x close

5 เบื้องต้น การดูแล และรักษารถยนต์

5 เบื้องต้น การดูแล และรักษารถยนต์

 
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
 
        นอกจากปัญหาทางด้านสังคมแล้วยังมีปัญหาเรื่องของการใช้งานเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เพราะมือใหม่มักจะไม่ค่อยรู้เรื่องการใช้งานและการบำรุงรักษาเลย หลายครั้งปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้มาจากความบกพร่องของตัวรถ แต่มันมาจากปัญหาเรื่องของความไม่รู้และการใช้งานผิดวิธี รวมถึงการได้รับการปลูกฝังแบบผิด ๆ มาโดยตลอด อะไรบ้างที่เป็นปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการใช้งานตัวรถรวมถึงการใช้ผิดวิธี ลองมาดูแล้วปรับเปลี่ยนลักษณะการใช้งานเสียใหม่ เพื่อให้รถยนต์คันโปรดสามารถใช้งานได้อย่างยาวนาน

 5 เบื้องต้น การดูแล และรักษารถยนต์

     1.    น้ำมันเครื่อง
 
        สมัยก่อนสูตรการเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง 3,000 กิโลเมตรในเมือง และ 5,000 กิโลเมตรเดินทางไกล ถือว่าเป็นเรื่องที่เหมาะสม เพราะว่าสมัยนั้นเรื่องของโลหะวิทยายังต่ำมาก ๆ สังเกตได้จากรถยนต์ต้องเปลี่ยนแหวนลูกสูบ ต้องบดวาล์ว หรือทำ Top Overhall กันที่ประมาณ 1.5 แสนกิโลเมตรเท่านั้นเอง ในขณะที่รถยุคหลังเครื่องยนต์สามารถใช้งานได้มากกว่า 3 แสนกิโลเมตร โดยที่ไม่ต้องเปลี่ยนแหวน
 
        น้ำมันเครื่องก็เช่นกันมีการพัฒนาควบคู่กันโดยตลอด มีประสิทธิภาพและอายุการใช้งานที่ยาวนานขึ้นมาก อย่าไปหลงอยู่กับการยืดติดเก่า ๆ เดี๋ยวนี้เทคโนโลยีด้านต่าง ๆ พัฒนาไปไกลจากงานวิจัยพบว่าน้ำมันเครื่องเกรดธรรมดาในปัจจุบันนั้นมีอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่าเดิมเป็นเท่าตัว แสดงให้เห็นว่าการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเร็วเกินไป นอกจากทำให้สิ้นเปลืองแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเนื่องจากน้ำมันเครื่องเก่าเป็นขยะพิษที่ไม่ย่อยสลายในธรรมชาติ ต้องผ่านกระบวนการทำลายอย่างถูกต้อง
 
        รถยนต์หลายยี่ห้อที่ใช้น้ำมันเครื่องเกรดธรรมดา โดยระบุว่าสามารถใช้งานได้ถึง 1 แสนกิโลเมตร แต่คนส่วนมากไม่เชื่อเพราะคิดว่าบริษัทรถยนต์ต้องการให้เครื่องหลวมเร็ว ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะจุดประสงค์หลักต้องการลดขยะพิษ และลดค่าดูแลรักษาตามระยะให้ถูกลง
การใช้น้ำมันเครื่องที่ถูกต้องนั้นต้องดูจากฉลากข้างกระป๋องเป็นสำคัญ บางยี่ห้อจะระบุไว้ว่าให้เปลี่ยนที่ระยะทาง 10,000 กิโลเมตร หรือทุก 6 เดือน ลองเปรียบเทียบดูจากฉลากของแต่ละยี่ห้อ แล้วเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีความคุ้มค่า นอกจากจะประหยัดเงินแล้วยังช่วยลดขยะพิษได้อีกทางหนึ่ง
 
     2.    อุ่นเครื่อง 3-5 นาที
 
        เครื่องยนต์ประกอบด้วยโลหะหลายชนิดด้วยกันการออกแบบชิ้นส่วนจะมีการเผื่อระยะให้โลหะบางชิ้นขยายตัวให้ฟิตพอดีกับอีกชิ้นส่วนหนึ่ง ถ้าไม่อุ่นให้เครื่องยนต์ถึงอุณหภูมิใช้งานก่อนจะทำให้เกิดการสึกหรอมากกว่าปกติเนื่องจากชิ้นส่วนมีการแกว่งหรือเขย่า
 
