โตโยต้า ประกาศหยุดการส่งมอบ ยาริส เอทีฟ ที่ผลิตในไทย ชั่วคราว ย้ำต้องตรวจสอบซ้ำที่ญี่ปุ่น หลังพบข้อบกพร่องการทดสอบชนด้านข้าง - ไดฮัทสุ ยอมรับ ปลอมผลทดสอบการชนของรถกว่า 88,000 คัน
ภาพจาก สปริงนิวส์
วันที่ 30 เมษายน 2566 สปริงนิวส์ รายงานว่า โตโยต้า ประกาศหยุดการส่งมอบ ยาริส เอทีฟ (Toyota Yaris Ativ) ที่ผลิตในไทย และมาเลเซีย หลังพบข้อบ่งชี้ความไม่สมบูรณ์ของการเตรียมการทดสอบการชนด้านข้าง
การดำเนินการดังกล่าว เกิดขึ้นหลังจาก บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น ได้รับแจ้งเกี่ยวกับความไม่สมบูรณ์ของการเตรียมการทดสอบการชนด้านข้าง (UN R95) โดยบริษัท ไดฮัทสุ มอเตอร์ จำกัด ของยาริส เอทีฟ (Yaris Ativ) ที่ผลิตที่โรงงานของโตโยต้า 2 แห่งในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งโตโยต้าและไดฮัทสุได้จัดการแถลงข่าวขึ้นเมื่อวันที่ 28 เมษายน ที่ผ่านมา
แม้ไดฮัทสุเป็นผู้รับผิดชอบพัฒนาตัวถังและดูแลขั้นตอนรับรองรถยนต์รุ่น ยาริส เอทีฟ แต่ทางสำนักงานใหญ่ของโตโยต้าในภูมิภาคเอเชียมีความจำเป็นต้องขออภัยเป็นอย่างสูง ที่ก่อให้เกิดความไม่สะดวกและความไม่สบายใจที่อาจเกิดขึ้นกับลูกค้า ผู้แทนจำหน่ายฯ และผู้เกี่ยวข้องทุกท่านซึ่งครอบครองรถรุ่นนี้
โดยแถลงการณ์ของโตโยต้า ระบุว่า ขออภัยที่เกิดความไม่สะดวกและความไม่สบายใจที่อาจเกิดขึ้นกับลูกค้า ผู้แทนจำหน่ายฯ และผู้เกี่ยวข้องทุกท่านซึ่งครอบครองรถรุ่นนี้
พร้อมแจ้งให้ทราบถึงสถานการณ์ และแผนการดำเนินงานในอนาคต ประกอบด้วย
- หลังจากพบข้อบ่งชี้ถึงความไม่สมบูรณ์ของการเตรียมการทดสอบ โตโยต้าได้ปรึกษากับไดฮัทสุ และหยุดการส่งมอบรถชั่วคราวไปยังกลุ่มตลาดที่มีข้อบังคับเกี่ยวกับการทดสอบการชนด้านข้าง UN-R95
- ไดฮัทสุปรึกษาหน่วยงานที่ทำการตรวจสอบและออกใบรับรอง เพื่อดำเนินการทดสอบการชนด้านข้าง UN-R95 ด้วยชิ้นส่วนที่ผลิตเพื่อจำหน่ายในรถรุ่น Yaris Ativ เป็นการภายใน ตามข้อกำหนด UN-R95 ทั้งหมด
- ภายหลังจากการรายงานผลการทดสอบ มีการลงความเห็นว่า สำหรับรถรุ่นปัจจุบัน ยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการแก้ไขใด ๆ ซึ่งทางบริษัทขอยืนยันว่าลูกค้าสามารถใช้งานรต่อไปได้ตามปกติ
- วันที่ 28 เมษายน บริษัทจัดทดสอบการชนด้านข้างต่อหน้าหน่วยงานที่ทำหน้าที่จัดการทดสอบอีกครั้ง ซึ่งได้รับการอนุมัติว่าเป็นไปตามข้อกำหนด UN-R95
- สำหรับประเทศไทย มีความจำเป็นที่ต้องตรวจสอบซ้ำในประเทศญี่ปุ่นตามข้อกำหนดการทดสอบพยาน (witness testing) ทำให้จำเป็นต้องหยุดจำหน่าย ยาริส เอทีฟ ชั่วคราว โดยบริษัทจะเร่งจัดส่งรถให้เร็วที่สุด ภายใต้คำแนะนำและการตรวจสอบอนุมัติโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ส่วนสาเหตุของความไม่สมบูรณ์ในขั้นตอนการเตรียมการทดสอบ ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบ
