เรียนรู้วิธีการขับรถเบื้องต้น เพื่อขับรถแบบปลอดภัย

วิธีการขับรถเบื้องต้น

ขับรถแบบปลอดภัย (ยานยนต์)

          รถสมัยนี้อุดมไปด้วยระบบความปลอดภัยมากมาย ทางบริษัทรถต่างสรรหาเข้ามาใส่ไว้ในรถ เพื่อเป็นการช่วยในการขับขี่ พวกรถหรูหราราคาแพงจะมีระบบช่วยเหลือการขับขี่ จนกระทั่งคนขับแทบจะเหลือหน้าที่เพียงแค่จับพวงมาลัยเท่านั้นเอง นอกนั้นตัวรถจะเป็นผู้จัดการให้หมด แม้กระทั่งการเบรกเพื่อชะลอความเร็วหรือหยุดรถก็ตาม หากคนขับไม่เบรก รถก็จะเบรกให้เอง

          อย่างไรก็ตามถึงรถจะแสนรู้แค่ไหน การบังคับควบคุมหลักก็ต้องเป็นหน้าที่ของคนขับพวกระบบความปลอดภัยและระบบอิเล็กทรอนิกส์ในการควบคุมต่าง ๆ เป็นเพียงผู้ช่วยเหลือเท่านั้น คนขับยังต้องเรียนรู้วิธีการขับรถ เพื่อสร้างความปลอดภัยอยู่ดี

          ถึงแม้พวกเราจะไม่ใช่นักขับรถมืออาชีพ ไม่ได้ขับรถเพื่อแข่งความเร็วกับใคร เพียงแค่ใช้รถในชีวิตประจำวันเท่านั้นเอง แต่ก็ควรศึกษาและเรียนรู้เทคนิคในการขับรถเอาไว้บ้าง เพราะมันหมายถึงความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน เท่าที่เจอะเจอมาก็มีอยู่เยอะเหมือนกันที่มักคิดว่าตัวเองเป็นนักแข่ง ชอบขับรถด้วยความเร็วสูง เชื่อในฝีมือความสามารถ และความชำนาญของตัวเอง กว่าจะรู้ความจริงว่าอยู่ระดับไหนก็ตอนที่เป็นเรื่องไปซะแล้ว...

          การขับรถที่ดีไม่ได้หมายความว่าต้องขับรถช้าเป็นเต่าคลานกันเสมอไป ตรงกันข้ามการขับรถช้าเกินควรในบางครั้งกลับเป็นตัวก่อให้เกิดอุบัติเหตุ และเพิ่มอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงให้กับชาวบ้านด้วยซ้ำไป เพราะรถที่ขับตามเค้าต้องคอยเบรกและหาจังหวะเปลี่ยนช่องทางเพื่อนแซงรถช้า นอกจากนี้ยังเป็นตัวสร้างอุบัติเหตุให้กับชาวบ้าน เพราะรถที่ขับตามต้องเปลี่ยนเลนไปตัดทางพวกรถที่มาเร็ว อันที่จริงแล้วควรขับตามความเหมาะสมกับสภาพเส้นทางและสภาพการจราจร เขาไปช้าเราก็ต้องคลานตามไป และเมื่อเพื่อนร่วมถนนไปเร็วเราก็ควรเร็วตามเขาด้วยเหมือนกัน การจราจรจะได้ไม่เกิดการติดขัด

          สำหรับการขับรถเพื่อการเดินทาง แน่นอนว่าเราจำเป็นต้องใช้ความเร็วสูงหน่อย และในกรณีที่ขับรถด้วยความเร็ว (ค่อนข้าง) สูงนั้น มีความจำเป็นจะต้องคำนึงถึงเรื่องต่าง ๆ เพิ่มขึ้นอีกมากมาย แต่อย่างแรกที่อยากให้นึกถึงกัน ถ้าเรียกให้หรูหน่อยก็เป็นเรื่องของ “ค่าสัมประสิทธิ์ความเสียดทาน” แต่หากพูดจาประสาชาวบ้านก็คือ การเกาะถนนนั่นเอง ซึ่งรถจะเกาะถนนหรือไม่นั้นมีปัจจัยอยู่หลายอย่าง เช่น ความเร็ว การเปลี่ยนทิศทางหรือแรงหนีศูนย์ ยางช่วงล่าง น้ำหนักรถ และอื่น ๆ อีกมาก สำหรับตอนนี้สิ่งที่อยากให้พยายามเรียนรู้เอาไว้ คือ “การอ่านสภาพของถนนให้ออก” ต้องเข้าใจสภาพของพื้นผิวถนนว่าเป็นอย่างไร บนถนนบ้านเรามักมีสิ่งเหนือความคาดหมายได้เสมอ ทั้งน้ำมันที่หกเลอะเทอะ เศษใบไม้ที่ถูกรถทับบดไปบดมา หากเจอน้ำหรือฝนก็จะกลายเป็นเมือกลื่นได้ และที่เจอบ่อยมากคือ พวกเศษทรายเศษดินบนถนน ซึ่งปกติก็ไม่ค่อยมีพิษสงมากมากอะไร แต่พอเจอน้ำฝนเข้าไปคราวนี้จะออกลายมาเลย

