โตโยต้าเมืองสีเขียว พาคนไทยเปิดประสบการณ์นวัตกรรมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ณ ประเทศญี่ปุ่น

          บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืน จึงได้มุ่งมั่นดำเนินการตามพันธสัญญาด้านสิ่งแวดล้อมของโตโยต้า พ.ศ. 2593 (Toyota Environmental Challenge 2050) ซึ่งเป็นภารกิจที่ท้าทายในระดับโลก โดยในประเทศไทยก็ได้มีกิจกรรมเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่สอดคล้องกับพันธสัญญาดังกล่าวมากมาย ทั้งภายในและภายนอกองค์กรอย่างต่อเนื่อง ภายใต้โครงการ “โตโยต้าเมืองสีเขียว… เพื่อธรรมชาติ เพื่อทุกชีวิต” เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยให้เป็นเมืองสีเขียว ทำให้ชีวิตของชาวเมืองอย่างเรามีคุณภาพที่ดีขึ้นนั่นเองค่ะ
          กิจกรรมลดเมืองร้อน ด้วยมือเรา เป็นหนึ่งในกิจกรรมสำคัญที่ทางบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ร่วมกับมูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ได้พาคณะครู เยาวชน และตัวแทนชุมชน ที่ชนะเลิศการประกวดโครงงาน ในการลดภาวะโลกร้อน ภายใต้กิจกรรม “โตโยต้า ลดเมืองร้อน ด้วยมือเรา” ซึ่งจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 14 ไปทัศนศึกษาเพื่อต่อยอดองค์ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อม ณ ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 9-15 พฤษภาคม 2562 ซึ่งทางกระปุกดอทคอม ก็ได้เป็นตัวแทนสื่อมวลชนในการไปร่วมทัศนศึกษา และนำความรู้พร้อมประสบการณ์ส่วนหนึ่งกลับมาแชร์ต่อให้คนไทยได้นำแนวคิดนี้ไปต่อยอด ช่วยกันคนละไม้คนละมือในการลดโลกร้อนกันต่อไปนะคะ

สถาบันเพื่อสิ่งแวดล้อมของโตโยต้า ณ ประเทศญี่ปุ่น

ทางคณะฯ ทำการทดลองผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำด้วยกังหันน้ำ เพื่อเรียนรู้ในเรื่องพลังงานทดแทน

          การร่วมเดินทางไปศึกษาดูงานในครั้งนี้ ทำให้หลาย ๆ คนหัวใจเต้นแรง ทุกคนตื่นเต้นและให้ความสนใจกับทุกสิ่งเหมือนได้ไปอยู่อีกโลกหนึ่ง โลกที่มีการพัฒนาและเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง ได้เห็นแววตาอันแสนมุ่งมั่นและความตั้งใจในการเรียนรู้ของผู้ร่วมเดินทาง อย่างคณะครู เยาวชน และตัวแทนชุมชน ที่ตั้งใจจะกลับมาพัฒนาประเทศไทยและช่วยลดโลกร้อนไปด้วยกัน
          เริ่มกันที่ Toyota Mega Web สวนสนุกในรูปแบบใหม่ที่เน้นเรื่องของการดู ขับ และสัมผัสรถยนต์ของจริงของ toyota ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2542 ที่ย่านโอไดบะ โตเกียว โดยภายในแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่

          - Toyota City Showcase ส่วนที่ใหญ่ที่สุดของ Toyota Mega Web จัดแสดงรถยนต์โตโยต้ารุ่นล่าสุดหลากหลายรุ่น และรถยนต์ที่ไม่ได้จัดแสดงที่ใดมาก่อน รวมถึงเทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น เทคโนโลยีไฮบริด เทคโนโลยีความปลอดภัย และเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
          - History Garage ส่วนจัดแสดงเกี่ยวกับประวัติศาสตร์รถยนต์ ซึ่งจัดแสดงรถยนต์รุ่นเก่าจากทั่วทุกมุมโลก รวมถึงรถยนต์โตโยต้า
          - Ride Studio คือส่วนสำหรับเด็ก ๆ ที่จะเพลิดเพลินไปกับประสบการณ์การขับขี่ และเรียนรู้เกี่ยวกับกฎจราจร
          ในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน เราเดินทางต่อไปที่ Yokohama City Wind Power Plant (Hama Wing) เป็นโรงงานผลิตไฟฟ้าพลังงานลม เนื่องจากที่นี่ลมแรงมาก

