x close

ระวัง ! 5 อุบัติเหตุที่อาจเกิดจากการตรวจเช็กรถยนต์ด้วยตัวเอง

วิธีการตรวจเช็ครถยนต์

          ปภ. แนะต้องระวัง...ทุกครั้งเวลาตรวจสอบหรือดูแลรถยนต์ด้วยตัวเอง แม้เป็นเพียงเรื่องเล็กน้อย แต่อาจมีความเสี่ยงและเกิดอุบัติเหตุได้เสมอ

          การตรวจเช็กสภาพรถยนต์หรือดูแลรถยนต์ด้วยตัวเอง เช่น การเติมน้ำกลั่น เติมน้ำในหม้อน้ำ เปลี่ยนยางรถยนต์ อาจเป็นเรื่องจำเป็นเพื่อให้รถอยู่ในสภาพพร้อมใช้งานตลอดเวลา แม้คงไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยสำหรับรถใหม่ แต่ทุกครั้งควรต้องใช้ความระมัดระวังและไม่ประมาท เพื่อความปลอดภัย ลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุที่ไม่คาดคิด โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้แนะนำ ดังนี้


วิธีการตรวจเช็ครถยนต์

1. การเติมน้ำกลั่นแบตเตอรี่


          กรณีที่ใช้แบตเตอรี่ประเภทที่ต้องเติมน้ำกลั่น ควรเติมน้ำกลั่นตามระดับที่กำหนด หลีกเลี่ยงการทำให้เกิดประกายไฟขณะเติมน้ำกลั่น เช่น การจุดไฟแช็กเพื่อสูบบุหรี่ ระวังไม่ให้น้ำกรดจากแบตเตอรี่กระเด็นสัมผัสถูกผิวหนังและดวงตา เพราะอาจเป็นแผลพุพองหรือหากเข้าตา อาจทำให้ตาบอดได้

วิธีการตรวจเช็ครถยนต์

2. การเติมน้ำในหม้อน้ำ


          ห้าม ! เปิดฝาหม้อน้ำในขณะที่เครื่องยนต์ร้อนจัดอย่างเด็ดขาด เพราะในระบบจะมีความดันสูง อาจได้รับอันตรายจากแรงดันและน้ำที่ร้อนจัดพุ่งออกมา จึงควรต้องรอให้เครื่องยนต์เย็นลงก่อน จึงค่อยเปิดฝาหม้อน้ำเพื่อเติมน้ำยาหล่อเย็น (หรือน้ำเปล่าถ้าจำเป็น) หากไม่แน่ใจว่าเครื่องเย็นพอหรือไม่ ควรใช้ผ้าหนา ๆ คลุมขณะเปิดฝาหม้อน้ำด้วยความระมัดระวัง

วิธีการตรวจเช็ครถยนต์

3. การเปลี่ยนยางรถ

          ก่อนขึ้นแม่แรงควรรองล้อให้เรียบร้อยเพื่อป้องกันรถไหล และต้องคลายนอตล้อให้พอหลวมก่อนยกรถ เพราะการขันนอตโดยไม่ได้คลายไว้ก่อนต้องใช้แรงมาก (จริง ๆ ทำได้ยากอยู่แล้ว  เนื่องจากล้อที่ลอยจากพื้นจะหมุนตาม) อาจทำให้รถเคลื่อนตัวหล่นจากแม่แรงจนได้รับบาดเจ็บ

          ใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ให้ถูกวิธี ขึ้นแม่แรงให้ถูกตำแหน่งเพื่อป้องกันรถหล่นลงมาทับ (ถ้าไม่แน่ใจต้องดูจากคู่มือ เพราะนอกจากอันตรายแล้ว พื้นรถอาจเกิดความเสียหายอีกด้วย) และเมื่อเปลี่ยนยางเสร็จเรียบร้อยต้องตรวจสอบการขันนอตรถให้แน่นหนา เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุจากล้อรถหลุด หากไม่มีทักษะหรือประสบการณ์ในการเปลี่ยนยางรถ ควรแจ้งให้ช่างหรือผู้ที่มีความชำนาญช่วยทำแทน


วิธีการตรวจเช็ครถยนต์

4. การตรวจสอบช่วงล่างของรถ

          ควรจอดบนพื้นราบ เลื่อนเกียร์ไปตำแหน่ง P ใช้เบรกมือและหาที่กั้นล้อรถไว้ เพื่อป้องกันรถไหลมาทับ ห้าม ! มุดเข้าใต้ท้องรถในขณะที่ยกรถขึ้นด้วยแม่แรงเพียงอย่างเดียว ควรใช้ที่ตั้งนิรภัย (หรือสามขา) ค้ำไว้ เพื่อป้องกันรถหล่นลงมาทับ

วิธีการตรวจเช็ครถยนต์

5. การตรวจสอบเครื่องยนต์


          ดับเครื่องทุกครั้งก่อนตรวจสอบเครื่องยนต์ ห้ามตรวจสอบในขณะที่สตาร์ทเครื่องยนต์ (ถ้าเป็นไปได้) เพราะจะเสี่ยงเกิดอันตราย สำหรับกรณีที่ต้องตรวจสอบเครื่องยนต์ขณะสตาร์ทเครื่อง ต้องเพิ่มความระมัดระวังไม่ให้เสื้อผ้าหรืออวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งเข้าใกล้ใบพัด สายพาน หรืออุปกรณ์ส่วนอื่นที่กำลังทำงาน เพราะอาจเกี่ยวหรือเข้าไปติดจนได้รับอันตรายได้

          ทั้งนี้ การปฏิบัติตามข้อควรระวังในการตรวจสอบและดูแลรถอย่างถูกวิธี จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ และเพิ่มความปลอดภัยในการดูแลรักษารถยนต์ ที่สำคัญคือความไม่ประมาทแม้จะทำเป็นประจำจนชำนาญมากแค่ไหนแล้วก็ตาม

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ระวัง ! 5 อุบัติเหตุที่อาจเกิดจากการตรวจเช็กรถยนต์ด้วยตัวเอง อัปเดตล่าสุด 27 กุมภาพันธ์ 2561 เวลา 13:27:20 10,898 อ่าน
TOP