x close

10,000 กิโลเมตรแรก กับการสลับตำแหน่งล้อยางที่คุณทำได้เอง



เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม


          เคยสังเกตล้อยางของตัวเองกันไหมครับ ว่าลายดอกยางยังชัดเจนอยู่แค่ไหน บางล้อดอกยางก็สึกหายไปมาก แต่บางล้อกลับยังอยู่ในสภาพดีอย่างกับไม่ค่อยได้ใช้งาน นั่นเป็นเพราะว่ายางรถของคุณแต่ละข้างมีอัตราการสึกกร่อนไม่เท่ากันนั่นเอง ส่วนล้อไหนจะสึกกร่อนมากที่สุด ก็ขึ้นอยู่กับระบบขับเคลื่อนของรถยนต์ที่คุณใช้ ซึ่งมีทั้งระบบขับเคลื่อนล้อหน้า ขับเคลื่อนล้อหลัง หรือขับเคลื่อน 4 ล้อ (แบ่งย่อยอีกเป็น 4 ล้อแบบ part-time และ full-time) หากระบบการขับเคลื่อนหลักอยู่ที่ล้อไหน ยางล้อนั้นก็จะมีอัตราการสึกกร่อนไวกว่าล้ออื่น ๆ ซึ่งในตลาดรถยนต์ปัจจุบัน (โดยเฉพาะรถเก๋ง) นิยมผลิตรถยนต์ขับเคลื่อนล้อหน้า เนื่องจากประหยัดเวลาในการผลิต ประหยัดชิ้นส่วนอะไหล่ รวมทั้งยังได้ห้องโดยสารที่กว้างขึ้นเมื่อเทียบกับรถยนต์ขนาดเดียวกันที่ขับเคลื่อนด้วยล้อหลัง เพราะไม่ต้องเผื่อพื้นที่สำหรับอุโมงค์เกียร์ แต่ก็จะทำให้ล้อหน้ารับภาระหนักกว่ามาก เพราะต้องเป็นตัวส่งกำลังในการขับเคลื่อน ทั้งยังเป็นล้อที่รองรับภาระในการเข้าโค้ง และการเบรคมากที่สุดด้วย เมื่อเกิดการเสียดสีมากจึงสึกกร่อนได้ไวนั่นเอง

          เมื่อยางล้อมีอัตราการสึกกร่อนไม่เท่ากัน ย่อมส่งผลต่อประสิทธิภาพการขับรถ ทั้งเรื่องศูนย์ถ่วงของทั้ง 4 ล้อที่เริ่มไม่สมดุล ทำให้ประสิทธิภาพในการบังคับรถลดลง อีกทั้งดอกยางที่สึกหรอต่างกันมาก ๆ ก็จะส่งผลให้รถเฉไปทางซ้ายหรือขวาขณะเหยียบเบรค ซึ่งอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้โดยเฉพาะหากขับรถมาด้วยความเร็วสูง

 

          การสลับตำแหน่งล้อยางควรทำเมื่อรถที่เพิ่งเปลี่ยนยางมาใหม่มีระยะวิ่งครบ 10,000 กิโลเมตร โดยรถยนต์ระบบขับเคลื่อน 2 ล้อ มีรูปแบบการสลับตำแหน่งล้อยาง 2 แบบ ดังนี้

แบบที่ 1 สลับตำแหน่ง 2 ล้อหน้าลดมาอยู่ด้านหลัง และ 2 ล้อหลังไขว้ขึ้นไปด้านหน้า หรือ
แบบที่ 2 สลับล้อหน้ากับล้อหลังไขว้กันเป็นรูปกากบาท (x) 

