9 เรื่องรถและการขับขี่ที่วัยรุ่นควรรู้

เริ่มต้นขับรถ

 
          เมื่อมีอายุครบ 18 ปีบริบูรณ์ก็ถึงเกณฑ์ที่บรรดาวัยรุ่นหนุ่มสาวสามารถทำใบขับขี่ได้ แม้จะขับรถได้คล่อง และสอบใบขับขี่ได้ผ่านฉลุย แต่เมื่ออยู่บนท้องถนนจริง ๆ เหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดหลาย ๆ อย่างก็สามารถเกิดขึ้นได้ อีกทั้งบางสถานการณ์ยังเป็นสถานการณ์ใหม่ที่ผู้ขับขี่มือใหม่ยังไม่เคยประสบมาก่อน เพื่อเตรียมตัวให้พร้อมเผื่ออาจเกิดเหตุการ์เช่นนี้ขึ้นมาจริง ๆ นี่คือ 9 สิ่งเกี่ยวกับรถและการขับขี่ที่นักขับวัยรุ่นควรรู้เอาไว้ครับ

9 เรื่องรถและการขับขี่ที่วัยรุ่นควรรู้

9 เรื่องรถและการขับขี่ที่วัยรุ่นควรรู้

 
   1. จะทำอย่างไรเมื่อตำรวจจราจรเรียกให้หยุด ?

          เมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่ถูกตำรวจจราจรเรียกให้หยุด หรือต้องขับผ่านด่านตรวจ ให้หยุดรถ ลดกระจกลงเต็มบาน เผยให้เห็นมือทั้งสองข้างที่ไม่ได้หลบหรือซุกไว้ที่ไหน อย่าเคลื่อนไหวตัวแบบทันทีทันใดอันจะทำให้คุณดูมีพิรุธ 
 
    2. ต้องทำอย่างไรเมื่อยางแบน ?

          หากจู่ ๆ ยางรถเกิดแบนขึ้นมา ให้พยายามขับประคองรถจอดที่ข้างทางทันที ในกรณีที่ไม่มีอุปกรณ์และไม่มีทักษะเรื่องการเปลี่ยนยาง หากอยู่บนถนนให้โทรเรียกประกันเพื่อทำการติดต่อกับรถลากเพื่อมาเคลื่อนย้าย หรือถ้าอยู่บนทางด่วนให้โทร 1543 ติดต่อเจ้าหน้าที่การทางพิเศษโดยเฉพาะ 
 
    3. เมื่อรถมีอาการผิดปกติควรปฏิบัติอย่างไร ?

          หากมีสัญญาณใด ๆ ให้สังเกตได้ว่าเกิดความผิดปกติขึ้นกับรถ ไม่ว่าจะเป็นเสียงเครื่องยนต์ดังหรือสั่นมากผิดปกติ มีควันที่ไม่ใช่ควันรถออกมาจากท่อไอเสีย ได้กลิ่นไหม้หรือกลิ่นผิดปกติของวงจรรถ ฯลฯ ให้จอดแล้วออกมาจากรถ จากนั้นโทรแจ้งศูนย์หรืออู่ที่ดูแลรถทันที ส่วนกรณีที่สัญญาณไฟรูปเครื่องยนต์ติดขณะกำลังขับขี่หลังจากที่คุณเพิ่งเติมน้ำมันมา อาจเกิดจากการปิดฝาถังน้ำมันไม่สนิท ให้ลองตรวจเช็คปัญหาดูเบื้องต้น หากแก้ไขแล้วไม่หายให้ประสานไปยังศูนย์ต่อไป
 
   4. ทำอย่างไรเมื่อเพื่อนดื่มเหล้าแล้วจะขับรถกลับบ้าน ?

