x close

สาทรโมเดลแก้รถติดได้จริง ก้าวขั้นต่อไปสู่กรุงเทพมหานคร

สาทรโมเดล

ภาพจาก outofhole / Shutterstock.com

          โครงการ สาทรโมเดล ขยายสู่กรุงเทพมหานคร​ ​ผลการดำเนินโครงการและแผนที่นำทางสู่การแก้ไขปัญหาจราจรอย่างยั่งยืน

          นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย พลตำรวจโท วิทยา ประยงค์พันธุ์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ นายสุธน อาณากุล ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร รองศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายชิน อาโอยามะ เจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิโตโยต้า​ โมบิลิตี และนายนินนาท ไชยธีรภิญโญ ประธานร่วมคณะกรรมการโครงการคมนาคมอย่างยั่งยืน 2.0 กรุงเทพมหานคร และประธานคณะกรรมการ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ร่วมแถลงข่าวในงาน "โครงการสาทรโมเดลขยายสู่กรุงเทพมหานคร"  เมื่อวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2560 ณ ห้อง 2001 ชั้นที่ 20 อาคารเฉลิมราชกุมารี 60 พรรษา (อาคารจามจุรี 10) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สาทรโมเดล

​​สาทรโมเดล​เพื่อการแก้ปัญหาจราจรอย่างยั่งยืน

          โครงการสาทรโมเดล​​เริ่มขึ้นในเดือนมิถุนายน 2557 โดยสภาธุรกิจโลกเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ร่วมกับภาคเอกชน ​และการสนับสนุนภาครัฐ เพื่อบรรเทาการจราจรที่ติดขัดบนถนนสาทร

          เดือนพฤศจิกายน 2557​ โครงการได้มีการศึกษาทดลองดำเนินงานเช่น

          - การเริ่มรถบัสรับส่ง (Shuttle Bus) ที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย
          - มาตรการจอดแล้วจร (Park & Ride) พื้นที่จอดรถที่เชื่อมระบบขนส่งสาธารณะ
          - มาตรการควบคุมจัดการจราจร (Traffic Flow Management) บนถนนสาทร

สาทรโมเดล

          โดยได้รับเสียงตอบรับเชิงบวกจากผู้ใช้บริการเป็นจำนวนมาก ตลอดจนเป็นการส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ในการวางพื้นฐานบริการคมนาคม ที่มีประสิทธิภาพสำหรับผู้สัญจรบนท้องถนน

          ​เดือนเมษายน 2558 มูลนิธิโตโยต้า โมบิลิตี ได้สนับสนุนเงินทุนจำนวนประมาณ 110 ล้านบาทให้แก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อดำเนินโครงการสาทรโมเดลให้มีขอบเขตการทำงานที่มากขึ้น โดยมุ่งยกระดับการดำเนินการทดลอง รวมถึงเชิญชวนให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมสัมผัสประสบการณ์ใหม่ด้วยกันในโครงการนี้

          เป็นครั้งแรกที่ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษาได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาจราจร แบบบูรณาการ ทำให้โครงการมีความคืบหน้าไปเป็นอย่างมาก

สาทรโมเดล

มาตรการจอดแล้วจร : เพื่อเพิ่มทางเลือกในการเดินทางสู่ถนนสาทร



          โครงการจอดแล้วจร (Park & Ride) มาตรการเพิ่มทางเลือกสำหรับการเดินทางของประชาชนเข้าสู่พื้นที่ถนนสาทร จากความร่วมมือของสมาคมค้าปลีกไทย, สมาคมห้างสรรพสินค้าไทยและบริษัท นิปปอน พาร์คกิ้ง ดีเวลลอปเมนท์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้แบ่งปันพื้นที่จอดรถ รวมถึงได้พัฒนาพื้นที่จอดรถขึ้นมาใหม่ ในทำเลที่เชื่อมต่อสถานีรถไฟฟ้าได้อย่างสะดวก ซึ่งในปัจจุบันมีผู้สนใจเข้าร่วมโครงการนี้ 504 คน โดยเฉพาะจำนวนของผู้ใช้จุดจอดแล้วจรกรุงธนบุรีเฉลี่ย​ 280 คนต่อวัน

