
กรมการขนส่งทางบก เตรียมเพิ่ม 5 กลุ่มโรคที่เสี่ยงจะเกิดอันตรายในการขับขี่รถยนต์ รวมโรคลมชัก-ผ่าตัดสมอง-หัวใจ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ บังคับใช้ไม่เกิน ก.พ. 61
วันที่ 4 ธันวาคม 2560 นายกมล บูรณพงศ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า ขณะนี้กรมการขนส่งทางบก กำลังดำเนินการแก้ไขกฎกระทรวง เพื่อกำหนดเงื่อนไขการขอใบอนุญาตขับขี่ ให้เพิ่มกลุ่มโรคที่เสี่ยงจะเกิดอันตรายในการขับขี่ เบื้องต้นได้ข้อสรุปแล้วว่ามีทั้งหมด 5 กลุ่มโรค ประกอบด้วย
2. เบาหวานร้ายแรง
3. ความดันโลหิตสูง
4. ผู้ที่เคยผ่าตัดสมองมาก่อน
5. โรคหัวใจ ที่เสี่ยงจะเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายจากการขาดเลือด

นายกมล กล่าวอีกว่า สำหรับ 5 กลุ่มโรคนี้ บางส่วนไม่ได้เป็นโรคแต่เป็นอาการ จะต้องมีการกำหนดรายละเอียดด้วยว่า เป็นขนาดไหน เช่น เบาหวานร้ายแรงแค่ไหน ความดันเท่าไร รายละเอียดเหล่านี้ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ซึ่งทางแพทยสภาจะเป็นผู้ดำเนินการ คาดว่าใช้เวลาอีกประมาณ 2-3 เดือน หรือช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ปี 2561 จะออกมาบังคับใช้ได้ และคงไม่มีแก้ไขอีกแล้วในส่วนของ 5 กลุ่มโรคนี้ เพราะเราหารือกันมาหลายรอบแล้ว
ทั้งนี้ในการขอใบอนุญาตขับขี่ ที่ผ่านมาจะมีการห้ามเฉพาะ 5 โรค คือ เท้าช้าง, วัณโรค, เรื้อน, พิษสุราเรื้อรัง และติดยาเสพติดให้โทษ จึงจะมีการแก้ไขกฎกระทรวงเพื่อเพิ่มเติมอีก 5 กลุ่มโรคที่เป็นอันตรายต่อการขับขี่เข้าไป

ขณะเดียวกัน ก่อนหน้านี้ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เคยระบุโรคและปัญหาสุขภาพที่มีผลกระทบต่อสมรรถภาพการขับขี่ และอาจเป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุไว้ 9 โรค ได้แก่ โรคที่เกี่ยวกับสายตา ต้อหิน ต้อกระจก จอประสาทตาเสื่อม, โรคทางสมอง, โรคหลอดเลือดสมอง, โรคพาร์กินสัน, โรคลมชัก, โรคไขข้อ ข้อเสื่อม ข้ออักเสบต่าง ๆ, โรคหัวใจ, โรคเบาหวาน และการกินยา ซึ่งบางคนกินยาหลายชนิด บางชนิดมีผลทำให้ง่วงซึม หรือง่วงนอน มึนงง สับสนได้เวลาขับรถ
ภาพและข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก Santiphap Viriyothai, ข่าวพัทยา Pattayanews, thaipbs