        แต่การอุ่นเครื่องให้ถึงอุณหภูมิใช้งานนั้นไม่ควรทำโดยจอดอยู่กับที่ เพราะจะทำให้เกิดมลพิษสูงเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นการสิ้นเปลืองน้ำมันโดยใช่เหตุ การอุ่นเครื่องที่ถูกต้องคือหลังจากสตาร์ทเครื่องพอไฟโชว์ต่าง ๆ บนหน้าปัดดับหมด ก็พร้อมเคลื่อนที่ได้แต่ต้องแล่นช้า ๆ สักครู่เพื่อให้เครื่องยนต์ถึงอุณหภูมิร้อนขึ้น เมื่อเข็มความร้อนเริ่มขยับสูงขึ้นสักประมาณครึ่งหนึ่งของระดับปกติก็สามารถเพิ่มความเร็วได้จนเข็มความร้อนชี้ในระดับปกติก็ใส่กันได้เต็มที่
 
        เรื่องการวอร์มเครื่องยนต์นั้น ตอนเช้ายังไม่น่าหนักใจเท่าตอนจอด โดยเฉพาะพวกที่ใช้เครื่องยนต์เทอร์โบการอุ่นเครื่องก่อนดับถือว่าสำคัญมาก ๆ ใครที่เป็นคนช่างสังเกตจะรู้ว่าหลังจากที่ขับมาด้วยความเร็วสูง ๆ แล้วดับเครื่องทันที สักพักเราจะได้ยินเสียงโลหะหดตัวดังเป็นระยะ ๆ
 
        เหตุผลที่ต้องทำการอุ่นเครื่องก่อนดับ เพราะว่าหลังจากดับเครื่องยนต์แล้วระบบระบายความร้อนจะไม่ทำงาน น้ำจะไม่ไหลเวียน บางยี่ห้อพัดลมไฟฟ้าอาจจะทำงานต่อระยะเวลาสั้น ๆ แต่มันไม่ได้ช่วยอะไรมาก
 
        เมื่อดับเครื่องอุณหภูมิจะสูงขึ้นอีกราว 20-25 องศาเซลเซียส และอาจสูงกว่านั้นถ้าขับแช่มาด้วยรอบเครื่องสูง ๆ เมื่ออุณหภูมิเพิ่มขึ้นโลหะก็จะขยายตัวมากขึ้น นาน ๆ ไปอาจทำให้เกิดความเครียดขึ้นกับชิ้นส่วนภายใน การสึกหรอเร็วกว่าปกติก็จะตามมาโดยเฉพาะกับเครื่องยนต์เทอร์โบ
 
        การอุ่นเครื่องก่อนดับรถที่ถูกต้องนั้นไม่ใช่การอุ่นเครื่องอยู่กับที่เพราะจะก่อปัญหาเช่นเดียวกับการอุ่นเครื่องตอนเช้า วิธีก็คือก่อนถึงที่หมายสักประมาณ 2-3 กิโลเมตร ให้ลดความเร็วลง โดยวิ่งความเร็วคงที่พยายามให้รอบเครื่องยนต์ต่ำ ๆ ระบบระบายความร้อนจะได้ทำงานได้อย่างเต็มที่ยิ่งใช้ความเร็วสูงต่อเนื่องมานานก็ต้องเพิ่มระยะทางในการอุ่นเครื่องให้นานขึ้น เพราะเครื่องยนต์มีขนาดใหญ่ต้องใช้เวลาในการลดอุณหภูมิพอสมควร ถ้าปฏิบัติแบบนี้สามารถดับเครื่องยนต์ได้เลยทันที



     3.    การใช้เกียร์อัตโนมัติ
 
        ถ้าเป็นรถรุ่นเก่าหน่อยที่ระบบเกียร์ยังไม่ฉลาดมากนัก จำเป็นต้องเปลี่ยนลงมาเกียร์ต่ำทั้งขึ้นและลงเขา เพื่อรักษารอบของเครื่องยนต์ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ตัวรถจะได้มีแรงบิดพอสำหรับการฉุดลาก
 
        เกียร์รุ่นเก่านั้นเมื่อรอบเครื่องยนต์และแรงดันน้ำมันถึง มันก็จะเปลี่ยนเป็นเกียร์สูงขึ้น ทำให้รถไม่มีแรงหรือไม่มีเอ็นจิ้น เบรก ส่วนรถสมัยใหม่ไม่ต้องทำอะไรเลยเพราะระบบจะรู้ทันทีว่าคุณกำลังขึ้นหรือลงเนินอยู่ และจะทำการเปลี่ยนเกียร์ให้เหมาะสมกับสถานการณ์เหล่านั้น โดยที่คุณไม่ต้องพะวงกับการทำงานของมันเลย
 
        ข้อนี้จึงต้องแยกเป็น 2 ประเด็นด้วยกันคือ รถเก่าหรือระบบควบคุมเกียร์ไม่ทันสมัยต้องเปลี่ยนลงเกียร์ต่ำ ส่วนรถใหม่ ๆ ลองสังเกตดูเวลา เวลาขึ้นเขาแล้วเกียร์เปลี่ยนเป็นเกียร์สูง เวลาลงเขาก็ไม่คาเกียร์เอาไว้ให้มีแต่จะเปลี่ยนเป็นเกียร์สูงขึ้น ถ้าเป็นแบบนี้ก็ต้องเปลี่ยนลงมาเป็นเกียร์ต่ำเพื่อความปลอดภัยของเครื่องยนต์และเพื่อความปลอดภัยในการขับขี่