          สำหรับความเป็นไปได้ในการพัฒนาจุดจอดแล้วจรในอนาคต ทางโครงการเสนอให้ภาครัฐเป็นผู้ดำเนินการจัดหาที่ดินสำหรับจัดทำจุดจอดแล้วจรในบริเวณใกล้สถานีรถไฟฟ้าที่จะเปิดในอนาคต โดยให้เอกชนมีส่วนร่วมลงทุนก่อสร้างและดำเนินการจุดจอดแล้วจรในที่ดินของรัฐ และได้รับการสนับสนุนการลงทุนจากภาครัฐ นอกจากนี้ รัฐควรมีหน่วยงานเจ้าภาพที่สามารถทำหน้าที่การพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีรถไฟฟ้าที่จะเกิดขึ้นให้มีจุดจอดแล้วจรเพียงพอโดยดำเนินการควบคู่กับการพัฒนาธุรกิจอื่นในบริเวณเดียวกันด้วยเพื่อสร้างรายได้และช่วยลดภาระทางการเงินที่ต้องใช้ดำเนินการจุดจอดแล้วจร

สาทรโมเดล

มาตรการรถรับ-ส่ง : เพื่อลดปริมาณการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลบริเวณถนนสาทร


          ในโครงการได้พัฒนาการให้บริการรถโรงเรียน (School Bus) ที่มีความปลอดภัยสูงในรูปแบบ สถานีถึงโรงเรียน (Station to School) ทั้ง 2 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนอัสสัมชัญแผนกประถม​ ​
และโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย โดยผู้ปกครองมาส่งบุตรหลานตามจุดจอดที่กำหนดไว้​​เป็นการช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรหน้าโรงเรียน ประหยัดเวลาในการรับ-ส่งบุตรหลาน

          โครงการใช้รถร่วมกัน (ทางเดียวกันมาด้วยกัน) หรือ ACP Car Sharing ซึ่งมุ่งสนับสนุนให้ผู้ปกครองที่ปกติใช้รถยนต์ส่วนตัวในการมารับ-ส่งบุตรหลาน เปลี่ยนมาใช้รถยนต์ร่วมกันเดินทางมาโรงเรียน

          ทั้งสองมาตรการเป็นการช่วยลดจำนวนรถยนต์ที่มุ่งหน้าสู่โรงเรียนในช่วงเวลาเร่งด่วน โดยมีจำนวนนักเรียนที่เข้าร่วมในโครงการทั้งสิ้น 117 คน สำหรับนักเรียนที่ใช้บริการรถโรงเรียนสามารถประหยัดเวลาการเดินทางของผู้ปกครองได้มากขึ้นเมื่อเทียบกับการขับรถยนต์มาส่งถึงหน้าโรงเรียนในตอนเช้า ซึ่งเป็นการช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรได้

          ปัจจุบันทั้งสองโรงเรียนมีจำนวนนักเรียนที่ใช้บริการรับ-ส่งจากบ้านถึงโรงเรียนซึ่งบริหารงานโดยทางโรงเรียนเอง จำนวน 665 คน จากโรงเรียนอัสสัมชัญแผนกประถม และ 801 คน จากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย

สาทรโมเดล

มาตรการเหลื่อมเวลาทำงาน : เพื่อกระจายปริมาณรถยนต์ในช่วงเวลาเร่งด่วน


          มาตรการเหลื่อมเวลาทำงาน (Flexible Working Time) เพื่อกระจายปริมาณรถยนต์ที่เข้าสู่พื้นที่ถนนสาทรในชั่วโมงเร่งด่วน ด้วยความร่วมมือของบริษัทเอกชนที่มีสำนักงานในบริเวณถนนสาทร และสีลม โดยใช้ข้อมูลการเดินทางของพนักงานที่ได้จาก Linkflow Application เพื่อใช้ออกแบบวางแนวทางการใช้มาตรการเหลื่อมเวลาทำงานใน แต่ละบริษัทที่เข้าร่วม ซึ่งส่งผลดีโดยตรงต่อพนักงานคือ สามารถวางแผนการเดินทางเพื่อเข้าทำงานหรือเลิกงานได้เหมาะสม มีส่วนช่วยลดความแออัดบนท้องถนนลงได้ โดยมีพนักงานที่เข้าร่วมโครงการจำนวนกว่า 4,300 คน จาก 12 บริษัท

