x close

ก้าวสู่ยุคพลังงานทดแทน ด้วยพลังงานแบตเตอรี่ !

          เป็นที่ปฏิเสธยากครับว่าในปัจจุบัน หลายสิ่งในชีวิตประจำวันนั้น ถูกทดแทนเข้ามาด้วยเทคโนโลยี ที่ยิ่งก้าวล้ำเข้ามาให้ความสะดวกสบายในชีวิตของโลกยุคดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นอินเทอร์เน็ตที่เร็วขึ้น สมาร์ตโฟนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เครื่องใช้จำเป็นต่าง ๆ รวมถึงยานพาหนะ ที่คงได้เห็นรถไฟฟ้า EV ที่ใช้พลังงานทางเลือก ไม่ว่าจะเป็น รถไฮโดรเจน, รถไฮบริด หรือรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าที่ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ เพราะแบตเตอรี่พัฒนาขึ้นระดับก้าวกระโดด ประจุมากขึ้น ขนาดเล็กลง แถมยังมีเทคโนโลยี Fast Charge, อายุการใช้งานยาวนานขึ้น และต้องมาพร้อมเทคโนโลยีด้านความปลอดภัย รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ ทั้งในด้านราคาขายของตัวรถเอง หรือสถานีชาร์จไฟฟ้าที่ครอบคลุมการใช้งานได้
Energy Absolute

บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ พาเยี่ยมชมโรงงานแบตเตอรี่ Amita Technology ที่ประเทศไต้หวัน

สัปดาห์ที่แล้ว kapook.com ได้รับเชิญไปดูโรงงานที่ไต้หวัน ทราบก่อนไปว่าเป็นโรงงานแบตเตอรี่ แต่ยังไม่มีรายละเอียดมากนัก มีกระซิบนิดหน่อยว่ามีของเด็ดให้ดู
 

โรงงานแบตเตอรี่ที่ไปดู คือ โรงงานแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน ที่ใช้กับรถยนต์ไฟฟ้า, มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า เป็นแบบเดียวกับที่ใช้ในมือถือ กล้องถ่ายรูป นั่นแหละครับ ซึ่งค่ายรถต่าง ๆ เร่งพัฒนาเพื่อนำมาขับเคลื่อนรถไฟฟ้า EV ซึ่งเปิดตัวกันมาหลายรุ่นให้เห็นกันบ้างแล้ว
 

คำถาม คือ ทำไมต้องไปดูโรงงานที่ไต้หวัน ที่อื่นไม่มีหรือ อันนี้มีคำตอบครับ เจ้าภาพที่เชิญไปคือบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัดมหาชน (Energy Absolute Public Company Limited) 
Energy Absolute

บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัดมหาชน (Energy Absolute Public Company Limited)

ผู้ผลิตพลังงานทดแทนหรือพลังงานทางเลือก เช่น ไบโอดีเซล พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลมในการผลิตกระแสไฟฟ้า รวมถึงลงทุนกว่า 25,000 ล้านบาท ในการวิจัย พัฒนา และผลิตรถยนต์ไฟฟ้า MINE Mobility
 

EA Anyware

รถไฟฟ้า EV ของคนไทย 100% Mine Mobility

ซึ่งเปิดตัวไปแล้ว 3 รุ่น ที่สามารถทำยอดจอง รถยนต์ไฟฟ้าอเนกประสงค์ MINE รุ่น SPA 1 ทะลุเป้าถึง 4,558 คัน อีกทั้งเตรียมเปิดตัวรถยนต์นั่งระดับซับคอมแพกต์ คือ รุ่นซิตีคาร์ 4 ประตู ราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท อีกด้วย
 

EA Anyware

สถานีชาร์จไฟฟ้า EA Anyware

ติดตั้ง Charging Station ในชื่อ EA Anyware หรือสถานีชาร์จไฟฟ้าไปแล้วประมาณ 200 สถานีในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงต่างจังหวัดในบางจุด โดยทาง EA ตั้งเป้าหมายไว้ว่า จะติดตั้งหัวชาร์จรวม 1,000 สถานีทั่วไทย
 

          ทีนี้ เพื่อประกอบภาพธุรกิจด้านพลังงานทดแทน ทาง EA จึงได้ลงทุนซื้อกิจการโรงงานแบตเตอรี่ที่ประเทศไต้หวัน ด้วยมูลค่า 618.91 ล้านดอลลาร์ไต้หวัน เพื่อเติมเต็มและเดินหน้าลงทุนผลิตโรงงานแบตเตอรี่ในประเทศไทยโดยที่คุณสมโภชน์ อาหุนัย ประธานกรรมการบริหาร บริษัทพลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน)(บมจ.) และคุณอมร ทรัพย์ทวีกุล (Co-Founder) ได้เปิดโอกาสพาเข้าชมบริษัท Amita Technologies Inc. ที่ดำเนินการผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนด้วยตัวเองเลยทีเดียว
Amita Technology

