x close

5 รถยนต์ไฟฟ้า 2018 ที่จำหน่ายในไทย ราคาเท่าไรและน่าสนใจแค่ไหนบ้าง

5 รถยนต์ไฟฟ้าล้วน (BEV) ที่เปิดตัวแล้วในประเทศไทย มีให้เลือกขับกันสมใจอยาก แต่ราคานั้นบอกเลยว่าไม่ธรรมดา แม้รถยนต์ไฟฟ้าราคาถูกสุดตอนนี้ที่มีจำหน่ายจะเริ่มต้นที่ 6.64 แสนบาท เท่านั้น

ขึ้นชื่อว่าเทคโนโลยีใหม่ คงเป็นไปได้ยากที่จะซื้อหาได้ในราคาต่ำ โดยเฉพาะกับรถยนต์ไฟฟ้าที่คนไทยส่วนใหญ่อยากลอง อยากขับ เพราะหวังประหยัดค่าน้ำเชื้อเพลิง (เรื่องสิ่งแวดล้อมไม่น่าใช่ข้อแรกที่คนใช้งานส่วนใหญ่คำนึงถึงมากนัก) แต่พอเอาเข้าจริง เมื่อมีจำหน่ายก็ต้องถอดใจกันเป็นแถบ ๆ เนื่องจากราคาไม่ได้สวยหรูเหมือนคุณสมบัติ เราเลยรวบรวมรถยนต์ไฟฟ้าล้วนที่เปิดตัวและวางจำหน่ายโดยตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการทั้งหมดมาให้พิจารณากันอีกครั้งว่า พอจะมีรุ่นไหนน่าซื้อหามาใช้กันบ้างแล้วตอนนี้

1. FOMM One ราคา 6.64 แสนบาท

รถยนต์ไฟฟ้าขนาดจิ๋ว จาก FOMM จุดเด่นคือสามารถลอยตัวบนผิวน้ำได้ในกรณีน้ำท่วมและมีราคาถูกที่สุดในไทย (จดทะเบียนได้ถูกต้องตามกฎหมาย) ที่สามารถหาซื้อได้ในตอนนี้

โดย FOMM One เป็นรถไฟฟ้าขนาดกะทัดรัด คล่องตัว เหมาะสำหรับใช้งานในเมือง (Short Range) รองรับผู้โดยสารได้ 4 คน แต่อาจไม่ได้กว้างขวางมากนัก เพราะยาวประมาณ 2.6 เมตร กว้างแค่ 1.3 เมตร อีกทั้งวัสดุไม่น่าประทับใจนัก (ซึ่งคงถูกล็อกไว้ด้วยหลายปัจจัย) แต่ข้อดีคือขับง่าย จอดง่าย ใช้วิ่งในระยะทางไม่ไกลราว 160 กม./ชาร์จ

ทางด้านเทคนิค FOMM One ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าติดตั้งที่ล้อคู่หน้าแบบ In Wheel Motor ให้กำลังสูงสุด 13.4 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 560 นิวตันเมตร (ล้อละ 280 นิวตันเมตร) ความจุแบตเตอรี่ 2.96 kWh จำนวน 4 ชุด เพียงพอต่อการใช้งาน อัตราเร่งทันใจ แค่ความเร็วสูงสุด เท่านั้นที่ทำได้เพียง 80 กม./ชม. แต่ก็เหมาะสมกับรูปแบบของรถ

2. Hyundai IONIQ ราคา 1.749 ล้านบาท

รถยนต์ไฟฟ้าขนาดคอมแพกต์จาก Hyundai ที่ตั้งราคาไว้ได้ค่อนข้างน่าสนใจมากที่สุดตอนนี้ ส่วนรูปแบบตัวถังของ Hyundai IONIQ มาในสไตล์ Liftback 5 ประตู ท้ายลาด คล้าย Toyota Prius ที่เคยมีจำหน่ายในไทยและโฉมล่าสุด (ในต่างประเทศ) เน้นหลักอากาศพลศาสตร์เพื่อให้ต้านลมน้อยที่สุดด้วยขนาดมิติตัวถัง ยาว 4,470 มม. กว้าง 1,820 มม. สูง 1,450 มม. ฐานล้อยาว 2,700 มม.

