6 จุดสังเกตรถน้ำท่วม ดูยังไงไม่ให้โดนหลอก

รถน้ำท่วม ดูยังไงให้รู้ว่ารถคันไหนโดนน้ำท่วมมาก่อน ปัญหานี้มักมาพร้อมกับรถมือสอง เป็นเรื่องที่ต้องระวัง ซึ่งตรวจสอบได้เพียงเบื้องต้น แต่ก็พอมีจุดให้สังเกตได้ แม้ไม่ 100 เปอร์เซ็นต์ก็ตาม

รถน้ำท่วมหรือรถโดนน้ำท่วม ปัญหาสุดเซ็งที่อาจเลี่ยงไม่พ้นและมีแนวโน้มว่าจะเจอบ่อยขึ้น แม้อยู่ในเมืองใหญ่ มากน้อยอยู่กับดวง หลายคนอาจต้องซ่อมแซมหรือถึงขั้นขายรถทิ้ง คืนทุนประกัน (เสียหายจนประกันประเมินแล้วว่าไม่คุ้มที่จะซ่อม มักระบุไว้ว่าเสียหายเกิน 70 เปอร์เซ็นต์ คือท่วมถึงคอนโซลหน้าขึ้นไปถือว่าเสียหายทั้งคัน)

สิ่งที่น่ากังวลตามมาคือผู้ซื้อ "รถมือสอง" ที่ผู้ขายพยายามย้อมแมว โดยไม่ระบุว่ารถโดนน้ำท่วมมา เจตนาปกปิด เพราะกลัวราคาตก ขายยาก เนื่องจากรถที่โดนน้ำท่วมมาอย่างหนัก มักเจอปัญหาตามมามากมาย เรียกว่าซ่อมไม่จบ นี่คือรถที่ต้องหลีกเลี่ยง

แต่จะดูอย่างไรว่า "รถมือสอง" คันไหนโดนน้ำท่วมมา กรณีผู้ขายไม่แสดงความจริงใจ แม้อาจตรวจสอบได้ไม่ 100 เปอร์เซ็นต์ ยิ่งรถที่โดนน้ำท่วมน้อย หรือท่วมไม่นาน จะสังเกตได้ยากมากเข้าไปอีก แต่จำเป็นต้องรู้และดูให้ละเอียดที่สุดในจุดที่ซ่อนได้ยาก ดังนี้

1. กลิ่น

เป็นจุดที่สังเกตได้ง่ายมากที่สุด แต่ผู้ขายแก้ไขได้ยาก ซึ่งรถที่โดนน้ำท่วมมักจะมีกลิ่นอับชื้น รา ยิ่งท่วมนานยิ่งชัดเจน หากพบกลิ่นลักษณะนี้ควรตรวจสอบจุดอื่น ๆ อย่างละเอียดหรือหลีกเลี่ยงหากไม่แน่ใจ

2. คราบน้ำ คราบสนิม

รถที่แช่น้ำนาน ๆ ตามซอกตามมุมจะเกิดคราบตามระดับน้ำที่ถูกท่วม อาจสังเกตได้จากภายในห้องเครื่อง ห้องยางอะไหล่ บานพับประตู ซึ่งเป็นจุดที่สามารถเปิดดูได้ เพราะบางครั้งการจะแกะรถทั้งคันมาดูในแต่ละจุด ในความเป็นจริงแล้วทำได้ยาก แค่แกะแผงประตูยังลำบาก

นอกจากคราบน้ำที่อาจมีเหลือเป็นร่องรอยอารยธรรมแล้ว ตามซอกรางเบาะ หัวนอต ใต้คอนโซล จุดเล็กจุดน้อย พื้นรถด้านใน พยายามเลื่อนหรือเปิดดู ถ้าสะอาดแบบไร้ฝุ่น ยิ่งน่าสงสัย แม้ผู้ขายจะบอกว่ามีการถอดออกมาเพื่อทำความสะอาดตามปกติ พยายามดูให้ละเอียด ถ้าเป็นรถน้ำท่วมมันอาจมีสักจุดที่แสดงตัวได้

3. ใต้พรม

แน่นอนว่าการจะรื้อพรมในรถออกมาดูพื้นตัวถัง คงทำได้ยาก แต่จุดไหนที่สามารถเปิดพรมดูได้ เช่น พรมท้ายรถ ก็ต้องเปิดดูให้ละเอียด

4. น้ำมันเครื่อง น้ำมันเกียร์

ควรไม่มีน้ำเข้าไปปะปน สามารถตรวจเช็กได้จากก้านวัดระดับน้ำมันเครื่อง หรือกระปุกน้ำมัน ถ้าขุ่นข้นเป็นชานมไข่มุก แสดงว่ามีน้ำเข้าไปปะปนไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ถึงต่อให้รถคันดังกล่าวจะไม่โดนน้ำท่วม ก็ไม่น่าเลือกอยู่ดี

5. ใต้ท้องรถ

อีกจุดที่ซ่อมแซมได้ยากหรือเก็บงานไม่หมดสำหรับรถที่โดนน้ำท่วมคือใต้ท้องรถ แต่ก็ตรวจสอบไม่ง่าย คือต้องหมอบดูคราบสนิม หากมากผิดปกติในจุดใดจุดหนึ่งให้ระวังและตรวจสอบจุดอื่นเพิ่มเติม

6. ปลั๊ก จุดต่อระบบไฟต่าง ๆ

เป็นอีกจุดที่อาจไม่ได้ถูกแก้ไข มีโอกาสหลุดรอด หลงเหลือพอให้เราสังเกต หากขั้วต่อมีคราบสนิมซึ่งเป็นจุดที่ไม่ควรมีให้สงสัยไว้ก่อนได้เลย ตามข้อต่อ ข้อเกลียวต่าง ๆ ก็เช่นกัน

คงไม่ได้มีใครอยากซื้อรถมือสองที่โดนน้ำท่วมมาแล้วอย่างไม่สมัครใจ (ยกเว้นผู้ขายประกาศชัดเจน) ซึ่งการตรวจสอบอย่างละเอียดก็ทำได้ไม่ง่ายนัก โดยเฉพาะคนที่ไม่มีความรู้ในการเลือกซื้อ “รถยนต์มือสอง” ยิ่งค่อนข้างน่าห่วง ขนาดที่ว่ารู้แล้วยังพลาดก็มี เพราะเหนือฟ้ายังมีฟ้า หากไม่มั่นใจควรอาศัยผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ขายที่ไว้ใจได้ (ซึ่งยังไงก็ต้องเช็กอยู่ดี)

แต่ถ้าพลาดแล้ว เนื่องจากผู้ขายมีเจตนาปกปิดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสภาพรถยนต์ไม่ตรงตามที่ระบุไว้ (ทุกกรณี ทั้งกรอเลขไมล์ เปลี่ยนแปลงสภาพ ทำสี เปลี่ยนแปลงสภาพรถ รถผิดกฎหมาย รวมถึงน้ำท่วม) สามารถร้องเรียนสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้  โดยผู้เช่าซื้อที่ผ่อนรถกับไฟแนนซ์ สามารถดำเนินการได้ด้วยตัวเอง สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่อีเมล consumer@ocpb.go.th หรือ เว็บไซต์ www.ocpb.go.th

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
6 จุดสังเกตรถน้ำท่วม ดูยังไงไม่ให้โดนหลอก อัปเดตล่าสุด 23 กันยายน 2567 เวลา 13:02:43 44,331 อ่าน
TOP
x close