บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้จัดกิจกรรมทดสอบสมรรถนะ MG GS 2016 รถสปอร์ตเอสยูวีรุ่นใหม่ การขับขี่จากกรุงเทพฯ มุ่งหน้าสู่อำเภอกุยบุรีในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ รวมระยะทางกว่า 600 กิโลเมตร
"ผมว่ารุ่นขับสองเด้งกว่า" มีอีกเสียงพูดแทรก "ผมว่ารุ่นขับสี่เด้งกว่า" นี่คือการพูดในช่วง Q&A ที่แต่ละสื่อเห็นไม่ตรงกัน จบข้อสรุปนี้ไม่แน่ชัด แต่ที่แน่ ๆ รุ่นขับสองและขับสี่นี้ช่วงล่างมีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด.. และทาง MG ก็ยืนยันในเรื่องนี้
ขอเล่าย้อนไปเริ่มแรกทีมงานประปุกคาร์ได้มีโอกาสขับ MG GS 2.0TX AWD เป็นรุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อ เริ่มต้นช่วงแรกที่ออกจากสาทรไปศูนย์ MG สามพราน นครปฐม ไปต่อที่ราชบุรีเข้าหนองหญ้าปล้อง แล้วจึงทำการเปลี่ยนรถเป็นรุ่น MG GS 2.0TD 2WD เข้าปราณบุรีแล้วต่อไปกุยบุรี
ในการเทสต์ไดรฟ์ครั้งนี้ระยะทางไป-กลับร่วม 600 กม. มีจุดสลับเปลี่ยนคนขับ ได้มีโอกาสเล่นระบบอินโฟเทนเมนต์ของรถ ที่ถือว่ายอดเยี่ยมมากกับระบบ Inkanet รุ่นล่าสุดใน MG GS เมื่อเชื่อมต่อกับมือถือสามารถเช็กข้อมูลได้อย่างละเอียด และมีการแจ้งกลับมาที่มือถือเราทันที แต่จากการทดสอบก็มีบั๊กเล็ก ๆ แจ้งเตือนแบบรัวจนมือถือสั่นไม่หยุดเลยทีเดียว จนต้องยอมแพ้และตัดการเชื่อมต่อ
ด้านหน้าจอสัมผัสแม่นยำมีความสมูทใกล้เคียงกับสมาร์ทโฟน อีกทั้งมีการใส่ซิมโทรศัพท์ (ใช้พาร์ทเนอร์จากทรู) สามารถใช้โทรศัพท์จากรถ ปล่อยแชร์สัญญาณอินเทอร์เน็ตในรูปแบบไวไฟ และจากที่ทดสอบก็ยังมีการรวนบ้างเพราะสัญญาณ 3G จากหน้าจอหายไป ทำให้ระบบนำทางก็ขาดการเชื่อมต่อไปด้วย และในเรื่องนี้ก็ค่อนข้างมั่นใจว่ามีปัญหาจากการรับสัญญาณจากอินโฟเทนเมนต์ของรถเอง เพราะในโทรศัพท์ของผู้ทดสอบยังมีสัญญาณเหลืออยู่บ้าง (ทรูเหมือนกัน)
เรื่องของภายในห้องโดยสาร เบาะนั่งกระชับโอบตัวดีด้วยการออกแบบของเบาะ เฮดรูมเหลือเยอะสบายไม่อึดอัด ในรุ่นขับสี่เบาะนั่งคู่หน้าปรับด้วยไฟฟ้า และในขับสองรุ่นเบาะไฟฟ้าเฉพาะผู้ขับ ได้ยินเสียงลมเมื่อความเร็ว 110 กม./ชม. เป็นต้นไป MG GS มีการออกแบบให้เบาะหลังเอนได้มากกว่าปรกติ 14 องศา ทำให้เอนหลังนั่งสบายยิ่งขึ้น หรือหากต้องการที่เก็บของเพิ่มก็พับเบาะ 60:40 ได้
ด้านการขับขี่ก็มีความแตกต่างกันอย่างมากอย่างที่กล่าวไว้ด้านต้น แม้เครื่องยนต์จะเป็น เบนซินเทอร์โบ 2.0 ลิตร 4 สูบ 16 วาล์ว ไดเรกอินเจกชั่นให้พละกำลังสูงสุด 218 แรงม้าที่ 5,300 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 350 นิวตันเมตร ที่ 2,500-4,000 รอบต่อนาที แต่รุ่นขับสองจะมีน้ำหนักรถสุทธิน้อยกว่า 100 กก. พร้อมการปรับจูนช่วงล่างที่แตกต่างกัน
ชุดเรือนไมล์ในโหมดธรรมดา
ชุดเรือนไมล์ในโหมดสปอร์ต
ต้องขอบอกไว้ว่าเครื่องยนต์ MG GS ที่มีการโฆษณาว่า 0-100 กม./ชม. ใน 8.2 วินาที เป็นของจริงเพราะยามใดที่เครื่องยนต์ทำรอบถึงเทอร์โบ จะมีแรงกระชากอย่างเห็นได้ชัด ยิ่งการปรับที่โหมดสปอร์ต ชุดเรือนไมล์จะเปลี่ยนเป็นสีแดงเร้าอารมณ์มากขึ้น พร้อมการขับขี่ที่ ECU ให้ลากรอบเครื่องยนต์ได้สูง รีดสมรรถนะได้เต็มที่
