วิธีเลือกซื้อรถกระบะง่าย ๆ เลือกอย่างไรให้เหมาะกับการใช้งานจริง มาดูกัน !

วิธีเลือกซื้อรถกระบะที่ผู้ใช้ควรรู้ เพราะรถกระบะแต่ละประเภทล้วนมีจุดประสงค์ในการใช้งานที่แตกต่างกัน และรถรุ่นท็อปราคาแพงสุดอาจไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีที่สุดก็ได้ !

วิธีเลือกซื้อรถกระบะ

เนื่องจากปัจจุบันรถกระบะหรือรถปิกอัพในไทยได้รับความนิยมสูง ด้วยขนาด ความทนทาน สมรรถนะ และอรรถประโยชน์ จึงถูกนำมาใช้งานแทนรถยนต์นั่งนอกเหนือจากใช้งานเชิงพาณิชย์อย่างแพร่หลาย ผู้ผลิตจึงมีการแยกรุ่นย่อยให้เลือกตามความต้องการของผู้บริโภคทุกกลุ่มมากขึ้น

ในขณะเดียวกัน ยิ่งตัวเลือกเยอะก็ยิ่งทำให้ผู้ที่กำลังตัดสินใจจะซื้อรถกระบะเกิดความสับสนว่าแต่ละรุ่นย่อยนั้นมีความแตกต่างกันอย่างไร และควรเลือกรถกระบะแบบไหนให้เหมาะสมกับการใช้งาน ซึ่งอาจไม่จำเป็นต้องเป็นรุ่นที่แพงสุดเสมอไป เพราะหากต้องจ่ายแพงขึ้นแต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์จริงก็เป็นอะไรที่เสียเปล่า ดังนั้นสิ่งที่ควรพิจารณาก่อนจะเลือกรถกระบะสักรุ่นควรเริ่มต้นจากสิ่งเหล่านี้

1. ขนาด

รถกระบะที่วางจำหน่ายในไทยแทบทั้งหมดจะเป็นรถกระบะขนาดกลาง น้ำหนักบรรทุก 1 ตัน ที่ออกแบบมาให้รองรับการใช้งานเชิงพาณิยช์และโดยสาร ดังนั้นหากต้องการเลือกรถกระบะแทนรถเก๋งต้องเข้าใจเสียก่อนว่าจะไม่คล่องตัวยามขับขี่หรือจอดในเมืองนัก หรือถ้าเน้นขนของเกินพิกัดอาจจำเป็นต้องมีการดัดแปลงเพิ่มเติม หรือเปลี่ยนไปเลือกรถกระบะบรรทุกขนาดเล็ก ที่รองรับน้ำหนักได้มากกว่า 1 ตัน

2. แบบตัวถัง

ในส่วนของแบบตัวถังรถกระบะส่วนใหญ่มักจะมีให้เลือกหลัก ๆ เพียงแค่ 3 แบบ ตามวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ได้แก่

  • รถกระบะ 2 ประตู ตอนเดียว รองรับผู้โดยสารได้ 2 ที่นั่ง

รถกระบะ 2 ประตู หรือรถกระบะตอนเดียว ถูกออกแบบมาเพื่อให้ใช้ในเชิงพาณิชย์เป็นหลัก อุปกรณ์มาตรฐานน้อย ซึ่งจะมีทั้งแบบกระบะปกติที่นิยมนำไปต่อตู้ ทำรถคอก ขนส่งสินค้า, กระบะพื้นเรียบ (Flat Deck) และไม่มีกระบะ (Cab Chassis) ภาษาชาวบ้านนิยมเรียกหัวกระสือ เพื่อนำไปติดตั้งตู้แช่เย็น ทำรถสไลด์

วิธีเลือกซื้อรถกระบะ

  • รถกระบะ 2 ประตู แค็บเปิดได้ ตอนครึ่ง รองรับผู้โดยสารได้ 2 ที่นั่ง

รถกระบะ 2 ประตู แค็บ หรือรถกระบะตอนครึ่ง ซึ่งจะเพิ่มส่วนของแค็บด้านหลัง ทำให้มีพื้นที่ห้องโดยสารกว้างขวางสะดวกสบายกว่ารถกระบะตอนเดียว นอกจากนี้บานประตูแค็บยังสามารถเปิดได้เพื่อความสะดวกในการหยิบสัมภาระ แต่ตัวกระบะจะมีปริมาตรความจุลดลง และที่สำคัญแค็บหลังของรถกระบะ 2 ประตูนั้นไม่สามารถโดยสารได้ (ตามกฎหมาย) ถ้าจำเป็นต้องเดินทางเกิน 2 คน เป็นประจำ ควรเลือกรถกระบะ 4 ประตู น่าจะเหมาะกว่า  

