x close

ขับรถผ่านจุดตัดทางรถไฟ ยังไงถึงปลอดภัยไม่ต้องเอาชีวิตไปเสี่ยง

จุดตัดทางรถไฟ หรือ ทางข้ามทางรถไฟ ถือเป็นบริเวณเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุรุนแรง ดังนั้นผู้ขับขี่รถยนต์และผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์ ต้องใช้ความระมัดระวังอย่างมากเมื่อต้องสัญจรผ่าน ไม่ละเลยหลักพื้นฐานเพื่อความปลอดภัยและปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดทุกครั้ง

เรื่องของความปลอดภัยในการขับรถผ่าน ทางข้ามทางรถไฟ หรือ จุดตัดทางรถไฟ เป็นประเด็นที่ถูกยกมาพูดถึงเป็นระยะ ๆ โดยเฉพาะเมื่อมีอุบัติเหตุรถไฟชนกับ รถยนต์ หรือ รถมอเตอร์ไซค์ จนเกิดความเสียหายต่อชีวิต ซึ่งเรื่องที่มักถูกตั้งคำถามก็คือระบบสัญญาณเตือน หรือ ป้ายจราจร ว่ามีความชัดเจนรัดกุมมากพอหรือ แต่ในอีกทางหนึ่งสิ่งที่อาจจะกล่าวได้ว่าสำคัญยิ่งกว่าก็คือความเข้าใจและปฏิบัติตามหลักเพื่อความปลอดภัย และปฏิบัติตามกฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัดของผู้ขับขี่นั่นเอง

สำหรับการขับขี่รถผ่านทางรถไฟหรือจุดตัดทางรถไฟ มีหลักปฏิบัติกำหนดเป็นกฎหมายตาม พระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2562 ใน 2 มาตราคือ

มาตรา 62 ในทางเดินรถตอนใดที่มีทางรถไฟผ่าน ถ้าปรากฏว่า

(1) มีเครื่องหมายหรือสัญญาณระวังรถไฟแสดงว่ารถไฟกำลังจะผ่าน

(2) มีสิ่งปิดกั้นหรือมีเจ้าหน้าที่ให้สัญญาณแสดงว่ารถไฟกำลังจะผ่าน

(3) มีเสียงสัญญาณของรถไฟหรือรถไฟกำลังแล่นผ่านเข้ามาใกล้อาจเกิดอันตรายในเมื่อจะขับรถผ่านไป

ผู้ขับขี่ ต้องลดความเร็วของรถและหยุดรถให้ห่างจากทางรถไฟไม่น้อยกว่าห้าเมตร เมื่อรถไฟผ่านไปแล้วและมีเครื่อง หมายหรือสัญญาณให้รถผ่านได้ ผู้ขับขี่จึงจะขับรถผ่านไปได้

มาตรา 63 ในทางเดินรถตอนใดที่มีทางรถไฟผ่านไม่ว่าจะมีเครื่องหมายระวังรถไฟหรือไม่ ถ้าทางรถไฟนั้นไม่มี สัญญาณระวังรถไฟหรือสิ่งปิดกั้น ผู้ขับขี่ต้องลดความเร็วของรถและหยุดรถห่างจากทางรถไฟในระยะไม่ น้อยกว่าห้าเมตร เมื่อเห็นว่าปลอดภัยแล้วจึงจะขับรถผ่านไปได้

วิธีขับรถผ่านจุดตัดทางรถไฟ

จะเห็นว่ากฎหมายได้ระบุวิธีปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยไว้อย่างรัดกุม ทั้งการกำหนดให้ลดความเร็วลง รวมถึงต้องหยุดรถในระยะที่ห่างจากทางรถไฟอย่างน้อยถึง 5 เมตร ไม่ว่าจะเป็นการขับผ่านทางรถไฟที่มีเครื่องหมายสัญญาณหรือไม่มีก็ตาม

อย่างไรก็ตามสำหรับผู้ขับขี่รถยนต์และผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์ ยังมีข้อเท็จจริงที่ต้องคำนึงถึงและหลักการขับขี่เพื่อความปลอดภัยสูงสุด ในการสัญจรผ่านจุดตัดทางรถไฟ ดังต่อไปนี้

1. รถไฟอาจมาเมื่อไหร่ก็ได้

วิธีขับรถผ่านจุดตัดทางรถไฟ

สำหรับผู้ขับขี่ที่สัญจรผ่านทางรถไฟเป็นประจำ อาจเกิดความคุ้นเคยเกี่ยวกับช่วงเวลาที่รถไฟจะผ่านมากลายเป็นจุดเริ่มต้นของความประมาท และลดหย่อนความระมัดระวังลงโดยไม่รู้ตัว ซึ่งในความเป็นจริงแล้วอาจมีรถไฟขบวนที่ไม่ได้แล่นตามตาราง หรือมีการปรับเปลี่ยนกำหนดการเดินทาง ฉะนั้นก่อนจะขับรถผ่านทางรถไฟ จึงจำเป็นต้องตรวจสอบให้แน่ใจด้วยความระมัดระวังอย่างที่สุดทุกครั้ง