ส่วนวัสดุและการตกแต่งทำได้ค่อนข้างดี มาในสไตล์เอาใจยุโรป ขณะที่ความสะดวกสบายรวมถึงความอเนกประสงค์มีให้ครบถ้วนเท่าที่รถขนาดคอมแพกต์จะอำนวย เบาะหลังพับแยกได้ 60:40 เพิ่มปริมาตรความจุจาก 455 ลิตร ได้สูงสุดถึง 1,410 ลิตร

Hyundai IONIQ ใช้มอเตอร์ซิงโครนัสชนิดแม่เหล็กถาวร (Permanent Magnet Synchronous Motor หรือ PMSM) ร่วมกับแบตเตอรี่ Li-Ion ขนาดความจุ 28 kWh ให้กำลังสูงสุด 120 แรงม้า และแรงบิดสูงสุด 295 นิวตันเมตร ความเร็วสูงสุด 165 กม./ชม. ขณะที่อัตราเร่งจาก 0-100 กม./ชม. ทำได้ต่ำสุด 9.9 วินาที วิ่งได้ระยะทางไกลสูงสุด 280 กม./ชาร์จ (มาตรฐานการทดสอบ NEDC ของยุโรป)

3. BYD e6 ราคา 1.89 ล้านบาท

BYD e6 รถยนต์ไฟฟ้าจากจีน มาในสไตล์ครอสโอเวอร์ เอ็มพีวี ขนาดคอมแพกต์ เน้นความอเนกประสงค์ เรียบง่าย ดีไซน์ไม่หวือหวาสะดุดตามากนัก แต่ก็รองรับผู้โดยสารได้ 5 ที่นั่ง เท่านั้น

ส่วนภายในถือว่าออกแบบได้ดี แต่ไม่ถึงกับจัดจ้านหรือโดดเด่นเป็นพิเศษ กว้างขวางโปร่งตาพอสมควร ขณะที่วัสดุในความเห็นของเรานั้นพอรับได้ แต่ยังเป็นรองคู่แข่ง ไม่เนียนเท่ากับทางฝั่งญี่ปุ่นและเกาหลีที่ให้ผิวสัมผัสน่าประทับใจกว่า

ทั้งนี้ข้อเด่นของ BYD e6 คือระยะทางวิ่งประมาณ 350 กม./ชาร์จ (ตามสเปกการทดสอบของ BYD) ด้วยแบตเตอรี่ (ลิเธียม-ไออน ฟอสเฟต) ความจุ 80 kWh มากที่สุดในไทย (ซึ่งก็ชาร์จไฟนานหน่อยราว 11-12 ชม. กรณีเป็นเครื่องชาร์จติดตั้งในบ้าน แบบ 7kW ไฟ 1 Phase  220V ของ BYD ราคา 49,900 บาท)  มอเตอร์ไฟฟ้า AC Synchronous ให้กำลังสูงสุด 134 แรงม้า และแรงบิดสูงสุด 450 นิวตันเมตร สามารถทำความเร็วสูงสุดได้ 149 กม./ชม.

4. Nissan Leaf ราคา 1.999 ล้านบาท

Nissan Leaf รถยนต์ไฟฟ้าเบอร์ใหญ่สุดในไทย มาพร้อมตำแหน่งรถยนต์ไฟฟ้ายอดขายสูงสุดที่สุดในโลก แต่จะขายดีแค่ไหนในไทยนั้นพูดยากกับราคาค่าตัว เฉียด 2 ล้านบาท กับรถยนต์ขนาดคอมแพกต์ ทรง Hatchback 5 ประตู ส่วนดีไซน์ไม่แปลกเท่าโฉมแรก ซึ่งใช้ภาษาการออกแบบล่าสุดของ Nissan

ภายในห้องโดยสารคันที่นำมาโชว์ในงานล่าสุด Motor Expo 2018 วัสดุดีพอสมควร (ไม่ถึงกับเลิศเลอ) ส่วนดีไซน์ก็ไม่ได้ต่างจากรถใช้งานทั่วไปและดูอวกาศน้อยกว่า Nissan Leaf ตัวแรก อันนี้ก็แล้วแต่ความชอบ (ความเห็นเราชอบโฉมแรก ซึ่งไม่มีขายในไทยเพราะแปลกตากว่ารถทั่วไป ลูกเล่นน่ารักดี)

