x close

รถป้ายแดงกับบริการสองมาตรฐานเปลี่ยนหรือซ่อม เอาอะไรพิจารณา

รถป้ายเเดง

บริการสองมาตรฐานเปลี่ยนหรือซ่อม เอาอะไรพิจารณา (ยานยนต์)


          การซื้อรถใหม่ป้ายแดงประเภทยกห้างนั้น ถึงแม้รถจะแพง และขาดทุนค่อนข้างเยอะกว่าการซื้อรถใช้แล้วมาใช้ แต่ก็มีผู้คนสนใจกันมาก ทำให้เราได้เห็นรถป้ายแดงวิ่งกันเกลื่อนถนน ทั้งนี้เป็นเพราะการคบกับรถใหม่ป้ายแดงนั้นมีข้อดีอยู่หลายประการด้วยกัน

          อย่างแรกเลยก็จะได้รถใหม่แกะกล่องที่มีสภาพสมบูรณ์ ไม่เหมือนพวกรถเก่ารถใช้แล้ว นอกจากนี้เมื่อเป็นรถใหม่ป้ายแดงก็ย่อมไม่เสียตามประสาของใหม่ ไม่ต้องขับไปซ่อมไปเหมือนรถเก่า หรือถ้ารถเกิดเสียขึ้นมาก็มีการวารันตี (Warrantee) หรือการประกันคุณภาพจากทางบริษัทรถ เรียกว่าขับแล้วหาตังค์ผ่อนรถกันเพียงอย่างเดียว (หากไม่ได้ซื้อสด) ไม่ต้องเตรียมตังค์ไว้ซ่อมรถชนิดไม่เว้นแต่ละเดือนเหมือนขับรถเก่าที่ขยันเสียนู่นเสียนี่เป็นประจำ และที่สำคัญรถใหม่นั้นดอกเบี้ยจะถูกกว่ารถเก่าเยอะ ทั้ง ๆ ที่รถใหม่แพงกว่าแต่ค่าผ่อนแต่ละเดือนนั้นไม่ไกลกันเท่าไหร่ เพราะอัตราดอกเบี้ยต่างกันมาก


          เมื่อฝันสลาย

          ถึงแม้จะลงทุนเล่นของแพงด้วยการซื้อรถใหม่มาใช้โดยหวังความสบายใจในการใช้รถใหม่ ที่ไม่เสียไม่ต้องซ่อมให้หงุดหงิดเกิดอารมณ์อยากฆ่าคน แต่ก็มีอยู่ไม่น้อยที่ฝันสลาย เมื่อในความเป็นจริงรถใหม่ก็เสียเป็น แถมยังต้องซ่อมแล้วซ่อมอีก หรือที่สาหัสกว่านั้นก็คือ “ซ่อมไม่หาย” อีกต่างหาก

          มีอยู่ไม่น้อยสำหรับผู้ที่ซื้อรถใหม่ป้ายแดงมาใช้ แล้วพบว่ารถเกิดเสียขึ้นมา หากเป็นพวกอาการเล็ก ๆ น้อย ๆ นอกจากรู้สึกหงุดหงิดอยู่บ้าง เพราะผิดหวังจากการคบของใหม่ก็คงไม่เป็นไร อย่างมากก็บ่นบ้างเล็กน้อยพองาม แต่แทนที่ทางศูนย์จะรีบซ่อมรีบดูแลตามวารันตีที่มีอยู่ กลับทำเฉยเห็นเป็นเพียงเรื่องเล็กน้อยเท่านั้น จะซ่อมก็ต้องว่ากันตามคิวของรถที่เข้ามารับบริการตรวจเช็คตามกำหนดระยะเวลา โดยหาสำนึกไม่ว่าคนซื้อของใหม่แล้วเกิดปัญหาจะรู้สึกอย่างไร

          ทางตัวแทนจำหน่ายรถอาจจะคิดว่าขายรถไปคันหนึ่งได้กำไรไม่กี่หมื่นทั้ง ๆ ที่ต้องลงทุนสร้างโชว์รูมสร้างศูนย์เป็นร้อย ๆ ล้านบาทจะเอาอะไรกันมากมาย แต่คนซื้อรถเค้าไม่รับรู้หรอก รู้แต่เพียงว่าเขาควักกระเป๋าไปหลายแสนหรือเป็นล้านเพื่อซื้อรถ ซึ่งสำหรับบางคนเงินขนาดนี้แทบจะเก็บกันทั้งชีวิต แล้วคนซื้อของราคาเป็นแสนเป็นล้าน ได้รับการดูแลเพียงแค่เยี่ยงนี้หรือ เงินที่จ่ายไปเป็นค่าซื้อรถไม่ว่าจะเป็นการซื้อเงินสด หรืออาศัยบริษัทไฟแนนซ์เข้ามาช่วยด้านการเงินก็ตาม ทางผู้จำหน่ายรถก็ได้ไปครบถ้วน และเป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ทุกบาททุกสตางค์ด้วย แต่พอรถมีปัญหากลับทำเฉย ก็อยากรู้เหมือนกันว่าหากตังค์ค่ารถที่จ่ายไปนั้น เป็นแบงก์ปลอมซัก 2-3 หมื่น ทางบริษัทตัวแทนผู้จำหน่ายรถจะทำเฉยมั้ย...??!!