2. รถไฟมาได้ทั้งซ้าย-ขวา

หลังจากปฏิบัติตามหลักโดยถูกต้องจนขบวนรถไฟแล่นผ่านไปแล้ว นั่นไม่ได้หมายความว่าสามารถขับรถผ่านทางรถไฟได้ทันที แต่ผู้ขับขี่ยังจะต้องตรวจตราเพื่อความแน่ใจอีกครั้ง ว่ามีรถไฟอีกขบวนหนึ่งแล่นสวนทางมาหรือไม่ ซึ่งเกิดขึ้นได้ในกรณีที่บริเวณจุดตัดทางรถไฟนั้นเป็นแบบรางคู่

3. ขบวนรถไฟแล่นเร็วกว่าที่มองเห็น

หากมองจากริมทางรถไฟในระยะไกล อาจเป็นไปได้ว่าเราจะมองรถไฟค่อย ๆ แล่นช้า ๆ แต่นั่นเป็นเรื่องของมุมมองที่หลอกสายตา และความจริงแล้วรถไฟก็จะแล่นด้วยความเร็วและมาถึงบริเวณจุดตัดรางรถไฟเร็วกว่าที่คาด ดังนั้นการเสี่ยงที่จะขับรถผ่านโดยไม่รอให้รถไฟแล่นผ่านไปก่อน ถือได้ว่าเป็นความประมาทอย่างรุนแรงเช่นกัน

4. รถไฟคันใหญ่กว่าที่คิด

โดยทั่วไปแล้ว ตัวโบกี้รถไฟจะมีขนาดใหญ่มากกว่าขนาดของรางรถไฟทั้งสองฝั่งเกินกว่า 1 เมตร นั่นหมายความว่าแม้จะไม่ได้หยุดรถกีดขวางทางรถไฟ แต่อยู่ใกล้เกินไปก็อาจจะไม่พ้นจากอันตรายเช่นกัน ดังนั้นควรปฏิบัติตามกฎหมาย นั่นคือหยุดรถให้ห่างจากทางรถไฟอย่างน้อย 5 เมตร

5. แน่ใจว่ามีพื้นที่พอสำหรับขับผ่านไปได้

วิธีขับรถผ่านจุดตัดทางรถไฟ

กฎเหล็กที่สำคัญที่สุดเวลาขับรถผ่านจุดตัดทางรถไฟก็คือ ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตามห้ามหยุดรถขวางทางรถไฟเด็ดขาด ซึ่งกรณีนี้มักเกิดขึ้นในสภาพจราจรที่รถค่อย ๆ แล่นต่อกันไปแล้วเกิดติดขัด ดังนั้นก่อนจะขับรถผ่านทางรถไฟต้องรอจนแน่ใจว่ารถคันหน้าแล่นผ่านไปแล้ว และไม่อยู่ในระยะที่กีดขวางรถของเรา

6. เกิดเหตุไม่คาดฝัน รถดับขวางทางรถไฟทำอย่างไร

ในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉิน รถดับขณะข้ามทางรถไฟ สิ่งที่ต้องทำเป็นอันดับแรกก็คือผู้ขับขี่และทุกคนในรถต้องออกจากรถให้เร็วที่สุด จากนั้นหาวิธีแจ้งเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องเพื่อขอความช่วยเหลือ แต่หากเป็นกรณีที่มีรถไฟกำลังแล่นมาถึงบริเวณจุดตัดทางรถไฟด้วย ยิ่งต้องรีบเคลื่อนที่ออกจากที่เกิดเหตุให้ไกลที่สุดจนอยู่ในระยะปลอดภัย หรือควรหาที่กำบัง เนื่องจากเมื่อการชนเกิดขึ้นอาจเกิดการระเบิด และมีเศษวัสดุที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บรุนแรงได้

การขับขี่รถยนต์หรือขับขี่มอเตอร์ไซค์บนท้องถนนต้องอยู่บนพื้นฐานของความปลอดภัยอยู่เสมอ และยิ่งเมื่อต้องขับผ่านทางข้ามทางรถไฟ หรือจุดตัดทางรถไฟ ยิ่งต้องเพิ่มความระมัดระวัง เพราะจะเป็นบริเวณที่หากมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นเมื่อไหร่ มักจะกลายเป็นความเสียหายรุนแรงถึงชีวิต ดังนั้นผู้ขับขี่ไม่ควรละเลยหลักพื้นฐานเบื้องต้นและยึดเป็นแนวทางปฏิบัติทุกครั้งด้วย

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ขับรถผ่านจุดตัดทางรถไฟ ยังไงถึงปลอดภัยไม่ต้องเอาชีวิตไปเสี่ยง อัปเดตล่าสุด 28 มิถุนายน 2564 เวลา 17:47:12 11,838 อ่าน
TOP