วิธีจ่ายเงิน M-Flow ถ้ายังไม่ได้สมัครเป็นสมาชิกจะต้องจ่ายเงินที่ไหน ผ่านช่องทางใด ภายในกี่วัน และถ้าจะสมัครสมาชิกต้องทำอย่างไร พร้อมอัปเดตล่าสุดด่านไหนมี M-Flow ให้ใช้บริการ

ภาพจาก : shutterstock.com / Eakalak mainoy
สำหรับใครที่ใช้บริการทางด่วน M-Flow ทั้งที่ไม่ได้เป็นสมาชิก หรือเป็นสมาชิกแล้วก็ตาม จะมีการบันทึกภาพรถยนต์และป้ายทะเบียนไว้เพื่อเรียกเก็บค่าบริการภายหลังด้วยช่องทางที่ต่างกัน แต่ผู้ใช้บริการทั้งสองแบบจะต้องจ่ายเงิน M-Flow ภายใน 7 วัน โดยเริ่มนับจากวันที่ใช้บริการ ส่วนจะจ่ายเงินช่องทางไหนได้บ้าง และถ้าอยากสมัครเป็นสมาชิกต้องทำอย่างไร พร้อมอัปเดตด่านไหนเปิดให้บริการ M-Flow
M-Flow คืออะไร
ระบบ M Flow เป็นระบบจัดเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น (Free Flow) แทนการเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติแบบระบบไม้กั้น เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดหน้าด่านบนทางด่วนและมอเตอร์เวย์ โดยจะมีกล้องตรวจบันทึกภาพป้ายทะเบียนรถ โดยรถยนต์ทุกประเภทที่ได้รับอนุญาตให้วิ่งบนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหรือทางพิเศษ ได้แก่ รถยนต์ 4 ล้อ รถยนต์ 6 ล้อ และรถยนต์มากกว่า 6 ล้อขึ้นไป สามารถใช้งานได้แม้จะยังไม่ได้สมัครสมาชิก M-Flow ซึ่งจะต้องจ่ายค่าผ่านทางหลังการใช้บริการ มีทั้งแบบเป็นรายครั้ง หรือตามรอบบิล ได้หลายช่องทาง

ภาพจาก : mflowthai.com
จ่ายเงิน M-Flow ไม่เป็นสมาชิก ต้องทำอย่างไร
หากใช้บริการ M-Flow แล้ว แต่ไม่ได้เป็นสมาชิกภายในเวลาที่กำหนด สามารถเลือกจ่ายได้หลายช่องทาง ดังนี้
-
เช็กยอดผ่านเว็บไซต์ M-Flow หรือแอปพลิเคชัน MFlowThai โดยกรอกทะเบียนรถ รับ QR Code เพื่อเลือกจ่ายค่าบริการได้ทั้งแอปพลิเคชันธนาคาร, ตู้ ATM, เคาน์เตอร์เซอร์วิส และเคาน์เตอร์ธนาคารกรุงไทย
-
ชำระผ่านบัตรเดบิตและบัตรเครดิต
-
เคาน์เตอร์เซอร์วิส เคาน์เตอร์ธนาคารกรุงไทย โดยแจ้งทะเบียนรถ
จ่ายเงิน M-Flow สำหรับสมาชิก
-
เลือกชำระอัตโนมัติโดยหักผ่านบัตรเดบิต, บัตรเครดิต, ผูกบัญชีกับธนาคารกรุงไทย หรือ M-Pass / Easy Pass (ชำระรายครั้ง)
-
ชำระด้วยตนเองด้วย QR Code ผ่านแอปพลิเคชันธนาคาร, ตู้ ATM, เคาน์เตอร์เซอร์วิส และเคาน์เตอร์ธนาคารกรุงไทย (ชำระรายครั้ง)
-
หักผ่านบัตรเดบิต, บัตรเครดิต หรือผูกบัญชีกับธนาคารกรุงไทย (ชำระเป็นรอบบิล)
จ่ายเงิน M-Flow ต้องจ่ายภายในกี่วัน หากเลยกำหนดมีค่าปรับเท่าไหร่