          อยากโง่มาซื้อเอง

          นอกจากทางตัวแทนจำหน่ายรถจะไม่เห็นศีรษะของคนซื้อรถแล้ว ยังดูถูกดูหมิ่นคนซื้อรถอีกต่างหากว่าฉลาดน้อย กะโหลกหนาทำให้เหลือที่อยู่ของสมองน้อยเลยมาซื้อรถของเค้าไปใช้

          เมื่อรถที่ซื้อไปใช้เกิดชำรุดหรือเสียหายขึ้นมา โดยยังอยู่ในระยะประกัน แน่นอนว่าเจ้าของรถก็ต้องนำรถไปให้ผู้แทนจำหน่ายจัดการลงมือแก้ไขซ่อมแซม ซึ่งส่วนใหญ่ชักจะเริ่มรู้แล้วว่านรกมีจริงก็ตอนนี้เอง เพราะสิ่งที่ช่างตามศูนย์ชอบประพฤติกันมาก คือ “ปัดซ้ายปัดขวา” แทนที่จะลงมือแก้ไขปัญหา ซึ่งไม่รู้เป็นเพราะนโยบายเกี่ยวกับการชดเชยหรืออะไร เพราะตัวแทนเหมือนกับไม่จริงจังในการแก้ไขรถให้ลูกค้าเลย ซ่อมไปแล้วก็ไม่แล้วซักที ดีไม่ดียังพูดให้เจ็บใจอีกว่า “รถรุ่นนี้ก็เป็นแบบนี้เอง” ให้ความรู้สึกว่าเรานี่โง่จังนะ ท่าซื้อรถรุ่นนี้ไปใช้ โดยไม่รู้ว่ารถรุ่นนี้มีปัญหา ฮ่า ฮ่า ฮ่า

          อะไรไม่ว่าในระหว่างที่รถอยู่ในระยะวารันตีนี้ อย่าหวังว่าช่างจะเปลี่ยนอะไหล่ใหม่ให้ ทั้ง ๆ ที่ไม่ใช่ของที่มีราคาสูงซักเท่าไหร่ พวกจะพยายามเลี่ยงกันอย่างสุดฤทธิ์สุดเดชเลยทีเดียว ไม่รู้เป็นนโยบายบริษัท หรือมีปัญหากับการเคลมอะไหล่กับทางบริษัทใหญ่หรือเปล่า เพราะพวกช่างตามศูนย์จะพยายามซ่อมอยู่นั่นแหละ ซ่อมแล้วซ่อมอีกไม่ยอมเปลี่ยนอะไหล่กันซักที

           เรื่องคุยขอให้บอก

          ก่อนจะตัดสินใจซื้อรถ ก็ว่าดูดีแล้วนะ ทั้งการโฆษณาจากทางบริษัทรถ ตลอดจนเซลล์ขายรถที่อ้างถึงความวิเศษต่าง ๆ นานาของรถ แต่พอซื้อมาใช้ อ้าว...ไหงเป็นแบบนี้ไปได้ล่ะ

          เท่าที่เคยเห็นพบแต่บริษัทรถจะโฆษณาว่ารถของผมดีอย่างนู้นวิเศษอย่างนี้ ประหยัดเชื้อเพลิงเป็นเลิศ วิ่งเร็วปานจรวดโทมาฮอว์กการทรงตัวดีเลิศประเสริฐศรียึดเกาะถนนเหมือนทากาวข้างไว้ที่ล้อไม่เคยเห็นบริษัทรถที่ไหนบอกเลยว่ารถของผมกินน้ำมันมากหน่อยนะ ช่วงล่างมีเสียงดังอยู่บ้างเล็กน้อย กระจกไฟฟ้าขึ้นมั่งไม่ขึ้นมั่ง มีเสียงรบกวนพอประมาณ ฝีมือช่างซ่อมไม่ค่อยจะเอาไหน ถนัดเฉพาะเรื่องการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง อย่างอื่นทำไม่ค่อยเป็น พอเป็นแบบนี้แล้วจะมาบอกได้ไงว่า... “รถรุ่นนี้มันก็เป็นอีแบบนี้แหละ” เอาปากพูดหรือ แบบนี้มันเข้าข่ายโฆษณาเกินความจริงหรือเปล่าผู้มีหน้าที่ดูแลและเกี่ยวข้องด้านโฆษณาโปรดพิจารณา