โรงงาน Amita Technology ผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน

          ภายนอกจะดูเก่าแล้วก็จริง แต่ข้างในอัดแน่นไปด้วยเครื่องจักรในการผลิตเซลล์ของแบตเตอรี่ ความแตกต่าง คือ ที่นี่ออกแบบเครื่องจักรที่ใช้ผลิตแบตเตอรี่เอง

บริษัทพลังงานบริสุทธิ์ จำกัด

คุณสมโภชน์ อาหุนัย ประธานกรรมการบริหาร บริษัทพลังงานบริสุทธิ์ จำกัด

          ผู้บริหารไฟแรง ที่ไม่ใช่แค่ทำการใหญ่ แต่ลงลึก ศึกษารายละเอียดทุกขั้นตอน ตอบคำถามและให้เหตุผลได้ทั้งหมด จนเราทึ่ง
 

เพราะโรงงานนี้วิจัยและผลิตเครื่องจักร เพื่อผลิตแบตเตอรี่เอง !

ไม่ได้เป็นแบบซื้อเครื่องจักรแล้วมาผลิตแบตเตอรี่ขายแบบโรงงานทั่ว ๆ ไปนะครับ เพราะเมื่อเข้าไปในโรงงานจะเห็นเครื่องจักรที่ผลิตแบตเตอรี่ตั้งแต่รุ่นแรก ๆ ให้ความรู้สึกเหมือนเห็นชุดไอรอนแมน ตั้งแต่ Mark I, Mark II ตามพัฒนาการความเจ๋งขึ้นเรื่อย ๆ จนมีความรู้ความชำนาญในการผลิตอย่างถ่องแท้ โดยเซลล์ของแบตเตอรี่ที่ผลิตได้นั้น มีทั้งความจุสูง ขนาดเล็ก ชาร์จเร็ว อายุการใช้งานยาวนาน (ขออภัยด้านภาพในโรงงาน เนื่องในกระบวนการผลิตไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพครับ) และที่สำคัญด้านความปลอดภัยของแบตเตอรี่
 

และที่จะกล่าวถึงพระเอกของงานนี้ ที่เรียกว่า “สโตบา” (Stoba) ครับ

Stoba เป็นวัสดุพอลิเมอร์ระดับนาโนที่เติมลงในแบตเตอรี่ลิเธียมเพื่อเป็นแผ่นฟิล์มนั้น ป้องกันการลัดวงจร เมื่อเกิดความร้อนขึ้นข้างในแบตเตอรี่ โดย Stoba จะปิดกั้นไอออนทั้งบวกและลบ ที่เกิดความไม่เสถียรหรือจะก่อให้เกิดการระเบิดขึ้น จนเข้าสู่สภาวะปกติ เรียกว่าเป็นส่วนผสมที่บล็อกในระดับนาโนทันทีที่ภายในแบตเตอรี่เกิดความร้อนขึ้น ผลลัพธ์ที่ได้หรือครับ ก็คือเราจะได้แบตเตอรี่ที่ความปลอดภัยสูงมาก

Stoba Battery

ซ้ายผสม Stoba ทดสอบการกระแทก ไม่เกิดควันหรือติดไฟ

Amita Technology

แผ่นเซลล์แบตเตอรี่ ผสมสาร Stoba ที่จะนำมาเรียงกันในก้อนแบตฯ

          แม้แบตเตอรี่ในรถไฟฟ้าจะเกิดแรงกระแทก หรือชาร์จแบตเตอรี่ไว้ก็จะไม่ติดไฟขึ้นมาได้ เพราะเจ้าสาร Stoba ในส่วนผสมนี้จับบล็อกไว้เรียบ ซึ่งจะทำให้รถไฟฟ้า มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า และอื่น ๆ ที่ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ จะปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

ซึ่งสารที่เรียกว่า Stoba (Self-Terminated Oligomers with hyper-Branched Architecture) นี้เกิดจากผลงานวิจัยของสถาบัน ITRI (Industrial Technology Research Institute of Taiwan) ที่ได้รับรางวัลงานวิจัยด้านเทคโนโลยีระดับโลกมาแล้วมากมาย 
 

มองภาพออกไหมครับ สถาบันวิจัยด้านเทคโนโลยีคิดได้ จดสิทธิบัตร และทำ MOU ข้อตกลงให้โรงงาน Amita ผลิตแบตเตอรี่ผสม Stoba ในเชิงอุตสาหกรรมได้สำเร็จ และทางบริษัทพลังงานบริสุทธิ์ ก็ซื้อกิจการโรงงาน Amita เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ EA ประเทศไทย

