ชนแล้ว​อย่า​หนี !​ เพราะโทษเปลี่ยนจากเบาเป็นหนัก ต้องอาญาและติดคุก

          เจอชนแล้วหนี​ ต้องทำอย่างไร อุบัติเหตุบนท้องถนนเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ทั้งจากตัวเราเองหรือคนอื่นก็เป็นเหตุสุดวิสัย แต่ชนแล้ว​อย่า​หนี เพราะโทษจะเปลี่ยนจากเบาเป็นหนัก ต้องอาญาและติดคุก ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก มาตรา 78


          เรื่องการใช้รถกับอุบัติเหตุถือเป็นของคู่กันอย่างเลี่ยงไม่ได้ เพราะถึงแม้ว่าเราจะระมัดระวังแค่ไหน แต่ในบางครั้งก็ยังเกิดอุบัติเหตุ ดังคำที่ว่า ​"เราระวังแล้ว แต่คนอื่นไม่ระวัง" หากไม่บาดเจ็บหรือบาดเจ็บเล็กน้อยก็ดีไป แต่หากบาดเจ็บหนักขึ้นมา ก็จะเกิดคำถามตามมาว่า "ใครจะรับผิดชอบ" หากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นเราไม่ได้เป็นฝ่ายผิด ก็ต้องคู่กรณีใช่ไหมครับ ? ซึ่งถ้ามีก็ดีไป แต่ถ้าหาคู่กรณีไม่ได้ล่ะ เราก็ "โดนชนแล้วหนีไง" ซึ่งคงไม่ดีแน่ ๆ 

          ดังนั้นเราจะพาไปดูเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกรณี ​"ชนแล้วหนี" กันว่า ควรปฏิบัติตัวอย่างไรเมื่อประสบเหตุลักษณะนี้และมีบทลงโทษอย่างไรบ้าง

          พ.ร.บ.จราจรทางบก มาตรา 78 บัญญัติว่า​ "ผู้ขับรถในทางซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินจะต้องหยุดรถให้ความช่วยเหลือ พร้อมทั้งแสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ใกล้เคียงทันที ไม่ว่าจะเป็นความผิดของผู้ขับขี่หรือไม่ก็ตาม"

          ซึ่งหากว่าเกิดอุบัติเหตุขึ้นแล้วอย่ากลัว ควรปฏิบัติตาม พ.ร.บ.จราจรทางมาตรา 78 เพราะต้องมาพิจารณาสาเหตุของอุบัติเหตุอีกทีเพื่อหาฝ่ายผิด จากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนกฎหมาย ที่จะมีประกันภัยรถยนต์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยในส่วนของการจ่ายค่าสินไหมทดแทน

ชนแล้ว​อย่า​หนี

แต่หากว่าชนแล้วหนีจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ?


          ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุรถชนขึ้น แล้วผู้ขับขี่ไม่แสดงตัวต่อเจ้าหน้าที่ ณ สถานที่เกิดเหตุ ทางกฎหมายจะสันนิษฐานว่า ​"ชนแล้วหนี" ซึ่งถือเป็นความผิดทางกฎหมายและเป็นคดีอาญา ส่งผลให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจยึดรถคันที่เราขับหลบหนีหรือไม่สามารถแสดงได้ว่าเป็นใครผู้ขับขี่จนกว่าคดีถึงที่สุดหรือได้ตัวผู้ขับขี่

          หากผู้ขับขี่หรือผู้ครอบครอง (กรณีเจ้าของรถไม่ใช่เรา) ไม่แสดงตัวต่อเจ้าหน้าที่ภายใน 6 เดือน นับแต่วันเกิดเหตุ ให้ถือว่ารถนั้นเป็นทรัพย์สินซึ่งได้ใช้กระทำความผิดหรือเกี่ยวกับการกระทำความผิดและให้ตกเป็นของรัฐ

          แต่หากหลบหนีแล้วโดนจับได้หรือเข้ามอบตัวเองในภายหลังก็จะมีบทลงโทษดังนี้

          พ.ร.บ.จราจรทางบก มาตรา 160 ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 78 ​- ​ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับตั้งแต่ 2,000 บาทถึง 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