          หากขับรถแล้วไปเจอกับเจ้าพวกนี้เข้าให้ รถเกิดการลื่นไถลแถออกไปนอกทางหรือหลุดโค้งออกไป ไม่สามารถควบคุมทิศทางรถได้ วิธีแก้ไขที่ควรกระทำ คือ ผ่อนคันเร่งและไม่ต้องคอยประคองรถ

วิธีผ่อนคันเร่ง

          วิธีผ่อนคันเร่ง คือการถอนคันเร่งช้า ๆ อย่าถอนคันเร่งแบบทันทีทันใด เพราะการกระทำเช่นนั้นอาจจะทำให้ล้อเสียการควบคุม ซึ่งอาจจะทำให้ท้ายรถปัดออกไปทางนอกโค้ง แบบที่เค้าเรียกกันว่า “โอเวอร์สเตียร์” ส่วนการ ไม่ต้องประคองรถหรือเลี้ยงพวงมาลัย นั้น ให้กระทำเพียงแค่จ้องบนเส้นทางปลอดภัยที่เราจะไปเท่านั้นเอง อย่างพื้นถนนส่วนในของโค้ง ไม่ใช่จ้องมองหลักหรือขอบถนนข้างทาง แล้วสายตาจะแจ้งให้สมองรับรู้ ต่อจากนั้นสมองก็จะบังคับมือให้หันพวงมาลัยไปตามทิศทางที่ถูกต้อง (ตามที่เรามองเอาไว้) เอง

          ในการอ่านสภาพถนนนั้นยังหมายถึงการดูสภาพของไหล่ถนนและข้างทางอีกด้วย ไม่ได้ดูกันเฉพาะพื้นผิวถนนเพียงอย่างเดียว เนื่องจากเราอาจเจอกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันได้ทุกเมื่อ โดยเฉพาะยามเย็นใกล้ค่ำเหล่าบรรดารถอีแต๋นทั้งหลาย อาจจะโผล่พรวดออกมาจากข้างทางโดยไม่มีสัญญาณบอกเหตุล่วงหน้าเลย หรือยามปกติก็มีทั้งสุนัข กับรถมอเตอร์ไซค์ที่มักคิดว่าการถูกรถชนนั้นไม่เจ็บ จึงชอบข้ามถนนโดยไม่สนใจกับรถทางตรง ซึ่งมาได้ทั้งข้างทางด้านซ้าย และจากทางด้านขวา หากตกอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ หากมีความจำเป็นที่จะต้องหักหลบ ก็ให้หลบเข้าข้างทางไป หรือหากระดับพื้นข้างทางไม่ต่างกับระดับพื้นถนนก็หลบเข้าไปเลย เพียงแต่ข้อสำคัญอย่าตกใจกระชากพวงมาลัยหลบอย่างรวดเร็วแบบกะทันหัน แต่ให้กระทำอย่างนุ่มนวลรับรองว่ารถจะหลบได้เร็ว (และปลอดภัย) กว่าการกระชากพวงมาลัยซะอีก

          วิธีขับรถยามเดินทางด้วยความเร็ว โดยทั่วไปมักจะให้เป็นสูตรสำเร็จ สำหรับการเว้นระยะห่างรถข้างหน้า 1 ช่วงคันรถต่อความเร็วที่เพิ่มขึ้น 10 กม./ชม. แต่รถที่ใช้กันอยู่นั้นมีประสิทธิภาพในการยืดเกาะถนนต่างกันสมรรถนะของระบบเบรกก็ไม่เท่ากัน แม้กระทั่งยางที่ใช้ก็ไม่เท่าเทียมกัน รวมไปถึงคนขับก็มีความสามารถในการขับรถไม่เหมือนกัน ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดคือ ต้องถามตัวเราเองว่า ด้วยความเร็วเท่านี้ สภาพการจราจรและเส้นทางแบบนี้ จากประสิทธิภาพของเบรกกับความพร้อมและประสบการณ์ในการขับรถ หากรถคันหน้ามีอะไรเกิดขึ้นทำให้ต้องเบรกอย่างกะทันหัน เราจะสามารถหยุดรถได้ทันการณ์หรือเปล่า หากตัวเองตอบว่าไม่ทัน ก็ควรเพิ่มระยะห่างจากรถคันหน้าอีกหน่อย

