สมาคมรถโบราณแห่งประเทศไทย โรงแรมเชอราตัน หัวหิน รีสอร์ทแอนด์สปา เทศบาลเมืองชะอำ เทศบาลเมืองหัวหินและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ร่วมกันจัดงาน หัวหิน วินเทจ คาร์ พาเหรด ครั้งที่ 14 วันที่ 16-18 ธันวาคม 2559 โดยเป็นกิจกรรมคาราวานรถโบราณและรถคลาสสิกอันทรงคุณค่าหาชมได้ยากในเอเชียที่จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่เป็นรายแรกต่อเนื่องประจำทุกปี และสำหรับปีนี้ถูกจัดขึ้นภายใต้แนวคิด “กลับหัวหินยามท้องฟ้าสายัณห์ตะวันเลือน" โดยมีรถของสมาชิกสมาคมร่วมกิจกรรมมากมาย รวมถึงรถยนต์ 6 รุ่นเด่นจากอดีตในงานครั้งนี้ที่มีความพิเศษน่าสนใจและยังถูกเก็บรักษาให้คงอยู่ในสภาพสมบูรณ์ดั้งเดิมรวมถึงใช้งานได้ดีเหมือนเช่นวันวานพร้อมบรรยากาศของงาน หัวหิน วินเทจ คาร์ พาเหรด ครั้งที่ 14 อันเต็มไปด้วยเสน่ห์ท่ามกลางเมืองเก่าและขบวนรถหาชมยากอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมาก
ผู้สืบทอดของ Ford Model T ที่โด่งดัง เป็นรถยอดนิยมในตลาดอเมริกันช่วงสิบปีหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ควบคุมต้นทุนโดยการผลิตในระบบมวล ใช้สายพานการผลิต ตัวถังและคานแคร่แบบโครงบันไดสร้างด้วยโลหะล้วน เป็นพัฒนาการที่ล้ำยุค
Ford Model A คันในภาพนี้เป็นรุ่นสี่ประตูเปิดประทุนเฟตัน (Convertible Phaeton) ยังใช้เครื่องยนต์เดิมสี่สูบขนาดใหญ่ประมาณ 3,300 ซี.ซี. มีกำลัง 40 แรงม้า ให้แรงบิดสูงในรอบต่ำตามหลักนิยมของรถอเมริกันเพื่อการวิ่งแช่ความเร็วสูงอย่างยาวนานในภูมิประเทศกว้างใหญ่ ใช้แบตเตอรี่จ่ายไฟจุดระเบิดผ่านจานจ่ายซึ่งเป็นระบบใหม่ในยุคนั้นทดแทนแมกนีโต ระบบส่งกำลัง 3 จังหวะแบบ Sliding Gears ห้ามล้อแบบดุมทั้งสี่ล้อทำงานผ่านแป้นเหยียบควบคุมด้วยสาย มีอุปกรณ์ตกแต่งที่เป็นของพิเศษในยุค 30 ได้แก่ แตรลมไล่ปศุสัตว์ติดตั้งที่หน้าหม้อน้ำ ใช้โคมหน้ารถทำงานด้วยไฟฟ้า ไฟเลี้ยวหน้ารถเป็นระบบไฟกะพริบแบบรถปัจจุบันติดตั้งแทนแบบแขนยกกระดกเลี้ยว (Semaphore) ล้ำสมัยเหนือกว่ารถร่วมสมัยที่ใช้กันทั่วไปอยู่ในขณะนั้น
2. บีเอ็มดับบลิว 503 ปี 1956 (1956 BMW 503 Coupe)
รถสปอร์ตสองประตูของ BMW ออกแบบโดย Count Albrecht von Goertz เพื่อแข่งกับ Mercedes-Benz 300 SL Gullwing เปิดตัวครั้งแรกในงานมหกรรมยานยนต์แฟรงก์เฟิร์ต ปี 1955 และออกจำหน่ายในปีถัดมา มีทั้งแบบ 2 ประตู ได้แก่ คูเป้ และเปิดประทุน รุ่นคูเป้ทำยอดขายในตลาดโลกได้ทั้งหมด 412 คัน
