x close

ปัญหารถมอเตอร์ไซค์ ที่ผู้ขับขี่ควรรู้ พร้อมวิธีสังเกตอาการเบื้องต้น

รวมปัญหายอดฮิตเกี่ยวกับรถมอเตอร์ไซค์ สิ่งผิดปกติ และอาการต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น บ่งบอกว่ามอเตอร์ไซค์ใกล้พัง พร้อมวิธีตรวจเช็กและแก้ปัญหาในเบื้องต้น

ปัญหารถมอเตอร์ไซค์

รถมอเตอร์ไซค์ ยานพาหนะสองล้อที่คล่องแคล่ว ปราดเปรียวเหมาะกับสภาพการจราจรในถนนบ้านเรา แม้รถจะเยอะหรือติดก็ไม่เป็นปัญหาสำหรับรถมอเตอร์ไซค์ เพราะสามารถลัดเลาะไปได้อย่างสบาย

ปัจจุบันตลาดรถมอเตอร์ไซค์ยังคงคึกคักอย่างมาก โดยสังเกตได้จากการที่ผู้ผลิตรถมอเตอร์ไซค์ค่ายต่าง ๆ ยังส่งรถรุ่นใหม่ ๆ ออกมาแย่งฐานลูกค้ากันอย่างดุเดือด ทั้งมอเตอร์ไซค์แบบมีเกียร์ มอเตอร์ไซค์ออโตเมติก และมอเตอร์ไซค์บิ๊กไบค์ที่มีรูปลักษณ์ ดีไซน์ และเทคโนโลยีทันสมัยมากขึ้น

ขณะเดียวกันการบำรุงดูแลรักษารถมอเตอร์ไซค์จึงเป็นสิ่งที่ควรทำเหมือนกับรถยนต์ เช่น การถ่ายน้ำมันเครื่อง ตรวจเช็กแบตเตอรี่ และอื่น ๆ เพื่อยืดอายุการใช้งาน และเพื่อความปลอดภัยในทุกครั้งที่ขับขี่ แต่ไม่ว่าจะดูแลดีแค่ไหนก็อาจเกิดปัญหาที่ไม่คาดคิดได้เช่นกัน ซึ่งปัญหาเหล่านี้ส่วนใหญ่มาจากการดูแลรักษาไม่ดี หรือคุณภาพชิ้นส่วน อะไหล่ต่าง ๆ ของตัวรถเอง

วันนี้เราจึงได้รวบรวมปัญหาเกี่ยวกับรถมอเตอร์ไซค์ที่และเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าพาหนะคู่ใจของเรากำลังจะพังแล้วมาให้ดูกัน พร้อมวิธีตรวจเช็กและแก้ไขด้วยตัวเองในเบื้องต้น

ปัญหาเกี่ยวกับรถมอเตอร์ไซค์ ที่ผู้ขับขี่ควรรู้

1. ปัญหาของยาง

ปัญหาลำดับแรกที่ชาวสองล้อต้องเจอและสังเกตอาการได้ง่ายที่สุดก็คือ ยางมอเตอร์ไซค์ เพราะเป็นชิ้นส่วนที่มีอายุการใช้งาน มีกำหนดระยะเวลาที่เสื่อมคุณภาพ และถึงแม้จะยังใช้งานได้ไม่ครบตามอายุหรือระยะทางแต่ก็อาจเกิดเหตุไม่คาดฝัน เช่น ยางรั่ว ยางแตก ได้เหมือนกัน

วิธีสังเกตในเบื้องต้น

ควรตรวจเช็กยางมอเตอร์ไซค์ทั้งล้อหน้า ล้อหลังเป็นประจำทุกครั้งก่อนใช้งาน ควรเติมลมยางให้พอดี ไม่อ่อน-แข็งจนเกินไป หากพบรอยแตกลายงาหรือดอกยากเริ่มสึกจนเริ่มมองเห็นสะพานยาง ควรรีบดำเนินการเปลี่ยนยางเส้นใหม่ในทันที 

ปัญหารถมอเตอร์ไซค์

2. แบตเตอรี่หมด

หลายคนน่าจะต้องเคยประสบพบเจอกับอาการสตาร์ตไม่ติด สาเหตุหลัก ๆ เลยก็คือแบตเตอรี่ที่อาจเสื่อมสภาพหรือมีกำลังไฟอ่อนเมื่อมีการใช้งานผ่านไปสักระยะเวลาหนึ่ง นอกจากนี้ถ้าเราลืมปิดระบบไฟต่าง ๆ ก็อาจทำให้แบตเตอรี่หมดก่อนเวลาอันควรได้

วิธีสังเกตในเบื้องต้น

มอเตอร์ไซค์จะมีอาการสตาร์ตติดยาก เสียงขณะสตาร์ตจะมีการลากยาวกว่าปกติ หรือบางทีอาจไม่ติดเลย หากเริ่มมีอาการดังกล่าวควรรีบนำรถเข้าตรวจเช็ก และทำการเปลี่ยนแบตเตอรี่ใหม่ในทันที

3. ปัญหาจากหัวเทียนเสื่อมคุณภาพ

หัวเทียนบอด หลายคนน่าจะเคยได้ยินคำนี้อย่างแน่นอน ซึ่งนั่นเป็นสาเหตุหนึ่งของการสตาร์ตติดยาก หรือสตาร์ตไม่ติด นอกจากนี้ยังส่งผลไปถึงการขับขี่ เช่น เครื่องยนต์สะดุด อัตตราเร่งทำได้ไม่ดี และสิ้นเปลืองพลังงานมากขึ้น

วิธีสังเกตในเบื้องต้น

หากเริ่มมีอาการสตาร์ตติดยาก หรือสตาร์ตไม่ติด ถ้าตวรจเช็กแบตเตอรี่แล้วเป็นปกติ ให้สงสัยหัวเทียนเป็นลำดับต่อมาได้เลย และยิ่งถ้ามีอาการ เครื่องสะดุด เร่งไม่ขึ้น กินน้ำมันมาก มีโอกาสสูงที่จะเกิดจากหัวเทียน ควรนำรถเข้าตรวจเช็กในทันที

4. ปัญหาโช้คอัพหมดอายุ

ระบบกันสะเทือนหรือโช้คอัพ มีหน้าที่สำคัญในการรองรับการกระแทก เพิ่มความนุ่มนวลและการทรงตัวที่ดีขณะขับขี่ ส่วนใหญ่โช้คอัพจะมีอายุการใช้งานที่ไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับเส้นทางที่ใช้และสไตล์การขับขี่ของแต่ละคน หากฝืนใช้โช้คอัพที่มีปัญหาอาจเกิดอันตรายขณะขับขี่ได้

วิธีสังเกตในเบื้องต้น

ขณะขับขี่หากเกิดการกระเด้ง หรือสะเทือนมากกว่าปกติ ทรงตัวได้ยากเมื่อต้องขับผ่านถนนที่เป็นเนิน ให้ตรวจสอบโช้คอัพว่ามีอาการรั่วหรือไม่ โดยดูจากคราบน้ำมันที่แกนโช๊ค พร้อมสำรวจรอยแตกหรือร้าว หากพบควรรีบดำเนินการเปลี่ยนใหม่ทันที

ปัญหารถมอเตอร์ไซค์

5. ปัญหาโซ่และสเตอร์หย่อนหรือสึก

โซ่ และสเตอร์เป็นชิ้นส่วนที่อยู่ในรถมอเตอร์ไซค์ชนิดมีเกียร์ทุกรุ่น โดยจะทำหน้าที่รับกำลังจากเครื่องยนต์ทำให้รถขับเคลื่อนไปได้ เมื่อใช้งานไปสักระยะโซ่จะเริ่มหย่อน ฟันสเตอร์จะเริ่มสึก การขับขี่จะไม่นุ่มนวลเหมือนเดิม เกิดเสียงรบกวนจะได้ยินชัดเจนในรถที่มีฝาครอบโซ่หรือที่เรียกกันว่าบังโซ่