          จากความเร็วที่เราขับ 100 กม./ชม. หมายความว่า ในเวลา 1 วินาทีรถจะเคลื่อนที่ไปเป็นระยะทาง 27.8 เมตร ดังนั้นในกรณีมีเหตุด่วนเหตุร้ายเกิดขึ้น ทำให้จำเป็นต้องเบรกก็ควรจะเหยียบเบรกให้เร็วและว่ากันอย่างแรงเต็มที่ ถึงแม้รถสมัยนี้จะมีระบบ BA มาช่วยเพิ่มแรงเบรกแล้วก็ตาม เอาชัวร์ไว้ก่อนโดยออกแรงให้มันเยอะเข้าไว้ และไม่ต้องเกรงว่าตัวรถจะเสียหลักต้องคอยประคองพวงมาลัยรักษาเส้นทาง เพรารถสมัยนี้จะมีระบบเบรก ABS มาช่วยงาน ป้องกันไม่ให้ล้อล็อค ดังนั้น ABS จึงช่วยให้สามารถบังคับรถได้อย่างไม่มีปัญหา แถมระหว่างเหยีบบเบรกยังขับหลบสิ่งกีดขวางข้างหน้าได้อีกต่างหาก อย่างไรก็ตามพึงระลึกเอาไว้ว่ารถที่มีระบบเบรก ABS นั้นบนถนนแห้ง การเบรกจะใช้ระยะทางมากกว่าเบรกธรรมดาที่ไร้ ABS เป็นผู้ช่วย ด้วยเหตุนี้จึงควรเหยียบเบรกให้แรงมากกว่าปกติ

          พวกรถที่ไม่มีผู้ช่วยทั้ง BA หรือ ABS ก็ตาม ในการใช้เบรกก็ต้องว่ากันอย่างเต็มที่เช่นกัน เพียงแต่ต้องคอยระวังยามล้อเกิดการล็อคทำให้รถลื่นไถลไม่สามารถควบคุมทิศทางรถได้ แบบนี้ให้ถอนเท้าจากเบรกเล็กน้อยจนพบว่าตัวรถพุ่งไปทางทิศที่เราหักพวงมาลัยรอเอาไว้ เป็นการแสดงว่าล้อเลิกล็อกและทำให้ยางเริ่มจับถนนอีกครั้งคราวนี้เราสามารถหักพวงมาลัยหลบได้แล้ว

การขับขี่บนทางลื่น

          การขับขี่บนทางลื่น ต้องมีความรู้และความระมัดระวังกันเป็นพิเศษ ถึงพวกรถรุ่นใหม่ ๆ จะมีระบบสารพัดอย่างพวก DSC (Dynamic Stability Control) มาช่วย โดยการลดความแรงของเครื่องยนต์ลง หรือจัดการให้มีการเบรกในทันที ซึ่งล้อรถจะไม่มีการหมุนแบบเสียศูนย์ ตัวรถยังคงอยู่บนถนนตามปกติ แต่อุปกรณ์เหล่านี้มีประสิทธิภาพการทำงานจำกัดอยู่ในระดับหนึ่งเท่านั้น หากเล่นกันแรงหรือขับเร็วเกินไปมันก็ช่วยไม่ไหวเหมือนกัน

          สิ่งสำคัญยามเจอเส้นทางอื่นอยู่ที่แรงบิดของล้อ ถ้ามีมากเกินไปหน้ายางก็ไม่สามารถยืดเกาะกับเส้นทาง และเมื่อนั้นก็จะเกิดการลื่นไถลเสียการทรงตัว ไม่สามารถควบคุมทิศทางของรถ การขับขี่บนทางลื่น ยามฝนตกบนถนนมีน้ำเจิ่งนอง เส้นทางที่มีโคลนเลนอยู่บนพื้นผิว หรือแม้แต่เส้นทางที่มีฝุ่นหรือทรายปกคลุม จำเป็นต้องใช้เกียร์สูงกว่าปกติ อย่างเช่น ออกตัวด้วยเกียร์ 2 แทนที่จะเป็นเกียร์ 1 ตามปกติ ทั้งนี้เพื่อให้ล้อมีแรงบิดน้อยลดการลื่นไถล

