x close

รถตัดหน้ากะทันหัน ทำให้เกิดอุบัติเหตุ ใครเป็นฝ่ายผิด

หากเราขับรถชนรถที่ตัดหน้า หรือปาดหน้าแบบกะทันหันในระยะกระชั้นชิดจนทำให้เกิดอุบัติเหตุ ใครจะเป็นฝ่ายผิด ระหว่างรถคันที่ตัดหน้า รถเรา หรือประมาทร่วม มาหาคำตอบกัน

รถตัดหน้า

ในทุกวันมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นมากมายบนท้องถนน ทั้งที่สร้างความเสียหายเพียงเล็กน้อย และสร้างความเสียหายมากจนถึงขั้นสูญเสียชีวิต ซึ่งสาเหตุหลัก ๆ ของการเกิดอุบัติเหตุนั้น ก็คือไม่เคารพกฎจราจร ขับขี่รถโดยประมาท ใช้ความเร็วเกินกำหนด และขับรถขณะมึนเมา

อย่างไรก็ตาม ปัญหาอย่างหนึ่งที่มักตามมาหลังจากเกิดอุบัติเหตุคือ "ใครเป็นฝ่ายผิด" หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่มีการยอมรับอาจทำให้เกิดการโต้เถียงกัน ซึ่งถ้ารถคันที่เกิดเหตุมีประกัน มีกล้องหน้ารถ หรือบริเวณที่เกิดเหตุมีกล้องวงจรปิด ก็คงจะไม่ยุ่งยากนัก เพราะสามารถพิสูจน์ข้อเท็จจริงได้ ตัวแทนประกันก็จะทำหน้าที่เจรจาไกลเกลี่ยให้ แต่ถ้าไม่มีอะไรเลยด้วยแล้วล่ะก็ อาจต้องเสียเวลาขึ้นโรงขึ้นศาลกันเลยทีเดียว

ทั้งนี้ การเกิดอุบัติเหตุในบางครั้งก็มีความคลุมเครือว่าลักษณะแบบนี้เป็นการกระทำที่ถูกต้องหรือไม่ เช่น หากเราขับรถชนท้ายคันหน้า เราจะต้องเป็นฝ่ายผิดเสมอไปไหม กับอีกกรณีคือหากมีรถตัดหน้า แล้วเราขับชนโดยไม่เบรกหรือหักหลบจะมีความผิดหรือไม่ ไปหาคำตอบกัน

รถตัดหน้ากะทันหัน แล้วเราขับชน ใครผิด ?

จากกรณีที่โลกโซเชียลมีการโพสต์คลิปนาทีกระบะตัดหน้า ยอมชนไม่ยอมหลบ จนคู่กรณีรถพลิก ทำแบบนี้ถูกแล้วหรือไม่ ! จนกลายเป็นที่สนใจเป็นอย่างมาก หลายคนต่างแสดงความคิดเห็นชื่นชมผู้ขับขี่เจ้าของคลิปว่ามีสติดีมากที่สามารถควบคุมรถได้ แต่ก็เกิดคำถามตามมาว่า หากเกิดกรณีที่มีรถตัดหน้า ปาดหน้ากะทันหัน แล้วเราขับรถชนใครเป็นคนผิด ?

เกี่ยวกับเรื่องนี้ต้องบอกว่า หากขณะที่เรากำลังขับขี่รถยนต์หรือมอเตอร์ไซค์อยู่ในช่องทางปกติ แล้วถูกรถคันอื่นตัดหน้าหรือปาดหน้าในระยะกระชั้นชิด โดยให้หรือไม่ให้สัญญาณไฟแล้วเกิดการชนขึ้น ไม่ว่าจะด้านข้างหรือด้านท้าย เราจะไม่มีความผิด เนื่องจากรถคันที่ตัดหน้าหรือปาดหน้านั้นเปลี่ยนเลนในระยะไม่ปลอดภัย ซึ่งจะเข้าข่ายความผิดขับรถโดยประมาท หวาดเสียว อาจเกิดอันตรายกับบุคคลหรือทรัพย์สิน ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 ที่ห้ามมิให้ผู้ขับขี่ขับรถโดยประมาท หรือน่าหวาดเสียว อันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สิน ในลักษณะที่ผิดปกติวิสัยของการขับรถตามธรรมดา หรือไม่อาจมองเห็นทางด้านหน้า ด้านหลัง หรือทั้งสองด้าน โดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยและความเดือดร้อนของผู้อื่น

