Segment Car คืออะไร A B C D แตกต่างกันอย่างไร มีทั้งหมดกี่ประเภท

Segment Car หรือเซกเมนต์รถยนต์ คืออะไร มีทั้งหมดกี่ประเภท พร้อมไขข้อสงสัย A B C D แต่ละแบบแตกต่างกันอย่างไรบ้าง เรามีข้อมูลมาฝาก

segment car

ใครที่ติดตามข่าวสารเกี่ยวกับรถยนต์ หรือกำลังมองหาข้อมูลเพื่อจะซื้อรถใหม่ไว้ใช้งาน น่าจะเคยได้ยินหรือผ่านตากับคำว่า Segment Car หรือ เซกเมนต์รถยนต์ กันมาบ้าง ซึ่งหลายคนอาจสงสัยว่าคืออะไร มีความหมายว่าอย่างไร และที่สำคัญไม่ได้มีแค่คำว่า Segment เพียงอย่างเดียวเท่านั้น เพราะยังมีตัวอักษร A B C D ต่อท้ายอีก ดังนั้นเราจึงได้รวบรวมข้อมูลและหาคำตอบมาอธิบายให้เข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ให้มากขึ้นกัน 

Segment Car หรือ เซกเมนต์รถยนต์ คืออะไร  

Segment Car หรือเซกเมนต์รถยนต์ คือ การแบ่งประเภทของรถยนต์ตามขนาด โดยมักจะใช้กับรถยนต์นั่งหรือรถเก๋ง การจำแนกดังกล่าวนี้เกิดขึ้นในทวีปยุโรป และถูกใช้เป็นมาตรฐานอย่างแพร่หลายมาจนถึงปัจจุบัน โดยการแบ่งประเภทของรถยนต์นั้นจะใช้แทนความหมายด้วยตัวอักษรภาษาอังกฤษ ไล่เรียงลำดับจากรถขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่ เช่น Segment A แทนรถขนาดเล็ก ขณะที่ Segment B รถยนต์จะมีขนาดใหญ่ขึ้นมาอีกหน่อย 

ซึ่งการแบ่งประเภทของรถยนต์ นอกจากเรื่องของขนาดแล้ว บางทวีปหรือบางประเทศอาจแบ่งตามลักษณะของการใช้งาน ขนาดของเครื่องยนต์ และราคา 

ความหมายของรถยนต์แต่ละเซกเมนต์

Segment A

คือ กลุ่มหรือหมวดหมู่ของรถที่มีขนาดตัวถังเล็ก มีสมรรถนะเครื่องยนต์ตั้งแต่ 600-1,000 ซี.ซี. เน้นความคล่องแคล่วในการขับขี่ เหมาะสำหรับการใช้งานในเมือง ตัวอย่างเช่น Nissan March, Mitsubishi Mirage และ Suzuki Celerio

segment car

ภาพจาก : nissan.co.th

Segment B

เป็นกลุ่มประเภทของรถยนต์ที่มีขนาดตัวถังและเครื่องยนต์ที่ใหญ่กว่า Segment A ถือเป็นหมวดหมู่ของรถยนต์ที่ได้รับความนิยมมาก เนื่องจากมีขนาดที่ไม่เล็กและไม่ใหญ่จนเกินไป สมรรถนะกำลังของเครื่องยนต์อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะกับทุกการเดินทาง และที่สำคัญมีราคาที่ไม่สูงเกินไปอีกด้วย สำหรับตัวอย่างของรถในกลุ่ม Segment B ได้แก่ Honda City, Toyota Vios, Mazda 2 และ MG 3 

ทั้งนี้ รถยนต์ในกลุ่ม Segment A และ B ยังถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มของรถ ECO Car ซึ่งไม่ได้วัดกันที่ขนาดของตัวรถ แต่จะยึดหลักอัตราการสิ้นเปลืองพลังงานเชื้อเพลิง หรือการปล่อยมลพิษ และจะมีขนาดของเครื่องยนต์ไม่เกิน 1,500 ซี.ซี.

segment car

ภาพจาก : honda.co.th

Segment C

รถยนต์ในกลุ่มนี้จะมีขนาดของตัวถังที่ใหญ่กว่ารถยนต์ในกลุ่ม Segment B รวมไปถึงพละกำลังของเครื่องยนต์ที่จะสูงกว่า 1,500 ซี.ซี. ไปจนถึง 2,200 ซี.ซี. รองรับการใช้งานที่หนักมากขึ้น ทั้งการโดยสารหรือการขนสิ่งของต่าง ๆ ตัวอย่างรถยนต์ในกลุ่มนี้ ได้แก่ Honda Civic, Toyota Altis และ Mazda 3 

segment car

ภาพจาก : toyota.co.th

Segment D

จัดเป็นรถยนต์นั่งที่มีขนาดใหญ่ มาพร้อมกับความหรู ความสะดวกสบาย และมีเทคโนโลยีหรือฟังก์ชันอำนวยความสะดวกต่าง ๆ มาให้ รวมไปถึงในเรื่องของสมรรถนะที่ดีกว่ารถยนต์ในกลุ่ม Segment C ส่วนใหญ่จะมีขนาดของเครื่องยนต์มากกว่า 2,500 ซี.ซี. ขึ้นไป ตัวอย่างรถยนต์ในกลุ่มนี้ ได้แก่ Honda Accord, Toyota Camry, BMW Series 3 และ Nissan Teana

segment car

ภาพจาก : bmw.co.th

Segment E

เป็นกลุ่มของรถยนต์นั่งที่มีขนาดใหญ่ที่สุด มีความกว้างและสะดวกสบายมากกว่ารถในกลุ่ม Segment D มีสมรรถนะและกำลังเครื่องยนต์ที่แรงขึ้น แต่ก็มักจะมีราคาตัวรถที่สูงด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่น BMW Series 7, Mercedes Benz S-Class และ Volvo S90

segment car

ภาพจาก : mercedes-benz.co.th

นอกจากนี้กลุ่มหรือประเภทของรถยังสามารถแบ่งออกตามลักษณะ รูปทรงของตัวรถ หรือการใช้งาน ได้แก่