จุดเด่นของการออกแบบอยู่ที่เป็นสไตล์หลังคาแข็งไม่มีเสากลาง (Hardtop coupe, Pillarless) ช่วยให้เส้นสายแนวระนาบดูไหลลื่น โปร่งตา กระจกข้างทั้ง 4 บาน สามารถเลื่อนลงได้ทั้งหมด ภายในหรู แฝงความสปอร์ต เบาะนั่งเป็นหนัง พวงมาลัย 4 ก้าน แผงหน้าปัดรูปทรงทันสมัย ใช้ระบบไฟฟ้าทั้งคัน เครื่องยนต์ วี 8 สูบ หล่อจากอะลูมิเนียมทั้งเสื้อสูบและฝาสูบเหนือกว่าคู่แข่ง มีขนาดความจุ 3,168 ซี.ซี. ให้กำลัง 140 แรงม้า เกียร์ธรรมดาเดินหน้า 4 จังหวะ ทันสมัยที่สุดในยุคนั้นและได้รับคำชมว่าเป็นรถที่มีบุคลิกชัดเจน เย้ายวน บนเรือนร่างกะทัดรัด นับเป็นรถยนต์ที่โดดเด่นมากในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
3. ซีตรอง ดีเอส 23 พาลลาส ไออี (Citroen DS23 Pallas IE) ปีผลิต 1955-1975
สำหรับ Citroen DS23 Pallas IE คันนี้มีความพิเศษมากเพราะเป็นรุ่นปีผลิตปีสุดท้าย ซึ่งติดตั้งหัวฉีดเชื้อเพลิงอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขีดความสามารถของเครื่องยนต์ให้สูงขึ้น ใช้เกียร์กึ่งอัตโนมัติควบคุมการเปลี่ยนจังหวะเกียร์ด้วยแรงดันไฮดรอลิก ซึ่งปัจจุบันมีเพียงคันเดียวในประเทศไทย
4. โฟล์คสวาเกน คาร์มานน์-เกีย ไทป์ 14 (VW Karmann-Ghia Type 14) ปีผลิต 1955-1974
VW Karmann-Ghia Type 14 "หน้าปลาทอง" เป็นรถสปอร์ต 2+2 ที่นั่ง (2 ที่นั่งมาตรฐานด้านหน้า และ 2 ที่นั่งเล็กด้านหลัง) วางเครื่องท้ายรูปทรงสวยงาม ใช้เครื่องยนต์และพื้นฐานร่วมกับโฟล์คเต่าทองผู้โด่งดัง ออกแบบโดย Luigi Segre แห่งสำนักออกแบบ Ghia ประเทศอิตาลี และผลิตโดยงานผลิตตัวถังวิลเฮล์ม คาร์มานน์แห่งเยอรมันตะวันตก เท่ากับเป็นผลงานร่วมจากดินแดนแห่งยอดนักออกแบบและประเทศผู้ผลิตที่ทรงฝีมือทางวิศวกรรม
VW Karmann-Ghia Type 14 จำนวนผลิต 913,866 คัน (เฉพาะแบบหลังคาแข็ง) ใช้เครื่องยนต์แบบ Boxer 4 สูบนอนยันแนวราบ ขนาด 1,584 ซี.ซี. ระบายความร้อนด้วยอากาศ ให้กำลัง 53 แรงม้า มีน้ำหนักทั้งระบบเบา เร่งได้ลื่น เครื่องยนต์ทำงานรวดเร็วและทำความเร็วสูงสุดได้กว่า 150 กม./ชม. เป็นรถในยุคหลังสงครามที่อยู่ในช่วงนิยมเครื่องยนต์ขนาดเล็ก เน้นความประหยัด จึงวางเครื่องยนต์และเกียร์ไว้ที่ท้ายรถ ลดการสูญเสียกำลังขับเคลื่อนเพราะไม่ต้องใช้เพลากลาง ด้วยแผ่นพื้นตัวถังที่ยาวกว่าโฟล์คเต่าทอง 80 ซม. คาร์มานเกียร์จึงมีรูปร่างเพรียวกว่า ดูน่าทะนุถนอมในสไตล์อิตาลีและมีสมรรถนะที่เร้าใจจากความเล็กกะทัดรัด
