x close

ไฟฉุกเฉินหรือไฟผ่าหมาก ควรเปิดตอนไหน ใช้อย่างไรไม่ผิดกฎหมาย

ข้อเท็จจริงเรื่องวิธีใช้ไฟฉุกเฉิน หรือไฟผ่าหมากที่ถูกต้อง หลักการใช้งานสัญญาณไฟฉุกเฉินควรเปิดตอนไหน กฎหมายจราจรระบุไว้ว่าอย่างไร ลองมาทำความเข้าใจกัน

เชื่อว่าผู้ใช้รถใช้ถนนทุกคน ทั้งที่เป็นผู้ขับขี่และผู้สัญจรเดินเท้าคงรู้จักสิ่งที่เรียกว่าไฟฉุกเฉิน หรือเคยเห็น รถยนต์ ที่เปิดใช้สัญญาณไฟฉุกเฉินบนท้องถนนในสถานการณ์ต่าง ๆ แต่รู้หรือไม่ว่าความจริงแล้วเจ้าไฟฉุกเฉิน มีหลักการใช้งานให้ถูกต้องที่ควรจะต้องศึกษาให้แน่ชัด เนื่องจากการเปิดไฟให้สัญญาณแบบผิด ๆ อาจจะก่อให้เกิดอุบัติเหตุถึงขั้นเสียหายร้ายแรงได้

สัญญาณไฟฉุกเฉิน (hazard lights) หรือที่หลายคนอาจเรียกว่าไฟผ่าหมาก เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญที่ถูกติดตั้งอยู่ในรถยนต์ทุกคัน ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว สวิตช์สัญญาณจะเป็นปุ่มสีแดงหรือสีดำ และมีสัญลักษณ์รูปสามเหลี่ยมอยู่บนปุ่ม มักจะติดตั้งอยู่บริเวณใกล้กับจอเครื่องเสียงหรือช่องแอร์ เมื่อต้องการใช้งานแค่เพียงกดไปที่ปุ่มนี้ก็จะเกิดไฟกะพริบขึ้นทั้งสี่มุม (ไฟเลี้ยว) ที่รถของเรา สัญญาณไฟฉุกเฉินนอกจากจะอยู่ในรถยนต์แล้ว ปัจจุบันอาจพบเห็นไฟฉุกเฉินในรถมอเตอร์ไซค์บิ๊กไบค์ได้เช่นกัน

ไฟฉุกเฉิน

ไฟฉุกเฉิน ไฟกะพริบ หลักการใช้งานที่ถูกต้อง

การใช้สัญญาณไฟฉุกเฉินหรือไฟผ่าหมากอย่างถูกต้องเหมาะสมนั้นแม้ตัวกฎหมายจะไม่ได้ระบุแบบเจาะจง แต่ก็อธิบายให้เราเข้าใจได้ว่าควรใช้ไฟฉุกเฉินเมื่อรถเสียหรือประสบเหตุที่ทำให้ไม่สามารถเคลื่อนย้ายรถได้ จึงต้องใช้สัญญาณไฟฉุกเฉินเพื่อเตือนผู้ร่วมทางคนอื่น ๆ ให้ระมัดระวัง 

นอกจากนี้ยังสามารถใช้ไฟฉุกเฉินในกรณีที่เจอสิ่งกีดขวางหรือเกิดอุบัติเหตุเพื่อเตือนรถที่ขับตามหลัง ซึ่งในรถยนต์รุ่นใหม่ ๆ ระบบไฟฉุกเฉินจะติดอัตโนมัติเมื่อเหยียบเบรกอย่างกะทันหัน และอีกกรณีที่ใช้ไฟฉุกเฉินได้เช่นกันก็คือหากต้องจอดรถบริเวณไหล่ทางเป็นการชั่วคราวไม่ว่าจะด้วยเหตุใดก็ตาม