ส่วนขุมพลัง Nissan Leaf ใช้มอเตอร์ไฟฟ้า Permanent Magnet AC Motor (PMAC) รหัส EM57 ที่ยกมาจากโฉมก่อนแล้วปรับปรุงใหม่ ให้กำลังสูงสุดเป็น 147 แรงม้า และแรงบิดสูงสุด 320 นิวตันเมตร แบตเตอรี่เป็นแบบ Li-ion ขนาดความจุ 40 kWh ใช้ระยะเวลาชาร์จไฟจนเต็ม นาน 16 ชม. (หากต่ออะแดปเตอร์ไฟฟ้าที่บ้าน กำลังไฟ 3 kW และถ้าเป็นการชาร์จไฟปกติหรือ Normal Charging กำลังไฟ 6 kW จะใช้เวลาประมาณ 8 ชม.) วิ่งได้ระยะทางไกลสุด 311 กม. (มาตรฐาน NEDC) อัตราเร่งจาก 0-100 กม./ชม. ภายใน 7.9 วินาที

5. Kia Soul EV ราคา 2.297 ล้านบาท

Kia Soul EV เปิดตัวในไทยก่อนใคร ด้วยราคาแพงจัดกว่าคู่แข่ง ซึ่งเป็นรถสไตล์ครอสโอเวอร์ทรง 2 กล่อง 5 ที่นั่ง ที่คนไทยคุ้นหน้าแต่อาจไม่คุ้นตาเท่าไรนัก เพราะ Kia Soul รุ่นปกติมีวิ่งกันน้อยมาก จึงไม่น่าแปลกใจถ้า Kia Soul EV จะยิ่งแรร์ไปอีกระดับ

ส่วนทางด้านภายในห้องโดยสารไม่ต่างจาก Kia Soul ปกติ แต่ตกแต่งด้วยสีโทนอ่อน สว่างตา อย่างสีขาว เทาและฟ้า ดูสดใสผ่อนคลายกว่าโทนสีเข้มเพื่อสื่อสารความเป็นสปอร์ตแบบ Kia Soul รุ่นเครื่องยนต์สันดาป

ทางด้านขุมพลังของ Kia Soul EV ใช้มอเตอร์ไฟฟ้า Permanent Magnet AC Motor (PMAC) ที่ให้กำลังสูงสุด 110 แรงม้า และแรงบิดสูงสุด 285 นิวตันเมตร แบตเตอรี่เป็นแบบ Li-ion ขนาดความจุ 30 kWh ระยะเวลาการชาร์จไฟจนเต็ม (กำลังไฟ 6.6 kW) ใช้เวลาประมาณ 5.4 ชั่วโมง และ 20 ชม. สำหรับกำลังไฟ 2.2 kW) วิ่งได้ไกลเฉลี่ย 250 กม. (ไม่ระบุว่าใช้มาตรฐานใดทดสอบ)

อย่างไรก็ตามรถยนต์ไฟฟ้าทุกรุ่นจะใช้ระยะเวลาชาร์จไฟเร็วกว่านี้มากหากเป็นการชาร์จด้วยไฟกระแสตรง (Rapid Charge) ส่วนสถานีบริการจะมีที่ไหน ตรงไหน อย่างไร เราเองก็ยอมรับว่าไม่แม่นข้อมูลนัก เพราะรถยนต์ไฟฟ้าถือเป็น “ของเล่นใหม่” ราคาแพงสำหรับคนที่เห่อหรืออยากลองเทคโนโลยีใหม่มากกว่าที่จะเสิร์ฟการใช้งานจริงในมุมมองของคนทั่วไปส่วนใหญ่

ดังนั้นรถยนต์ไฟฟ้าตอนนี้จึงถือได้ว่าเป็นสีสันของวงการรถยนต์ไทย เสริมภาพลักษณ์ให้กับแบรนด์หรือเอาใจลูกค้าเฉพาะกลุ่มมากกว่า แต่ในอนาคตคงต้องยอมรับว่าไม่ช้าก็เร็วรถยนต์ไฟฟ้าล้วนคงมาแทนที่รถยนต์เชื้อเพลิงจากซากฟอสซิลแน่ ๆ แต่ตอนนี้โลกสวยที่เต็มไปด้วยทุ่งลาเวนเดอร์ยังห่างไกลกับโลกแห่งความเป็นจริงพอสมควร

ภาพจาก Hyundai และ BYD

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
5 รถยนต์ไฟฟ้า 2018 ที่จำหน่ายในไทย ราคาเท่าไรและน่าสนใจแค่ไหนบ้าง อัปเดตล่าสุด 20 มีนาคม 2562 เวลา 11:20:12 125,667 อ่าน
TOP