5. เมอร์เซเดส-เบนซ์ 280 เอสอีแอล (Mercedes Benz 280SEL W108) ปีผลิต 1965-1972
Mercedes-Benz ของผู้บริหาร สุดยอดผลงานของ Freidrich Geiger และ Paul Braq คงความยอดเยี่ยมทางวิศวกรรม รูปทรงแบนยาวเจือด้วยทรวดทรงสง่างามแบบฝรั่งเศสและเส้นสายแบบอิตาลี นำความสำเร็จอย่างมากมายมาสู่แบรนด์ต่อเนื่องจากรุ่นหางปลา W111 ล้ำยุคด้วยอุปกรณ์อำนวยความสะดวกและเสริมสร้างความปลอดภัย ระบบช่วงล่างซับซ้อนแต่ให้ผลงานดีเยี่ยม โดดเด่นด้วยดวงไฟทรงแคปซูลแนวดิ่ง (Ligtenheiten) ให้ความสว่างเหนือล้ำกว่าใคร เป็นที่มาของฉายา "เบนซ์ไฟตั้ง"
Mercedes-Benz 280SEL ใช้เครื่องยนต์ M130 แบบ 6 สูบ ขนาดความจุ 2,778 ซี.ซี. หัวฉีด ให้กำลัง 160 แรงม้า เกียร์อัตโนมัติ และมีออปชั่นของขนาดเครื่องยนต์หลายรุ่นและตัวถังให้เลือกทั้งฐานล้อยาวและฐานล้อมาตรฐาน โดยรหัส “S” แสดงความเป็นรถขั้นพิเศษ ส่วน “E” หมายถึงเครื่องยนต์ใช้หัวฉีดเชื้อเพลิงอิเล็กทรอนิกส์ (Einspitzung) และ “L” บ่งชี้ฐานล้อยาวพิเศษ (Lang) ซึ่ง W108 นี้เป็นรถระดับอัครฐานชุดแรกของเบนซ์ที่ได้ใช้รหัส "SEL" ประดับเกียรติ
6. จากัวร์ เอ็กซ์เจ-เอส มาร์ควัน (Jaguar XJ-S Mk I) ปีผลิต 1975-1981
รถรุ่นบรรพบุรุษ (Ancestor) ผลิตก่อนปี ค.ศ. 1904
ยานยนต์ในระยะเริ่มแรกได้รับการเรียกขานเป็นบรรพบุรุษเพราะมีรูปทรงและหลักการทำงาน การขับเคลื่อน ที่นั่งบังคับขับขี่ต่างจากรถยนต์ยุคปัจจุบันมาก ลักษณะพื้นฐานมาจากรถเทียมม้าที่นำมาติดตั้งเครื่องยนต์ขับเคลื่อนซึ่งตำแหน่งมักอยู่ใต้พื้นรถหรือห้อยไว้กับเพลาขับ ระบบเครื่องยนต์มีทั้งสันดาปภายนอก ใช้ไอน้ำเป็นแหล่งพลังงาน หรือใช้ไฟฟ้าจากหม้อแบตเตอรี่ขับเคลื่อน กว่าจะพัฒนาเป็นเครื่องยนต์สันดาปภายในแบบต่าง ๆ เป็นเครื่องยนต์สองจังหวะ และสี่จังหวะแบบวัฏจักรออตโต (Otto Cycle) ที่นิยมในปัจจุบัน
หลังปี 1901 รถยนต์จึงปรับรูปลักษณ์เป็นแบบรถยุคใหม่และสิ้นสุดยุครถบรรพบุรุษด้วยการวิ่งพาเหรดเฉลิมฉลองครั้งแรกจากลอนดอนไปยังไบรท์ตัน ประเทศอังกฤษ
รถรุ่นผ่านศึก (Veteran) ค.ศ. 1904-1918
เมื่อยานยนต์พัฒนาเป็นรถยนต์ใช้เครื่องยนต์สี่จังหวะ วางหม้อน้ำ เครื่องยนต์และเกียร์ เรียงจากหน้าไปหลังต่อด้วยห้องโดยสารที่อยู่ในระดับเดียวกัน รถรุ่นผ่านศึกจะมีตัวรถต่ำลงกว่ารถรุ่นบรรพบุรุษ คานตัวรถและโครงตัวถังมักสร้างด้วยไม้ บุด้วยโลหะเนื้ออ่อนและทองเหลืองจึงไม่ทนทานผุพังได้ง่าย