ทั้งนี้ อากิโอะ โตโยดะ ประธานคณะกรรมการ บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย อันเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการผลิตรถยนต์ เราขออภัยจากใจจริงต่อลูกค้าทั่วโลกและผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดสำหรับความไม่สะดวกและความไม่สบายใจ
ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับรถโดยสารส่วนบุคคลของแบรนด์โตโยต้า ดังนั้น จึงมิได้เป็นเพียงปัญหาของไดฮัทสุอย่างเดียว ซึ่งเราจะเริ่มตรวจสอบอย่างละเอียด และรวบรวมข้อเท็จจริงเพื่อให้เข้าใจถึงสถานการณ์ และทราบถึงสาเหตุที่แท้จริงของปัญหา รวมถึงทำงานอย่างจริงจังเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดขึ้นอีก นอกจากนี้ เราจะชี้แจงข้อเท็จจริงที่พบระหว่างขั้นตอนการตรวจสอบให้สาธารณชนทราบอย่างทันท่วงที
ไดฮัทสุ แถลงยอมรับ ปลอมผลทดสอบการชนของรถกว่า 88,000 คัน
อนึ่ง วันที่ 28 เมษายน ชาแนลนิวส์เอเชีย รายงานว่า ไดฮัทสุ บริษัทในเครือของ โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น แถลงยอมรับว่ามีการปรับแต่งชิ้นส่วนของประตู ในการทดสอบความปลอดภัยการชนด้านข้างของรถยนต์ขนาดเล็ก 88,000 คัน ซึ่งส่วนมากจำหน่ายภายใต้แบรนด์โตโยต้า
โดยบริเวณขอบประตูของรถที่ได้รับผลกระทบ มีการทำรอยบากไว้เพื่อลดความเสี่ยงในการทดสอบ ว่าประตูอาจจะแตกหักโดยมีชิ้นส่วนแหลมคมยื่นออกมา ซึ่งจะทำให้ผู้โดยสารได้รับบาดเจ็บขณะที่ถุงลมนิรภัยด้านข้างทำงาน เมื่อรถเกิดอุบัติเหตุ
อย่างไรก็ตาม ไดฮัทสุชี้ว่า การดัดแปลงมีขึ้นสำหรับการทดสอบ ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของรถที่มีการนำไปใช้งานจริง
สำหรับรถรุ่นที่ได้รับผลกระทบ ประกอบด้วย Toyota Yaris Ativs ที่ผลิตในประเทศไทย ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2565 และ Perodua Axias ที่ผลิตในมาเลเซีย เริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ โดยในจำนวนรถกว่า 88,000 คันที่ได้รับผลกระทบ มีราว 76,000 คัน ที่เป็นรุ่น Yaris ที่จะถูกส่งมอบให้แก่ประเทศไทย เม็กซิโก ประเทศกลุ่มความร่วมมืออ่าวอาหรับ เป็นต้น
ด้าน โตโยต้า ระบุว่า จะดำเนินการสืบสวนโดยละเอียดเพื่อหาต้นตอของปัญหานี้ และจะป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้อีก แต่อาจต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่ง
ติดตามอ่าน ข่าวต่างประเทศ ที่น่าสนใจได้ที่นี่
ขอบคุณข้อมูลจาก สปริงนิวส์, CNA