          สำหรับโรงงานผลิตไฟฟ้าพลังงานลมแห่งนี้ ก่อตั้งขึ้นในจังหวัดคานากาว่า เมืองโยโกฮาม่า โดยกระทรวงสิ่งแวดล้อม ด้วยความร่วมมือกับท้องถิ่น และภาคเอกชน รวมถึงบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น โดยมีการดำเนินงานทดลองใน 4 ส่วนหลัก คือ
          1. ระบบการผลิตไฮโดรเจนจากน้ำ ผ่านการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานลม
          2. การกักเก็บ และขนส่งไฮโดรเจน
          3. การใช้รถโฟล์คลิฟต์พลังงานไฮโดรเจน
          4. ความเป็นไปได้ในการสร้างระบบซัพพลายเชนไฮโดรเจน

          โดยวัตถุประสงค์ของโครงการฮามะวิง คือ การศึกษาความเป็นไปได้ ให้มีการส่งเสริมเพื่อนำไฮโดรเจนมาใช้อย่างเป็นรูปธรรมในอนาคต เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และเป็นจุดประชาสัมพันธ์แหล่งพลังงานทดแทนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย


          และแล้วก็ได้เวลาศึกษาธรรมชาติตามวิถีคนรักธรรมชาติอย่างเรา ๆ แล้ว ที่ Saiko Nature Centre ศูนย์ศึกษาธรรมชาติไซโกะ ตั้งอยู่บริเวณฐานของภูเขาไฟฟูจิ เป็นแหล่งเรียนรู้ระบบนิเวศและการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม

 

          สำหรับเช้านี้เริ่มจากการเข้าไปสำรวจถ้ำค้างคาว ซึ่งทุกคนต้องใส่หมวกนิรภัย เพื่อความปลอดภัย เพราะระหว่างที่เดินในถ้ำ หัวอาจชนกับหินงอกหินย้อย และมีช่วงที่ต้องย่อตัวลงต่ำเพื่อลอดช่องเล็ก ๆ ผ่านเข้าไป ซึ่งหัวก็อาจกระแทกกับบางช่วงของผนังถ้ำได้

          นอกจากนี้ ภายในศูนย์ศึกษาธรรมชาติไซโกะ ยังเป็นที่ตั้งของ “พิพิธภัณฑ์คุนิมัตสึ” ที่มีการจัดแสดงนิทรรศการเรื่องราวของปลาเทราต์พันธุ์ท้องถิ่นของประเทศญี่ปุ่น ที่ได้สูญพันธ์ุไปจากทะเลสาบทาซาว่า จังหวัดอาคิตะ เมื่อ 70 ปีที่ผ่านมาแล้ว
 

          ส่วนที่นี่คือ Kawaguchiko Natural Living Centre ศูนย์การใช้ชีวิตธรรมชาติคาวากุจิโกะ เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมมาก ตั้งอยู่ระหว่างภูเขาไฟฟูจิ และทะเลสาบคาวากุจิโกะ มีการจัดแสดงภูเขาจำลอง พร้อมประวัติของภูเขาไฟฟูจิ เพื่อเป็นข้อมูลแก่นักท่องเที่ยว

          ในวันที่อากาศดี ศูนย์แห่งนี้จะเป็นจุดที่สามารถชมวิวภูเขาไฟฟูจิได้อย่างชัดเจน คู่กับทุ่งดอกไม้ตามฤดูกาลที่สวยงาม แต่… บ่ายนี้ท้องฟ้าไม่เป็นใจเท่าไหร่ เพราะมีเมฆมากลอยมาบดบังยอดภูเขาไฟฟูจิเบา ๆ ทั้งนี้ ยังมีผลิตภัณฑ์แปรรูปจากบลูเบอร์รี อันเป็นผลไม้ที่มีชื่อเสียง อาทิ แยม และไอศกรีม ตลอดจนสินค้าในท้องถิ่นอื่น ๆ ให้ได้เลือกซื้อเป็นของฝากมากมาย
 