อย่างไรก็ตามในช่วงต้นศตวรรษรถยนต์นั้นมีน้อย รถกลุ่มผ่านศึกเกือบทั้งหมดจึงถูกเกณฑ์ไปใช้ในสนามรบระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 (ค.ศ. 1914-1918) ทำให้เกิดการสูญเสียมากทั้งจากการชำรุดเพราะไม่ทนทานต่อสภาพสนามรบและถูกทำลายระหว่างการปฏิบัติการ ความอยู่รอดของรถโครงสร้างไม้ประกอบด้วยแผ่นโลหะจึงอยู่ในระดับต่ำ ต่างจากรถรบในสงครามโลกครั้งถัดมาที่ออกแบบโครงสร้างมาเป็นยุทธยานยนต์โดยตรง ดังนั้นรถในยุโรปช่วง ค.ศ. 1904-1918 ที่อยู่รอดมาจนถึงทุกวันนี้จึงถือได้ว่าเป็น "ทหารผ่านศึกเดนตาย" เช่นกัน
รถโบราณ (Vintage) ค.ศ. 1919-1930
รถรุ่นก่อนสงคราม (Pre War) ค.ศ. 1931-1945
หมายถึงรถที่ออกแบบและผลิตด้วยเทคโนโลยีก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ลักษณะพื้นฐานยังคล้ายรถโบราณแต่มีความแนบเนียนกลมกลืนมากขึ้น มีการพัฒนาส่วนละเอียดเพื่อความสะดวกสบายและเป็นสินค้าของชนชั้นกลางชัดเจนกว่าเดิม เมื่อมีการสร้างถนนเชื่อมโยงไปทั่วยุโรปรถยนต์จึงต้องมีสมรรถนะสูงเพื่อการเดินทางระยะไกลด้วยความเร็วและส่วนสนับสนุนการขับขี่ เช่น ไฟส่องสว่างแรงสูง ที่ปัดน้ำฝนไฟฟ้า แตรไฟฟ้า ระบบเบรกสี่ล้อและยางคุณภาพดี
ยุคนี้เกิดการแยกย่อยของรถเป็นหลายประเภทตามจุดมุ่งหมาย ทั้งอัครยานยนต์ที่มีเครื่องยนต์ใหญ่โตมาก ถูกสร้างอย่างประณีตบรรจงเพื่อแสดงสถานะของเจ้าของที่เป็นบุคคลชั้นสูงไปจนถึงรถยนต์ผลิตง่ายสำหรับบุคคลทั่วไป หรือรถยนต์ขนาดเล็กเพื่อการกีฬาที่ได้รับความนิยมอย่างมากในกลุ่มคนหนุ่มสาว
รถรุ่นหลังสงคราม (Post War) ค.ศ. 1946-1960
ความรู้จากสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเฉพาะหลักการสร้างเครื่องยนต์พลังสูง วัสดุศาสตร์และความรู้ในเชิงอากาศพลศาสตร์ ทำให้เกิดรถยนต์ที่มีรูปทรงเป็นรถยุคปัจจุบัน ส่วนหน้าของรถต่อกับส่วนข้างและท้ายรถแนบสนิทเป็นพื้นผิวเดียวกัน ไม่แยกส่วน บังโคลน ตัวถัง ท้ายรถ เป็นอิสระต่อกันอย่างในรถก่อนสงคราม มีการให้ความสำคัญของห้องโดยสารมากขึ้น เริ่มใช้ระบบผลิตที่เข้มงวดในด้านต้นทุนรวมถึงใช้วัสดุสังเคราะห์ในการผลิต
รถคลาสสิก (Classic) ค.ศ. 1961-1970
ทศวรรษแห่งการก้าวกระโดดของวงการรถยนต์ เกิดผู้ผลิตรถยนต์รายใหม่ ๆ โดยเฉพาะจากญี่ปุ่นที่นำเสนอนวัตกรรมแปลกใหม่ เกิดทฤษฎีอากาศพลศาสตร์ และสมองกลรุ่นแรกร่วมกับวิชาการตลาด ทำให้เกิดการปรับรูปทรงตัวถังนำความหลากหลายมาสู่รถยนต์มากมายอย่างไม่เคยมีมาก่อน