     4.    รถติดไฟแดงควรใช้เกียร์ N หรือ D
 
        ในทางปฏิบัตินั้นเกียร์ออโต้ยุคแรก ๆ ยังไม่ทนทานเท่าปัจจุบัน รวมทั้งใช้เครื่องยนต์ขนาดใหญ่มีแรงบิดสูง ยุคนั้นกลไกการเปลี่ยนตำแหน่งเกียร์ยังโบราณอยู่ การเหยียบเบรกแช่เมื่อรถติดไฟแดงในตำแหน่งเกียร์ D จึงเหมาะสม อีกเหตุผลหนึ่งในยุคนั้นติดไฟแดงกันช่วงเวลาสั้น ๆ
 
         ในรถยุคปัจจุบันกลไกการเปลี่ยนเกียร์พัฒนาไปมาก โดยเฉพาะความทนทานและที่พัฒนาควบคู่กันไป คือรถติดนานขึ้น การเปลี่ยนไปใช้เกียร์ N มีความปลอดภัยกว่าหลาย ๆ ด้านประเด็นแรกคือเรื่องของการสึกหรอในระบบเกียร์จะต่ำกว่า
 
        เคยใช้เครื่องมือตรวจสอบของศูนย์บริการทดสอบ ปรากฏว่าจอดคาเกียร์ D ไว้ไม่ถึง 3 นาที ความร้อนของน้ำมันเกียร์เพิ่มขึ้นมาหลายองศาการคาเกียร์ D ยังเป็นการสร้างความเครียดให้กับชิ้นส่วนที่มีการเคลื่อนไหวของช่วงล่างทั้งหมดทำให้อายุการใช้งานของบู๊ชยางต่าง ๆ และชิ้นส่วนที่ต่อมาจากเกียร์สึกหรอเร็วกว่าปกติ
 
        อัตราที่มองข้ามและทำให้มีคนเสียชีวิตมาแล้ว คือกรณีของรถที่พุ่งไปชนคันหน้า ไม่ก็พุ่งชนคน เพราะจังหวะที่เผลอปล่อยเบรก หรือขึ้นเบรกมือไว้ไม่สุดจะทำให้รถพุ่งไปข้างหน้าได้ เพื่อความปลอดภัยในการใช้งานควรเข้าเกียร์ N และดึงเบรกมือไว้เพื่อป้องกันไม่ให้รถไหล

     5.    รู้จักอ่านคู่มือประจำรถ
 
        เวลาซื้อมือถือหรืออุปกรณ์อะไรใหม่ ๆ มาก็ยอมเสียเวลาอ่านคู่มือการใช้งานได้ แต่คู่มือรถกลับไม่มีใครให้ความสนใจ บางคนใช้รถมา 4-5 ปี ไม่เคยเปิดอ่านคู่มือเลยก็มี ในคู่มือประจำรถจะบอกถึงวิธีการใช้งานที่ถูกต้อง การบำรุงรักษาและการแก้ไขเบื้องต้น
 
        ดังนั้นเมื่อมีคู่มือต้องศึกษาอย่างละเอียดและคู่มือของรถแต่ละรุ่นไม่สามารถใช้เป็นบรรทัดฐานสำหรับรถรุ่นไม่สามารถใช้เป็นบรรทัดฐานสำหรับรถรุ่นอื่นได้ แม้ว่าจะเป็นรถค่ายเดียวกันก็ตามที เพราะอุปกรณ์หลายอย่างออกแบบมาไม่เหมือนกัน หรือใช้เทคโนโลยีคนละชนิดเพราะฉะนั้นควรใส่ใจในการศึกษาอ่านคู่มือประจำรถให้ดี
 
         เรื่องทั้งหลายเหล่านี้เป็นเรื่องที่มือใหม่ไม่เคยรู้ และมือเก่ากว่าครึ่งก็ไม่รู้เหมือนกันแถมยังถ่ายทอดมายังมือใหม่แบบผิด ๆ อีกเช่นกัน การปรับเปลี่ยนทัศนคติและศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับกฎหมายจราจร มารยาทบนท้องถนนและการดูแลรักษารถยนต์ เป็นสิ่งที่ควรทำเพราะจะทำให้คุณใช้งานรถยนต์ได้อย่างยาวนาน และมีส่วนช่วยให้ปัญหาจราจรลดลง


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
5 เบื้องต้น การดูแล และรักษารถยนต์ อัปเดตล่าสุด 18 มีนาคม 2556 เวลา 12:05:59 7,110 อ่าน
TOP