          มาเรียนรู้วิธีใช้ชีวิตร่วมกับสิ่งแวดล้อมกันต่อที่ Toyota Shirakawa-Go Eco Institute สถาบันแห่งนี้จัดตั้งขึ้นเพื่อให้เป็นโรงเรียนธรรมชาติอันงดงาม ด้วยแนวคิดที่จะดำเนินงานในวิถีทางแบบใหม่และสร้างสรรค์

          ตั้งอยู่ในหมู่บ้านชิราคาวาโกที่งดงามที่สุดในประเทศ ทางตะวันออกเหนือสุดของเขตปกครองจังหวัดกิฟุ (Gifu) เชื่อมต่อกับเขตปกครองจังหวัดโทยามะ (Toyama) หมู่บ้านแห่งนี้เล่าขานกันว่าเคยเป็นถิ่นพำนักของกลุ่มชนชาวไฮคิ (Heiki) ที่อพยพออกจากเกียวโต ซึ่งเป็นเมืองหลวงในขณะนั้น งดงามด้วยบ้านเรือนหลังคามุงหญ้าที่มีความลาดชันในแบบฉบับสถาปัตยกรรมกัชโช (Gassho) โบราณของญี่ปุ่น และเป็นหนึ่งในมรดกโลก 
          เมื่อเดินทางมุ่งหน้าจากดินแดนที่ราบเข้าสู่ฮาคูซานซูเปอร์รินโดะ (Hakusan Super Rindo) ถนนทอดตัวผ่านแนวเทือกเขาน้อย ๆ ลอดเข้าอุโมงค์พอให้ได้ตื่นเต้นตามบรรยากาศริมทาง ก่อนจะเข้าสู่พื้นที่ราบเชิงเขาฮาคูซานอันศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของสถาบันสิ่งแวดล้อมโตโยต้า ชิราคาวาโก ที่นี่มีความเป็นธรรมชาติมาก และเป็นธรรมชาติที่แสนงดงามซะด้วย

          กลางวันได้เดินป่าสำรวจสิ่งแวดล้อม มีเจ้าหน้าที่สุดหล่อคอยให้คำแนะนำและให้ความรู้ ส่วนกลางคืนมีกิจกรรมเดินป่าท้าลมหนาว สัมผัสกับบรรยากาศที่แตกต่างจากเมื่อกลางวันอย่างสิ้นเชิง ใช้เพียงแสงจันทร์ในการนำทาง ทุกอย่างโดยรอบดูเงียบสงบ ได้ยินก็แต่เสียงลม น้ำ และลมหายใจของคนข้าง ๆ  


          ปิดท้ายกันในวันฝนพรำที่ Toyota Ecoful Town สถาบันการเรียนรู้ในการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านสิ่งแวดล้อมในเมือง ที่นี่มีอะไรให้ตื่นตาตื่นใจไม่น้อยไปกว่าที่อื่น แม้วันที่ไปฝนจะตกตลอด แต่ก็ไม่เป็นอุปสรรคสำหรับการเดินสำรวจตามจุดต่าง ๆ

          ทีมวิศวกรของโตโยต้าได้ทำการทดลองวิจัย และจำลองเมืองต้นแบบแห่งอนาคต ที่นำเสนอรูปแบบการใช้ชีวิตอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ระหว่างคน รถยนต์ และที่อยู่อาศัย โดยประยุกต์ใช้พลังงานกับเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้าไว้ด้วยกันอย่างกลมกลืน ภายใต้แนวคิดสังคมคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำ “Low Carbon Society Model District Toyota” ปลูกสร้างจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมรวมถึงการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

          อย่างไรก็ตาม นอกจากจะได้ไปศึกษาเรียนรู้ตามสถานที่ต่าง ๆ แล้ว หนึ่งในภารกิจที่ทางคณะครู เยาวชน และตัวแทนชุมชนผู้ชนะการประกวดต้องทำคือ นำเสนอผลการดำเนินงานแก่ตัวแทนของบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น งานนี้แม้หลายคนจะออกอาการตื่นเต้นหน้าชั้นไปบ้าง แต่ทุกอย่างก็ผ่านไปได้ด้วยดี เพราะรอยยิ้มและกำลังใจจากทุกคนที่พร้อมรับฟังการบรรยาย เพื่อเปิดประสบการณ์ด้านแนวคิด การสร้างสรรค์นวัตกรรม และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม นำโดย คุณวัสสชัย สิทธิบุศย์ ผู้อำนวยการฝ่าย สำนักงานส่งเสริมความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด

