แม้ตอนนี้ SURUS จะเป็นเพียงแนวคิดแต่ความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตมีสูงมาก โดย SURUS มีดีไซน์เรียบง่าย เพราะไม่จำเป็นต้องมีห้องโดยสารสำหรับผู้ขับขี่เนื่องจากจะใช้เทคโนโลยีไร้คนขับ (autonomous) ไม่มีเครื่องยนต์สันดาปภายใน จึงมีแค่เฉพาะแพลตฟอร์มรถบรรทุกอเนกประสงค์ หน้าตาเลยเหมือนแชสซีส์รถบรรทุกปกติทั่วไป สามารถออกแบบต่อเติมส่วนอื่น ๆ ได้อย่างอิสระตามลักษณะเฉพาะของการใช้งาน
อย่างไรก็ตามหัวใจสำคัญของ SURUS คงเป็นเรื่องของเทคโนโลยีที่ GM เรียกว่า Hydrotec fuel cell system แต่โดยหลักการแล้วคงเหมือนหรือใกล้เคียงกับเทคโนโลยีรังเชื้อเพลิง (Fuel Cell) ทั่วไป ที่ใช้ไฮโดรเจนเป็นแหล่งเชื้อเพลิงเพื่อสร้างกระแสไฟฟ้าไปเก็บไว้ในแบตเตอรี่แบบ Lithium-ion และจ่ายให้กับมอเตอร์ขับเคลื่อน 2 ตัว
ซึ่งข้อดีของรถพลังไฟฟ้าคือ เงียบ ไร้มลพิษ แรงบิดสูงเรียกใช้ได้ทันที Packaging ง่าย อีกทั้ง SURUS ยังมีความสามารถในเชิงออฟโรด แต่ข้อได้เปรียบของ Fuel Cell คงเป็นเรื่องของเติมเชื้อเพลิงที่ทำได้รวดเร็วกว่าการชาร์จไฟที่ต้องใช้เวลานานแม้จะเป็น Supercharging ก็ยังสู้ไม่ได้
ดังนั้นเทคโนโลยี Fuel Cell จึงเหมาะกับพาหนะขนาดใหญ่ที่ต้องรับโหลดมากและวิ่งยาวอย่าง SURUS โดย GM ระบุว่าวิ่งได้ไกลกว่า 650 กม. ซึ่งถูกออกแบบมาทั้งในแง่การใช้งานเชิงพาณิชย์อย่างการขนส่งไปจนถึงภารกิจทางการทหารเพราะความสัมพันธ์ระหว่าง GM กับกองทัพสหรัฐฯ ค่อนข้างแนบแน่นพอตัว
SURUS จะช่วยลดการใช้แรงงานคน ระบบมีความร้อนต่ำและเงียบจึงเหมาะมากสำหรับการปฏิบัติภารกิจในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง นอกจากนี้ GM ยังได้พิจารณาร่วมกับศูนย์วิศวกรรมการวิจัยและพัฒนายานยนต์รถถังของกองทัพบกสหรัฐฯ (U.S. Army Tank Automotive Research, Development and Engineering Center หรือ TARDEC) เพื่อยกระดับเทคโนโลยี Fuel Cell ให้เป็นอนาคตสำหรับทางการทหารอีกด้วย
น่าสังเกตว่าทั้ง Chevrolet Colorado ZH2 และยานสำรวจใต้น้ำไร้มนุษย์พลังไฮโดรเจน Unmanned Undersea Vehicle (UUV) ของ GM ที่เริ่มทดสอบในภารกิจทางทหารสำหรับกองทัพสหรัฐฯ ไปแล้ว รวมถึงพาหนะแนวคิดอย่าง SURUS ล้วนขับเคลื่อนด้วยขุมพลังไฮโดรเจนทั้งสิ้น หรือนี่จะเป็นสงครามเย็นระหว่าง Electric Vehicle กับ Fuel Cell Vehicle ?