ถือเป็นภาคส่งท้ายพอล วอล์คเกอร์ที่ประสบความสำเร็จอย่างงดงามกับภาพยนตร์แอ็คชั่นรถซิ่งอย่าง Furious 7 ซึ่งความอลังการนอกจากจะอยู่ที่ฉากแอ็คชั่นที่เร้าใจเหนือความคาดหมาย และบรรดารถหรูซูเปอร์คาร์ที่รวมตัวกันในภาคนี้ จำนวนรถยนต์ที่นำมาเข้าฉากและถูกทำลายจนยับเยินสังเวยให้กับฉากแอ็คชั่นในเรื่องก็มีมากมายถึง 230 คัน เลยทีเดียว
ขั้นตอนการจัดการซากรถยนต์เริ่มต้นก่อนที่พวกเขาจะจัดหารถยนต์มาเข้าฉากด้วยซ้ำ โดยทางทีมงานจะทำการติดต่อกับผู้รับซื้อซากรถยนต์ก่อน และจัดการเซ็นสัญญากับพวกเขาเสีย เมื่อรถยนต์ทั้งหมดถูกใช้เสร็จแล้ว ทางผู้รับซื้อก็จะมารับรถยนต์เหล่านั้นไปจัดการต่อ
เดนนิส แมคคาร์ที ทีมงานด้านรถยนต์ของภาพยนตร์ Fast and Furious 7 เผยว่า พวกเขาจะหาผู้รับซื้อซากรถยนต์ที่ใช้ในฉากแต่ละคันให้ได้ก่อนเสมอ ซึ่งแต่ละวันมีรถยนต์ที่เข้าฉากและต้องพังไปหลายสิบคัน เช่นฉากไล่ล่าบนทางหลวงในภูเขา พวกเขาสังเวยรถยนต์ให้กับฉากดังกล่าวไปมากกว่า 40 คันต่อวัน ซึ่งพวกเขาใช้เวลา 2-3 วันในการถ่ายฉากนี้โดยเฉพาะ
หลังจากที่ผู้รับ ซื้อได้รับซากรถยนต์แล้ว พวกเขาก็จะเอาไปคัดแยกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ซากรถที่พังเกินเยียวยา ส่วนใหญ่เป็นรถยนต์ขนาดใหญ่อย่างรถบัส ซึ่งรถเหล่านี้จะถูกเก็บในพื้นที่เก็บซากรถยนต์ของท้องถิ่น และซากรถยนต์ที่สามารถนำกลับมาซ่อมแซมชิ้นส่วนเพื่อเป็นอะไหล่ได้ซึ่งส่วนนี้จะถูกนำไปซ่อมแซมเพื่อใช้ในกิจการภาพยนตร์มากกว่านำมาขายเพื่อใช้งานทั่วไป
รถยนต์ที่พังใน Fast and Furious 7 ส่วนใหญ่เป็นรถยนต์รุ่นเก่า แต่ถึงกระนั้นก็ยังนับเป็นรุ่นเก่าที่หรูพอตัว ทั้งเมอร์เซเดส เบนซ์ (Mercedes Benz), ฟอร์ด คราวน์ วิกตอเรีย (Ford Crown Victoria) และครอสโอเวอร์จากมิตซูบิชิ (Mitsubishi) ซึ่งรถยนต์เหล่านี้จะถูกดัดแปลงเครื่องยนต์ให้มีของเหลวจำนวนน้อย ใส่โรลบาร์เพื่อความแข็งแกร่ง และถอดอะไหล่แพง ๆ อย่างล้ออะลูมิเนียมออกเพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่ายลง
ได้ทราบวิธีจัดการซากรถยนต์ที่เป็นหนึ่งในผู้ร่วมสังเวยเพื่อความมันสุดอลังการของภาพยนตร์ Fast and Furious 7 กันแล้ว ก็ต้องยอมรับในรูปแบบการทำงานอันเป็นมืออาชีพของทีมงานจริง ๆ ครับ
world_id:552374ee38217aca6d000003
world_id:5523754038217a4f75000000
world_id:5523754038217a4f75000000