x close

มารยาทการจอดรถ จอดแบบไหนปลอดภัย ถูกกฎหมาย

มารยาทในการจอดรถ จอดรถอย่างไรไม่กีดขวางการจราจร หรือสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น ที่ไหนบริเวณใดควรจอดไม่ควรจอดบ้าง

มารยาทการจอดรถ

ปัญหาอย่างหนึ่งของคนที่มีรถยนต์นอกจากการจราจรที่แออัด ติดขัดแล้ว ที่จอดรถ ก็เป็นปัญหาสำคัญเช่นกัน ในขณะที่ปริมาณของรถยนต์เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ที่จอดรถกลับมีเท่าเดิม ทำให้เราพบเห็นภาพของการจอดรถริมทางเท้า ตรอก ซอก ซอยต่าง ๆ กันชินตา แม้เป็นการจอดชั่วคราวแต่บางครั้งก็สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น อย่างเช่นการจอดรถขวางหน้าบ้านคนอื่นจนกลายเป็นการทะเลาะเบาะแว้งกันขึ้น

ซึ่งมารยาทในการจอดรถนั้นถือว่ามีความสำคัญเทียบเท่ากับการเคารพกฎจราจร หรือการขับรถบนท้องถนนเลยทีเดียว ก่อนที่จะจอดรถไม่ว่าจะที่ไหน ๆ เราควรคำนึงถึงผู้อื่นด้วย หากเราจอดรถในที่ที่ไม่เหมาะสม หรือจอดรถในลักษณะที่ไม่ถูกต้อง อาจจะสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่นหรือสร้างความเสียหายให้กับรถของเราได้

มารยาทการจอดรถที่ควรทำ

1. จอดรถในบริเวณที่กำหนด

โดยปกติทั่วไปบนถนนสายหลัก หรือตามซอยต่าง ๆ จะมีป้ายสัญลักษณ์ที่บ่งบอกไว้อย่างชัดเจนว่าบริเวณไหนสามารถจอดรถได้ โดยอาจเป็นลักษณะไม่ได้มีป้ายห้ามใด ๆ หรือมีป้ายห้ามแต่ก็จะมีกำหนดเวลาที่สามารถจอดได้ไว้ชัดเจน เช่น ห้ามจอดวันคี่ ห้ามจอดวันคู่ ห้ามจอดช่วงเวลา 09.00-16.00 น. หรือห้ามจอดช่วงเวลา 16.00-21.00 น. นอกจากนี้หากเป็นการจอดริมทางเท้าควรจอดบริเวณที่ไม่มีป้ายห้ามจอด ไม่ใช่ทางม้าลาย หรือป้ายรถเมล์ และที่สำคัญการจอดรถริมทางเท้าควรจอดให้ชิดขอบทางเพื่อลดการกีดขวางการจราจรให้มากที่สุด

2. จอดขวางต้องเข้าเกียร์ N

หากจำเป็นต้องจอดรถขวางรถคันอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นลานจอดรถทั่วไป หรือในห้าง ไม่ควรดึงเบรกมือหรือเข้าเกียร์ P ควรปลดเบรกมือลงและใส่เกียร์หรือเกียร์ N ทุกครั้ง และควรตั้งล้อรถให้ตรงเพื่อความสะดวกในการเข็นหรือเลื่อน

3. จอดรถให้ตรงเส้นหรือช่องจอด

การจอดรถในห้าง จอดรถเข้าซองลานจอดรถที่มีการตีเส้นแบ่งช่องไว้อย่างชัดเจน ผู้ขับขี่ควรจอดรถให้ขนานกันเส้นที่ตีไว้ทั้งสองฝั่งโดยไม่ชิดฝั่งใดฝั่งหนึ่งมากเกินไป เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับรถคันอื่น ๆ ที่จะมาจอด รวมถึงการเปิดประตูขึ้น-ลงรถอีกด้วย

มารยาทการจอดรถ

4. ทิ้งโน้ตไว้หากต้องจอดขวางรถคันอื่น

หากจำเป็นต้องจอดขวางรถคันอื่น ๆ ด้วยเหตุธุระเร่งด่วนจำเป็น ควรเขียนชื่อ-เบอร์โทรศัพท์วางไว้ที่กระจกหน้าหรือหลังรถ เพื่อกรณีรถคันที่ถูกเราจอดขวางต้องการออกจะได้สามารถโทร. ติดต่อให้เรามาเลื่อนรถได้

มารยาทการจอดรถที่ไม่ควรทำ

1. จอดขวางหน้าบ้านคนอื่น

จอดรถขวางหน้าบ้านคนอื่นผิดกฎหมาย ใครที่มีรถหรือขับรถไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง แม้จะบอกว่าจอดไม่นาน หรือจอดแป๊บเดียวก็ไม่ควร เพราะถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เจ้าของบ้านที่ถูกรถจอดกีดขวางสามารถแจ้งความเพื่อเอาผิดได้ โดยเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 397 วรรคสอง ฐานก่อความเดือดร้อนรำคาญ มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยผู้เสียหายยังสามารถเรียกร้องค่าเสียหายในทางแพ่ง ตามมาตรา 420 และถ้าเป็นที่สาธารณะยังมีโทษทางอาญาตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก เจ้าหน้าที่สามารถออกใบสั่งได้อีกด้วย