หลังจากใช้บริการ M-Flow แล้ว ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกหรือไม่เป็นสมาชิก มีกำหนดการชำระค่าบริการภายใน 7 วัน หลังใช้บริการผ่านทาง แต่ถ้าไม่ชำระตามกำหนด ระบบจะดำเนินการดังต่อไปนี้
ค่าปรับ M-Flow กรณีไม่เป็นสมาชิก
- กรณีไม่จ่ายค่าบริการภายใน 7 วัน หลังใช้บริการ ในวันถัดไป (วันที่ 8) ระบบจะส่งหนังสือแจ้งเตือนครั้งแรก เพื่อให้ชำระค่าผ่านทางตามยอดจริง + ค่าปรับ 10 เท่าของค่าผ่านทาง
- หากยังไม่จ่ายบริการภายใน 15 วัน หลังใช้บริการ จะต้องจ่ายค่าผ่านทางตามยอดจริง + ค่าปรับ 10 เท่า + ค่าปรับเพิ่ม 200 บาท + ดำเนินคดีตามกฎหมาย (ค่าปรับฝ่าฝืน พ.ร.บ.ทางหลวง ไม่เกิน 5,000 บาท)
ค่าปรับ M-Flow กรณีเป็นสมาชิก
สำหรับสมาชิก M-Flow หากไม่จ่ายค่าบริการภายใน 7 วัน หลังจากวันที่ผ่านทาง จะมีการคิดค่าเสียหาย 2 เท่าของค่าผ่านทาง และหากไม่ชำระภายใน 15 วัน หลังจากวันที่ผ่านทาง จะคิดค่าเสียหาย 2 เท่าของค่าผ่านทาง + ค่าปรับ 10 เท่าของค่าผ่านทาง + ค่าปรับ 200 บาท
การส่งหนังสือแจ้งเตือน M-Flow กรณีไม่ชำระภายใน 7 วัน
- กรณีสมาชิก M-Flow ระบบจะส่ง SMS แจ้งเตือนผ่านแอปพลิเคชันบนสมาร์ตโฟน, อีเมล และหนังสือแจ้งเตือน โดยยอดบิลล่าสุดจะเป็นยอดค่าใช้บริการ รวมกับค่าปรับการชำระค่าบริการล่าช้า
- กรณีที่ไม่ได้เป็นสมาชิก M-Flow จะมีหนังสือแจ้งเตือนและส่งให้ตามที่อยู่ในบัตรประชาชน
การจ่ายเงิน M-Flow ตามหนังสือแจ้งเตือนสำหรับสมาชิก
1. เมื่อได้หนังสือแจ้งเตือน ท่านสามารถทำรายการชำระเงินผ่านทางเว็บไซต์ และทาง Mobile Application ได้ด้วยการล็อกอิน และเลือก “ได้รับหนังสือแจ้งเตือน” > “ชำระเงินตามหนังสือแจ้งเตือน”
2. ดาวน์โหลดใบแจ้งหนี้ล่าสุด เพื่อนำไปชำระเงินตามช่องทาง Mobile Application ของธนาคารต่าง ๆ, ATM, เคาน์เตอร์ธนาคาร และเคาน์เตอร์เซอร์วิส
การจ่ายเงิน M-Flow ตามหนังสือแจ้งเตือนสำหรับผู้ที่ไม่ใช่สมาชิก
เมื่อได้รับหนังสือแจ้งเตือน สามารถนำหนังสือแจ้งเตือนไปจ่ายค่าบริการผ่านแอปพลิเคชันบนสมาร์ตโฟนของธนาคารต่าง ๆ, ตู้ ATM, เคาน์เตอร์ธนาคาร และเคาน์เตอร์เซอร์วิส
รถที่ห้ามไม่ให้ใช้ช่องทาง M-Flow
-
รถยนต์ที่ป้ายทะเบียนซีดจาง ดัดแปลง หรือมีสิ่งบดบัง
-
รถยนต์ป้ายแดง
-
รถยนต์ทดสอบ (ป้าย TC และ QC)
-
รถยนต์ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน
ทางด่วนที่มีบริการ M-Flow มีด่านไหนบ้าง ?