แต่เรื่องที่ชวนหงุดหงิดคือเมื่อรถติดและมีการไหลปานกลาง เครื่องยนต์ที่ไม่ใช้เทอร์โบมีแรงน้อยแบบไหลเฉื่อย ๆ และหากเผลอกดคันเร่งเกินไปก็เจอแรงกระชาก ทำให้ต้องปรับตัวตามบุคลิกรถพอสมควร
บนเส้นทางจากปราณบุรี-กุยบุรีมีทางโค้งคดเคี้ยวพอสมควร ได้ทดสอบความเกาะถนนเป็นอย่างดี เทโค้งที่ความเร็ว 70 กม./ชม. รถก็ยังนิ่ง ๆ ถือว่าดีเยี่ยมสไตล์รถเอสยูวีที่ยกสูง พวงมาลัยเป็นไฟฟ้าทำให้เบา ควบคุมง่ายเมื่อรถอยู่ในความเร็วต่ำ ปรับหนักขึ้นและนิ่งเมื่อใช้ความเร็วสูง
ในส่วนการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงจากการวิ่งจริงก็แตกต่างกัน โดยในรุ่นขับเคลื่อน 2 ล้อได้ค่าเฉลี่ยที่ 8.9 กม./ลิตร เมื่อจบทริป ส่วนในรุ่นขับเคลื่อนสี่ล้อ ถูกสลับช่วงกลางทางเช็กอัตราสิ้นเปลืองได้ที่ 7.8 กม./ลิตร
สรุปส่วนตัวจากผู้เขียน
หลังจากที่ทดสอบขับมาต้องบอกเลยว่า MG GS เป็นรถที่มีบุคลิกเฉพาะตัวเป็นอย่างมาก ซึ่งมีทั้งส่วนที่ขัดใจ และถูกใจแตกต่างกันไป และจากปัญหาช่วง Q&A ในข้างต้น ก่อนวันงานเทสต์ไดรฟ์ผู้ทดสอบเพิ่งใช้เส้นทางหนองหญ้าปล้องมา ก็อยากบอกว่ารถเก๋งเองก็เด้ง ๆ เหมือนกัน และสันนิษฐานได้ว่าที่เสียงแตก เพราะมีการสลับรถหลังหลุดถนนเส้นหนองหญ้าปล้องพอดี
โดยส่วนตัวแล้วผู้ทดสอบว่ารุ่นขับสองและขับสี่ไม่ต่างกันมากแต่การบังคับในรุ่นขับสองง่ายกว่า การเลี้ยวไม่มีล้อฝืน รวมถึงการออกตัวในรอบต่ำลื่นกว่าเล็กน้อย
- ด้านการขับความแรงนั้นหายห่วง อยากเร่งอยากแซงสบาย ๆ ไม่ต้องกังวล แต่เมื่อคิกดาวน์มาอาจมีการหน่วงก่อนพุ่งเล็กน้อย ซึ่งทาง MG ชี้แจงว่าจงใจให้เป็นเช่นนั้น กันอุบัติเหตุที่อาจเกิดจากผู้ขับขี่ผิดพลาดหรือตกใจ และเรื่องนี้ก็เป็นหน้าที่ของเจ้าของรถที่ควรเรียนรู้นิสัยรถ
- ระบบครูสคอนโทรลวางตำแหน่งที่ใช้ยาก.. หากมองรูปพวงมาลัย จะสังเกตได้เลยว่ามองไม่เห็นครูสคอนโทรลเพราะถูกก้านพวงมาลัยบังมิด แต่หากสังเกตพวงมาลัยสวิตช์ฝั่งขวายังปล่อยว่างอยู่ เป็นอีกส่วนที่ผู้ทดสอบเห็นความขาด ๆ เกิน ๆ ด้านการออกแบบ
- แสงแดดส่องเต็มหน้า.. ยามมองวัสดุภายในของ MG GS มีทั้งการตกแต่งเปียโนแบล็ก และกรอบโครเมียมที่ช่องแอร์ด้านหน้าก็ดูสวยดี แต่เมื่อนั่ง ๆ ไปกลับเจอปัญหาเสียอย่างนั้น แดดส่องครับ และสะท้อนแบบจริงจังชนิดที่ว่าหลับตาไม่ลง มองไปด้านหน้าก็มีแอบปวดตา
- ช่องเสียบ USB ไม่มี ในรถยนต์รุ่นใหม่ ๆ เวลานี้มักจะมาพร้อมกับช่องชาร์จไฟแบบ USB อยากน้อยสักช่อง แต่ใน MG GS ไม่มีเลย มีช่องไฟ 12V ใครที่เอาไปติดกล้องบันทึกภาพก็จะไม่มีช่องเหลือชาร์จมือถือเลย
แต่มาถึงตรงนี้ที่พูดมามันเป็นจุดที่น่าปรับปรุงเพียงเท่านั้น แต่สรุปแล้วในด้านขับขี่ MG GS ให้ฟีลลิ่งที่สนุกแรง ยกนิ้วให้เครื่อง 2.0 ลิตร การบังคับแม่นยำ แน่นเกาะถนน ฟีเจอร์อัดแน่น (เช็กรายละเอียดทั้งหมดเกี่ยวกับรถได้ที่นี่) พร้อมระบบ inkanet ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของ MG แถมต่อไปแว่ว ๆ มาว่าจะพัฒนาให้สตาร์ทรถรอได้
คราวนี้ขอเน้น ๆ เรื่องการขับขี่และสิ่งที่พบเจอนอกเหนือจากสเปกชีตจริง ๆ ครับ
ราคาจำหน่าย MG GS
MG GS 2.0TD 2WD ราคา 1,210,000 บาท
MG GS 2.0TX AWD ราคา 1,310,000 บาท
ขอขอบคุณทาง เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) ที่เชิญไปทดสอบรถไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