รถยนต์ในยุคนี้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นด้วยความได้เปรียบเชิงปริมาณการผลิต เกิดศาสตร์การออกแบบจัดแบ่งสัดส่วน (Packaging) ทำให้รูปทรงของรถกระชับขึ้น พื้นที่กว้างขวางสะดวกสบายในมิติที่เล็กลง ดังจะเห็นได้จาก รถมินิ และซีตรอง ดีเอส เป็นต้น ผู้ผลิตตื่นตัวในมาตรฐานการผลิตและการป้องกันสนิมทำให้รถในกลุ่มนี้ไม่ผุพังได้ง่ายจนตกทอดมาถึงปัจจุบันในสัดส่วนที่มากกว่ารถยุคก่อน ๆ และรถยนต์กลายเป็นสินค้าของคนทุกคนไม่ใช่สินค้าเฉพาะกลุ่มอีกต่อไป
ด้วยความก้าวหน้าและคุณภาพของเครื่องยนต์ ความเร็วปลายของรถยนต์จึงทะลุหลัก 240 กม./ชม. ซึ่งเร่งให้มีการพัฒนาระบบความปลอดภัย ทั้ง ดิสก์เบรก ระบบเบรกไฮดรอลิกสองวงจร ตัวถังแบบยุบตัวซับแรงปะทะ เข็มขัดนิรภัย แกนพวงมาลัยยุบตัวเมื่อเกิดการชน เป็นต้น
รถคลาสสิกร่วมสมัย (Modern Classic) ค.ศ. 1971–รถที่มีอายุครบ 30 ปี
เป็นรถยนต์ในยุคที่โลกมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ศาสตร์เริ่มเอาชนะศิลป์ในทุกวงการรวมถึงรถยนต์ รถยนต์มีรูปร่างหน้าตาเหมือนกันมากขึ้น เป็นทรงกล่องนิรภัยเรียบแบนให้ประสิทธิภาพในทุกด้านแต่มีความเป็นปัจเจกน้อยลง ปัญหาของสังคมโลกส่งผลโดยตรงต่อความเป็นไปของรถยนต์ยุคนี้ ความต้องการของผู้บริโภคกำหนดคำตอบของการริเริ่มพัฒนาทุกอย่าง ปัจจัยเหล่านี้เป็นเงื่อนไขที่ไม่เคยมีมาก่อน
วิกฤตการณ์น้ำมันทำให้กลุ่มรถขนาดใหญ่สูญพันธุ์และเกิดกลุ่มรถเล็กประหยัดพลังงาน การกีดกันทางการค้าทำให้เกิดรถแบบเดียวที่ขายหลายในประเทศด้วยชื่อหลายชื่อ ความแออัดในเมืองใหญ่เปิดยุคระบบส่งกำลังอัตโนมัติ ภาวะมลพิษและกฎหมายความปลอดภัยมีผลต่อการเกิดและดับของรถสปอร์ตที่เคยโด่งดังคับฟ้า ไลฟ์สไตล์สร้างประเภทของรถใหม่ ๆ เช่น SUV รถเพื่อการขับลุย…ที่ใช้ในเมือง สถานะ ศิลปะ และเสน่ห์ของรถยนต์เริ่มจืดจางลง กลายเป็นเพียงสินค้าเพื่อการบริโภคหมวดหนึ่งเท่านั้น
นอกเหนือจากรถยนต์ทั้ง 6 คันนี้ ซึ่งถือได้ว่าเป็นหนึ่งในจำนวนรถที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์มากที่สุดในประเทศไทยและได้รับการยอมรับกันในวงการที่ได้เข้ามาวิ่งร่วมในคาราวานครั้งนี้แล้ว ยังมีรถโบราณและรถคลาสสิกสภาพสมบูรณ์อีกมากให้ชมกันพร้อมกับบรรยากาศงานหัวหิน วินเทจ คาร์ พาเหรด ครั้งที่ 14 ในการ “กลับบ้าน” ครั้งนี้มาให้ชมกันครับ