-
ด่านทับช้าง 1
-
ด่านทับช้าง 2
-
ด่านธัญบุรี 1
-
ด่านธัญบุรี 2
- สมัครที่เว็บไซต์ mflowthai.com หรือหน้าแรกของแอปพลิเคชัน M-Flow
- กรอกหมายเลขมือถือเพื่อรับรหัสยืนยันตัวตน และกรอกรหัสยืนยันตัวตนที่ได้รับ
- กรอกข้อมูลส่วนตัวและอัปโหลดรูปถ่ายหน้าตรงคู่กับบัตรประจำตัวประชาชน
- กรณีที่ต้องการใช้อีเมลเป็น Username ให้กรอกอีเมลลงในช่อง E-Mail ด้วย หากไม่ต้องการให้เว้นว่าง
- กรอกที่อยู่ ซึ่งจะแบ่งเป็น ที่อยู่ตามทะเบียนบ้านและที่อยู่ปัจจุบัน สำหรับส่งเอกสาร
- กรอกทะเบียนรถตามที่แสดงในเล่ม โดยรถที่นำมาลงทะเบียนได้คือ รถที่เป็นเจ้าของเองและรถของบุคคลอื่นที่ได้รับความยินยอม จากนั้นอัปโหลดสำเนาทะเบียนรถหน้าแรก, หน้าแสดงความเป็นเจ้าของรถ และภาพถ่ายรถยนต์คันที่ต้องการลงทะเบียน โดยต้องเป็นภาพด้านหน้ารถเห็นเลขทะเบียนชัดเจน ด้านข้างตัวรถ และด้านท้ายรถ กรณีผู้ลงทะเบียนไม่ใช่เจ้าของรถ ต้องมีหนังสือยินยอมจากเจ้าของรถ และสำเนาบัตรประชาชนของเจ้าของรถ โดยสามารถดาวน์โหลดหนังสือยินยอมได้ที่เมนู ดาวน์โหลด ในหน้าเว็บไซต์
- เลือกวิธีชำระเงิน ไม่ว่าจะเป็นการชำระแบบรายครั้ง หรือชำระเป็นรอบบิลรายเดือน โดยสามารถชำระเงินได้ทางช่องทางต่อไปนี้
- ตัดผ่านบัตรเครดิต/เดบิต
- ตัดผ่านบัญชีธนาคารกรุงไทย
- ตัดผ่านบัตร M-Pass/Easy Pass
- ชำระเงินด้วยการนำไปชำระเองที่เคาน์เตอร์ธนาคาร, เคาน์เตอร์เซอร์วิส, ตู้ ATM และ Moblie Application
เมื่อกรอกข้อมูลครบถ้วนแล้วให้เลือก ลงทะเบียน ระบบจะแจ้งว่าท่านลงทะเบียนเรียบร้อยแล้ว พร้อมให้หมายเลขอ้างอิงสำหรับติดต่อเจ้าหน้าที่เมื่อมีปัญหา หรือติดต่อกับธนาคารเพื่อทำเรื่องชำระเงินตัดบัญชี ทางเจ้าหน้าที่จะตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลอีกครั้ง และแจ้งผลการลงทะเบียนผ่าน SMS หรือ E-mail ภายใน 24 ชั่วโมง และเมื่อได้รับการแจ้งผลการลงทะเบียนว่า สำเร็จ ก็จะสามารถเข้าใช้งานได้เลย
อย่างไรก็ตาม การชำระเงินล่าช้า หรือจงใจไม่ชำระค่าบริการ นอกจากจะต้องเสียค่าปรับแล้ว ยังอาจถูกดำเนินคดีตามกฎหมายได้อีกด้วย ดังนั้นควรตรวจสอบการใช้บริการและชำระค่าบริการภายในระยะเวลาที่กำหนดให้เรียบร้อยเพื่อหลีกเลี่ยงค่าปรับ
ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก : mflowthai.com