ITRI

วิทยากรจากสถาบัน ITRI (Industrial Technology Research Institute of Taiwan)

          มาที่สถาบัน ITRI มีวิทยากรพามาชมเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่สถาบันได้รางวัลมาเพียบ แต่ที่น่าสนใจคือบรรดาทีมวิศวกรของสถาบันนี้ สามารถผลิตผลงานด้านต่าง ๆ เพื่อจดสิทธิบัตรได้เฉลี่ยเกือบวันละ 3 ผลงานเลยทีเดียว
 
ITRI

แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน ที่ผสมสาร Stoba โดย ITRI

          นักวิชาการที่สถาบันนี้ เป็นทั้งวิศวกร นักวิจัย ที่ได้รับการสนับสนุนทั้งจากรัฐบาล และเอกชนที่จะสามารถนำผลงานที่วิจัยได้ ไปผลิตขายในเชิงพาณิชย์ และก่อเกิดประโยชน์ในวงกว้างได้ต่อไป
 

มอเตอร์ไซด์ไฟฟ้า

รถมอเตอร์ไซด์ไฟฟ้า EV

ไหน ๆ มาแล้ว ลองขี่มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าดูซะหน่อย ทั้งเรียบ นิ่ง เงียบ แต่เร็วได้ไม่มาก เวลาจะชาร์จก็แตะบัตรให้เครื่องรู้ว่าเราจะชาร์จ แล้วเข็นเอาล้อหน้าเสียบเข้าไป ระบบจะล็อกล้อไว้เลย ไฟเต็มแล้วจะบอก แตะบัตรอีกทีถึงจะปลดล็อกออกมาขี่ได้
 

เป้าหมายคือการสร้างโรงงานแบตเตอรี่ ขนาด 50 กิกะวัตต์ ในประเทศไทย

นี่เหตุผลที่ทาง EA หรือบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ ต้องการลงทุนสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ขนาดยักษ์ในประเทศไทย ที่มีกำลังการผลิตกว่า 50 กิกะวัตต์ และลงทุนกว่า 1 แสนล้านบาท โดยใช้เทคโนโลยีและประสบการณ์ของ Amita Technology จากไต้หวัน ที่จะทำให้ EA สามารถ ก้าวขึ้นเป็นผู้นำในธุรกิจแบตเตอรี่ลิเธียมของภูมิภาคอาเซียนได้
 

Energy Absolute

"กิกะวัตต์" (Gigewatt : GW) = 1,000,000,000 วัตต์ (พันล้านวัตต์)

โรงงานผลิตแบตเตอรี่ที่กักเก็บพลังงานเป็น 50 GWh หมายถึงโรงงานสามารถผลิต "แบตเตอรี่" ในจำนวนที่สามารถจ่ายพลังงานรวมได้กว่า 50 GWh 

การลงทุนในโรงงานผลิตลิเที่ยมแบตเตอรี่ของ Energy Absolute ในประเทศไทย

Electric Ferry: E-Ferry

เรือไฟฟ้า (Electric Ferry: E-Ferry)

          นอกจากนี้ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด มหาชน ยังเสนอแผนนวัตกรรมการขับเคลื่อนยานยนต์ด้วยพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ ด้วยนวัตกรรมเรือไฟฟ้า (Electric Ferry: E-Ferry) ที่ออกแบบโดยทีมงานภายในของบริษัทเอง และมีแผนที่จะนำมาให้บริการรับ-ส่งผู้โดยสารในแม่น้ำเจ้าพระยา จากท่าน้ำนนทบุรี ไปท่าน้ำวัดราชสิงขร มูลค่าการลงทุนรวมประมาณ 1,000 ล้านบาท เริ่มจะทยอยเปิดให้บริการในปลายปี 62 นี้ อีกด้วย
 
          ในการก้าวเข้าสู่ยุคพลังงานทดแทนนั้น พอจะทำให้มองเห็นอนาคตของพลังงานสะอาด ที่จะมาช่วยให้การใช้ชีวิตนั้นสะดวกขึ้น ปลอดภัยขึ้น และราคาถูกลงได้ ด้วยการลงทุนและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งมีฐานกำลังการผลิตในประเทศไทย โดยบริษัทของคนไทยเรานี่เองครับ
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ก้าวสู่ยุคพลังงานทดแทน ด้วยพลังงานแบตเตอรี่ ! อัปเดตล่าสุด 15 กรกฎาคม 2564 เวลา 18:12:09 6,250 อ่าน
TOP