          ถ้าการไม่ปฏิบัติตามมาตรา 78 เป็นเหตุให้บุคคลอื่นได้รับอันตรายสาหัส หรือเสียชีวิต​ -​ ผู้ไม่ปฏิบัติตามต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับตั้งแต่ 5,000 บาท ถึง 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


ชนแล้ว​อย่า​หนี

          กรณีที่ชนแล้วหนี กฎหมายกำหนดโทษแห่งการหนีดังกล่าวตาม พ.ร.บ. จราจรทางบกมาตรา 78 ประกอบมาตรา 160 มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ส่วนขับรถโดยประมาทก็ว่ากันไปอีกเรื่องหนึ่ง


          โดยบทลงโทษนี้จะแยกจากคดีที่เกิดอุบัติเหตุอีกที หรือพูดง่าย​ ๆ ว่า ถ้าเราชนแล้วหนี เราจะมีคดีติดตัวเพิ่มมาอีกคดีฟรี ๆ นั่นเอง

          แต่ดูจากบทลงโทษแล้วคิดว่าคงไม่มีใครอยากจะโดนแน่ ๆ เมื่อเรารู้บทลงโทษไปแล้วเราก็มาดูกันว่า วิธีปฏิบัติตัวเมื่อเกิดอุบัติเหตุรถชนขึ้นควรทำตัวอย่างไร

ชนแล้ว​อย่า​หนี

วิธีปฏิบัติตัวเมื่อเกิดอุบัติเหตุรถชน

          สิ่งแรกที่ต้องทำเมื่อขับรถชนคือ "ตั้งสติ" และ "อย่าหนี" เพราะความผิดฐานขับรถประมาทนั้น ผู้ทำผิดไม่ใช่อาชญากร เราจึงควรที่จะอยู่รับความจริงในสิ่งที่เกิดขึ้น แต่หากเลือกที่จะหลบหนีแล้ว ในอุบัติเหตุเกิดมีผู้เสียชีวิต เราก็จะต้องหลบหนีถึง 15 ปี เลยทีเดียว รวมถึงอาจจะเจอข้อหาอื่น ๆ เพิ่มอีกด้วย

          แต่หากให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บ มอบตัวเพื่อสู้คดี บางทีผลลัพธ์ที่ตามมาอาจจะไม่ได้ร้ายแรงอย่างที่คิด เช่น บางคดีอาจยอมความกันได้ หรือ ศาลปรานีลดโทษให้ตามความถูกต้องเหมาะสม

          และเมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้นแล้วเราเจอผู้บาดเจ็บ สามารถติดต่อศูนย์ข้อมูลข่าวสารด้านการแพทย์ฉุกเฉินไทยเพื่อให้เข้าช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ

          เบอร์ติดต่อ : ศูนย์ข้อมูลข่าวสารด้านการแพทย์ฉุกเฉินไทย โทร. 1669 ให้บริการฟรีตลอด 24 ชั่วโมงทั่วประเทศ

          สิ่งนี้ที่นำมาเสนอในวันนี้ถือเป็นความรู้เบื้องต้นการปฏิบัติเมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้น เพื่อที่ให้ทุก​ ​ๆ คนไม่ตื่นตกใจ แต่ถึงอย่างนั้นการปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัดและใช้รถอย่างมีสติ มีน้ำใจต่อกัน จะช่วยให้เราปลอดภัยและห่างไกลจากอุบัติเหตุได้ดีที่สุดค​รับ​

ภาพจาก เฟซบุ๊ก พลสิทธิ์ เลิศนภาพงศ์ โต้งเมฆา, เฟซบุ๊ก ฤทัยกาฬ หาญมโหฬี

ข้อมูลจาก masii.com
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ชนแล้ว​อย่า​หนี !​ เพราะโทษเปลี่ยนจากเบาเป็นหนัก ต้องอาญาและติดคุก อัปเดตล่าสุด 17 มิถุนายน 2564 เวลา 11:26:51 88,158 อ่าน
TOP
x close