          แม้จะเป็นผู้ที่อายุยังไม่ถึงเกณฑ์ทำใบขับขี่ก็ยังรู้ดีว่า "ดื่ม (แล้วต้อง) ไม่ขับ" หากคุณและเพื่อนออกไปดริ๊งค์ด้วยกันและอยู่ในอาการกรึ่ม ๆ ทั้งคู่ ปัญหามาเกิดเอาตอนจะกลับบ้านเพราะเพื่อนตัวดียืนยันว่าจะขับรถกลับบ้านให้ได้ ไม่ว่าจะยืนยันว่ายังไม่เมาหรือดูมีสติแค่ไหนก็ตาม ทางที่ดีคุณไม่ควรนั่งรถไปด้วย และไม่ปล่อยให้เพื่อนขับรถกลับไปเด็ดขาด โทรเรียกผู้ปกครอง พี่ หรือคนสนิทให้มารับ หรือจะนั่งแท็กซี่ไปด้วยกันก็ได้ นอนเสียให้สร่าง รุ่งเช้าจึงค่อยมารับรถขับกลับบ้านอีกที แบบนี้ปลอดภัยหายห่วง
 
    5. โทรศัพท์ขณะขับขี่ มีวิธีทำให้ปลอดภัยไหม ?

          การโทรศัพท์ขณะขับขี่เป็นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนมาหลายครั้งแล้ว เพราะมือที่ถือโทรศัพท์เป็นอุปสรรคต่อการบังคับพวงมาลัย และทำให้เสียสมาธิไปกับการคุยแทนที่จะสนใจหนทางที่อยู่เบื้องหน้า และในปัจจุบันการใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับรถนั้นก็ผิดกฎหมายตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก โดยมีโทษปรับระหว่าง 400-1,000 บาท เว้นเสียแต่การโทรศัพท์โดยใช้อุปกรณ์เสริมอย่างสมอลล์ ทอล์ค ,แฮนด์ ฟรี หรือการเชื่อมต่อเข้ากับระบบบลูทูธของรถ นอกจากนี้ยังไม่ควรส่ง sms ขณะขับรถแม้ว่าจะเป็นช่วงที่รถกำลังติดไฟแดงก็ตาม 

9 เรื่องรถและการขับขี่ที่วัยรุ่นควรรู้

9 เรื่องรถและการขับขี่ที่วัยรุ่นควรรู้
  
   6. เลือกอู่ไหนถึงใช่ที่สุด ?

          หากไม่สะดวกจะไปศูนย์รถยนต์ของคุณ อาจเป็นการยากสำหรับนักขับรุ่นเล็กและยังมือใหม่ที่จะเลือกใช้บริการอู่ซ่อมรถสักแห่งเพราะไม่รู้จะวางใจที่ไหนได้มากที่สุด ในเบื้องต้นคุณสามารถสอบถามเพื่อน คนรู้จัก หรือญาติ ๆ ของคุณได้ว่ามีอู่ซ่อมรถดี ๆ แนะนำหรือไม่ ซึ่งคุณเองก็ยังไม่จำเป็นต้องตัดสินใจเลือกแห่งบใดแห่งหนึ่งในทันที คุณสามารถเจรจากับอู่แห่งหนึ่ง และเปิดทางให้เขาทราบว่าคุณก็กำลังมองหาอู่แห่งอื่นที่อาจดีกว่าและมีราคาถูกกว่า เพื่อป้องกันการถูกอู่ซ่อมรถโก่งราคาด้วย
 
     7. เมื่อเกิดอุบัติเหตุเฉี่ยวชนกับรถคันอื่นต้องปฏิตัวอย่างไร ?

          อุบัติเหตุที่ไม่คาดฝันสามารถเกิดขึ้นได้เสมอบนท้องถนน หากเกิดเหตุเฉี่ยวชนกับรถคันอื่น ให้เปิดไฟกะพริบแล้วเบนรถจอดข้างทาง แจ้งเจ้าหน้าที่จราจรในบริเวณนั้นเพื่อรายงานอุบัติเหตุ แลกเปลี่ยนรายละเอียดและเบอร์ติดต่อประกันกับคู่กรณี เลี่ยงจะถกเถียงหาว่าใครเป็นฝ่ายผิด แต่ให้โทรเรียกประกันของตัวเองมาไกล่เกลี่ยเป็นดีที่สุด นอกจากนี้ควรใช้กล้องหรือโทรศัพท์มือถือถ่ายภาพ ณ จุดเกิดเหตุ และสภาพความเสียหายของรถคุณและคู่กรณีเอาไว้ด้วย
 
     8. ควรปฏิบัติตัวอย่างไรเมื่อต้องขับรถขณะฝนตก ?