วิธีเลือกซื้อรถกระบะ

  • รถกระบะ 4 ประตู สองตอน รองรับผู้โดยสารได้ 5 ที่นั่ง

เป็นรถกระบะอเนกประสงค์ที่ถูกออกแบบมาสำหรับโดยสาร มีการติดตั้งอุปกรณ์อำนวยความสะดวกใกล้เคียงรถเก๋ง และยังมีพื้นที่กระบะไว้ใช้สำหรับขนของ ขนอุปกรณ์ที่มีความสูงเกินกว่าหลังคา ทำให้รถกระบะ 4 ประตู ได้รับความนิยมนำมาใช้งานแทนรถยนต์นั่ง

วิธีเลือกซื้อรถกระบะ

ภาพจาก : shutterstock.com / Maksim Toome

นอกเหนือจากรถกระบะแบบทั่วไปแล้ว ยังมีรถกระบะเพื่อการพาณิชย์ประเภท Cab Over Engine (เครื่องยนต์อยู่ใต้ห้องโดยสาร) แบบ 1 ตัน หัวเหมือนรถตู้ แต่มี 2 ประตู 2 ที่นั่ง กระบะพื้นเรียบ หรือเอาไว้ดัดแปลงเป็น Food Truck ในราคาต่ำกว่า เป็นทางเลือกด้วยเช่นกัน

3. สไตล์การตกแต่ง

นอกจากรถกระบะจะให้ความสะดวกสบายคล้ายรถเก๋งแล้ว ยังมีรุ่นย่อยตกแต่งแนวสปอร์ตหรือแอดเวนเจอร์สำเร็จรูปจากโรงงาน เพื่อบ่งบอกไลฟ์สไตล์ให้เลือกด้วย แต่ถ้าแค่ต้องการรถกระบะเพื่อใช้งานทั่วไปอาจไม่จำเป็นต้องเลือกรถกระบะกลุ่มนี้ เพราะส่วนใหญ่จะเพิ่มราคาจากรุ่นปกติที่นำมาตกแต่ง และมักไม่เกี่ยวข้องกับสมรรถนะการขับขี่เท่าไรนัก

4. ความสูงตัวรถ

ตัวเตี้ยหรือยกสูง ? นอกจากแบบตัวถังกับการตกแต่งแล้ว รถกระบะยี่ห้อหลักในไทยจะมีรุ่นตัวเตี้ย (ความสูงมาตรฐาน) กับแบบยกสูงให้เลือก ซึ่งข้อดีของรถยกสูงคือ สามารถข้ามผ่านอุปสรรคได้เหนือกว่ารุ่นตัวเตี้ย ตำแหน่งเบาะนั่งสูงให้ทัศนวิสัยการมองเห็นชัดเจน แถมลุคที่ดูทะมัดทะแมง แต่ก็ต้องแลกมาด้วยราคาที่สูงกว่ารถกระบะตัวเตี้ย

5. เครื่องยนต์

หนึ่งจุดเด่นสำคัญที่ทำให้รถกระบะถูกเลือกใช้งานแทนรถยนต์นั่ง นอกเหนือจากความทนทานและความประหยัดแล้ว คือพละกำลังเมื่อเทียบกับเงินที่ต้องจ่าย ซึ่งรถกระบะในปัจจุบันจะเป็นแบบดีเซลคอมมอนเรล (รางหัวฉีดแรงดันสูง) ขนาดดาวน์ไซซ์ อัดอากาศด้วยเทอร์โบแปรผัน  โดยมีตั้งแต่ขนาด 1.9 ลิตร เทอร์โบ, 2.0 ลิตร เทอร์โบ, 2.0 ลิตร เทอร์โบคู่, 2.3 ลิตร เทอร์โบ, 2.4 ลิตร เทอร์โบ ขึ้นอยู่กับการออกแบบ แต่ก็ยังมีผู้ผลิตบางยี่ห้อยังคงเครื่องยนต์ขนาดความจุสูง เช่น 2.8 ลิตร เทอร์โบ, 3.0 ลิตร เทอร์โบ ให้เลือก

ทั้งนี้ ขนาดความจุเครื่องยนต์ที่มากอาจไม่ได้เป็นตัวชี้วัดว่าจะต้องมีกำลังสูงกว่าขนาดความจุน้อยเสมอไป เพราะมีการใช้เทอร์โบมาชดเชยความจุกระบอกสูบที่ลดลง แต่เครื่องยนต์ขนาดความจุสูงก็มีข้อได้เปรียบตรงไม่ต้องถูกบีบเค้นกำลังจากเทอร์โบมากนัก หากคุณภาพวัสดุ มาตรฐานการผลิตเท่ากัน ใช้งานด้วยเงื่อนไขเดียวกัน รถเครื่องยนต์ใหญ่จะทนทานกว่า

