รถยนต์พระที่นั่งในหลวง ร.9 เมื่อครั้งทรงพระเยาว์ ที่ทรงมีพระราชนิยม Delahaye, Salmson และ Mercedes-Benz


          ความผูกพันระหว่างรถยนต์กับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เริ่มต้นตั้งแต่ครั้งยังทรงพระเยาว์ มีแรงบันดาลพระราชหฤทัยมาจากสมเด็จพระบรมราชชนนี (พระมารดาของในหลวง ร.9) และการท่องเที่ยวโดยรถยนต์ในภูมิประเทศแถบประทับ ณ เมืองโลซาน สวิตเซอร์แลนด์ติดกับฝรั่งเศส

          สมเด็จพระบรมราชชนนีโปรดเมืองโลซานด้วยเคยโดยเสด็จกับสมเด็จพระบรมราชชนก (พระบิดาของในหลวง ร.9) มาก่อน โลซานเป็นเมืองที่มีอากาศดี รวมถึงเป็นเมืองศูนย์กลางทางการศึกษาจึงเหมาะกับการเป็นที่พำนักของพระโอรสทั้งสองพระองค์
รถในหลวง
Delahaye 134

รถในหลวง
Delahaye 134

         พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเริ่มสนพระราชหฤทัยรถเดอลาเฮย์ (Delahaye) ซึ่งเป็นรถชั้นสูง ผลิตที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส มีรูปทรงสวยงามเป็นที่นิยมในสวิตเซอร์แลนด์ จากพระประสบการณ์การท่องเที่ยวเมื่อทรงพระเยาว์นี้เอง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ และพระราชชนนีได้ประพาสแบบส่วนพระองค์ด้วยรถ Delahaye และซาล์มซง (Salmson) เปิดประทุน โดยแบรนด์หลังถือว่าเป็นรถเทคนิคสูงจากผู้ผลิตเครื่องบิน และรถยนต์แห่งบูโลญ ประเทศฝรั่งเศส รูปร่างเรียบง่าย หรูหราน้อยกว่าแบบรถใช้งานทั่วไปหรือขับเที่ยวตามปกติ 

รถในหลวง
Delahaye 134

รถในหลวง
Salmson S4 Berline

         รถองค์ (คัน) ต่อมาเป็น เมอร์เซเดส-เบนซ์ เนอร์เบิร์ก 500 ผลิตโดย Pullman (Mercedes-Benz Nürburg 500 คันในภาพเป็นคันที่ทรงใช้จริง) รถยนต์พระที่นั่งที่รัฐบาลไทยจัดถวายเพื่อให้สมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 8 โดย Mercedes-Benz Nürburg 500 แม้ว่าเป็นแชสซีส์รุ่นรองลงมาจาก Mercedes-Benz 770K Grosser แต่ก็ยังถือว่าเป็นรถที่ใหญ่โต และโอ่อ่ามากสำหรับยุคสมัยนั้น โดย 3 แบรนด์นี้เป็นรถยนต์พระที่นั่งขณะทรงพำนักในสวิตเซอร์แลนด์ทั้งสิ้น

รถในหลวง
รัชกาลที่ 8 กับ Mercedes-Benz Nürburg 500

รถในหลวง
Mercedes-Benz 500 Nürburg หมายเลข 559 จากจำนวนผลิต 931 คัน ตัวถังสร้างโดย Pullman ในแบบ Limousine Landaulet (Limousine = เป็นแบบฐานล้อยาว มักมีกระจกกั้นภายในระหว่างห้องโดยสารกับห้องคนขับ, Landaulet = หลังคาส่วนหลังเป็นประทุนผ้าใบ เปิดประทุนหลังคาส่วนหลังได้)

         อย่างไรก็ตามก่อนที่พระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์จะเสด็จพระราชดำเนินไปยังสวิตเซอร์แลนด์นั้นได้ทรงรถยนต์พระที่นั่งหลวงในประเทศไทยที่สืบทอดมาจากรัชกาลก่อน ๆ บ้างแล้ว เช่น แวนเดอเรอร์ตอนเดียว (Wanderer), เฟียตตอนเดียว (Fiat Tipo 101) และเดมเลอร์ (Daimler 25/45 HP) เพียงแต่จะกล่าวถึงเฉพาะรถที่ทรงใกล้ชิดเมื่อประทับอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์เป็นหลักเท่านั้น

         ในช่วงต่อจากนี้จะเป็นเรื่องราวขณะที่ในหลวง ร.9 ทรงเจริญชนมพรรษา และเริ่มฝึกขับรถด้วยรถยนต์อย่าง Fiat 500 มานำเสนอต่อไปครับ


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
นพ. สมคนึง ตัณฑ์วรกุล

ภาพจาก หนังสือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และเจ้านายไทยในโลซานน์, เกิดวังปารุสก์, ทวิตเตอร์ @aorwiki และ เฟซบุ๊ก Thailand image

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รถยนต์พระที่นั่งในหลวง ร.9 เมื่อครั้งทรงพระเยาว์ ที่ทรงมีพระราชนิยม Delahaye, Salmson และ Mercedes-Benz อัปเดตล่าสุด 22 กรกฎาคม 2564 เวลา 17:39:11 28,298 อ่าน
TOP