กลายเป็นประเด็นถกเถียงในโลกโซเชียลอยู่พอสมควรสำหรับ Vera V1 รถไฟฟ้าที่เคลมว่าเป็นแบรนด์ของคนไทยรุ่นแรก เปิดตัวคันจริงในวันศุกร์ที่ 13 มกราคมนี้ โดยภาพของ Vera V1 รถไฟฟ้าขนาดซิตี้คาร์ที่ปล่อยออกมาล่วงหน้าให้ได้ชมพร้อมประกาศราคา 945,000 บาท
หลายคนพากันตั้งคำถามมากมาย ทั้งในแง่ของความคุ้มค่าในราคาเฉียดล้าน... หน้าตา Vera V1 ละม้ายคล้ายรถแบรนด์ดังของจีน
ทีมงาน Kapook Car ได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณวันชัย มีศิริ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Vera automotive เพื่อเคลียร์ชัดกับทุกประเด็นที่เกิดขึ้นทั้งหมด
"อ๋อแบรนด์นี้ของคนไทย 100% เราไม่ใช่เทรดเดอร์ เราเป็นกลุ่มวิศวกรรมที่จะขับเคลื่อนประเทศไทย ที่ผมกล้าใช้คำนี้เพราะเราทำแบรนด์รถยนต์ Vera แต่ส่วนอื่นเมื่อพูดถึงยานยนต์ก็จะไปพูดว่าญี่ปุ่นจะมาไหม อเมริกาจะมาไหม"
คุณวันชัย มีศิริ ได้ตอบถึงประเด็นนี้อย่างชัดเจนและตรงไปตรงมาว่า Vera V1 เป็นรถแบรนด์ไทยแท้แน่นอน เพียงแต่สั่งผลิตแบบ OEM* ประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ ตามสเปคที่ทาง Vera automotive เป็นผู้กำหนด เพื่อสำหรับจำหน่ายและจดทะเบียนในไทยได้ภายใต้ข้อจำกัด โดยกล่าวว่า "กระบวนการและขั้นตอนในการสร้างผลิตภัณฑ์มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย และเราก็เป็นบริษัทขนาดเล็กจึงต้องมีวิธีการในการผลิตให้ได้ตามข้อกำหนด เช่น จดทะเบียนในไทยได้ ผ่านมาตรฐานต่าง ๆ"
*OEM ย่อมาจาก Original Equipment Manufacturer หมายถึงการรับจ้างผลิตสินค้าให้กับแบรนด์ต่าง ๆ ตามแบบที่ลูกค้ากำหนด มักจะเป็นโรงงานเปิดใหม่ ๆ หรือโรงงานที่ไม่เน้นการสร้างแบรนด์ของตนเอง และโรงงานที่ไม่มีความชำนาญในการออกแบบผลิตภัณฑ์
"เราต้องสู้และพยายามมาก เราทำรถให้เป็นรถ ไม่จำเป็นต้องพยายามที่จะไปทำพาร์ท ไม่ได้ทำพาร์ทเองทั้งหมดตอนนี้ก็ไม่เป็นไร เราทำรถให้ได้ก่อน ถ้ามัวไปเสียเวลาเริ่มต้นทำพาร์ทเองหมดก็ไม่ต้องทำรถกันพอดี เราควรทำรถให้เกิดขึ้นมาก่อนส่วนพาร์ทถ้าจะทำเองไว้ทีหลังได้ ซึ่งในระยะยาวเราต้องการให้มีชิ้นส่วนที่ผลิตเองในไทยเกินครึ่งเพราะมีแผนที่จะเข้า BOI เพื่อผลประโยชน์ในด้านภาษี ส่งผลทำให้ตัวรถมีราคาจำหน่ายที่ถูกลงในอนาคต"
เราเกิดก่อนกาลนิดหนึ่ง ในการผลิตรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไฟฟ้าอยู่ในเฟสที่ยังไม่ใช่แผนที่สนับสนุนรถยนต์นั่ง แผนของรัฐเองโฟกัสไปที่รถบัสไฟฟ้า รถยนต์นั่งส่วนบุคคลจะอยู่ในปี 2564 เพราะฉะนั้นในสิ่งที่เราต้องทำตามปัจจัยเดิมที่มีอยู่ ทั้งในเรื่องภาษีก็เป็นการเรียกเก็บเหมือนรถน้ำมันต่างจากในต่างประเทศ เพราะฉะนั้นทำให้ต้นทุนของรถไฟฟ้าจะสูง เพราะสิ่งหนึ่งในเรื่องของแบตเตอรี่ค่าใช้จ่ายเป็นครึ่งหนึ่งของตัวรถ เราก็ต้องขายตามข้อเท็จจริงราคาเลยสูงอยู่ที่ 945,000 บาท
