถยนต์

          3.5 Polypropylene Cone (โพลีโพรพิลีนโคน) กรวยลำโพงโพลีโพรพิลีน นำเอาทุกข้อดีของวัสดุต่าง ๆ มาผลิตรวมกัน คือ น้ำหนักเบา สลายคลื่นสั่นค้างได้ดี ลำโพงไม่กินวัตต์ ขับง่าย แต่เนื้อเสียงอาจเปลี่ยนแปลงไปตามวัสดุที่นำมาผสม เช่น โพลีโพรพิลีนผสมกับคาร์บอน ฯลฯ และมันไม่ค่อยทนต่อการเปลี่ยนแปลงทางอุณหภูมิซักเท่าไร กรวยไม่คงรูป อาจบิดงอได้ง่าย

ลำโพงรถยนต์

          3.6 Composites cone (คอมโพไซต์โคน) กรวยลำโพงวัสดุผสม ใช้เทคโนโลยีการผลิตชั้นสูง ด้วยการนำเอาวัสดุต่างชนิดมาผสมกัน และผลิตเป็นกรวยลำโพง ราคาจึงแพงมาก แต่มันสามารถแก้ไขจุดด้อยของลำโพงที่กล่าวมาแล้วทั้ง 5 แบบได้ดีพอสมควร โดยเนื้อเสียงที่ออกมานั้นก็มีหลากหลาย ทั้งเสียงเบสที่นุ่มลึก ฟังไพเราะ จังหวะต่าง ๆ ชัดเจน ซึ่งบุคลิกที่ต้องการจะเป็นแบบไหน ก็ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบในดอกลำโพงด้วยเช่นกัน แต่หลัก ๆ ที่สำคัญก็คือกรวยลำโพงนั่นเอง

ลำโพงรถยนต์

          4. Sub Woofer (ซับวูฟเฟอร์) เป็นลำโพงที่ค่อนข้างใหญ่ มีขนาดปกติตั้งแต่ 8-15 นิ้ว ให้พลังเสียงในย่านต่ำ ที่ความถี่ประมาณ 20-120 เฮิรตซ์ มีลักษณะเสียงที่ทรงพลัง หนักแน่น และยังแบ่งออกได้เป็น 2 แบบ ซึ่งแตกต่างกันแค่วอยซ์คอยล์เท่านั้น องค์ประกอบอื่น ๆ ไม่ได้แตกต่างกันเลย สาเหตุที่ต้องแบ่งวอยซ์คอยล์ออกมาก็เพื่อจัดระเบียบ และเลือกใช้งาน Impedance (อิมพีแดนซ์) คือค่าความต้านทานของขดลวดวอยซ์คอยล์ได้อย่างอิสระ

ลำโพงรถยนต์

           4.1 Single voice coil (ซิงเกิลวอยซ์คอยล์) มีวอยซ์คอยล์เพียงชุดเดียว สังเกตดูได้ง่ายๆ ตรงขั้วต่อสายลำโพง จะเห็นว่าซับวูฟเฟอร์วอยซ์คอยล์เดี่ยว จะมีขั้วต่อสายลำโพงเพียง 2 ขั้วเท่านั้น คือ บวกกับลบ และส่วนมากซับวูฟเฟอร์วอยซ์คอยล์เดี่ยวจะมีอิมพีแดนซ์ 2 โอห์ม 4 โอห์ม และ 8 โอห์ม ต่อใช้งานได้กับแอมป์ที่ 2 โอห์ม 4 โอห์ม และ 8 โอห์ม เท่านั้น ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงค่าอิมพีแดนซ์ได้

ลำโพงรถยนต์

          4.2 Dual voice coil (ดูอัลวอยซ์คอยล์) มีจำนวนวอยซ์คอยล์ 2 ชุด สังเกตดูตรงขั้วต่อสายลำโพงจะมี 4 ขั้ว บวกกับลบอย่างละ 2 ชุด และมีอิมพีแดนซ์วอยซ์คอยล์คู่ 2+2 โอห์ม หรือ 4+4 โอห์ม ส่วน 8+8 โอห์ม สำหรับรถยนต์ยังไม่มีใครทำครับ

          ลำโพงจะมีบุคลิกเสียงเป็นแบบไหน ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบอื่น ๆ ด้วย เช่น แม่เหล็ก, ขอบลำโพง, โครงลำโพง, วอยซ์คอยล์ ฯลฯ มีผลแทบทั้งหมด เพียงแต่กรวยลำโพงนับเป็นส่วนที่มีความสำคัญในอันดับต้น ๆ เป็นตัวหลักที่จะบอกได้ว่า เนื้อเสียง คุณภาพเสียงเป็นอย่างไร เพื่อเป็นแนวทางในการเลือกนำมาใช้งาน

ภาพจาก ldlc, chokes, tokospeaker, aelect, carid, clarion, usaudiomart, europe-audio, rainbowcaraudio, images-amazon, madisoundspeakerstore, ebay, tronios, mbquart, pioneer-latin, bustedfingermotorsports

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ทำความรู้จักดอกลำโพงรถยนต์ประเภทต่าง ๆ อยากได้รถเสียงเทพต้องไม่พลาด อัปเดตล่าสุด 17 มิถุนายน 2564 เวลา 10:39:58 204,196 อ่าน
TOP