2. ไม่จอดรถในที่มีสัญลักษณ์ห้ามจอด

ใครที่ขับรถย่อมรู้จักป้ายจราจรหรือความหมายของป้ายจราจรเป็นอย่างดี เพราะจะได้รับการอบรมเมื่อครั้งทำใบขับขี่มาเรียบร้อยแล้ว รวมถึงพื้นที่ต่าง ๆ ที่ไม่ควรจอดรถ หากผู้ใดฝ่าฝืนจะมีความผิดตามกฎหมาย อาจถูกใส่เครื่องมือล็อกล้อ หรือถูกเคลื่อนย้ายรถได้ โดยพื้นที่ที่ห้ามจอดรถ ได้แก่

  • ห้ามจอดรถบนทางเท้า

  • ห้ามจอดรถบนสะพานหรืออุโมงค์

  • ห้ามจอดรถในทางม้าลาย หรือระยะ 3 เมตร จากทางม้าลาย

  • ห้ามจอดรถในทางร่วมทางแยก หรือในระยะ 10 เมตร จากทางร่วมทางแยก

  • ห้ามจอดรถในเขตที่มีเครื่องหมายจราจร “ห้ามจอดรถ”

  • ห้ามจอดรถในระยะ 3 เมตร จากท่อน้ำดับเพลิง

  • ห้ามจอดรถในระยะ 15 เมตร จากทางรถไฟผ่าน

  • ห้ามจอดรถในระยะ 15 เมตร จากที่ติดตั้งสัญญาณจราจร

  • ห้ามจอดรถซ้อนคันกับรถอื่นที่จอดอยู่ก่อนแล้ว นอกจากทางห้างจะทำช่องพิเศษไว้ให้ และห้ามดึงเบรกมือ

  • ห้ามจอดรถตรงปากทางเข้า-ออกของบ้าน อาคาร ทางเดินรถ หรือในระยะ 5 เมตร จากปากทางเดินรถ

  • ห้ามจอดรถระหว่างเขตปลอดภัยกับขอบทาง หรือในระยะ 10 เมตร นับจากปลายสุดของเขตปลอดภัยทั้งสองข้าง

  • ห้ามจอดรถในที่คับขัน

  • ห้ามจอดรถในระยะ 15 เมตร ก่อนถึงเครื่องหมายหยุดรถประจำทาง และเลยเครื่องหมายไปอีก 3 เมตร

  • ห้ามจอดรถในลักษณะกีดขวางการจราจร ไม่ว่าจะกรณีใดก็ตาม

  • ห้ามจอดรถในระยะ 3 เมตร จากตู้ไปรษณีย์

มารยาทการจอดรถ

3. ไม่ควรจอดรถในพื้นที่พิเศษ

ตามลานจอดรถในห้างหรือปั๊มน้ำมันมักจะมีการทำที่จอดรถพิเศษ หรือที่จอดรถสำหรับคนพิการ คนชรา หรือคนท้อง เพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้บริการ หากเราไม่เข้าข่ายกรณีดังกล่าวไม่ควรนำรถไปจอดในพื้นที่นั้น ๆ ควรให้ผู้ที่มีปัญหาจริง ๆ ได้ใช้งาน แม้จะไม่ได้ผิดกฎหมายแต่เป็นมารยาทที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง แม้จะเป็นการทำธุระชั่วคราวก็ตาม

ทั้งนี้ การจอดรถยนต์ไม่ว่าจะสถานที่ไหนก็ตามแต่ เราควรคำนึงถึงผู้อื่นอยู่เสมอว่าการจอดรถของเราจะสร้างความลำบาก เดือดร้อนในการสัญจรหรือไม่ โดยเฉพาะการจอดรถริมทางเท้า ตามซอยต่าง ๆ ควรสังเกตสัญลักษณ์ป้ายห้ามจอดว่ามีหรือไม่ ขวางหน้าบ้านคนอื่นหรือเปล่า เป็นทางเลี้ยวหรือมุมอับสายตาด้วยไหม ทั้งหมดก็เพื่อความปลอดภัยของรถเราเองและคนที่เดินทางผ่านด้วย

ขอบคุณข้อมูลจาก : krisdika.go.ththeparkingspot.comadvancedetiquette.com 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
มารยาทการจอดรถ จอดแบบไหนปลอดภัย ถูกกฎหมาย อัปเดตล่าสุด 28 เมษายน 2565 เวลา 14:41:30 17,730 อ่าน
TOP