ผมก็เข้าใจว่าสูงเมื่อเทียบกับรถน้ำมัน แต่ผมก็พยายามสื่อสารว่า Vera เป็นบริษัทที่ไม่ใหญ่และมีกลุ่มตลาดที่ไม่ใหญ่ เช่น นักสิ่งแวดล้อม นักเทคโนโลยีสมัยใหม่ กลุ่มการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับวิศวกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และคนที่มีใจรักยานยนต์ไฟฟ้าจริง ๆ
"เทียบแบบนี้ก็เหมือนคุณไปร้านไอติม กินไอติมแล้วบอกไม่เผ็ดเหมือนกินส้มตำ ก็คือรสชาติมันต่างกัน"
อีกหนึ่งประเด็นร้อนที่คนบางส่วนได้มีการหยิบยกประเด็นในเรื่องของราคา Vera V1 ไปเทียบกับรถยนต์ที่ใช้น้ำมันที่มีจำหน่ายในท้องตลาด ทางคุณวันชัย มีศิริ ได้ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า "ผมบอกเลยว่าถ้าคุณจะซื้อรถน้ำมัน คุณตัดสินใจไปเลยเพราะ Vera V1 ไม่ใช่ ไม่ได้คิดแข่งเพราะไม่ใช่ตลาดของเราไม่ต้องมาเสียเวลาตรงนี้"
เราตั้งใจคุยกับกลุ่มคนที่อยากซื้อยานยนต์ไฟฟ้า แต่ถ้าจะบอกว่ารถไฟฟ้าอีกยี่ห้อมาถูกกว่า ดีกว่าเป็นอีกเรื่อง หรือดีกว่าแต่ต้องจ่าย 3 ล้านบาทล่ะ หรือควรสปอร์ตแบบ Tesla คุณพร้อมจ่าย 7 ล้านไหมอันนั้นคุณซื้อได้อยู่แล้ว แน่นอนว่าตอนนี้ Vera V1 เป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่สามารถจดทะเบียนวิ่งได้จริง และราคาถูกสุดในไทยแล้ว
จะให้ไปแข่งกับรถน้ำมันเราไม่แข่งแล้วก็ไม่เทียบด้วยคือไม่ใช่พอยท์ของเรา เพราะรถน้ำมันยังเป็นเมเจอร์ เราเข้าใจในหลายอย่าง ขอเป็นแค่ฝุ่นธุลี ขอตอบสนองกลุ่มผู้ที่รักยานยนต์ไฟฟ้า ตอบสนองกลุ่มการศึกษาที่จำเป็นต้องมีรถ EV เช่น วิทยาลัยเทคนิค มหาวิทยาลัย ซึ่งควรจะมีรถไปรื้อไปซ่อมให้ได้รู้จักมอเตอร์ แบตเตอรี่สมัยใหม่เป็นอย่างไร
คุณจะไปบวกลบคูณหารว่าคุ้มกว่า ผมยังบอกว่ารถน้ำมันคุ้มกว่า ผมไม่ไปเถียงไปเปรียบเทียบว่ารถไฟฟ้าคุ้มกว่านะเพราะมันไม่ใช่ เรายอมรับความจริงก่อน เหมือนประเทศอื่นทำไมถึงต้องลดภาษีรถไฟฟ้าเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่เท่ากัน แต่เมื่อไม่มีกระบวนการตรงนี้ ตอนนี้จะให้รถไฟฟ้าตอบแทนเท่ารถน้ำมัน ผมไม่สู้ ผมโยนผ้าขาวดีกว่า เราไม่ได้โฟกัสคนเป็นแสน มันแค่หลักร้อยเท่านั้น
รถคันนี้เป็นมาตรฐานเรียกว่า M1 หรือรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 ที่นั่ง เป็นกลุ่มที่จดทะเบียนได้** เราทราบดีว่ามอเตอร์ไฟฟ้าหรือชุดขับเคลื่อนต้องมีขนาดไม่น้อยกว่า 15 กิโลวัตต์ ที่ระบุในสเปคว่า 15-30 กิโลวัตต์นั้นทางวิศวกรรมแปลว่า วิ่งต่อเนื่องได้ 15 กิโลวัตต์ ส่วน 30 กิโลวัตต์คือการใช้แบบชั่วขณะ เช่น 20-30 นาที ซึ่งผ่านมาตรฐานของกรมการขนส่งทางบกอยู่แล้ว
**มาตรฐาน ว่าด้วยรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน (รย.1) ของกรมการขนส่ง มีทั้งหมด 42 ข้อ (เริ่มในหน้า 7) คลิกอ่านได้ที่นี่
การบำรุงรักษา Vera V1 ?
