เคยสงสัยกันไหมว่า กระจกรถยนต์เป็นกระจกอะไร เหมือนหรือแตกต่างจากกระจกทั่วไปอย่างไร ที่สำคัญคือมีคุณสมบัติพิเศษตรงไหนบ้าง วันนี้เราจะพาไปหาคำตอบกัน
กระจกรถยนต์ เป็นกระจกอะไร ? ปกติแล้วกระจกที่ใช้สำหรับรถยนต์นั้นจะเป็นกระจกรถยนต์นิรภัยทั้งหมด เพราะมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดการแตกร้าว ทั้งจากแรงปะทะของลมขณะแล่นด้วยความเร็ว การบิดของตัวถัง รวมถึงอุบัติเหตุ จึงต้องมีความแข็งแรงเป็นพิเศษ และช่วยลดอันตรายจากการบาดของกระจก โดยกระจกนิรภัยที่ใช้ในรถยนต์จะมีอยู่หลายแบบ ซึ่งมีคุณสมบัติที่แตกต่างกัน ดังนี้
กระจกรถยนต์แบบเทมเปอร์ (Tempered)
โดยทั่วไปกระจกรถยนต์แบบ Tempered จะมีความหนาประมาณ 5 มม. แต่สำหรับรถบางรุ่น บางยี่ห้อ ที่ต้องการลดเสียงรบกวน ก็จะใช้กระจกที่มีความหนาขึ้น ซึ่งกระจกแบบเทมเปอร์ยังแบ่งออกเป็น 2 ประเภทย่อยด้วยกัน คือ
1. Zone-Tempered หรือ Temper Zone ถูกออกแบบมาให้เวลาแตกแล้วจะร้าวไปทั่วทั้งแผ่น โดยส่วนที่แตกจะเป็นเม็ดเล็ก ๆ แบบเมล็ดข้าวโพด แต่บริเวณส่วนกลางกระจกจะแตกเป็นชิ้นใหญ่หน่อย เอาไว้ให้พอมองเห็นทางได้บ้าง ในอดีตกระจกชนิดนี้จึงถูกใช้เป็นกระจกบังลมหน้ารถยนต์
2. Full-Tempered จะมีลักษณะคล้าย Zone-Tempered คือ เวลากระจกแตกจะลามไปทั่วทั้งแผ่น เพียงแต่จะแตกเป็นเม็ดเล็ก ๆ เท่ากันทั่วทั้งบาน ไม่ได้เล็กบ้างใหญ่บ้างแบบ Zone Tempered และมักจะใช้กับกระจกบานประตูหรือกระจกหลังเป็นส่วนใหญ่
กระจกรถยนต์แบบลามิเนต (Laminated)
กระจกรถยนต์แบบลามิเนต จะเป็นกระจกแบบ 2 ชั้นประกบกัน โดยมีแผ่นฟิล์มแทรกอยู่ตรงกลาง และจะมีความหนากว่ากระจกแบบเทมเปอร์ ซึ่งปัจจุบันรถยนต์รุ่นใหม่จะใช้กระจกบังลมหน้าแบบลามิเนตเกือบทั้งหมด เพราะมีคุณสมบัติเหนือกว่ากระจกแบบเทมเปอร์ เพราะเมื่อกระจกแตกจะเป็นลักษณะรอยร้าวคล้ายใยแมงมุม ไม่หลุดร่วงเนื่องจากมีชั้นฟิล์มให้ยึดเกาะอยู่ และเป็นอันตรายน้อยกว่ากระจกแบบเทมเปอร์
วิธีสังเกตว่ากระจกรถยนต์เป็นแบบไหน
สำหรับการสังเกตว่ากระจกรถยนต์แต่ละบานเป็นกระจกประเภทไหน โดยปกติแล้วที่มุมกระจกแต่ละบานจะพิมพ์ตัวอักษรบอกรายละเอียดไว้ว่าเป็น Laminated หรือ Tempered แต่ทั้งนี้ อาจขึ้นอยู่กับผู้ผลิตหรือซัพพลายเออร์ที่อาจใช้คำเฉพาะต่างออกไป เช่น Toughened, Temperlite, Lamilite, Glass Securit หรือ Glace Securit ซึ่งยากต่อการระบุ และรถราคาสูงหลายรุ่นก็มีการใช้กระจกแบบลามิเนตทุกบานด้วย