          ใครก็ไม่รู้คุยว่ารถกว่าจะทำออกมาขายได้แต่ละรุ่นนั้น ต้องมีการลงทุนเป็นพัน ๆ ล้าน กว่าจะออกแบบค้นคว้าออกมาได้ นอกจากนี้ยังมีการทดสอบรถอย่างหนักหน่วง ทั้งทดสอบการชน เรื่องของความปลอดภัย การใช้งานตามสถานที่ภูมิประเทศ และตามอุณหภูมิต่าง ๆ จนเป็นที่มั่นใจว่าเป็นรถดีสมบูรณ์แบบ จึงประกอบแล้วนำออกมาจำหน่ายขายให้กับชาวบ้านซื้อไปใช้ ขอให้ไว้วางใจได้ แต่...ยังข้องใจอยู่ว่า เมื่อเป็นรถดีสมบูรณ์แบบขนาดนี้แล้ว ทำให้ถึงยังต้องมีการเรียกรถกลับไปซ่อมนู่นเปลี่ยนนี่ ไหนคุยว่ามีการทดสอบมาอย่างเลิศแล้วไง แถมอุปกรณ์และชิ้นส่วนติดรถก็ล้วนแต่เป็นของดีคุณภาพสูงทั้งบ้าน...??!!

           คนซื้อเจ้าปัญหา

          บางครั้งปัญหาก็ไม่ได้เกิดขึ้นจากทางบริษัทรถ ประเภทคนซื้อที่ชอบหาเรื่องก็มีเหมือนกัน

          ด้วยผลงานของทางศูนย์ที่ไม่ใส่ใจลูกค้าผู้ซื้อรถเท่าที่ควร ทั้ง ๆ ที่บางครั้งเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เท่านั้นเอง บางทีเปลี่ยนอะไหล่ไม่เท่าไหร่แค่พันกว่าบาทก็ยื้ออยู่นั่นแหละ ไปเจอลูกค้าใจร้อนเข้าพวกเอารถไปที่ตัวแทนหลายเที่ยวแล้ว ก็ได้รับการต้อนรับแบบเสียไม่ได้ เกิดอารมณ์โมโหขึ้นมาก็ทุบรถซะเลย ผลก็คือเดือดร้อนถึงประธานบริษัทต้องเก็บของกลับบ้านเดิมเลยทีเดียว เพราะเผอิญทางสื่อเกิดสนุกตีข่าวเป็นเรื่องใหญ่โต แต่ก็ยังมีอีกมากมายที่ไม่สำนึก

          บางครั้งรถมีปัญหาแต่ช่างตามศูนย์ไม่สามารถซ่อมได้ โดยเฉพาะตามศูนย์ต่างจังหวัดจะเจอบ่อย และแทนที่ช่างจะรายงานหรือขอความช่วยเหลือจากทางสำนักงานใหญ่ เกรงเค้าจะรู้ว่าตัวเองไม่มีฝีมือก็เลยปิดเรื่องไว้ ไปเจอลูกค้าใจร้อนเข้าทุบรถโชว์สื่อ แบบนี้ประธานก็ก้นร้อนไม่รู้ว่าตัวเองจะต้องย้ายหรือเปล่า แต่ที่น่าเบื่อที่สุดก็เป็นเรื่องที่ผู้ซื้อเมื่อทางศูนย์ในจังหวัดตนไม่สามารถซ่อมได้ ก็เลยร้องเรียนไปยังสำนักงานใหญ่ที่กทม. ทางนี้แทนที่จะกระตือรือร้นรีบช่วยเหลือกลับพูดคำอมตะอีกว่า... “รถรุ่นนี้มันก็เป็นอีแบบนี้แหละ”...สาธุ