ในส่วนของการบำรุงรักษา เรากำลังหาพาร์ทเนอร์ที่มีสาขาเยอะ ๆ กำลังติดต่ออยู่ เช่น ระบบกันสะเทือนที่อาจมีการสึกหรอจากการใช้งานและไม่ซับซ้อนมากนัก ส่วนพาร์ทที่เป็นอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งมีไม่มากอยู่แล้ว เช่น มอเตอร์นั้นค่อนข้างทนและมีอายุการใช้งานเกิน 10 ปี แต่ในส่วนของชุดคอนโทรลที่มีโอกาสเสียก็จะมีรองรับพร้อมเปลี่ยนและใช้งานได้ทันทีแบบ Plug & Play อันเป็นข้อดีของรถไฟฟ้า
ส่วนในเรื่องของแบตเตอรี่ที่ถือว่ามีราคาค่อนข้างแพง โดยปกติแล้วจะมีอายุการใช้งานถึง 3,000 วัน หากชาร์จทุกวันก็น่าจะเกิน 10 ปี เมื่อเริ่มเสื่อมเราสามารถที่จะแยกซ่อมให้ลูกค้าได้โดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนใหม่ทั้งชุด ส่วนขนาดและรูปแบบแบตเตอรี่ที่อาจเปลี่ยนไปในอนาคตนั้นย่อมมีมาตรฐานระดับหนึ่งอยู่แล้วจึงไม่น่าเป็นห่วงนัก
"สามารถเสียบกับปลั๊กมาตรฐาน สมอ. 3 ขั้ว ได้เลย ซึ่ง Vera V1 จะเป็น Normal Charge หรือการชาร์จแบบปกติแบบ Type 2 ตามที่ สมอ. ประกาศซึ่งเป็นสเปคเดียวกับยุโรป ยังไม่มีปลั๊กแบบควิกชาร์จเพราะเป็นรถซิตี้คาร์ไม่ได้ใหญ่มากขนาดนั้น หากไฟบ้านสามารถรองรับการติดแอร์ได้ก็ชาร์จไฟ Vera V1 ได้ไม่ต่างกัน"
ส่วนสถานีบริการชาร์จไฟที่ยังมีน้อยในปัจจุบัน แต่ด้วยระยะทางวิ่ง 180 กม. ของ Vera V1 ถือว่าเพียงพอสำหรับการเดินทางไป-กลับระหว่างวันและกลับมาชาร์จไฟที่บ้านได้
Vera V1 ลุยน้ำแล้วจะอันตรายหรือไม่ ?
ลุยน้ำได้ระดับหนึ่ง ความลึกน่าจะเป็นมาตรฐานแต่อย่างไรน่าจะด้อยกว่ารถน้ำมัน ซึ่งตัวที่อยู่ใต้สุดเป็นมอเตอร์ ด้านหน้าพื้นที่หลักจะยังเป็นแบตเตอรี่ แต่เรายังต้องเก็บข้อมูลว่าถ้าเจอกับน้ำท่วมจริง ๆ จะรับได้แค่ไหน พวกพาร์ทต่าง ๆ อย่างกล่องไฟฟ้าเป็นเกรดสำหรับรถยนต์ มีซีลหุ้ม ถ้าแช่เลยนั้นอาจจะเอาไม่อยู่
หลายเรื่องประเด็นร้อนเกี่ยวกับรถยนต์พลังไฟฟ้าสัญชาติไทย Vera V1 คงลงตัวมากขึ้น โดยรถยนต์จะพร้อมเผยโฉมต่อสาธารณชนในวันที่ 13 มกราคม 2560 โดยเปิดรับจองทันทีด้วยครับ
คลิปสัมภาษณ์แบบเต็ม