สาทรโมเดล

มาตรการบริหารจัดการจราจร


          1. การจัดช่องจราจรพิเศษ (Reversible Lane) ในช่วงเวลาเร่งด่วนตอนเช้า โดยให้รถขาเข้าจากสะพานตากสินและจากถนนเจริญราษฎร์สามารถเข้าสู่ถนนสาทรเหนือโดยใช้ช่องทางพิเศษได้ 1 ช่องทางบนถนนสาทรใต้ ทำให้สามารถระบายปริมาณรถได้อย่างมีประสิทธิภาพ

          2.​ การจัดการจราจรบริเวณหน้าโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ด้วยการหยุดรับ-ส่งนักเรียนแล้วรีบเคลื่อนรถออกไป (Kiss & Go) โดยกำหนดจุดรับ-ส่งอย่างเป็นระเบียบ พร้อมทั้งการสนับสนุนกำลังเจ้าหน้าที่ จากกองบัญชาการตำรวจนครบาล ทำให้ปัญหารถชะลอตัว เนื่องจากการเปลี่ยนช่องทางเพื่อรับ-ส่งนักเรียนเบาบางลง การจราจรช่วงก่อนถึงหน้าโรงเรียนคล่องตัวขึ้น

          3.​ การบริหารควบคุมสัญญาณไฟจราจรที่สี่แยกสาทร  โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจร สามารถรับทราบข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจในการกำหนดสัญญาณไฟจราจร ด้วยโปรแกรมที่พัฒนาขึ้น โดยคำนวณจากปริมาณจราจรในแต่ละช่วงเวลาแบบเรียลไทม์ และระยะแถวคอยในแต่ละทิศทาง ช่วยให้สามารถกำหนดสัญญาณไฟจราจรได้อย่างเหมาะสมกับสภาพจราจรและมีประสิทธิภาพสูงสุด

สาทรโมเดล

ผลการดำเนินโครงการ​ ​สาทรโมเดล

          จากผลการดำเนินงานพบว่า สภาพการจราจรบนถนนสาทรเหนือขาเข้าจากบริเวณสี่แยกสาทร ถึงสี่แยกวิทยุ ในช่วงชั่วโมงเร่งด่วนเช้าคล่องตัวมากขึ้น โดยมีค่าเฉลี่ยปริมาณการระบายรถเพิ่มขึ้น 422 คันต่อชั่วโมง หรือร้อยละ 12​ ความยาวรถที่ติดสะสมจากสะพานตากสินไปจนถึงฝั่งธนบุรีลดลงจากปกติ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพและผลสัมฤทธิ์ของความร่วมมือที่ทุกภาคส่วนในสังคมมีส่วนสนับสนุนพร้อมกัน

แผนที่นำทาง (Roadmap) จากโครงการ สาทรโมเดล

          ตลอดระยะเวลา 3 ปี โครงการสาทรโมเดลได้ดำเนินมาตรการต่าง​ ​ๆ ผ่านความร่วมมือจากหน่วยงานราชการและเอกชน รวมถึงประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนน จนได้ผลการดำเนินงานผ่านการเรียนรู้และวิเคราะห์สรุปผลนำไปสู่แผนที่นำทาง (Roadmap) ตามมาตรการที่สำคัญ ได้แก่

          1. สนับสนุนให้มีการทำแผนแม่บทการจอดแล้วจรและนำไปใช้อย่างเป็นรูปธรรม สอดคล้องกับการขยายแนวเส้นทางระบบขนส่งสาธารณะในอนาคต เพื่อทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดจากพื้นที่ซึ่งมีศักยภาพเป็นจุดจอดรถ การลดอุปสรรคด้านข้อกฎหมายในการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ รวมถึงการสร้างรูปแบบทางธุรกิจที่เหมาะสมจากการประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ​ ​และเอกชน เพื่อให้ผู้เดินทางเปลี่ยนมาใช้การจอดแล้วจรมากขึ้นและแพร่หลาย

          2. ปริมาณการจราจรที่มากช่วงเวลาเร่งด่วนในเขตกรุงเทพมหานคร ส่วนหนึ่งมาจากโรงเรียนใหญ่ที่ผู้ปกครองใช้รถยนต์ส่วนตัวรับ-ส่งบุตรหลาน สภาพปัญหาการจราจรหน้าโรงเรียนจึงแตกต่างกันไปตามลักษณะการเดินทางของเด็กนักเรียน จึงจำเป็นต้องวางแนวทางที่เหมาะสมแต่ละโรงเรียน