ไฟฉุกเฉิน

เมื่อไหร่ที่ไม่ควรเปิดใช้ไฟฉุกเฉิน

ทุกวันนี้ตามท้องถนนอาจจะยังมีผู้ขับขี่หลายคนใช้สัญญาณไฟฉุกเฉินกันแบบไม่ถูกต้อง ซึ่งกรณีที่พบเห็นได้มากที่สุดก็คือ เปิดไฟฉุกเฉินเมื่อขับรถผ่านสี่แยกที่ไม่มีสัญญาณไฟจราจร ซึ่งทำให้ผู้ร่วมทางเข้าใจผิด ยกตัวอย่างเช่น รถที่มาทางด้านซ้ายจะเห็นเพียงแค่ไฟเลี้ยวซ้ายของเราเท่านั้น ซึ่งทำให้เข้าใจได้ว่าเราจะเลี้ยวซ้ายนั่นเอง ฉะนั้นการขับรถผ่านทางสี่แยกที่ถูกต้อง หากต้องการตรงไปไม่จำเป็นต้องเปิดไฟเลี้ยวหรือไฟฉุกเฉิน เพียงแค่ชะลอความเร็วลงแล้วสังเกตรถทางซ้าย-ขวาก่อนจะขับต่อ

อีกกรณีหนึ่งก็คือการเปิดไฟฉุกเฉินเมื่อขับรถในช่วงที่ทัศนวิสัยไม่ดี ฝนตกหนักหรือมีหมอกลง ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพราะอาจทำให้ผู้ใช้รถคนอื่น ๆ เข้าใจผิดได้ 

ไฟฉุกเฉิน

การที่ฝนตกหนักแล้วเปิดไฟฉุกเฉินเพื่อหวังให้ผู้ร่วมทางมองเห็น อาจจะกลายเป็นทำให้ผู้อื่นเข้าใจว่ารถของเรากำลังจอดเสียอยู่ หรือในจังหวะที่ต้องการเปลี่ยนเลนก็จะไม่ทราบได้ว่าเราจะเปลี่ยนไปเลนไหน เพราะเมื่อเปิดไฟฉุกเฉินไฟเลี้ยวก็จะไม่ทำงาน ดังนั้น วิธีที่ถูกต้องไม่ใช่การเปิดไฟฉุกเฉิน แต่ให้เปิดไฟหรี่, ไฟต่ำ และไฟตัดหมอก ก็เพียงพอแล้ว

กฎหมายจราจรเรื่องการใช้ไฟฉุกเฉิน

สำหรับประเทศไทยนั้นไม่ได้มีกฎหมายว่าด้วยเรื่องการใช้สัญญาณไฟฉุกเฉินโดยตรง ทว่ามีตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งระบุไว้ในกฎกระทรวงกำหนดส่วนควบและเครื่องอุปกรณ์สำหรับรถ พ.ศ. 2551 ข้อ 3 (28) ที่กำหนดให้รถแต่ละประเภทต้องมีอุปกรณ์ แสงสัญญาณเตือนอันตราย มีระบบควบคุมที่แยกจากโคมไฟเลี้ยว และเมื่อให้สัญญาณเตือนอันตราย โคมไฟเลี้ยวทุกดวงต้องกะพริบพร้อมกัน

นอกจากนี้ยังมีพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ระบุไว้ในมาตรา 56 ว่า ในกรณีที่เครื่องยนต์หรือเครื่องอุปกรณ์ของรถขัดข้องจนต้องจอดรถในทางเดินรถ ผู้ขับขี่ต้องนำรถให้พ้นทางเดินรถโดยเร็วที่สุด ในกรณีตามวรรคหนึ่ง ถ้าจำเป็นต้องจอดรถอยู่ในทางเดินรถ ผู้ขับขี่ต้องจอดรถในลักษณะที่ไม่กีดขวางการจราจร และต้องแสดงเครื่องหมายหรือสัญญาณตามลักษณะและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

แน่นอนว่าการใช้สัญญาณไฟฉุกเฉิน รวมถึงสัญญาณไฟและสัญญาณเสียงประเภทอื่น ย่อมจะเพิ่มความปลอดภัยให้กับทั้งผู้ขับขี่และผู้ร่วมทางบนท้องถนน ดังนั้น การศึกษาและทบทวนให้เข้าใจถึงหลักการใช้งานอย่างถูกต้องจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง

ขอบคุณข้อมูลจาก drivingtests.co.nzพรบ จราจรกฎกระทรวง

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ไฟฉุกเฉินหรือไฟผ่าหมาก ควรเปิดตอนไหน ใช้อย่างไรไม่ผิดกฎหมาย อัปเดตล่าสุด 3 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 23:42:30 51,200 อ่าน
TOP