1. รถยนต์ประเภท PPV แบบไฮบริด ขนาดความจุกระบอกสูบไม่เกิน 3,250 ซี.ซี. และปล่อย CO2 ไม่เกิน 175 กรัม/กิโลเมตร ได้รับการลดอัตราภาษีสรรพสามิตเหลือ 23 เปอร์เซ็นต์ (เดิมเก็บที่ 25-30 เปอร์เซ็นต์ ขึ้นอยู่กับอัตราการปล่อย CO2) ทั้งนี้รถประเภทดังกล่าวต้องมีคุณลักษณะ มาตรฐานความปลอดภัยเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
2. รถกระบะประเภท 4 ประตู ดับเบิลแค็บแบบไฮบริด ขนาดความจุกระบอกสูบไม่เกิน 3,250 ซี.ซี. และปล่อย CO2 ไม่เกิน 175 กรัม/กิโลเมตร ได้รับการลดอัตราภาษีสรรพสามิตเหลือ 10 เปอร์เซ็นต์ (เดิมเก็บที่ 12-15 เปอร์เซ็นต์ ขึ้นอยู่กับอัตราการปล่อย CO2) ทั้งนี้รถประเภทดังกล่าวต้องมีคุณลักษณะเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
3. รถยนต์นั่งแบบไฮบริด ขนาดความจุกระบอกสูบไม่เกิน 3,000 ซี.ซี ได้รับการลดอัตราภาษีสรรพสามิตลงครึ่งหนึ่ง (เหลือ 5 และ 10 เปอร์เซ็นต์) จากอัตราภาษีเดิม (10-20 เปอร์เซ็นต์ ขึ้นอยู่กับปริมาณการปล่อย CO2) ที่ได้รับการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตอยู่แล้ว
4. รถยนต์นั่งแบบพลังงานไฟฟ้าล้วน (Electric Vehicle) ลดอัตราภาษีสรรพสามิตเหลือ 2 เปอร์เซ็นต์ จากเดิม 10 เปอร์เซ็นต์ สำหรับรถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารมีที่นั่งไม่เกิน 10 คน
5. ทั้งนี้ผู้ผลิตหรือจำหน่ายรถยนต์ที่จะได้รับการลดอัตราภาษีสรรพสามิตตามข้อ 3 และข้อ 4 นอกจากจะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ลดอัตราและยกเว้นภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ 27) ลงวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ลดอัตราและยกเว้นภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ 109) ลงวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2556 แล้ว จะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขเพิ่มเติม ดังนี้
5.1 ต้องได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนผลิตรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าจากสํานักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)
5.2. ต้องยื่นหนังสือแจ้งความประสงค์ขอรับการลดอัตราภาษีสรรพสามิต และทำข้อตกลงกับกรมสรรพสามิต "ก่อนเริ่มทำการผลิต" รถยนต์แบบไฮบริด (HV) หรือรถยนต์แบบพลังงานไฟฟ้า (EV) ภายในวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2563
5.3. "ตั้งแต่ปีที่ 4" นับแต่วันที่ลงนามในข้อตกลงกับกรมสรรพสามิตจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2568 รถยนต์แบบไฮบริด (HV) หรือรถยนต์แบบพลังงานไฟฟ้า (EV) ทุกคันที่ผลิต "ต้องใช้แบตเตอรี่ที่ผลิตหรือประกอบจากผู้ที่ได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนจาก BOI เท่านั้น" ไม่ว่าจะเป็น ลิเธียมไอออน, นิกเกิลเมทัลไฮไดรด์ หรือแบตเตอรี่ประเภทอื่นที่ให้พลังงานจำเพาะโดยน้ำหนัก (Wh/kg) ที่สูงกว่าประเภทลิเธียมไอออน หรือนิกเกิลเมทัลไฮไดรด์
6. การลดอัตราภาษีสรรพสามิตตามข้อ 3 และข้อ 4 ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2568
7. ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
แน่นอนว่าการปรับลดภาษีสรรพสามิตให้กับรถยนต์ไฮบริด (HV) และรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ในไทย ย่อมส่งผลให้รถกลุ่มดังกล่าวนั้นมีราคาจำหน่ายที่ถูกลง แต่ประเด็นคือส่วนต่างที่ลดลงนั้นเพียงพอที่จะ "จูงใจ" ให้คนส่วนใหญ่ (ที่สนใจอยู่แล้วนั้น) ตัดสินใจซื้อหามาใช้ได้หรือไม่ เนื่องจากเทคโนโลยีเหล่านี้ยังมีราคาที่ค่อนข้างสูงโดยเฉพาะรถไฟฟ้าล้วน (EV) เช่น แบตเตอรี่ ส่งผลไปถึงความกังวลในเรื่องของการบำรุงรักษาหลังจากหมดเงื่อนไขการรับประกัน (ราคานั้นลองสอบถามผู้ผลิตรถยนต์ได้โดยตรง เพราะมักจะไม่บอกออกมาชัด ๆ เหมือนความแรงและความประหยัดที่ทำได้ว่าแพงขนาดไหนนอกจากบนใบเสร็จซึ่งชัดเจนและกระแทกตามากเป็นพิเศษ)
อย่างไรก็ตามตราบใดที่ราคาของเทคโนโลยียังอยู่ในระดับสูง การปรับลดภาษีสรรพสามิตอาจไม่ช่วยให้คนส่วนใหญ่ (ที่ไม่ได้มีเงินถุงเงินถัง) สามารถตัดสินใจหันมาใช้รถยนต์ไฮบริด (HV) หรือรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ได้มากนัก แม้จะอยากใช้มากแค่ไหนก็ตาม แต่อย่างน้อยหากมองแบบโลกสวยก็น่าจะเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับประเทศไทยของเรา
ที่มา ratchakitcha.soc.go.th