อาการเครื่องหลวม กระบะแรงตก จากที่รถมีอายุเยอะ วันนี้เรามีเคล็ดลับดี ๆ จาก อ.นันท์ ภักดี นักวิชาการอิสระด้านพลังงานทดแทน เคยพูดถึงเรื่องการนำน้ำมันพืชมาเป็นหัวเชื้อ เติมผสมกับน้ำมันดีเซล
โดยเรื่องราวถูกเผยแพร่ผ่านทางเฟซบุ๊กของ Somchettana Chaiyalap เล่าว่า
"เกร็ดความรู้พลังงานจาก อ.นันท์...รถโตโยต้าวีโก้ อายุ 11 ปี บนเส้นทาง 6 แสนกว่ากิโลเมตร ในการเดินสายเผยแพร่พลังงานแสงแดด "โซลาร์เซลล์" วันนี้เครื่องหลวม เร่งไม่ออก ไม่มีแรงขึ้นเขา กินน้ำมันจุพอควรที่ 10 กม./ลิตร...ช่างบอกว่า "อาจจะต้องเปลี่ยนเครื่องยนต์หรือยกเครื่องใหม่"
...แต่ช้าก่อน ลองเติมน้ำมันพืช 2 ลิตร ต่อน้ำมันดีเซล 30 ลิตร (ประมาณน้ำมัน B6)...ผลปรากฏว่าตอนนี้ กินน้ำมันน้อยลงเป็น 14 กม./ลิตร เร่งออก แม้บรรทุกของกว่า 700 กก. ขึ้นทางชัน...อ.นันท์ อธิบายว่า น้ำมันพืชส่งผลต่อเครื่องดังนี้
1. ฟิล์มหล่อลื่นระหว่างลูกสูบปั๊มคอมมอนเรล ทำให้แรงดันปั๊มสูงขึ้นกว่าเดิม
2. ฟิล์มหล่อลื่นระหว่างลูกสูบกับเสื้อสูบ ทำให้ลดช่องว่างที่เกิดจากการสึกหรอ อัตราส่วนกำลังอัดจะสูงเหมือนรถใหม่
3. สามารถผสมได้ดีกับน้ำมันดีเซล ทำให้จุดวาบไฟของดีเซลสูงขึ้น การเผาไหม้ดีขึ้น อุณหภูมิไอเสียต่ำลงกว่าการใช้น้ำมันดีเซลอย่างเดียว..
ไม่ต้องผ่า/เปลี่ยนเครื่องยนต์ ประหยัดน้ำมัน ทำได้ทันที..." พร้อมกับโพสต์รูปที่ อ.นันท์ ภักดี เทน้ำมันพืชลงไปก่อนให้ทางปั๊มเติมน้ำมันดีเซลลงไป
โดยเหตุนี้เราจึงหาข้อมูลเพิ่มเติม กับข้อสงสัยในประเด็นดังกล่าวมาบอกต่อครับ
ว่ากันตรง ๆ น้ำมันพืชบรรจุขวดก็คือ น้ำมันไบโอดีเซล B100 ที่สะอาดจนสามารถนำมาใช้ประกอบอาหารได้ เหมาะกับเครื่องยนต์ดีเซลรอบต่ำเท่านั้น เมื่อใช้กับเครื่องยนต์แล้วก็สะอาดมากกว่าน้ำมันดีเซลจากปิโตรเลียม
แต่สูตรน้ำมันไบโอดีเซล B100 เหมาะกับเครื่องยนต์ดีเซลรอบต่ำเท่านั้น และหากใช้กับเครื่องรถยนต์ควรผสมเพื่อเป็นหัวเชื้อจะดีกว่า เพราะการจุดระเบิดในห้องเครื่องจะแรงกว่าน้ำมันดีเซลจากปิโตรเลียม
ยืนยันด้วยข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงานของ ของกระทรวงพลังงาน ที่ตีพิมพ์เป็น E-Book เรื่องไบโอดีเซล
ปัจจุบันน้ำมันดีเซลที่จำหน่ายในปั๊มก็ผสมไบโอดีเซลมาอยู่แล้ว 5% ทำให้ยืนยันได้เลยว่าการเติมน้ำมันพืชลงผสมกับน้ำมันดีเซลจากปิโตรเลียมทำได้แน่นอน "เพราะเครื่องยนต์ดีเซลทุกรุ่นสามารถเติมน้ำมัน B100 โดยไม่ต้องดัดแปลงอะไร" เพียงแต่ก็ไม่มีข้อมูลยืนยันว่าเครื่องกลับมาฟิตเหมือนเดิม ที่เป็นผลทดสอบทางวิชาการ
หากใครสนใจอยากลองวิธีนี้ ก็ควรเติมน้ำมันพืชแบบที่ไม่มีไข เพราะไขอาจไปอุดตันระบบจ่ายน้ำมัน-หัวฉีดได้
อีกเรื่องคือกระบะรุ่นใหม่ เครื่องยนต์หัวฉีดแบบละเอียด และระบบการตรวจจับสิ่งแปลกปลอมในน้ำมันอาจก่อปัญหาได้ เพราะฉะนั้นเราจึงแนะนำวิธีนี้กับกระบะรุ่นเก่าเท่านั้น แต่ถ้าใครอยากลองกับกระบะรุ่นใหม่ก็เริ่มต้นทดสอบในอัตราส่วนน้อย ๆ ก็พอได้อยู่
สุดท้ายขอย้ำอีกครั้งให้เข้าใจตรงกัน วิธีนี้สำหรับเครื่องยนต์ดีเซลเท่านั้นครับ
ภาพจาก เฟซบุ๊ก Somchettana Chaiyalap