          การขับให้ใช้ความเร็วต่ำแต่ใช้เกียร์สูง ชนิดขับกันแค่ 40-50 กม./ชม. ก็พยายามใช้เกียร์สูงสุดขับเคลื่อน หากเครื่องยังไปไหวไม่มีอาการสั่นเครื่องไม่น็อก หรือพวกรถเกียร์อัตโนมัติบางรุ่นจะมีโปรแกรมขับทางลื่นโดยเฉพาะ อย่าง Hold Mode หรือโปรแกรม Winter ตลอดจนเกียร์อัตโนมัติของรถรุ่นใหม่ที่สามารถเลือกเกียร์ขับได้แบบรถเกียร์ธรรมดา นอกเหนือจากนี้ก็ควรถอนเท้าออกจากคันเร่งบ้าง พยายามใช้รอบเครื่องที่ไม่สูงจนเกินไปช้าหน่อยดีกว่าไปไม่ถึง


          ในการขับรถเข้าโค้งบนถนนลื่นมาก ๆ นอกจากต้องระวังเรื่องความเร็วของรถ กับความแรงของเครื่องยนต์แล้ว ก็ต้องนึกถึงวงเลี้ยงด้วย หากเข้าโค้งด้วยการหมุนพวงมาลัยน้อยเกินไป ซึ่งจะเห็นได้จากล้อรถเกยขอบทางหรืออกไปทางไหล่ถนนสำหรับการรถเลี้ยวขวา หรือหากเป็นการเลี้ยงซ้ายล้อรถก็จะผ่านเส้นกลางกินไปทางเลนของรถที่สวนมา หากเจอลักษณะแบบนี้เข้าควรใช้วิธีแตะเบรก และพยายามควบคุมทิศทางของรถให้แล่นอยู่ในเส้นทางเข้าไว้

เข้าโค้ง

          บางครั้งอาจจะหักพวงมาลัยเพื่อเข้าโค้งมากเกินไป คราวนี้จะพบว่าท้ายรถเริ่มส่ายและหนีโค้งในลักษณะอาการโอเวอร์สเตียร์ หากเป็นรถเกียร์ธรรมดาให้รีบปล่อยคลัทช์ทันที พร้อมกับหมุนพวงมาลัยกลับทางมาอีก ด้านสวนทางกับโค้งให้ไปทางเดียวกับท้ายรถอย่างเช่นโค้งซ้ายท้ายรถจะเหวี่ยงออกไปทางขวา เราก็หันพวงมาลัยไปทางขวา การหมุนพวงมาลัยสวนทางแบบนี้ จะก่อให้เกิดแรงต้านต่อความโน้มเอียงของตัวรถและโค้ง การบังคับล้อหน้าให้กลับเข้าสู่ทิศทางของการเคลื่อนที่อย่างถูกต้อง และหากสามารถกระทำภายในเวลาที่เหมาะสม จะช่วยปกป้องรถจากการส่ายและปัดได้ นอกจากนี้หากตราบใดก็ตามที่เราหักพวงมาลัยให้ล้อหน้าหันไปทางเดียวกันกับท้ายรถ หมายความว่าท้ายรถจะไม่เร็วและไม่สามารถแซงด้านหน้าขึ้น ตราบนั้นรถก็จะไม่เกิดการหมุน

          หลักสำคัญในการขับขี่รถ คือ ความราบเรียบและนุ่มนวล ไม่ว่าจะเป็นการพักเลี้ยว การเบรก การถอนเบรก การเร่งและการถอนคันเร่ง การกระทำใด ๆ ก็ตาม หากดำเนินการอย่างกะทันหัน ฉับพลัน ก็จะมีผลต่อการทรงตัวของรถ อย่างเช่น เรากดเบรกหนัก ๆ ก่อนถึงโค้ง น้ำหนักรถก็จะเหมาที่ล้อหน้า พอหักเลี้ยวก็ถอนเท้าออกจากเบรกอย่างเร็ว แล้วรีบมากดคันเร่งพุ่งตัวออกจากโค้ง น้ำหนักก็จะถ่ายกลับไปยังล้อหลังอย่างทันควัน แน่นอนว่าประสิทธิภาพในการยืดเกาะถนนของล้อต้องมีปัญหาแน่ อย่างไรก็ตามในบางจังหวะเราก็อาจต้องทำอะไรที่มันเร็ว ๆ และรุนแรง อย่างการเบรกแบบกะทันหัน หรือหักเลี้ยวหลบอย่างฉับพลัน ดังนั้นจึงพึงระลึกไว้ด้วยว่ามันมีผลกับการทรงตัวของรถ จึงต้องเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการรับผลที่จะเกิดขึ้นตามมาด้วย



ขอขอบคุณข้อมูลจาก
หนังสือยานยนต์
ปีที่ 45 เล่มที่ 568 กันยายน 2556







เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เรียนรู้วิธีการขับรถเบื้องต้น เพื่อขับรถแบบปลอดภัย อัปเดตล่าสุด 15 มิถุนายน 2564 เวลา 10:45:32 43,782 อ่าน
TOP
x close