วิธีสังเกตในเบื้องต้น

หากเอามือกดที่โซ่แล้วสามารถกดลงได้มากหรืออกแรงเพียงนิดหน่อยก็สามารถกดโซ่ลงได้ นั่นคืออาการของโซ่หย่อน เบื้องต้นให้ดำเนินการลองปรับตั้งโซ่และหยอดน้ำมันดูก่อน หากใช้งานแล้วยังไม่ดีขึ้นควรเปลี่ยนทันที ส่วนสเตอร์ให้สังเกตที่ฟันว่ามีรอยร้าว แตก หัก หรือสึกมากเกินไปหรือไม่ หากพบอาการอย่างใดอย่างหนึ่งให้รีบเปลี่ยนทันที

6. สายพานหย่อน แตกลายงา

สายพานทำหน้าที่คล้ายกับโซ่และสเตอร์ โดยจะอยู่ในรถมอเตอร์ไซค์ประเภทเกียร์ออโตเมติก ส่วนใหญ่จะมีอายุการใช้งานที่ 15,000-25,000 กิโลเมตร ถึงจะทำการเปลี่ยนเส้นใหม่ หรือบางคนอาจเปลี่ยนช้าหรือเร็วกว่านี้ก็ ขึ้นอยู่กับลักษณะของการขับขี่และการใช้งานของแต่ละคนด้วย

วิธีสังเกตในเบื้องต้น

ถ้าสายพานเริ่มเสื่อมประสิทธิภาพ จะส่งผลต่อการขับขี่ที่รับรู้ได้ คือจะมีอาการสั่นขณะออกตัว เกิดเสียงดังที่บริเวณสายพาน ควรเปิดฝาครอบเครื่องแล้วตรวจเช็กว่ามีรอยแตกลายงาหรือไม่ หากพบควรเปลี่ยนทันที หากเสี่ยงใช้สายพานอาจขาดขณะขับขี่ได้

ปัญหารถมอเตอร์ไซค์

7. ปัญหาระบบไฟช๊อตหรือสายไฟขาด

นอกจากไฟหน้า, ไฟท้าย และไฟเลี้ยวแล้วระบบไฟในที่นี้ยังรวมถึงส่วนอื่น ๆ ของตัวรถ เช่น ระบบไฟบอกสถานะเกียร์ หรือระบบไฟแจ้งเตือนต่าง ๆ แม้จะมีอายุการใช้งานที่ค่อนข้างนานเพราะหลอดไฟในจุดนี้ไม่ค่อยขาดง่าย แต่ถ้าเกิดเหตุไม่คาดคิด เช่น หนูกัดสายไฟ มีมดเข้าไปทำรัง ก็อาจทำให้ระบบไฟไม่ติดหรือรวนได้เช่นกัน

วิธีสังเกตในเบื้องต้น

หมั่นตรวจสอบไฟหน้า ไฟท้าย ไฟเลี้ยว ไฟบอกสถานะเกียร์  หรือระบบไฟแจ้งเตือนต่าง ๆ เป็นประจำอยู่เสมอ หากไฟไม่ติดในบางจุดแต่ยังสามารถใช้รถได้ปกติอาจเป็นไปได้ว่าแค่หลอดขาดเท่านั้น แต่ถ้าไฟไม่ติด กระพริบ หรือรถสตาร์ตทั้งที่เพิ่งเปลี่ยนแบตเตอรี่ และน้ำมันก็เต็มถัง ให้สันนิษฐานได้ว่าอาจจะโดนหนูกัดสายไฟเข้าให้แล้ว

อย่างไรก็ตามนี่เป็นเพียงอาการที่มักพบได้บ่อยในรถมอเตอร์ไซค์ ไม่ว่าจะเป็น รถมอเตอร์ไซค์แบบมีเกียร์ รถมอเตอร์ไซค์ออโตเมติก หรือรถมอเตอร์ไซค์บิ๊กไบค์ แต่ก็อาจมีลักษณะอาการที่แตกต่างกันออกไปเล็กน้อยขึ้นอยู่กับรถแต่ละรุ่น เราจึงควรตรวจสอบ และบำรุงรักษารถมอเตอร์ไซค์อย่างสม่ำเสมอตามคู่มือเพื่อยืดอายุการใช้งาน และความปลอดภัยในการขับขี่

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ปัญหารถมอเตอร์ไซค์ ที่ผู้ขับขี่ควรรู้ พร้อมวิธีสังเกตอาการเบื้องต้น อัปเดตล่าสุด 28 ตุลาคม 2564 เวลา 17:56:49 31,272 อ่าน
TOP