          ยอมรับว่าคนใช้รถประเภทเจ้าปัญหานั้นมีอยู่พอสมควรเหมือนกันบรรดาผู้คนกลุ่มนี้ชอบซื้อรถไปใช้ แล้วก็บอกว่ารถเป็นนู่นเป็นนี่ต่อจากนั้นก็เอารถเข้าซ่อม ช่างที่ศูนย์ก็ซ่อมให้เรียบร้อย พวกก็บอกว่ายังเสียอยู่เค้าขับทุกวัน เค้ารู้ว่ามันยังไม่ดี ขับรถเข้าศูนย์จนช่างระอาหมดแล้ว พอช่างทำเฉยพวกก็เอารถไปติดป้ายออกแห่ประจานแจ้งว่าบริษัทรถไม่ดูแล แล้วก็ขู่จะทุบรถเผารถอีกต่างหาก คนกลุ่มนี้ทางบริษัทรถกลัวมาก ถึงกับมีรายชื่อแจ้งกับทางตัวแทนว่าห้ามขายรถให้ แต่พวกก็ไม่ยอมแพ้แอบไปซื้อรถจากศูนย์ใหม่หรือศูนย์ตามชานเมือง ยิ่งไปเจอเซลล์ใหม่ที่อยากขายรถแล้วไม่รู้เรื่องรู้ราว งานนี้ก็เลยเรียบร้อยเป็นเรื่องเป็นราวไป ทางบริษัทรถก็ปวดหัวอีกตามเคย

          บริการมาตรฐานที่สอง

          ตอนที่รถยังอยู่ในระยะวารันตี ดูเหมือนว่าช่างตามศูนย์จะไม่ค่อยสนใจรถที่เข้ามาซ่อมสักเท่าไหร่นัก แต่พอหมดระยะวารันตีปุ๊บ คราวนี้เปลี่ยนเป็นหนังคนละม้วนเลย

          ช่วงที่รถยังอยู่ในระยะวารันตีประเภทซ่อมฟรีไม่เสียตังค์ เวลาเอารถเข้าไปรับบริการเหมือนกับหมอเลี้ยงไข้ แทนที่จะเปลี่ยนอะไหล่ที่ชำรุดเสียหาย หรือมีคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐานให้มันเสร็จเรื่องไป ก็มักจะอ้างนู่น อ้างนี่ จัดการซ่อมแซมแก้ไขไปเรื่อย ๆ โดยบอกเจ้าของรถให้ลองใช้ไปก่อน หากมีปัญหาให้เอารถเข้ามาซ่อมใหม่ ผลส่วนใหญ่ก็คือรถต้องเข้าซ่อมอยู่นั่นแหละ ไม่รู้จักจบจักสิ้นซะที บางทีลูกค้าก็รู้ว่ารถเป็นอะไร ต้องเปลี่ยนอะไหล่ชิ้นไหน แต่ไม่กล้าลงมือเพราะเกรงว่าจะมีปัญหากับกฎกติกาวารันตีของทางบริษัทรถนี่แหละ ก็เลยต้องทนใช้และยอมเสียเวลาเอารถเข้าไปแก้ไข แต่ก็มีลูกค้าส่วนหนึ่งใช้วิธียอมควักกระเป๋าจ่ายค่าอะไหล่ให้กับช่างทางศูนย์เปลี่ยนใหม่ เพราะเบื่อเอารถเข้าซ่อม

          แต่เมื่อหมดระยะวารันตี ซึ่งหมายความว่าการเอารถเข้าซ่อมทางเข้าของรถต้องควักกระเป๋าจ่ายเอง คราวนี้ท่าทีของศูนย์ในการนำรถเข้าซ่อมจะเปลี่ยนไปทันที จากอาการรถเสียที่เคยบอกว่า “รถรุ่นนี้มันก็เป็นอีแบบนี้แหละ” ก็กลับกลายเป็นว่าอาการแบบนี้ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ อาจจะเกิดอันตราย หรือเป็นผลเสียต่อรถได้ ต้องจัดการซ่อมแซมและแก้ไขโดยด่วน...เป็นงั้นไป!!

          นอกจากนั้น หากชิ้นส่วนไหนเกิดเสียขึ้นมาคราวนี้เกิดอาการ “ซ่อมไม่ได้” ขึ้นมาทันที ต้องเปลี่ยนอะไหล่ชิ้นใหม่ทันที แล้วยังพูดอีกว่าการเปลี่ยนอะไหล่แน่นอนและชัวร์กว่าการซ่อมเป็นเพียงแค่การแก้ไขให้ใช้งานได้ชั่วคราวเท่านั้น ใช้ไปไม่นานก็เป็นเรื่องอีก สู้การเปลี่ยนไม่ได้ รับรองดีขึ้นแน่นอน..อ้าว...แล้วตอนที่รถยังอยู่ในระยะวารันตีเมิงไม่ไม่พูดแบบนี้บ้างฟร้ะ...??!!



 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
หนังสือยานยนต์
ปีที่ 45 เล่มที่ 564 พฤษภาคม 2556


ขอขอบคุณภาพประกอบจาก samutprakancity.olxthailand.com






เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รถป้ายแดงกับบริการสองมาตรฐานเปลี่ยนหรือซ่อม เอาอะไรพิจารณา อัปเดตล่าสุด 9 สิงหาคม 2564 เวลา 16:36:13 1,853 อ่าน
TOP