          ให้ลดความเร็วลงจากปกติ เปิดไฟต่ำหากทัศนวิสัยไม่ดี หรือถ้าแย่มาก ๆ สามารถใช้ไฟตัดหมอกได้ แต่ไม่ควรใช้ไฟสูงเพราะจะสะท้อนกับสายฝนทำให้ผู้ใช้รถคันอื่นมองไม่เห็นทาง เปิดที่ปัดน้ำฝน และเพิ่มระยะห่างระหว่างรถของคุณและรถคันข้างหน้า เลี่ยงการเหยียบเบรคแรง ๆ เพราะอาจทำให้ล้อล็อก และรถเกิดการสะบัด อันนำไปสู่อุบัติเหตุได้
 
     9. รับมือกับสถานการณ์กวนอารมณ์บนท้องถนนอย่างไรไม่ให้เกิดความสูญเสีย ?

          หลายครั้งอุบัติเหตุบนท้องถนนก็ไม่ได้เกิดขึ้นจากความประมาทหรือพลั้งเผลอ แต่เกิดจากการที่ผู้ขับขี่ไม่สามารถทนต่อความกดดัน หรือแรงยั่วยุจากผู้ใช้รถรายอื่น ๆ ที่มาก่อกวนได้ เช่น ขับปาดป่าย ขับแทรก เบรคกะทันหัน ฯลฯ ไม่ว่าฝ่ายตรงข้ามจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม อย่าเพิ่งให้อารมณ์โกรธเข้าครอบงำ อย่าตอบโต้ด้วยการขับรถปาดไปปาดมาเป็นการเอาคืน หายใจเข้าลึก ๆ เพื่อสงบสติอารมณ์ ขับรถไปตามปกติของคุณ หรือเปลี่ยนเส้นการเดินทางหากเป็นไปได้ ท่องเอาไว้ในใจเสมอว่า "การเอาคืนกันด้วยเรื่องเช่นนี้บนท้องถนนเป็นเรื่องที่ไม่คุ้มจะเสี่ยงเลย เพราะอุบัติเหตุที่ร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา" ยอมเสียอารมณ์เสียเวลาสักนิด ดีกว่าต้องเสียทรัพย์หรือเสียชีวิตเป็นไหน ๆ 
 
          ด้วยอายุยังน้อย อารมณ์ที่ยังขึ้น ๆ ลง ๆ ได้ง่าย และประสบการณ์บนท้องถนนที่ยังมีไม่มากพอ นักขับรุ่นเล็กจึงเป็นกลุ่มผู้ใช้รถที่ควรมีความระมัดระวังในการขับขี่เป็นพิเศษ ผู้ขับควรคำนึงถึงการดูแลตัวเอง เรียนรู้การดูแลรถ รวมทั้งดูแลสวัสดิภาพบนท้องถนนของผู้ใช้รถใช้ถนนคนอื่น ๆ ไปพร้อม ๆ กันด้วย 9 ข้อควรรู้เหล่านี้เป็นเรื่องการใช้รถใช้ถนนเบื้องต้นที่นักขับวัยรุ่นอย่างคุณ "ต้องปฏิบัติตามให้ได้" นะครับ 





เรื่องที่คุณอาจสนใจ
9 เรื่องรถและการขับขี่ที่วัยรุ่นควรรู้ อัปเดตล่าสุด 13 กุมภาพันธ์ 2556 เวลา 11:23:14 2,523 อ่าน
TOP
x close