รวมถึงปัจจุบันยังมีกระจกแบบใหม่ ไฮบริด ลามิเนต (Hybrid Laminated) ที่เบาและทนทานกว่ากระจกแบบลามิเนตเดิม โดยใช้เครื่องหมายการค้าว่า Gorilla Glass ซึ่งเริ่มต้นใช้สำหรับกระจกสมาร์ตโฟน แต่เริ่มมีใช้กับกระจกรถยนต์รุ่นใหม่ราคาสูงแล้วเช่นกัน
อันที่จริงกระจกรถยนต์แบบเทมเปอร์นับว่ามีความแข็งแกร่งและทนทานต่อการกระทบ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิได้มากพอสมควร แต่ถ้าเกิดรอยแตกแล้วแม้เพียงจุดเล็ก ๆ ก็สามารถลามไปทั่วทั้งแผ่นได้ ต่างจากกระจกรถยนต์แบบลามิเนตที่รอยแตกจะลุกลามเช่นกัน แต่ก็ช้าและไม่แตกทั่วทั้งแผ่น
สำหรับจุดอ่อนของกระจกรถยนต์แบบลามิเนตเดิม คือ เมื่อเสื่อมสภาพแล้วมักจะเกิดรอยฝ้าเริ่มจากบริเวณขอบกระจก ทำให้ทัศนวิสัยการมองเห็นแย่ลง ต้องเปลี่ยนกระจกแผ่นใหม่ทั้งที่ยังไม่แตก แต่สำหรับกระจกรถยนต์ลามิเนตรุ่นใหม่จะไม่ค่อยพบปัญหาเหล่านี้แล้ว
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้กระจกรถแบบเทมเปอร์จะดูบอบบาง แต่โดยพื้นฐานแล้วก็แข็งแรงกว่ากระจกธรรมดามาก เนื่องจาก
1. กระจกรถแบบเทมเปอร์ทนต่อแรงบิด (Bending Strength) ได้ถึง 1,500 กก./ตร.ซม. หรือมากกว่ากระจกธรรมดาที่ทนแรงบิดได้ประมาณ 500 กก./ตร.ซม. เท่านั้น
2. ทนต่อแรงกระแทก (Impact Strength) จากการทดสอบค่าความแข็งของกระจกโดยการปล่อยลูกเหล็กกลมให้ตกลงบนกระจกธรรมดาขนาด 300 x 300 ตร.มม. จากความสูง 1 ม. ก็แตกแล้ว ส่วนกระจกแบบเทมเปอร์ที่หนา 4 มม. สามารถรับมือกับลูกเหล็กที่ตกใส่ในระยะ 2 ม. ได้โดยไม่แตก
3. ทนความร้อน (Thermal Resistance) ทั้งกระจกแบบธรรมดาและกระจกแบบเทมเปอร์สามารถทนต่ออุณหภูมิระดับ 170 องศาเซลเซียส ได้โดยไม่แตก
กระจกแตก เพราะจอดรถตากแดดร้อน ๆ แล้วเจอความเย็น
หลายคนอาจกลัวว่าการจอดรถตากแดดร้อน ๆ แล้วเจอฝนตก หรือจอดตากกลางแดดแล้วเปิดแอร์เย็น ๆ จะทำให้กระจกแตก แต่ความเป็นจริงกระจกนิรภัยมีความทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิค่อนข้างสูง โอกาสที่กระจกแตกนั้นค่อนข้างยาก เว้นเสียแต่ว่าการผลิตของกระจกตกมาตรฐาน มีรอยร้าวอยู่แล้ว ติดตั้งผิดวิธี หรือกระจกเสื่อมสภาพจากการใช้งานมานาน
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้กระจกรถยนต์จะเป็นกระจกนิรภัย ไม่ว่าแบบไหนก็ล้วนมีขีดจำกัดและสามารถแตกได้ ซึ่งเมื่อแตกแล้วก็ยังคงมีอันตราย ทั้งจากการที่มีเศษกระจกกระเด็นเข้าตาหรือบาดตามร่างกายได้ จึงควรต้องระมัดระวังให้มาก
ขอบคุณข้อมูลจาก : หนังสือยานยนต์