คุณวัสสชัย สิทธิบุศย์ ผู้อำนวยการฝ่าย สำนักงานส่งเสริมความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด

รู้จักกับกิจกรรมลดโลกร้อนด้วยมือเรา

          “โตโยต้า ลดเมืองร้อน ด้วยมือเรา” เป็นหนึ่งในกิจกรรมภายใต้โครงการโตโยต้าเมืองสีเขียว ซึ่งดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 ด้วยความร่วมมือกับมูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างจิตสำนึกให้สังคมไทยได้ตระหนักถึงปัญหาด้านภาวะโลกร้อนในปัจจุบัน พร้อมทั้งหาแนวทางแก้ไขและเปิดโอกาสให้โรงเรียน ชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจากทั่วประเทศ จัดทำแผนงานส่งเข้าประกวดเพื่อรณรงค์การลดภาวะโลกร้อนภายในชุมชนของตน ภายใต้แนวทางกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม โดยแบ่งออกเป็น 5 ด้าน ได้แก่

          - การเพิ่มพื้นที่สีเขียว
          - การจัดการขยะอย่างครบวงจรและเหมาะสม
          - การประหยัดพลังงานไฟฟ้าและใช้พลังงานทดแทน
          - การเดินทางอย่างยั่งยืน 
          - การอนุรักษ์น้ำ

          รางวัลที่ 1 : โครงการ Eco ตโปทาราม ตามศาสตร์พระราชา ลดภาวะโลกร้อน โดยโรงเรียนวัดตโปทาราม อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี

         รางวัลที่ 1 : โครงการรักษ์ป่า รักษ์พลังงาน และบริหารจัดการขยะ ที่ชุมชนบ้านสันป่าบง ของชุมชนบ้านสันป่าบง เทศบาลตำบลหงาว อ.เทิง จ.เชียงราย

ทีมผู้ชนะเลิศชาวไทย

          การดำเนินกิจกรรม “โตโยต้า ลดเมืองร้อน ด้วยมือเรา” ปีที่ 14 ที่ผ่านมา ได้ประสบความสำเร็จ และมีผู้ให้ความสนใจส่งผลงานเข้าร่วมการประกวดถึง 80 โครงการ แบ่งเป็นประเภทโรงเรียน 40 โครงการ และประเภทชุมชน 40 โครงการ โดยได้ทำการคัดเลือกจนได้ผู้ชนะในประเภทโรงเรียน และประเภทชุมชน รวมทั้งสิ้น 6 โครงการ ดังนี้
  • ผู้ชนะเลิศประเภทโรงเรียน จำนวน 3 ทีม

ถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รางวัลชนะเลิศอันดับหนึ่ง ได้แก่ โรงเรียนวัดตโปทาราม อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี

          จากการดำเนินกิจกรรม “Eco ตโปทาราม ตามศาสตร์พระราชา ลดภาวะโลกร้อน” โดดเด่นด้านการบูรณาการเรื่องการจัดการขยะและลดภาวะโลกร้อนไปสู่ศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เชื่อมโยงการเสริมทักษะเรื่องอาชีพและหลักสูตรสิ่งแวดล้อมศึกษา

รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง ได้แก่ โรงเรียนบ้านน้ำมิน อ.เชียงคำ จ.พะเยา

          จากการดำเนินกิจกรรม “โครงการน้ำมินร่วมใจลดเมืองร้อนด้วยมือเรา” โดดเด่นด้านการจัดการขยะอย่างครบวงจรโดยการพึ่งพาตนเอง บูรณาการสู่การเรียนการสอน เพื่อสร้างจิตสำนึกเรื่องการอนุรักษ์ป่า สัตว์ป่า และน้ำ

รางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง ได้แก่ โรงเรียนศรีธาตุพิทยาคม อ.ศรีธาตุ จ.อุดรธานี

          จากการดำเนินกิจกรรม “โครงการบริหารจัดการขยะควบคู่กับการพัฒนาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนสู่ห้องเรียนธรรมชาติ บ้าน วัด โรงเรียน” โดดเด่นด้านการบริหารจัดการขยะควบคู่กับการพัฒนาสิ่งแวดล้อมแบบมีส่วนร่วมระหว่างบ้าน วัด โรงเรียน บูรณาการสู่หลักสูตรท้องถิ่นวิถีคนพื้นเมืองอีสาน
  • ผู้ชนะเลิศประเภทชุมชน จำนวน 3 ทีม

ถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รางวัลชนะเลิศอันดับหนึ่ง ได้แก่ ชุมชนบ้านสันป่าบง เทศบาลตำบลหงาว อ.เทิง จ.เชียงราย

          จากการดำเนินกิจกรรม “โครงการรักษ์ป่า รักษ์พลังงาน และบริหารจัดการขยะ ที่ชุมชนบ้านสันป่าบง” โดดเด่นด้านการจัดการพื้นที่สีเขียวเชื่อมโยงกับการจัดการขยะและพลังงาน เพื่อแก้ปัญหาความแห้งแล้งและปากท้องของชุมชน ต่อยอดองค์ความรู้สู่ฐานเรียนรู้และเส้นทางศึกษาธรรมชาติในชุมชน

รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง ได้แก่ ชุมชนบ้านรางพลับ เทศบาลตำบลกรับใหญ่ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี

          จากการดำเนินกิจกรรม “โครงการนวัตวิถีรางพลับ... สู่การลดโลกร้อนอย่างยั่งยืน” โดดเด่นด้านการจัดการขยะที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชุมชนสู่การเป็นชุมชนปลอดขยะอย่างยั่งยืน

รางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง ได้แก่ ชุมชนบ้านศรีจอมแจ้ง เทศบาลตำบลหงส์หิน อ.จุน จ.พะเยา

          จากการดำเนินกิจกรรม “โครงการศรีจอมแจ้ง ต้นแบบชุมชนสีเขียว ร่วมลดเมืองร้อน” โดดเด่นด้านการรักษาป่า ดิน และน้ำ เชื่อมโยงให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อการประกอบอาชีพเกษตรกรรมของคนในชุมชน

กิจกรรมครั้งนี้ดีมาก ๆ เป็นการเปิดโลกทัศน์

ให้กับพวกเรา ที่สำคัญสามารถนำไปต่อยอดกิจกรรมที่ทำในชุมชนให้ดียิ่งขึ้น

... ตัวแทนชุมชนบ้านศรีจอมแจ้ง จ.พะเยา กล่าวด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้ม

          ประสบการณ์ที่ได้จากการมาร่วมกิจกรรมครั้งนี้ ทำให้หลาย ๆ คนนอกจากจะได้เพลิดเพลินตื่นตาตื่นใจแล้ว ยังได้ความรู้กลับมาอย่างมากมายเลยทีเดียว ซึ่งน่าชื่นชมทีมผู้ชนะเลิศและผู้เข้าร่วมโครงการทุกคนที่ช่วยกันคิดและสร้างสรรค์ผลงานที่สามารถช่วยลดภาวะโลกร้อนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมภายในชุมชนได้ ที่สำคัญเลยก็คือ ทางบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ที่จัดกิจกรรมดี ๆ แบบนี้ขึ้นมา ตามพันธสัญญาด้านสิ่งแวดล้อมที่ได้เคยว่าไว้จนสามารถเกิดโครงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมขึ้นมาในบ้านเราเป็นจำนวนมาก และยังพาทีมงานผู้ชนะเลิศมาทัศนศึกษาเพื่อนำความรู้กลับมาพัฒนาเมืองไทยของเราต่อไป

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โตโยต้าเมืองสีเขียว พาคนไทยเปิดประสบการณ์นวัตกรรมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ณ ประเทศญี่ปุ่น อัปเดตล่าสุด 9 ธันวาคม 2564 เวลา 14:01:11 4,486 อ่าน
TOP
x close