          โดยเริ่มจากการสำรวจพฤติกรรมการเดินทางของนักเรียนและผู้ปกครอง วิเคราะห์เพื่อเสนอทางเลือกในการเดินทาง เช่น โครงการรถรับ-ส่ง หรือโครงการใช้รถร่วมกัน จากนั้นกำหนดแนวทางปฏิบัติร่วมกับนักเรียนและผู้ปกครอง และประชาสัมพันธ์อย่างสร้างสรรค์เพื่อเพิ่มผู้มีส่วนร่วม ตลอดจนปลูกฝังค่านิยมและจิตสำนึกอันดีงามแก่เยาวชน ทั้งนี้ต้องได้รับการสนับสนุนและเข้าร่วมอย่างจริงจังจากผู้บริหารโรงเรียน อันจะเป็นการช่วยลดปริมาณรถยนต์ในช่วงเวลาเร่งด่วนอย่างมีนัยสำคัญ

          3. ส่งเสริมให้มีการจัดทำข้อตกลงโดยสมัครใจร่วมกันระหว่างภาครัฐและองค์กรหรือสมาคมธุรกิจ เพื่อส่งเสริมให้บริษัทสมาชิกแต่ละบริษัท นำมาตรการเหลื่อมเวลาทำงานไปประยุกต์ใช้กับพนักงานอย่างทั่วถึง รวมถึงการเพิ่มทางเลือกใหม่ในการเดินทางแก่พนักงาน

          4. แนวทางสำหรับการบริหารจัดการจราจร ได้แก่

          4.1 ขยายมาตรการต่าง​ ​ๆ เพื่อลดคอขวดบนท้องถนน ไปยังถนนสายหลักอื่น​ ​ๆ เช่น พระรามสี่ เจริญกรุง​ สุขุมวิท อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และอื่น ๆ

          4.2 สนับสนุนเจ้าหน้าที่ตำรวจในการปรับปรุงการบริหารสัญญาณไฟจราจร ด้วยมาตรฐานการ​ ปฏิบัติงานซึ่งได้จากการรวบรวมองค์ความรู้และเทคนิควิธีการที่เหมาะสม

          4.3 การผสานความร่วมมือภาครัฐ-เอกชน (PPP) ในการวางแผนและใช้ประโยชน์จากตัวชี้วัด​ปริมาณจราจร (เซ็นเซอร์)

          4.4 จัดตั้ง ศูนย์การเรียนรู้นวัตกรรมวิศวกรรมจราจร เพื่อสนับสนุนงานแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจร

สาทรโมเดล

          จากการประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก เมื่อวันที่ 9 กุม​ภาพันธ์ พ.ศ. 2560 โดยมี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เปิดเผยว่า ที่ประชุมรับทราบผลการดำเนินการของโครงการคมนาคมอย่างยั่งยืน 2.0 (Sustainable Mobility Project 2.0)

          สาทรโมเดล ซึ่งได้รับความร่วมมือจากประชาชน สถานศึกษา ภาคเอกชน และภาครัฐ ทำให้เกิดกระบวนการทำงานร่วมกันผ่านมาตรการต่าง ๆ ที่สามารถลดความแออัดของพื้นที่โดยรอบถนนสาทรได้เป็นอย่างดี รวมทั้ง ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบในหลักการของแผนที่นำทางการขยายมาตรการที่ได้ดำเนินการในสาทรโมเดลไปยังพื้นที่ต่าง ๆ (Roadmap) ไปสู่การปฏิบัติ ได้แก่ การจัดการจราจร และการบริหารความต้องการการเดินทาง

          เพื่อขยายมาตรการที่ได้ดำเนินการในสาทรโมเดลไปยังพื้นที่ต่าง ๆ พร้อมทั้งมอบหมายให้กระทรวงคมนาคมจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อแก้ไขปัญหาจราจรในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ในการจัดตั้งองค์การด้านการสัญจรอย่างยั่งยืน (Sustainable Mobility Institute : SMI) ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อเป็นหน่วยงานประสานความร่วมมือระหว่างทุกภาคส่วนและดำเนินการตามแนวทางการขนส่งที่ยั่งยืนเพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไป

"​ขยายความสุขในการเดินทาง จากสาทร สู่กรุงเทพฯ​"

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สาทรโมเดลแก้รถติดได้จริง ก้าวขั้นต่อไปสู่กรุงเทพมหานคร อัปเดตล่าสุด 26 เมษายน 2560 เวลา 10:08:11 7,336 อ่าน
TOP