ดังนั้น การจะเลือกเครื่องยนต์แบบไหนให้ดูที่ลักษณะการใช้งานและพฤติกรรมในการขับขี่เป็นหลัก ถ้าไม่เน้นพละกำลัง ความเร็ว ก็สามารถเลือกเครื่องยนต์ที่พละกำลังน้อยได้ เนื่องจากราคาต่ำ สิ้นเปลืองเชื้อเพลิงน้อยกว่า และเครื่องยนต์ดีเซลทุกขนาดในกลุ่มนี้ถูกออกแบบมาเพื่อให้รองรับการบรรทุกขนาด 1 ตัน ได้ทั้งหมดอยู่แล้ว

6. เกียร์

เกียร์ หรือระบบส่งกำลังของรถกระบะ จะไม่ค่อยมีหลากหลายรูปแบบนัก และมักแบ่งออกเป็นแค่ 2 แบบ คือ

  • เกียร์ธรรมดา (Manual Transmission หรือ MT)

  • เกียร์อัตโนมัติ (Auto Transmission หรือ AT)

ถ้าหากต้องการความสะดวกสบายในการขับขี่ ควรเลือกเกียร์อัตโนมัติ ส่วนจะเป็นกี่จังหวะก็ขึ้นอยู่กับการออกแบบของแต่ละยี่ห้อ ซึ่งมีทั้งข้อดีและข้อเสีย เช่น ยิ่งมีหลายจังหวะ แม้จะช่วยในเรื่องของอัตราสิ้นเปลือง แต่กลไกก็จะยิ่งมีความซับซ้อน เพิ่มภาระในการดูแลรักษาในระยะยาว แต่รถกระบะจะไม่นิยมใช้เกียร์อัตโนมัติแบบ CVT เนื่องจากต้องรองรับภาระหนักจากการบรรทุกหรือลากจูง

วิธีเลือกซื้อรถกระบะ

7. ระบบขับเคลื่อน

อย่างที่ทราบกันดีว่ารถกระบะถูกนำไปใช้งานหลากหลายรูปแบบ จึงต้องมีระบบขับเคลื่อนให้เลือกทั้ง 2 แบบ คือ

  • 4x2 ขับเคลื่อน 2 ล้อ

  • 4x4 ขับเคลื่อน 4 ล้อ

ส่วนจะเลือกระบบขับเคลื่อนแบบไหน ควรคำนึงว่าได้ใช้งานความสามารถของระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ ในการขับขี่จริงหรือไม่ บ่อยครั้งแค่ไหน เช่น ต้องขับในพื้นที่ทุรกันดาร บุกลุยเส้นทางที่ไม่ใช่ถนนอยู่เป็นประจำ เพราะนอกจากการเลือกระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ จะต้องจ่ายแพงขึ้นแล้ว ยังต้องการการดูแลและบำรุงรักษา ถ้าไม่ใช้งานเลยในระยะยาวมีโอกาสเสียหายเนื่องจากกลไกไม่ได้ขยับตัว แถมต้องแบกน้ำหนักเพิ่มด้วย ถ้าแค่ใช้งานบนถนนทั่วไป ลุยบ้างเล็ก ๆ น้อย ๆ ระบบขับเคลื่อน 2 ล้อก็เพียงพอแล้ว

วิธีเลือกซื้อรถกระบะ

ภาพจาก : shutterstock.com / Pholly

อย่างไรก็ตาม จากหัวข้อหลักเหล่านี้จะช่วยให้เราพิจารณาได้ว่าคุณสมบัติใดคือสิ่งที่เราต้องการจริง ๆ เสียก่อน แล้วจึงค่อยลงรายละเอียดเปรียบเทียบในเรื่องของอุปกรณ์มาตรฐานอื่นที่แตกต่างกันในระดับการตกแต่ง ซึ่งจะช่วยให้เราเลือกรถกระบะให้เหมาะสมกับการใช้งานได้ง่าย ไม่สับสน และคุ้มค่ากับเงินที่ต้องเสียไปมากที่สุด

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วิธีเลือกซื้อรถกระบะง่าย ๆ เลือกอย่างไรให้เหมาะกับการใช้งานจริง มาดูกัน ! อัปเดตล่าสุด 19 กรกฎาคม 2565 เวลา 16:31:15 19,039 อ่าน
TOP
x close