กรมการขนส่งทางบก จ่อออกกฎหมายให้ผู้ขับขี่บิ๊กไบค์ต้องมีใบอนุญาตเฉพาะ พร้อมบังคับให้ผู้ขับขี่ต้องมีอายุ 18 ขึ้นไป จึงจะสามารถทำใบขับขี่ได้
วันที่ 6 มีนาคม 2559 กรมการขนส่งทางบก พบว่า ยอดการจดทะเบียนรถจักรยานยนต์ที่มีขนาดกระบอกสูบมากกว่า 150 ซี.ซี. หรือ บิ๊กไบค์ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2557 มียอดจดทะเบียน 48,716 คัน, ปี 2558 มียอดจดทะเบียน 54,475 คัน และมียอดสูงขึ้นในช่วงต้นปี 2559 รวมทั้งสถิติการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนร้อยละ 90 เกิดจากรถจักรยานยนต์บิ๊กไบค์
โดย พ.ต.อ. เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ รอง ผบก.จร. เปิดเผยว่า ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์บิ๊กไบค์มีอายุตั้งแต่ 14-50 ปี และพบว่าอุบัติเหตุช่วงหลังจะเกิดกับรถบิ๊กไบค์ที่ผู้ขับขี่ขาดทักษะ ส่วนใหญ่จะเป็นเด็กนักเรียนระดับมัธยมศึกษาที่ปัจจุบันสามารถเข้าถึงรถจักรยานยนต์บิ๊กไบค์ที่มีราคาค่อนข้างแพงได้มากขึ้น เนื่องจากมีระบบเงินผ่อน มีวงเงินดาวน์ไม่มากและส่วนหนึ่งมาจากบริษัทผู้ผลิตมาตั้งฐานการผลิตในไทย ทำให้มีราคาถูกลง โดยสามารถแบ่งผู้ขับขี่ได้เป็น 3 กลุ่ม คือ
1. กลุ่มผู้ใหญ่อายุมากจะขี่รถจักรยานยนต์แพง ๆ คันเป็นล้าน
2. กลุ่มวัยทำงานที่มีความจำเป็นต้องใช้รถขนาดใหญ่ ขนาดกลาง
3. กลุ่มวัยรุ่น คือเด็กมัธยมถึงระดับอุดมศึกษา ซึ่งกลุ่มนี้น่าห่วงเพราะวุฒิภาวะยังน้อย ขาดทักษะในการขับขี่ เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ และบ่อยครั้งสร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่น ด้วยการแต่งท่อไอเสียที่เสียงดังเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด
ด้านนายชาติชาย แซ่ลิ้ม ครูฝึกขี่บิ๊กไบค์ HO Racing School กล่าวว่า กระแสบิ๊กไบค์กำลังอยู่ในความสนใจของเยาวชน ผู้ขับขี่จำนวนไม่น้อยเป็นคนในกลุ่มนี้ และบ่อยครั้งอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นของบิ๊กไบค์ผู้ขี่มักเป็นวัยรุ่นอายุยังน้อย ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่คิดว่าไม่ต้องเรียนก็ขับได้ทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อย และทุกครั้งที่ซื้อรถบิ๊กไบค์จะมีคอร์สเรียนให้อยู่แล้วแต่ส่วนใหญ่ไม่เรียนเพราะคิดว่าขี่ได้แล้ว แต่การที่ขี่บิ๊กไบค์ได้กับขี่เป็นต่างกัน ผู้ปกครองที่คิดจะซื้อรถบิ๊กไบค์ลูกต้องดูความเหมาะสมและพฤติกรรมของลูกด้วย
ครูฝึกขี่บิ๊กไบค์ กล่าวต่อว่า ในปี 2559 คงจะมีการทำใบขับขี่ประเภทรถขนาดใหญ่ออกมาให้เห็นเป็นรูปธรรม โดยกองบังคับการตำรวจจราจร กรมการขนส่งทางบก และผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนี้มีมติให้รถที่มีความจุกระบอกสูบ 400 ซี.ซี.ขึ้นไป และผู้ที่สอบต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไปถึงจะสามารถทำใบขับขี่รถขนาดใหญ่ได้ ซึ่งในต่างประเทศมีการนำมาบังคับใช้และมีประสิทธิภาพจึงนำมาปรับใช้ในประเทศไทย ในอนาคตอาจจะต้องมีสถาบันการฝึกอบรมการขี่รถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่โดยเฉพาะทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ โดยครูฝึกจะเป็นผู้ประเมินว่าผ่านหรือไม่
ภาพจาก เฟซบุ๊ก เรื่องจริงยิ่งกว่านี้อีก
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก