รู้จักกับ ใบขับขี่ตลอดชีพ ใบอนุญาตขับขี่ที่คนขับรถในยุคหลัง ๆ คงไม่มีโอกาสได้มาครองแล้ว ที่มาที่ไปของ ใบขับขี่ตลอดชีพ เป็นอย่างไร จะทำใหม่ได้หรือเปล่า แล้วหากใครทำใบขับขี่ตลอดชีพหาย จะทำใหม่ได้หรือไม่

ช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา เรื่องของ ใบขับขี่ตลอดชีพ กลายเป็นประเด็นร้อนแรงจากการที่ กรมการขนส่งทางบก แจ้งว่ามีแนวคิดที่จะเรียกผู้มีใบอนุญาตขับรถแบบตลอดชีพทั้งหมดมาทดสอบสมรรถภาพใหม่ ซึ่งทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมาก
ล่าสุดแผนของ กรมการขนส่งฯ มีอันต้องระงับถูกพับเก็บไปเรียบร้อย แต่อย่างไรก็ดี เรื่องของใบขับขี่ตลอดชีพ ยังคงน่าสนใจโดยเฉพาะสำหรับผู้สอบใบขับขี่ในรุ่นหลัง ๆ ที่ไม่มีโอกาสได้ใช้แล้ว ลองมาดูกันว่า ใบขับขี่ แบบนี้ มีความเป็นมาอย่างไร และสำหรับผู้ที่ถือใบขับขี่ตลอดชีพอยู่จะมีสิทธิ์หรือต้องปฏิบัติอย่างไรบ้าง
ใบขับขี่ตลอดชีพ คืออะไร

ก่อนอื่นต้องย้อนมาดูข้อมูลกันก่อนว่า ใบขับขี่ (Driving License) หรือ ใบอนุญาตขับขี่ คือ เอกสารสำคัญสำหรับผู้ใช้รถบนท้องถนน อนุญาตให้เราสามารถขับรถยนต์ รถจักรยานยนต์ หรือรถประเภทอื่น ๆ ตามที่ได้รับอนุญาต ถ้าไม่มีใบอนุญาตขับขี่ แล้วกระทำการขับขี่รถจะถือว่าเป็นการกระทำผิดตามกฎหมาย มีโทษทางแพ่งรวมถึงจะเสียสิทธิ์จากการได้รับการคุ้มครองจากประกันภัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับรถด้วย
ส่วนใบขับขี่ตลอดชีพ นั้น เป็นใบอนุญาตที่เคยออกให้กับผู้ขับขี่ในช่วงก่อนหน้านี้ โดยผู้ใช้รถสามารถทำใบขับขี่ตลอดชีพได้ในช่วงก่อนปี พ.ศ. 2546 ซึ่งในเวลานั้นใบขับขี่ ยังคงแบ่งออกเป็น 3 ประเภทคือ
-
ใบขับขี่ชั่วคราว ผู้ใช้รถจะได้เป็นใบแรกเมื่อสอบผ่านเกณฑ์ของกรมการขนส่งทางบก
-
ใบขับขี่ประเภทบุคคล อายุ 1 ปี ได้มาเมื่อนำใบขับขี่ชั่วคราวมาต่ออายุ และเมื่อผ่านไปอีก 1 ปีจะต้องนำมาต่ออายุอีกครั้งหนึ่ง และสามารถเลือกได้ว่าจะต่ออายุแบบ 1 ปีเหมือนเดิมหรือจะขอใบขับขี่แบบตลอดชีพ
-
ใบขับขี่ตลอดชีพ ได้มาจากการนำใบขับขี่จากข้อ 2 มาต่ออายุโดยเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มมากกว่าใบขับขี่ 1 ปีถึง 10 เท่า และใบขับขี่ตลอดชีพนี้จะให้เฉพาะรถยนต์ส่วนบุคคล และรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลเท่านั้น
สรุปก็คือ นับตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา กรมการขนส่งทางบก ก็ได้ยกเลิกการออกใบขับขี่ตลอดชีพไปแล้วนั่นเอง
ใบขับขี่ตลอดชีพ ทําใหม่ได้หรือไม่
คำตอบคือ ไม่ได้ เนื่องจากในปี 2546 ได้มีการประกาศพระราชบัญญัติรถยนต์ (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2546 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 28 กรกฎาคม 2546 ทำให้ไม่มีการออกใบขับขี่ตลอดชีพตั้งแต่นั้นมา แต่เปลี่ยนมากำหนดอายุใบขับขี่เป็นชนิดบุคคล 5 ปีแทน และทุกครั้งที่หมดอายุต้องมาทดสอบสมรรถภาพร่างกายเพื่อต่ออายุใบขับขี่
ดังนั้นใบขับขี่ตลอดชีพจึงเป็นของล้ำค่าที่หาไม่ได้แล้วในยุคปัจจุบัน เพราะกรมการขนส่งทางบกจะไม่ออกใบอนุญาตประเภทนี้ให้กับผู้ใช้รถแล้ว แต่ผู้ที่ถือใบขับขี่ตลอดชีพอยู่ ก็ยังสามารถใช้ได้ใบอนุญาตนั้นได้ต่อไป
ใบขับขี่ตลอดชีพหาย ต้องทําอย่างไร สอบใหม่หรือไม่
หากผู้ที่ถือใบขับขี่ตลอดชีพเกิดทำหายขึ้นมาก็ไม่ต้องกังวลไป เพราะสามารถแจ้งไปที่กรมการขนส่งทางบกเพื่อขอทำใบขับขี่ใหม่ได้เลย โดยกรมการขนส่งจะมีประวัติการถือใบขับขี่ของแต่ละบุคคลอยู่แล้วว่าเป็นประเภทไหน และไม่ต้องทำการทดสอบหรือตรวจสอบคุณสมบัติใหม่แต่อย่างใด สามารถออกใบขับขี่ตลอดชีพใหม่ได้เลย ตัวเอกสารที่ควรเตรียมไปมีดังนี้
-
บัตรประชาชน
-
ใบแจ้งความ
ใบขับขี่ตลอดชีพแบบเก่าต้องเปลี่ยนหรือไม่
ไม่จำเป็น ผู้ใช้รถสามารถใช้ใบขับขี่ตลอดชีพแบบเดิมได้ แต่ในความเป็นจริงแล้วใบขับขี่อาจจะเก่าจนชำรุดฉีกขาดหรือเสียหาย ดังนั้นแนะนำให้ไปขอออกใบขับขี่ตลอดชีพใบใหม่ซึ่งเป็นบัตรแข็งได้ที่กรมการขนส่งฯ หรือศูนย์ราชการทั้งศูนย์ใหญ่และหน่วยย่อย โดยนำใบขับขี่ใบเก่าไปด้วยเพื่อเป็นหลักฐานในการทำใหม่

สำหรับใบขับขี่ ไม่ว่าจะเป็นแบบที่ใช้อยู่ในปัจจุบันหรือใบขับขี่ตลอดชีพ ก็ถือได้ว่าเป็นเอกสารหลักฐานที่มีประโยชน์ในแง่ของสิทธิเป็นอย่างมาก ดังนั้นผู้ใช้รถไม่ควรที่จะละเลยในการทำใบขับขี่ให้ถูกต้อง และควรพกพาใบอนุญาตติดตัวไว้เสมอ โดยเฉพาะผู้ที่ขับรถอยู่เป็นประจำ
ขอบคุณข้อมูลจาก dlt.go.th