x close

แก้ปัญหาเพื่อนบ้าน จอดรถขวางหน้าบ้าน ควรต้องจัดการอย่างไร

วิธีแก้ปัญหาคนจอดรถขวางหน้าบ้าน เพื่อเลี่ยงการทะเลาะเบาะแว้ง เพราะอารมณ์ชั่ววูบอาจบานปลายกลายเป็นเรื่องใหญ่โตและเสียเวลามากกว่าเดิม

แก้ปัญหาเพื่อนบ้าน จอดรถขวางหน้าบ้าน

การจอดรถขวางทางเข้า-ออกหน้าบ้าน หรือ จอดรถขวางหน้าบ้านคนอื่น โดยเจ้าของบ้านไม่ได้อนุญาตหรือเต็มใจ ปัญหายอดฮิตนี้เรียกว่าสร้างทั้งความเดือดร้อน หัวร้อน หรือถึงขั้นเสียสุขภาพจิต และมักไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังแม้การจอดรถขวางหน้าบ้านผู้อื่นจะผิดกฎหมาย บางกรณีถึงขนาดถอดใจย้ายบ้านหนี กลายเป็นความย้อนแย้งที่ผู้ได้รับความเดือดร้อนต้องหาวิธีแก้ไขหรือหนีปัญหาเสียเอง และหากใครที่เพิ่งเคยพบเจอปัญหาเหล่านี้ ควรแก้ปัญหาไปตามลำดับก่อน เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งหรือการใช้ความรุนแรงขึ้น ดังนี้

1. ลองเจรจาอย่างสันติ

กรณีการจอดรถขวางทางเข้า-ออกหน้าบ้านเป็นขาประจำอย่างเพื่อนบ้านละแวกใกล้เคียง การพูดคุยโดยไม่ใช้อารมณ์ ขอความเห็นใจอย่างประนีประนอมและเป็นมิตร แม้อาจไม่ถูกใจคนที่รักความถูกต้องนัก แต่ในเมื่อต้องอยู่ใกล้กันไปอีกนาน คงเป็นตัวเลือกแรกที่ควรทำ

เพราะเพื่อนบ้านอาจไม่ได้ตั้งใจหรือด้วยความจำเป็นอะไรก็แล้วแต่ที่ไม่สมเหตุสมผล แต่ถ้าหากพูดคุยกันได้ อีกฝ่ายอาจเกิดความเกรงใจมากกว่าแสดงอาการไม่พอใจหรือระเบิดอารมณ์ใส่ในทันที หากจำเป็นจริง ๆ เช่น ที่จอดรถในบ้านไม่พอ ซอยแคบ ลองหาทางออกร่วมกันเพื่อเลี่ยงปัญหาขัดแย้ง แม้เราจะเป็นฝ่ายถูก

2. ติดป้ายเพื่อให้รู้ว่ามีรถเข้า-ออก

หากมีรถจอดขวางหน้าบ้านบ่อยครั้ง เพราะใกล้กับตลาดหรือร้านค้าใกล้เคียง รถที่จอดไม่ใช่รถเพื่อนบ้าน (หรือจะเป็นเพื่อนบ้านที่เคยเจรจาแล้วแต่ไม่เป็นผล) อาจจำเป็นต้องติดป้ายเตือนห้ามจอด มีรถเข้า-ออก เพื่อให้ผู้ที่คิดจะจอดรถลงไปทำธุระรับรู้ และต้องเลี่ยงการติดป้ายสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายทางจราจร เพราะการจัดทำรวมถึงการติดตั้งสัญญาณหรือเครื่องหมายจราจรนั้นเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่เท่านั้น

แก้ปัญหาเพื่อนบ้าน จอดรถขวางหน้าบ้าน

3. แจ้งนิติบุคคล

เมื่อการพูดคุยไม่สามารถหยุดพฤติกรรมการจอดรถขวางหน้าบ้านได้ และเป็นหมู่บ้านจัดสรรที่มีเจ้าของโครงการหรือนิติบุคคลดูแล ควรแจ้งเจ้าหน้าที่หรือผู้รับผิดชอบช่วยดำเนินการเป็นตัวกลางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว

4. แจ้งตำรวจ

ถ้ามีการเจรจา ติดป้ายเตือน แต่ยังพบปัญหาจอดรถขวางหน้าบ้านอยู่บ่อยครั้งและยังคงได้รับความเดือดร้อน อาจจำเป็นต้องแจ้งตำรวจให้เข้ามาช่วยตักเตือน เพราะการจดรถขวางทางเข้า-ออกถือว่าเป็นเรื่องผิดกฎหมายและมีบทลงโทษ

โดยผู้ที่จอดรถขวางทางเข้า-ออกบ้านของผู้อื่น เจ้าของบ้านสามารถแจ้งความเอาผิดได้ โดยเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 397 วรรคสอง ฐานก่อความเดือดร้อนรำคาญ มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นอกจากนี้ผู้เสียหายยังสามารถเรียกร้องค่าเสียหายในทางแพ่ง ตามมาตรา 420 และถ้าเป็นที่สาธารณะยังมีโทษทางอาญาตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก เจ้าหน้าที่สามารถออกใบสั่งได้อีกด้วย

5. แจ้งความและดำเนินการฟ้องร้องค่าเสียหายตามกฎหมาย

สุดท้ายแล้ว การแจ้งตำรวจเพื่อมาตักเตือน อาจไม่สามารถหยุดพฤติกรรมของบุคคลเดิม ๆ ที่จอดรถขวางหน้าบ้านได้ตลอดเวลา เราอาจจำเป็นต้องเปลี่ยนเป็นแจ้งความกับตำรวจ รวมถึงทนายความ เพื่อดำเนินการฟ้องร้องค่าเสียหายตามกฎหมายต่อไป

อย่างไรก็ตาม วิธีการเหล่านี้อาจไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาคนจอดรถหน้าบ้านที่ได้ผล 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะปัญหาไม่ได้อยู่ที่ตัวเรา แต่อยู่ที่จิตสำนึกรับผิดชอบต่อส่วนรวมของบุคคลอื่น ซึ่งเราอาจไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ อีกทั้งยังเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างมากกว่าแค่เรื่องของตัวบุคคล ตั้งแต่การปลูกฝัง การวางผังเมืองที่ดี ตลอดจนการบังคับใช้กฎหมาย ที่ยังอ่อนมากสำหรับเมืองไทย

ขอบคุณข้อมูลจาก :  krisdika.go.th, condonewb.com
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
แก้ปัญหาเพื่อนบ้าน จอดรถขวางหน้าบ้าน ควรต้องจัดการอย่างไร อัปเดตล่าสุด 11 พฤษภาคม 2565 เวลา 14:44:41 28,073 อ่าน
TOP