รถเอสยูวี (SUV)

จัดเป็นรถที่มีคุณสมบัติอเนกประสงค์ครอบคลุมทุกการใช้งาน เช่น การโดยสาร ขนของ หรือเดินทางไกล ด้วยรูปร่างของตัวรถที่มีขนาดใหญ่ กว้าง สูง มีสมรรถนะและกำลังเครื่องยนต์ที่แรงกว่ารถยนต์ทั่วไป ตัวอย่างเช่น Honda CR-V, Toyota Corolla Cross และ Mazda CX-5

segment car

ภาพจาก : mazda.co.th

รถครอสโอเวอร์ (Crossover)

เป็นรถประเภทหนึ่งที่สร้างขึ้นมาจากพื้นฐานของรถยนต์หรือรถเก๋ง ซึ่งจะมีความแตกต่างตรงที่ตัวรถจะได้รับการยกให้สูงขึ้นคล้ายกับรถเอสยูวี ส่วนขนาดและความกว้างนั้นในบางรุ่นอาจไม่ต่างจากรถยนต์ทั่วไปมาก แต่ด้วยความสูงของล้อทำให้รถครอสโอเวอร์มีสมรรถนะหรือรองรับการใช้งานบางอย่างได้ดีกว่ารถเก่ง ตัวอย่างเช่น Honda HR-V, Mazda CX-3 และ MG ZS

segment car

ภาพจาก : mgcars.com

รถเอ็มพีวี (Multi Purpose Vehicle)

คือ กลุ่มรถอเนกประสงค์กลุ่มหนึ่งที่มีความโดดเด่นในเรื่องของขนาดที่ไม่ใหญ่จนเกินไป ภายในกว้าง รองรับผู้โดยสารได้มากกว่ารถยนต์ทั่วไป ส่วนใหญ่จะรองรับตั้งแต่ 5-7 คนขึ้นไป เหมาะสำหรับครอบครัว ความอเนกประสงค์อาจไม่ครอบคลุมเท่ากับรถเอสยูวี ตัวอย่างเช่น Mitsubishi Xpander, Honda BR-V และ Suzuki Ertiga

segment car

ภาพจาก : mitsubishi-motors.co.th

รถพีพีวี (Pick-up Passenger Vehicle)

หากได้เห็นตัวอย่างของรถที่อยู่ในกลุ่มนี้แล้ว อาจทำให้หลายคนเกิดความสับสนได้ว่าไม่ใช่ประเภทเดียวกันหรือ เพราะมีรูปร่างหรือลักษณะการใช้งานที่คล้ายกัน สาเหตุที่เรียกว่าเป็นกลุ่มรถพีพีวี เพราะรถชนิดนี้ใช้โครงสร้างพื้นฐานเดียวกับรถกระบะ ซึ่งจะมีช่วงล่างที่แข็งแกร่ง รองรับการขับขี่ที่ต้องลุยได้มากกว่ารถเอสยูวีนั่นเอง ตัวอย่างรถในกลุ่มนี้ เช่น Toyota Fortuner, Mitsubishi Pajero, Ford Everest และ Isuzu Mu-X

segment car

ภาพจาก : ford.co.th

รถกระบะ (Pick Up)

ประเภทสุดท้ายคือ รถกระบะ เป็นรถที่ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับการบรรทุกหรือขนสิ่งของต่าง ๆ โดยจะมีพื้นที่กระบะด้านท้ายไว้รองรับสัมภาระ มีตัวถังให้เลือกทั้งแบบสูง เตี้ย 2 ประตู และ 4 ประตู ตัวอย่างเช่น Isuzu D-Max, Mitsubishi Triton, Toyota Hilux Revo, Ford Ranger และ Nissan Navara

segment car

ภาพจาก : isuzu-tis.com

ทั้งนี้ การแบ่งหมวดหมู่หรือประเภทของรถนั้น นอกจากในเรื่องของธุรกิจยานยนต์และภาษีต่าง ๆ แล้ว ประเภทของรถแต่ละกลุ่มอาจมีส่วนช่วยในการตัดสินใจซื้อรถมาใช้งานด้วย โดยสามารถพิจารณาได้ว่าเราเหมาะกับรถประเภทไหน หรือไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตแบบนี้ควรซื้อรถแบบไหนมาใช้นั่นเอง

ขอบคุณภาพจาก : nissan.co.thhonda.co.th, toyota.co.thbmw.co.thmercedes-benz.co.th, mazda.co.thmgcars.commitsubishi-motors.co.thford.co.thisuzu-tis.com
ขอบคุณข้อมูลจาก : flexrent.plgomechanic.inmotorist.my

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
Segment Car คืออะไร A B C D แตกต่างกันอย่างไร มีทั้งหมดกี่ประเภท อัปเดตล่าสุด 18 พฤษภาคม 2565 เวลา 22:46:17 47,905 อ่าน
TOP
x close