x close

กระบะไฟฟ้าและ SUV ไฟฟ้า ก้าวต่อไปของ GM ในตลาดโลกหลังปิดเชฟโรเลตในไทย

เชฟโรเลตในประเทศไทยประกาศยุติการทำตลาดแล้ว แต่ในมุมของบริษัทแม่อย่าง GM หรือ เจนเนอรัล มอเตอร์ส นี่คือการเคลื่อนไหวในอุตสาหกรรมยานยนต์ระดับโลก ที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง

เชฟโรเลต

ข่าวการประกาศยุติการทำตลาดในประเทศไทยของ เชฟโรเลต กลายเป็นกระแสร้อนแรงในวงการรถยนต์ รวมถึงวงการธุรกิจในบ้านเราตลอดช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา ซึ่งเมื่อมองในมุมของตลาดรถยนต์ระดับโลกแล้ว การเคลื่อนไหวก้าวต่อไปของบริษัทแม่อย่าง เจนเนอรัล มอเตอร์ส หรือ GM ยิ่งเป็นสิ่งที่น่าสนใจมาก ๆ 

อย่างไรก็ตาม หากมองภาพรวมในอุตสาหกรรมรถยนต์ในระดับโลก การปิดตัวของเชฟโรเลตในไทยถือเป็นเรื่องเล็กมาก ซึ่งเป็นไปตามที่ GM ได้กำหนดทิศทางของตนเองไว้แล้วตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมา ซึ่งเรื่องนี้มีที่มาที่ไปและไม่ได้เป็นกรณีของการขาดทุนจนต้องเลิกล้มปิดฉาก แต่ดูเหมือนจะไปสิ่งตรงกันข้ามด้วยซ้ำ

เชฟโรเลต

จุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนถ่าย

GM ได้เริ่มแผนการปรับโครงสร้างตั้งแต่ปี 2015 เริ่มจากการหยุดทำตลาดเชฟโรเลตในอินโดนีเซียในปี 2015 ในตลาดยุโรป แบรนด์ Opel และ Vauxhall ที่ GM ถืออยู่ก็ถูกขายให้กับ Peugeot ในปี 2017 พร้อมกับการถอนตัวจากตลาดแอฟริกาใต้ มาจนถึงการขายโรงงานที่อินเดียและไทยให้กับ Great Wall Motors ล่าสุดประกาศหยุดทำตลาดแบรนด์ Holden ในออสเตรเลีย สังเกตว่าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มของรถที่ขับพวงมาลัยขวาที่ทาง GM มองว่ายุคสุดท้ายของรถประเภทนี้มาถึงแล้ว

เชฟโรเลต

การปิดหน่วยงานที่ไม่ทำกำไร ถือเป็นเรื่องปกติในการทำธุรกิจ ประกอบกับการมาของรถไฟฟ้าที่ได้รับความนิยมมากขึ้นจากกระแสการรักษาสิ่งแวดล้อม GM อาจมองว่าหากยังไม่ปรับตัวก็คงประสบชะตากรรมเดียวกับ Kodak หรือ Nokia ก็เป็นได้ เมื่อยุคสมัยของการเปลี่ยนถ่ายเทคโนโลยีมาถึงแล้วยังดันทุรังทำสิ่งเดิม ๆ ที่เคยประสบความสำเร็จ ในขณะที่คู่แข่งก้าวไปกับเทคโนโลยีใหม่แล้ว ดังนั้นการทุ่มเทให้กับรถไฟฟ้าน่าจะเป็นคำตอบที่ไม่เลว

วางรากฐาน สร้างอนาคต.. ใหม่

เชฟโรเลต

GM วางแผนที่จะลงทุน 2.2 พันล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 6.8 หมื่นล้านบาทเพื่อปฏิรูปโรงงานเดิมที่เมือง Detroit-Hamtramck รัฐมิชิแกนให้เป็นโรงงานที่ผลิตรถไฟฟ้าเพียงอย่างเดียวแห่งแรก โดยมุ่งเน้นที่รถกระบะไฟฟ้าและรถ SUV ไฟฟ้าเป็นหลัก แต่เดิมโรงงานนี้เปิดมาแล้ว 35 ปี ผลิตรถยนต์ Cadillac CT6 และ Chevloret Impala มีพนักงานทั้งหมด 900 คน ซึ่งตอนนี้กำลังจะถูกพักงานชั่วคราวเพื่อปรับปรุงโรงงานปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้ และจะมีการจ้างงานเพิ่มอีก 2200 ตำแหน่งหลังจากที่ปรับปรุงเสร็จสิ้นพร้อมดำเนินงาน คาดว่าเป็นช่วงปลายปี 2021

Cruise Origin คือความหวัง

เชฟโรเลต

นอกจากการตั้งเป้าหมายในการผลิตรถไฟฟ้าประเภทกระบะและ SUV แล้ว GM ยังมองไปถึงการให้บริการแบบ ride-sharing ด้วยรถไฟฟ้าอัตโนมัติไร้คนขับอีกด้วย แบรนด์ Cruise เป็นการร่วมมือกันพัฒนาระหว่าง GM และ Honda นำเสนอด้วยแนวคิดที่ว่า จะดีแค่ไหนถ้าคุณไม่ต้องซื้อรถ ไม่ต้องผ่อนรถ ไม่ต้องเช็คสภาพ ไม่ต้องเสียค่าประกัน แต่มีรถใช้ตลอดเวลา โดย Cruise Origin นี้เป็นรถไฟฟ้าแบบชัตเทิลบัสขนาดเล็กไร้คนขับ เปิดตัวไปเมื่อ 21 มกราคม 2020 ที่เมืองซานฟรานซิสโก 

เชฟโรเลต

เชฟโรเลต

รถกระบะไฟฟ้าและรถ SUV ไฟฟ้าจะเริ่มการผลิตหลังที่โรงงานปรับปรุงเสร็จสิ้นเรียบร้อยในช่วงปลายปี 2021 และ Cruise Origin จะเป็นโปรเจ็คท์ต่อไปทันที ดังนั้น เราอาจมองภาพอนาคตได้คร่าว ๆ แล้วว่า ในตลาดรถไฟฟ้า GM ไม่ได้มาเล่น ๆ แน่นอน 

ภาพและข้อมูลจาก : gm.com, getcruise.com, forbes.com, reuters.com

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
กระบะไฟฟ้าและ SUV ไฟฟ้า ก้าวต่อไปของ GM ในตลาดโลกหลังปิดเชฟโรเลตในไทย อัปเดตล่าสุด 14 กรกฎาคม 2564 เวลา 10:45:09 35,994 อ่าน
TOP