เปลี่ยนช่องจราจร ต้องให้สัญญาณไฟ

การเปลี่ยนเลนหรือเปลี่ยนช่องจราจรในระยะกระชั้นชิด โดยไม่ให้สัญญาไฟ ย่อมมีความผิดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตามมาตรา 36  ผู้ขับขี่ซึ่งจะเลี้ยวรถ ให้รถคันอื่นผ่านหรือแซงขึ้นหน้า เปลี่ยนช่องเดินรถ ลดความเร็วของรถ จอดรถ หรือหยุดรถ ต้องให้สัญญาณด้วยมือและแขนตามมาตรา 37 หรือไฟสัญญาณตามมาตรา 38 หรือสัญญาณอย่างอื่นตามข้อบังคับของหัวหน้าเจ้าพนักงานจราจร 

รถตัดหน้า

หากการให้สัญญาณด้วยมือและแขนตามวรรคหนึ่งไม่อาจทำให้ผู้ขับขี่ซึ่งขับรถสวนมาหรือตามมาข้างหลังมองเห็นได้ ผู้ขับขี่ต้องให้ไฟสัญญาณ ก่อนที่จะเลี้ยวรถ เปลี่ยนช่องเดินรถ จอดรถ หรือหยุดรถเป็นระยะทางไม่น้อยกว่าสามสิบเมตร

ขับรถชนท้าย ต้องเป็นฝ่ายผิดเสมอไปไหม ?

นอกจากนี้ ยังมีการเกิดอุบัติเหตุอื่น ๆ ที่คลุมเครือว่าใครเป็นฝ่ายผิดหรือถูก เช่น การขับรถชนท้าย ที่ส่วนใหญ่ผู้ขับชนจะเป็นฝ่ายผิดเพราะไม่เว้นระยะห่างจากรถคันหน้า ตามมาตรา 40  ผู้ขับขี่ต้องขับรถให้ห่างรถคันหน้าพอสมควรในระยะที่จะหยุดรถได้โดยปลอดภัยเมื่อจำเป็นต้องหยุดรถ 

แต่บางครั้งผู้ที่ขับรถชนท้ายก็เป็นฝ่ายถูกได้เช่นกัน หากเว้นระยะห่างเพียงพอ แต่รถคันหน้าเบรกหรือหยุดรถกะทันหันจากสาเหตุใดก็ตาม ซึ่งต้องดูปัจจัยอื่น ๆ ร่วม ที่พิสูจน์ได้ว่าสาเหตุของอุบัติเหตุเกิดจากรถคันหน้า

ทั้งนี้ การขับขี่รถยนต์ หรือมอเตอร์ไซค์ เราควรขับขี่ด้วยความระมัดวัง ไม่ประมาท เคารพกฎหมายจราจร และใช้ความเร็วตามกำหนด เพียงเท่านี้ก็ช่วยลดอุบัติเหตุ ลดความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นกับชีวิตและทรัพย์สินของเราหรือผู้อื่นได้

ขอบคุณข้อมูลจาก : krisdika.go.th

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รถตัดหน้ากะทันหัน ทำให้เกิดอุบัติเหตุ ใครเป็นฝ่ายผิด อัปเดตล่าสุด 20 มกราคม 2565 เวลา 17:20:33 70,337 อ่าน
TOP