          อย่างไรก็ดี การสลับตำแหน่งแบบนี้เหมาะกับรถยนต์ที่ใช้ยางที่มีลักษณะดอกยางแบบสมมาตร (symmetrical) เหมือนกันทั้ง 4 เส้น ซึ่งเป็นรูปแบบดอกยางรถยนต์ที่เหมาะกับการใช้ขับขี่ธรรมดาทั่ว ๆ ไปนั่นเองครับ (ยังมียางแบบดอกยางไม่สมมาตร หรือ asymmetrical สำหรับการขับขี่เฉพาะที่เน้นประสิทธิภาพการยึดเกาะถนน และการเข้าโค้งด้วยความเร็วสูง และ ดอกยางแบบกำหนดทิศทาง หรือ uni-direction ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรีดน้ำ ควบคุมการทรงตัวดี ขับขี่ด้วยความเร็วสูงได้ แต่ก็จะเพิ่มความยุ่งยากในการสลับตำแหน่งล้อมากขึ้นเช่นกัน)



          ส่วนเรื่องการสลับตำแหน่งล้อนั้นคุณสามารถเข้ารับบริการได้ที่ศูนย์ให้บริการใกล้บ้าน แต่ถ้าต้องการประหยัดเงิน และเรียนรู้ที่จะดูแลรถด้วยตัวเองแล้วล่ะก็ คุณก็สามารถทำด้วยตัวเองได้เช่นกัน ไม่ใช่เรื่องยากอะไร แต่ต้องอาศัยอุปกรณ์และกำลังกายสักหน่อยเท่านั้นเองครับ

          อุปกรณ์ที่ต้องใช้ในการสลับตำแหน่งล้อยาง ได้แก่ ขาค้ำหรือขาตั้งยกรถ (Jack Stand) 4 ตัว, เหล็กขันล้อ (ประแจหัวหกเหลี่ยมหรือแปดเหลี่ยม ขึ้นอยู่กับนอตของล้อรถยนต์) และแม่แรง ซึ่งสองอย่างหลังมักเป็นอะไหล่สำรองที่ผู้ผลิตให้ติดรถมาอยู่แล้ว

          เริ่มจากใช้แม่แรงยกรถยกรถให้ล้อลอยจากพื้นพอสมควร (ให้พ้นระยะยืดตัวของโช้ค) แล้วนำขาตั้งไปค้ำไว้ให้ครบทั้ง 4 ด้าน จากนั้นลงมือใช้ประแจขันล้อขันนอตและเอายางออก ทำให้ครบทั้ง 4 ข้าง (ถอดแล้วอย่ากลิ้งมากองรวมกันนะครับ เดี๋ยวจะสับสนว่าล้อไหนเป็นของข้างไหน ถอดแล้วก็วางไว้ตรงตำแหน่งเดิมของล้อนะครับ) ก่อนจะสลับตำแหน่งยางตามรูปแบบที่ได้ระบุได้ข้างต้น (ในขั้นตอนนี้หากมีอุปกรณ์เช็คและเติมความดันลมยางก็สามารถลงมือเติมลมยางได้ก่อนใส่ยางเข้าไปใหม่ด้วย) แล้วจึงใส่ล้อที่เปลี่ยนตำแหน่งแล้วเข้าไปทีละข้างจนครบทั้ง 4 ล้อ ขันนอตกลับให้แน่น โดยเริ่มจากขันด้วยมือให้สุดระยะที่มือไม่สามารถหมุนนอตได้แล้วจึงใช้ประแจขันต่อ (หากมีบล็อกลมช่วยยิงนอตก็จะสะดวกขึ้นมาก) นำขาตั้งออกทีละฝั่งจนหมด เท่านี้ก็เรียบร้อย



          อย่างไรก็ดี หากกลับไปขับขี่แล้วรู้สึกว่าไม่สามารถบังคับพวงมาลัยรถได้เหมือนเช่นปกติ คราวนี้คงไร้ทางเลือกที่จะปรับเอง แต่ต้องพารถคันเก่งไปเข้าศูนย์เพื่อตั้งศูนย์ถ่วงล้อใหม่แล้วล่ะครับ

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
10,000 กิโลเมตรแรก กับการสลับตำแหน่งล้อยางที่คุณทำได้เอง อัปเดตล่าสุด 28 กรกฎาคม 2564 เวลา 15:11:26 3,818 อ่าน
TOP